#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อิทธิบาท ๔ กับการทำงาน #ถาม: กราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า.. “การทำงาน หรือ ชีวิตประจำวัน ถ้านำเอาอิทธิบาท ๔ มาใช้ จะเป็นประโยชน์ไหมครับ?” #ตอบ: เป็นสิ! โอ้!..ทำไมจะไม่เป็นประโยชน์ “อิทธิบาท” เป็นธรรมที่ “ทำให้การงานสำเร็จ” เพราะฉะนั้น “การทำงาน หรือชีวิตประจำวัน ควรเจริญอิทธิบาท” ไม่ว่าเราทำอะไร อิทธิบาท มีอะไรบ้าง? มี :- ฉันทะ, วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา “ฉันทะ” คือ ความพอใจ พอใจใฝ่ใจที่จะทำสิ่งนั้น อยากจะทำให้ดี “วิริยะ” คือ มีความเพียร พอมีความพอใจ มีความเพียรแล้ว ก็มีความหมั่น ขยันทำ ก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้น..ใช่ไหม? “จิตตะ” คือ จิตจดจ่อฝักใฝ่ไม่ฟุ้งซ่าน “วิมังสา” คือ ใช้ปัญญาตรวจสอบ ไตร่ตรอง อาจมีการทดลอง ไม่ใช่ว่าจะทำแล้วได้ผลตามที่ต้องการทุกครั้งไป อาจจะมีการทำแล้วพลาด พลาดก็รู้ว่า.. พลาด! แล้วจะได้ไม่ทำอย่างนั้นอีก คิดปรับปรุงแก้ไข สมมุติว่า.. เราจะประดิษฐ์อะไรสักอย่างหนึ่ง ส่วนผสมตรงนี้ไม่ได้ ไม่ได้ก็อย่าผสมอย่างนี้อีก! ก็ลองทำอย่างอื่นต่อ มันอาจจะผิดร้อยครั้ง.. ก็ไม่เป็นไร ก็จะได้รู้ว่า วิธีทำผิดทั้งร้อยครั้งนั้น เราจะไม่ทำอย่างนั้นอีก มันจะทำผิดพันครั้ง ก็ไม่เป็นไร ก็ได้เรียนรู้ว่า.. ทำอย่างนี้ไม่ได้..ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ! นักวิทยาศาสตร์ เวลาเขาจะทำอะไร ประสบความสำเร็จสักอย่าง ก็ใช้ “วิธีวิมังสา” นี่แหละ ทดลองไปเรื่อยๆ ได้ความรู้ไปเรื่อยๆ ยังไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร ก็ลองไป.. ลองต่อไป พอสำเร็จขึ้นมา ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ ก็จะเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป ก็ควรทำ ควรเจริญอิทธิบาทนะ ควรมี “ฉันทะ” ที่จะทำงานนั้น ถ้าเริ่มด้วยฉันทะได้ คือ มีความพอใจ เห็นประโยชน์ของงานนั้น มันก็จะมีฉันทะที่จะทำ ถ้ายังไม่เห็นประโยชน์ จะใช้ “วิธี ท้าทาย” ก็ได้นะ ท้าทายก็คือ เริ่มจาก”วิริยะ”ก่อน วิริยะนี้เป็นความกล้าทางใจ อาจใช้วิธีท้าทายว่า.. “เคยทำไหม? กล้าไหมล่ะ?!” ประมาณนี้ กล้าทำสิ่งนี้ไหมล่ะ?! กล้าในสิ่งที่ดีนะ ลองทำ! น่าจะเป็นตัว..แบบคล้ายๆ เป็นลักษณะท้าทาย “ท้าทายตัวเอง” “จิตตะ” คือใจจดจ่อ บางทียังไม่ได้เริ่มด้วยฉันทะ ยังไม่ได้เริ่มด้วยวิริยะ แต่สถานการณ์บังคับ งานนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย! จำเป็นต้องทำ และต้องจดจ่อ พลาดไม่ได้ อย่างนี้นี่นะ มันก็กลายเป็น”จิตตะ” เหมือนประมาณเจ้าหน้าที่ ที่เขาต้องไปปลดชนวนระเบิดประมาณนี้ ถามว่า..ชอบไหม? ที่ต้องไปทำ.. คงไม่ชอบหรอก ถามว่า.. กล้าไหม? ก็กล้านะ! กลัวไหม? ก็คงกลัวเหมือนกัน แต่ว่าต้องทำ! แล้วระหว่างทำเนี่ย ก็ใจจดจ่อ ความรู้ที่มีมาทั้งหมด ก็จดจ่ออยู่ตรงนั้น สติก็อยู่ตรงนั้น ปัญญาก็อยู่ตรงนั้น กับงานนั้น แบบนี้เรียกว่า “จิตตะ” จะตัดเส้นสีดำ หรือเส้นสีขาว หรือจะตัดเส้นสีแดง ประมาณนี้ จิตจดจ่ออยู่กับงานนะ มันจะเริ่มด้วยตัวไหนก่อนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มที่ “ฉันทะ” “อิทธิบาท ๔” นำมาใช้ประโยชน์ได้แน่นอน! มีประโยชน์แน่นอน!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ URL: https://youtu.be/K1KruWusYRM” (นาทีที่ 40:58 – 45:30)

อ่านต่อ