#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อินทรีย์อ่อน #ถาม : ถ้า “อินทรีย์อ่อน” ควรทำอย่างไรดีครับ? #ตอบ : อินทรีย์เนี่ย มีอะไรบ้าง?.. ๑. ศรัทธา ๒. วิริยะ ๓. สติ ๔. สมาธิ ๕. ปัญญา .. ๕ อย่างด้วยกัน อันไหนอ่อนล่ะ? ก็ดูสิ! (๑) ถ้า “ศรัทธาอ่อน” ก็ต้องมาเติม.. สมมติว่า ศรัทธาในพระรัตนตรัย ช่วงนี้เราไม่ค่อยศรัทธาเลย ก็อาจจะต้องมาอ่านพุทธประวัติ หรือ ประวัติของพระอริยเจ้า หรือ ประวัติของครูบาอาจารย์ ประมาณนี้นะ “เสริมศรัทธา” (๒) ถ้า “ความเพียรอ่อน” ก็อาจจะต้องตั้งใจให้มากขึ้น ความเพียรเนี่ย บางทีมันมาจากที่ว่า ไม่กล้าลงมือทำ ก็ต้องลงมือทำเลย! สมมติว่าจะทำในรูปแบบ ไม่ได้เริ่มซักที ก็ต้องเริ่มเลย! หรือว่า เริ่มแล้วก็ทำแค่แป๊บเดียว มันก็ต้องยืดเวลาไปอีก เพื่อให้เติมความเพียรลงไป ความเพียรจะเกิดขึ้นง่าย ๆ เลย คือ “มีสติรู้” ทุกครั้งที่มีสติ เมื่อนั้นมีความเพียร (๓) ทีนี้มาข้อ “สติ” คือทำได้เรื่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ รู้ทันกายบ้าง รู้ทันใจบ้าง มีขอบเขตสโคป (scope) อยู่แค่ “รู้กาย” หรือ “รู้ใจ” ถ้ารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางได้ ก็จะเห็นความจริงของกายของใจ แสดงออกมาในแง่ – ไม่เที่ยง – เป็นทุกข์ -เป็นอนัตตา การเห็นอย่างนี้ก็ต้อง “ฝึกสมาธิ” ด้วย (๔) “สมาธิ” ในแง่นี้ก็คือ ฝึกสมถะนั่นเอง ฝึกสมถะได้สมาธิ สมาธิก็มี ๒ แบบ มี (๔.๑) สมาธิแบบจิตไหลไปรวมอยู่กับอารมณ์ ก็ฝึกได้ ถ้า.. – ไม่ได้บังคับ – ไม่ได้เพ่ง – ไม่ได้เคร่งเครียดอะไร มีความสุขกับอารมณ์ใด จิตรวมอยู่กับอารมณ์นั้น ก็ถือว่าใช้ได้ เป็นสมาธิแบบหนึ่ง เอาไว้พักผ่อน จะสมาธิอีกอย่างหนึ่ง คือ (๔.๒) สมาธิแบบจิตตั้งมั่น คือ จิตไม่ได้ไหลรวมกับอยู่กับอารมณ์ รู้อยู่ รู้อยู่ แต่จิตไม่ไหลไปรวมอยู่กับอารมณ์ เรียกว่า “จิตตั้งมั่น” จะฝึกอย่างนี้ได้ก็คือ ทำสมถะไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วพอเผลอไป แล้วรู้ทัน รู้ด้วยใจเป็นกลาง ก็ได้ตั้งมั่นขณะหนึ่ง หรือ เห็นมาตั้งแต่เคลื่อนเลย ตอนเคลื่อน คือมันจิตไม่ตั้งมั่น เห็นตอนไม่ตั้งมั่น ได้ตั้งมั่นพอดี จะมีวิธีทำง่าย ๆ ๒ วิธีอย่างนี้ ..ก็ทำ ก็เป็นการ “เสริมอินทรีย์ในแง่ของสมาธิ” (๕) “ปัญญา” – เสริมอินทรีย์ในแง่ของปัญญา.. ปัญญาในที่นี้ หมายถึงเห็นความจริง นับตั้งแต่เห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม ทีนี้ถ้ามันยังไม่เกิดปัญญา อาจจะต้องคิดนำ เวลาเห็นสภาวะอะไรไปแล้ว เช่นว่า เห็นความโกรธ ก็คิดนำว่า ‘อ้าว! เมื่อกี้ไม่โกรธ ตอนนี้โกรธ แสดงว่าความโกรธไม่เที่ยง’.. อย่างนี้ก็ได้นะ คือเวลาเห็นอะไรมันเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องคิดไปก่อนว่า ‘เออ! เมื่อกี้ไม่มี ตอนนี้มี’ หรือว่า ‘เมื่อกี้มี แล้วตอนนี้ไม่มี’ อาจจะต้องพูดในใจ สอนมันบ้าง หรือว่า ‘ไม่ได้อยากเผลอเลย มันเผลอเอง’ คิดไปก่อนก็ได้ เห็นเผลอแล้ว แต่มันไม่เห็นในแง่ของไตรลักษณ์ ก็พูดในใจไปก่อน ‘เออนะ! มันบังคับไม่ได้นะ’ เหมือนอยากสงบ มันไม่สงบ ก็สอนตัวเองไว้บ้าง ‘เออเนี่ยแหละ จิตเนี่ยมันแสดงความจริงแล้ว มันบังคับไม่ได้ มันเป็นอนัตตา’ คือพูดสอนในใจ แต่ว่าให้รู้ว่าอันนี้คือคิดสอนตนเองนะ อันนี้คือเป็นการพูดในใจนะ ยังไม่ใช่ขึ้นวิปัสสนาจริง ไม่ได้เกิดปัญญาที่แท้จริง มันยังเป็นพูดสอนในใจ ยังไว้ใจไม่ได้ แต่ว่าคล้าย ๆ กับว่า “นำร่อง” นำร่องให้มันหัดมองในแง่ อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ..แง่ใดแง่หนึ่งบ้าง อย่างนี้ก็เรียกว่า “บ่มอินทรีย์” ที่ต้องทำมาก ๆ เลยก็คือ ความเพียรนะ ต้องเริ่ม!! ถ้าใครยังไม่ได้เริ่มเลย ก็ต้องเริ่ม อินทรีย์จึงจะแก่ ที่ว่า อินทรีย์อ่อน.. “อ่อน” ในที่นี้ คือ “ไม่แก่” ใช่ไหม? “แก่” ในที่นี้ คือ ทำมาจนมีกำลังเข้มแข็ง “แก่” ในที่นี้ไม่ใช่ “แก่หง่อม” แก่ คือ “มีกำลังเข้มแข็ง” ที่ตรงข้ามกับอ่อน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=2stxRE4fuGc&t=4286s (นาทีที่ 1:06:54 – 1:11:25)

อ่านต่อ