#นิมฺมโลตอบโจทย์ #พิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมะทาน #แจกธรรมะ #ถาม : กราบเรียนสอบถามพระอาจารย์ “พิมพ์หนังสือธรรมะแจกถือเป็นการให้ทานข้อไหนคะ?” #ตอบ : เป็น “ธรรมทาน” ใช่ไหม? หมายถึงว่า.. “จะทำธรรมทาน” ใช่ไหม? แล้วก็ “พิมพ์หนังสือธรรมะแจก” ใช่ไหม? คือคนส่วนใหญ่ เวลาจะทำธรรมทานก็จะนึกถึง.. วิธีนี่แหละ! ก็คือ ใช้การแจกหนังสือธรรมะ แต่การแจกหนังสือธรรมะเนี่ย ยังไม่แน่ว่าจะเป็นธรรมทานหรือเปล่า? มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่ง คือ เราเห็นคุณค่าของหนังสือนั้นหรือยัง? หมายความว่า.. เราได้อ่านหนังสือนั้นหรือยัง? อ่านแล้ว.. ได้เห็นคุณค่านั้นด้วยหรือเปล่า? ..แล้วจึงแจก ไม่ใช่เห็นหนังสือแล้วก็แจก หรือไปสั่งโรงพิมพ์..พิมพ์แจก โดยที่ตัวเองยังไม่ได้อ่านเลย ไม่รู้ว่าเนื้อหาในหนังสือมีอะไรบ้าง อย่างนี้เท่ากับแจกกระดาษ อานิสงส์เท่ากับแจกวัตถุ ไม่ได้แจกธรรมะ “แจกธรรมะ” คือ เรารู้อยู่ว่าดี เห็นว่ามีประโยชน์ และควรที่จะให้คนอื่นรู้ด้วย คือตัวเองต้องรู้ก่อน จึงจะเรียกว่า “การให้ธรรมะเป็นทาน” เนื้อหาในหนังสือนั้น เราควรรู้ด้วย อาจจะไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง อาจจะไม่บรรลุมรรคผลจากการอ่านหนังสือธรรมะนั้น แต่เห็นประโยชน์ เห็นว่าหนังสือนั้นแสดงความจริง แสดงวิธีที่จะบรรลุความจริงนั้น หรือแก้ไขมิจฉาทิฏฐิ หรือความเข้าใจผิดของคนได้ ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ “เห็นประโยชน์” คือ เราไม่สามารถจะสอนได้อย่างนี้ มีครูบาอาจารย์สอนไว้แล้ว พิมพ์เป็นหนังสือไว้แล้ว แล้วเราเห็นประประโยชน์..ก็แจกหนังสือนั้น อย่างนี้จึงจะมีอานิสงส์จากการแจกนั้นเป็น “ธรรมทาน” “ให้ความรู้จริงๆ” คือ เราต้องรู้ด้วย !ไม่ใช่เพียงเห็นเป็นหนังสือธรรมะ..แล้วก็แจก คำว่า “หนังสือธรรมะ” ยังไม่รู้ว่าเนื้อหาในหนังสือธรรมะนั้นดีหรือเปล่า? อาจจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ สอนอะไรผิดๆ ก็ได้ อาจจะทำให้คนหลงทางก็ได้ ถ้าเราไม่ได้ตรวจสอบ หรือดูด้วตนเอง ก็เสี่ยง.. ต้องมั่นใจว่า เนื้อหาในหนังสือนั้นเป็นธรรมะ ไม่ใช่เป็น “อธรรม” !! เพราะฉะนั้น “พิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน” ต้องมั่นใจว่า.. เนื้อหาของหนังสือนั้นเป็นธรรมะจริง ถ้าไม่มั่นใจ ก็ปรึกษาครูบาอาจารย์ก่อนว่า หนังสือนี้สมควรไหม.. ที่จะพิมพ์แจก? ไม่ใช่ไปสั่งโรงพิมพ์มา ถึงวัดก็เอาหนังสือไปตั้งไว้เลย ก็เป็นปัญหากับวัดนั้นว่า.. หนังสือนี้เอาไปทำอะไรต่อดี! เปิดดูแล้วเนื้อหาก็ไม่ได้เรื่อง เอามาทำให้คนหลงผิด ก็ชั่งกิโลขายเท่านั้นเอง! เป็นเอากระดาษให้วัดไปช่างกิโลขาย คือ เจ้าตัวต้องอ่านแล้วเห็นประโยชน์กับหนังสือนั้นก่อน แล้วจึงเอาไปแจก ไม่ใช่เพียงแค่ “เขาว่า.. เป็นหนังสือธรรมะ” แล้วเราก็เอาหนังสือที่ “เขาว่าเป็นหนังสือธรรมะ” ไปแจก ตัวเองก็เป็นเพียงแค่ตัวส่งผ่าน จะไปต่างอะไรกับคนที่แจกโบรชัวส์ตามสะพานลอย กระดาษนั้น เขาก็เอาไปทิ้งนั่นเอง! ดูให้แน่นอนว่า.. เนื้อหาเป็นอย่างไร? ส่งเสริมให้เกิดสัมมาทิฏฐิไหม? บอกสอนความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไหม? บอกวิธีปฏิบัติ เพื่อให้ถึงความจริงที่พระพุทธเจ้าแสดงนั้นไหม? ส่งเสริมให้เกิดสัมมาทิฏฐิ หรือเปล่า? ขอฝากให้ตรวจสอบก่อน ถ้าไม่มีภูมิที่จะตรวจสอบเอง ก็ถามที่ครูบาอาจารย์ก่อน หรือมั่นใจในครูบาอาจารย์ท่านไหน เราก็เอาธรรมะของครูบาอาจารย์ท่านนั้นมาแจกได้เลย คือ เจ้าตัวต้องอ่านก่อน แล้วเห็นประโยชน์ของสิ่งที่จะแจกนั้นก่อน ไม่ใช่ว่า “สักแต่ว่าแจก” ขอฝากไว้ตรงนี้ด้วย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ 15 กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=qVf33M3gwGQ&t=1498s (นาทีที่ 24.52 – 29.55)

อ่านต่อ