#นิมฺมโลตอบโจทย์ #โทสะซ้อนโทสะ #หนีไม่ใช่ว่าแพ้ #ถาม : เวลาโกรธ ก็จะรู้ตัวว่า ตอนนี้จิตมีโทสะ รู้สภาวะร่างกายว่าหัวใจเต้นแรง หน้าชา แต่โทสะไม่ยอมดับง่ายๆ หรือใช้เวลานาน กว่าจะระงับได้ ควรฝึกอย่างไรคะ? #ตอบ : คือ.. ต้องแยกให้ออก ระหว่าง”สภาวะที่เกิดกับกาย” กับสภาวะที่เป็นโทสะที่เป็นนามธรรม คือ “สภาวะทางจิต” เนี่ย สภาวะทางจิตเนี่ย คือ ความโกรธ ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลางนะ.. ดับเลย! ความโกรธดับเลย! แต่ไอ้ใจเต้นตึ้กๆ เนี่ยนะ มันเป็นรูปธรรม เป็นสภาวะทางกาย เป็นวิบาก ! มันไม่ใช่ว่าพอโกรธดับ! แล้วมันจะกลายเป็นปกติทันที ไม่!!.. หัวใจมันจะตึ้กๆ อยู่สักพักนึง มันเป็นวิบาก มันไม่เกิดดับเร็วเหมือนนามธรรม ต้องแยกให้ออก ฉะนั้น ไม่ใช่ว่ารู้ปุ๊บ! จิตที่เป็นโทสะดับไปแล้ว หัวใจต้องปกติทันที ไม่!!.. มันใช้เวลาหน่อยนะ กว่าจะปรับตัวให้เป็นปกติเนี่ย.. ช้า! แต่ถ้าโทสะไม่ดับด้วย อาจจะเป็นไปได้ว่า.. อยากให้มันดับ! ไม่ชอบโทสะนั้น มีโทสะซ้อนโทสะเข้าไปอีกที เช่น เห็นคนนี้แล้วโกรธ.. ดับไป! จิตดวงใหม่มาเห็นโทสะ แล้วไม่ชอบไอ้ความโกรธอันนี้ ไม่ชอบโทสะนี้ “เราไม่ควรมีโทสะนี้เลย” หรือ “โทสะนี้ไม่ควรเกิดเลย” เห็นโทสะ.. แต่ไม่ได้เห็นด้วยใจเป็นกลาง เห็นแล้ว.. มีโทสะกับโทสะอีกทีนึง เรียกว่า “มีโทสะซ้อนโทสะ” มันก็รู้สึกว่า.. ทำไมโทสะไม่ดับ? จริงๆ โทสะเดิมดับไปแล้ว แต่มีโทสะใหม่ คือ ไม่ชอบไอ้โทสะเมื่อกี้นี้ ไปลองสังเกตุดูนะ ส่วนร่างกายเนี่ยมันจะตึ้กๆ อยู่นานกว่าจิต ไม่ใช่ฝึกระงับโทสะ แต่ฝึกรู้ทันโทสะ รู้ด้วยใจเป็นกลาง อันนี้ในแง่ของวิปัสสนานะ แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่บางทีเรารู้ทัน ประมาณว่า.. ถ้ารู้ทันได้มันดับไปได้.. ก็โอเค ผ่าน! แต่ถ้าตอนนั้นเจริญวิปัสสนาไม่ทัน คือ แค่รู้เนี่ย.. ไม่ไหว มันไม่ดับ โทสะยังค้างคาอยู่ แสดงว่าเมื่อกี้เนี่ยเจริญวิปัสสนาไม่สำเร็จ คือ ไม่ได้รู้ด้วยใจเป็นกลาง แล้วสถานการณ์มันคือ อันตราย! คือ เราอาจจะผิดศีลแล้ว ก็ควรจะเจริญสมถะ “สมถะ” คือ จิตไม่ดีทำให้มันดี (แก้ไข) ไม่เหมือนวิปัสสนานะ “วิปัสสนา” แค่รู้ (ไม่แก้) ถ้าแก้มันจะไม่ใช่วิปัสสนา แต่ถ้าสถานการณ์มันบีบบังคับแล้วว่า ถ้าตอนเนี่ยมันอันตรายแล้ว ถ้ายังมีโทสะอยู่เดี๋ยวจะไปผิดศีลแล้ว ก็แก้ไขได้ แต่ให้รู้ว่า.. ขณะนี้กำลังทำ”สมถกรรมฐาน” เช่นว่า ‘อย่าไปทำเค้าเลย จริงๆ เค้าก็มีข้อดีนะ’ หรือว่า ‘อย่าไปทำเค้าเลย ถ้าเราทำผิดศีลเรามีผลเสียเองนะ’ อะไรอย่างนี้นะ คิดอะไรก็ได้ คิดแล้วให้โทสะมันดับไป หรือว่า.. ระงับยับยั้ง ด้วยการเอาศีลมาข่มเอาไว้ ก็เป็นการตั้งใจป้องกันตัวเอง แก้ไขสถานการณ์ให้โทสะนั้นไม่มีอำนาจมา จนกระทั่งเราแสดงออกทางกาย-ทางวาจาผิดไป แล้วถ้าแย่ที่สุดเลย ก็คือว่า พยายามเต็มที่แล้วมันก็ไม่ไหวเนี่ยนะ ให้ออกจากสถานการณ์นั้น หลีกออกไปซะ! หลีกออกไปเนี่ย ไม่ใช่ว่า”แพ้” ถ้าอยู่แล้วทำผิดศีลเนี่ย..แพ้! ..แพ้กิเลส !! แต่ถ้าเราหลีกออกมาจากสถานการณ์นั้น คนอื่นอาจจะเห็นว่า เอ้ย! เราหนี หรือว่า เราแพ้! แต่เรารู้ตัวเองว่า.. “เราไม่แพ้หรอก” ก็คือ “เราไม่แพ้กิเลส” คือถ้าอยู่แล้วมันผิด อยู่แล้วต้องทำผิด อย่าไปอยู่เลยดีกว่า ก็ถอยออกมา ใครจะมองอย่างไรก็ช่างเขานะ เรารู้ตัวเองว่า “เรารักษาศีลได้” ก็พอแล้ว ไม่ถูกกิเลสครอบงำนะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/rGNtxlhiZ3c?t=2634 (นาทีที่ 43:54 – 48:51)

อ่านต่อ