#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ใช้ตัณหาละตัณหา #ถาม : “การเอาตัณหา ไปละตัณหา” หมายความว่าอย่างไร? และกรณีไหน? #ตอบ : “ตัณหา ไปละตัณหา” เช่นว่า อยากได้มรรคผล เป็นตัณหาไหม? ..เป็นตัณหานะ ตอนนี้เราเป็นปุถุชน “อยาก” ได้มรรคผล ..เป็นตัณหา เอาตัณหาที่ว่า อยากจะไปเป็นพระอริยะ มาละตัณหา คือว่า ถ้าอยากจะไปเป็นพระอริยเจ้า (คือ บรรลุมรรคผล) ก็ต้องมารู้ทันตัณหาในแง่ของกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา รู้ตรงนี้ด้วย ! ก็ต้องอาศัยมีตัณหา(อยากเป็นพระอริยะ)ก่อน อย่างนี้ล่ะ อยากจะดี..ก็เลยมาทำดี อยากจะไม่เป็นคนชั่ว..ก็เลยระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น อย่างนี้ก็คือ “ใช้ตัณหา ละตัณหา” แต่พอถึงที่แล้วเนี่ย..มันหมดตัณหาแล้ว สมมติว่า อยากจะไปวัดสังฆทาน จะไป..ก็ต้องอาศัยความอยากพาไป พอถึงวัดแล้ว ตัณหา(อยากไปวัด)ก็หมด แต่ตัณหาอย่างอื่นอาจจะเกิดอีกนะ แต่ตัณหาที่ว่า “อยาก” จะมาถึงวัด ..หมดแล้ว แบบเดียวกัน “อยาก” จะไปถึงนิพพาน พอถึงนิพพานแล้ว ก็หมดตัณหาแล้ว ตัณหาหมด ประมาณอย่างนี้นะ อยากบรรลุมรรคผล.. ถึงเป้าหมายแล้ว ความอยากก็หมด ทีนี้มันต้องไม่ใช่เอาแต่อยาก! มันก็ต้องรู้ว่า “เหตุให้ถึงที่หมาย” ของเรา .. หรือ “เหตุให้ได้ผลตามที่เราต้องการ” คืออะไร? ก็ไปทำเหตุ!! อาศัย “ตัณหา – อยากจะไปที่หมายนั้น” จึง “หาเหตุ” ที่จะไปถึงที่หมาย แล้ว “ทำเหตุ” ไม่ใช่เอาแต่อยาก ไม่ใช่จะเอาแต่ตัณหา “อยากได้ ๆๆๆ”.. อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ถึงแน่ มีตัณหาแล้ว รู้ว่าอยากได้ให้ถึงเป้าหมายนั้น ไปศึกษาหาเหตุ ศึกษาด้วยตนเองไม่ไหว ก็ต้องมาดูว่า มีใครเคยถึงแล้วหรือยัง? ในแง่ของมรรคผล องค์แรกที่ถึงก็คือ พระพุทธเจ้า ก็ต้องไปศึกษาว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร? อยากจะให้พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าพ้นองค์แรก ก็ต้องไปดูว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร? ก็ทำตามพระองค์ เท่านั้นเอง มันก็ต้องอาศัยอยากนั่นล่ะ อาศัยอยาก แต่ว่าอยากอย่างเดียวไม่พอ อยากแล้ว ต้องสืบค้นหาว่า เหตุอะไรที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้น? แล้วลงมือทำเหตุนั้น ต้องรักษาศีล (ถ้าเป็นญาติโยมก็มีทานด้วย) ต้องให้ทาน ต้องรักษาศีล ต้องเจริญภาวนา ถ้ามาเป็นพระแล้ว ในแง่ทาน ก็อาจจะไม่เด่นมากนัก ก็จะมี :- ศึกษาเรื่องศีล ศึกษาเรื่องจิต ศึกษาเรื่องปัญญา ก็ต้องทำเหตุ สรุปแล้วต้องลงมือทำ แต่อาศัยตัณหาก่อน ตัณหา.. อยากไปนิพพาน อยากดี อยากพ้นทุกข์ แล้วก็มาหาวิธีที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น แล้วลงมือทำ!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=3j6v3Ssm8dk&t=1943s (นาทีที่ 33:05 – 36.27)

อ่านต่อ