All posts by gade

มุมมองต่อโลกภายนอก – ภายใน

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๗

มุมมองต่อโลกภายนอก – ภายใน

คนที่มีแง่มุมในการมองโลก แบบขำ ๆ

(มองโลกแบบผ่าน ๆ ไม่เก็บมาเอามาเป็นภาระในใจ)

มันก็สบายใจ แต่ไม่ได้ประโยชน์ในการเจริญสติ

แต่คนที่เห็นแล้วเก็บเป็นประสบการณ์
คำสำคัญคือ “เก็บเป็นประสบการณ์” .. จำได้

มีอะไรเกิดขึ้น ..จำได้
มีอะไรเกิดขึ้นกับสิ่งภายนอก ..จำได้
มีอะไรเกิดขึ้นในใจ ..จำได้

มองทั้งโลกภายนอก มองทั้งโลกภายใน
เข้าใจเลยว่า โลกภายนอกก็เกิด – ดับ

โลกภายในนี้เองก็เกิด – ดับ
ความรู้สึกในใจเราก็เกิด – ดับ

ธรรมบรรยายโดย
พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม
คอร์สงานยุ่งทั้งวันจะปฏิบัติธรรมอย่างไร

ณ สวนธรรมศรีประทุม
วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

รับฟังเสียงธรรมที่แผ่น CD งานยุ่งทั้งวันฯ ไฟล์ 13.งานยุ่งทั้งวันจะภาวนากันยังไง

แทรก 560830 มุมมองในการทำงาน ระหว่างเวลา ๐๕.๐๓-๐๕.๓๘
ดาวน์โหลดเสียงธรรมได้ที่ http://bit.ly/2jxHhK5

ดูสิ่งคู่ รู้เกิด – ดับ

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๖

ดูสิ่งคู่ รู้เกิด – ดับ

หน้าที่ของเราไม่ใช่เรียนว่า ..ทำอย่างไรจะเห็นนิพพาน
แต่ทำอย่างไรจะเห็นโลก ..จะเข้าใจโลกตามความเป็นจริง

โลก คือของคู่ทั้งหลาย
มีราคะ – ราคะก็ดับ, มีโทสะ – โทสะก็ดับ

นี่เป็นของคู่กัน ..เป็นของคู่
เห็นของที่มันเป็นคู่ ๆ ก็คือ

เห็นว่ามัน ‘มีความเกิด – ดับ เปลี่ยนแปลง’
ถ้ามัวแต่ดูของสิ่ง ๆ เดียว ที่เราทำได้ขณะนี้คือ ‘ทำสมถะ’

ถ้าทำแบบเพ่ง ๆ เอาไว้ จะไม่เกิดปัญญา
คือไม่เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ลักษณะที่ให้เกิดปัญญา คือ
เห็นว่า มันมีความเปลี่ยนแปลง

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้าเราเพ่งไว้จะเกิดความนิ่ง ๆ จะไม่เห็นไตรลักษณ์

“ถ้าเผลอไปไม่เห็นสภาวะ ถ้าเพ่งเอาไว้ไม่เห็นไตรลักษณ์”

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สเนยยะ
วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙

สามารถดาวน์โหลดและรับฟังได้ที่แผ่นซีดี ขยายผล๓
เปลี่ยนแรงขับเพื่อพ้นจากห้วงทุกข์ (๕๙๐๔๐๑)

แทรก 07.ดูสิ่งคู่ รู้เกิด – ดับ ระหว่างเวลา ๔๓.๔๙-๔๔.๕๑
http://bit.ly/2qK3E5U

ลิงก์เต็มแผ่นCD ขยายผล๓ http://wp.me/s5bBOI-expand3

นอนเนื่องอยู่ในสันดาน

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๕

นอนเนื่องอยู่ในสันดาน

ทุกครั้งที่จิตเสวยอารมณ์อะไรขึ้นมา…
จิตเกิดขึ้นมาเสวยอารมณ์ มีกิเลส แล้วก็ดับ ..พร้อมกับจำ !

แล้วก็เกิดจิตดวงใหม่เกิดขึ้นมา
เสวยอารมณ์ มีกิเลส แล้วก็ดับไป ..แล้วก็จำ !

ไอ้ความจำของจิต (ที่ว่าเมื่อกี้มีกิเลสเกิดขึ้นแล้วจำ)
กลายเป็นกิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่
มีศัพท์เรียกเฉพาะว่า “อนุสัย”

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีกิเลสแล้วไม่ทันมีสติ
ทุก ๆ ขณะนั้น เก็บเป็นอนุสัย
มันไม่ใช่ได้คะแนนนะ ! มันเสียแต้มด้วย

ทุกครั้งที่มีกิเลสแล้วไม่มีสติรู้ทัน เป็นอนุสัย
‘นอนเนื่องอยู่ในสันดาน’

ภาษาโบราณ ท่านเปรียบเหมือนตุ่มน้ำ
อยู่นาน ๆ เนี่ยจะมีตะกอนนอนก้น

มันค่อย ๆ ตกทับเป็นตะกอนนอนก้นไปเรื่อย ๆ
ไอ้นอนก้นเนี่ยนะ !
พอมีอะไรไหว ตะกอนก็ฟุ้งขึ้นมา !

……

มันจึงต้องมีสติบ้าง
คนที่ไม่มีสติเลยก็สะสมอนุสัยอย่างเดียว..
ชีวิตนี้.. สะสมอนุสัยต่อไป

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สปฏิบัติธรรม อริยะ๗
วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

สามารถดาวน์โหลดและรับฟังได้ที่ไฟล์ แผ่นซีดี อริยะ๗
แทรก 13. เกาะซากหมาเน่า ข้ามฝั่งวังวน – 561224 นาทีที่ ๐๘.๐๐-๑๐.๓๒
bit.ly/1oOc9ZY

ลิงก์เต็ม แผ่นCD อริยะ๗ http://wp.me/p5bBOI-sU

จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๔

จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

เมื่อนึกถึงวันสำคัญที่เรามาบูชาพระพุทธองค์ในวันนี้
คือ ..วันวิสาขบูชา
ที่มาระลึกถึงวันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน

ขอให้ระลึกถึงที่มาของการประสูติ
พระองค์จะมาประสูติแล้วจะมาเปล่งอาสภิวาจาไม่ได้เลย

ถ้าพระองค์ไม่ได้สร้างบารมีเอาไว้ก่อน
ฉะนั้น คุณความดีทั้งหลายที่ทำได้ให้เร่งทำ

โดยมีพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง
ที่พระองค์ทรงสร้างบารมีมาตลอด สี่อสงไขยกับแสนกัป

แล้วจะสำเร็จได้จริง ๆ ตัวที่จะตัดสินก็คือ ตัวปัญญา
ทำสมถภาวนาอย่างเดียวไม่ได้

ก็ต้องทำวิปัสสนาพร้อมไปด้วย
เพราะว่าตัววิปัสสนา คือตัวปัญญา

สมถะเป็นเพียงทำให้จิตสงบ
ตัวศีล สมาธิ ทำแล้วก็ต้องมีปัญญาด้วย

เพราะศีล สมาธิ ยังไม่ถึงปลายทางจุดหมาย
ที่พระองค์ได้แสดงเอาไว้

ส่วนที่เราจะต้องศึกษา หรือสิกขา ๓ อย่าง
เรียกว่าไตรสิกขา

ศีล สมาธิ และปัญญา
ฉะนั้น ทำให้พร้อมทั้งสามอย่าง

ให้ทานแล้ว รักษาศีลแล้ว ก็ต้องภาวนาด้วย
เพราะภาวนาเป็นจุดเติมเต็มให้บุญนั้นสมบูรณ์

ทำบุญมี ๓ อย่าง
วัตถุที่ให้เกิดบุญคือ ทาน – ศีล – ภาวนา

ก็ต้องทำให้ครบทั้ง ทาน – ศีล – ภาวนา
จึงจะได้ชื่อว่าบุญเต็มเป็นผู้ไม่ประมาทจริง

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘

ดาวน์โหลดและรับฟังได้ที่แผ่นCD เหนือบุญ๔
Track 12.วันวิสาขบูชาโลก ระหว่างเวลา ๐๕.๕๓-๐๗.๒๕ http://bit.ly/2p9DiuZ
ลิงก์เต็มแผ่นCD เหนือบุญ ๔ http://wp.me/s5bBOI-nueboon4

หนักใจไม่เคยเห็นจิตเคลื่อน

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๓

หนักใจไม่เคยเห็นจิตเคลื่อน

บางคนก็หนักใจว่า…
ภาวนามาตั้งนานไม่เคยเห็นจิตเคลื่อน !

….

ไม่จำเป็นต้องเห็นครบหมดทุกอย่าง
เอาเท่าที่เห็น เข้าใจมั้ย ? เอาเท่าที่เห็น
มีกิเลสรู้ทันกิเลส ก็โอเคแล้ว

บางทีก็เห็นจิตเคลื่อนแล้วนะ ! ..แต่มันไม่รู้
บางทีก็เห็นว่ามันเกิด – ดับ เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง

เห็นไตรลักษณ์แล้ว แต่ไม่รู้ก็มี
คือมันไม่บรรยายเป็นคำพูด
แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นแล้วมันดับไป จิตมันเรียนรู้แล้ว

โกรธเกิดขึ้นมา เห็นความโกรธ
ตอนมีสติจะเห็นโกรธเป็นตัวหนึ่ง ตัวรู้เป็นตัวหนึ่ง

พอมีสติปุบเนี่ย ไอ้โกรธก็ดับ
แล้วตัวเอง (ที่เห็น) ก็ดับด้วย

ไอ้ตัวขณะที่มีสตินี่ก็ดับด้วย
เราไม่ทันได้บรรยาย

สมองไม่ทันได้ปรุงว่ามันคืออะไร แต่จิตเรียนแล้ว
ไอ้แวบเดียวนั่นน่ะมีค่าแล้ว จิตเรียนรู้ไปแล้ว

ตอนเห็นมันเคลื่อนไปเนี่ยนะ
มันยังไม่ทันบรรยาย ไม่ทันเรียก (ชื่อ)
คือมันไม่ถนัดที่จะเรียกว่าอะไร แต่จิตมันเรียนรู้ไปแล้ว

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ สวนธรรมธาราศัย จ.นครสวรรค์
วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๘

รับฟังเสียงธรรมที่แผ่นซีดีศาลาเรียนรู้กายใจ
ไฟล์ 1.10.บทเรียนชาวพุทธ – บางคนไม่เคยเห็นจิตเคลื่อน ระหว่างเวลา ๐๐.๕๐-๐๑.๕๔
ดาวน์โหลดที่ลิงก์ http://bit.ly/2iUieSF

ให้ทานเพื่อพ้นสวรรค์

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๒

ให้ทานเพื่อพ้นสวรรค์

กามนี่นะ มีคุณ มีโทษ และมีทางออก
ทางออกมันจะมาอยู่ในเรื่องของ “พ้นจากสวรรค์”

พ้นจากสวรรค์ คือ ให้ทาน แล้วคิดว่า ‘เราได้ละความตระหนี่’
เห็นการติดยึดในวัตถุต่าง ๆ ว่าเป็นโทษ
หาวิธีพ้นไปจากโทษนั้นก็คือ ..สละไป

สละสิ่งของ ไม่ได้สละแต่ของ !
แต่สละความตระหนี่ไปด้วย คือละกิเลสตัวเองไปด้วย

ในการมีทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จะมีกิเลสตัวสำคัญตามมา
คือตัวยึด ตัวตระหนี่ หวงของ

เราให้ทานด้วยการสละของด้วย
สละกิเลสด้วย สละความตระหนี่ด้วย

อันนี้เป็นการทำทานพร้อมกับเจริญกรรมฐานไป
เห็นใจที่ผ่องใส ผ่านผ่องใสนั้นไปแล้ว

แล้วก็เห็นจิตที่มัน “ละ” คลายความยึดถือ
เรียกว่า หมดความตระหนี่ไปเรื่อย ๆ จากการให้ทาน

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจาก การแสดงธรรม ณ บ้านจิตสบาย
วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕

แผ่นซีดี บ้านจิตสบาย๒ แทรก 550708_ทางออกจากกาม ระหว่างนาทีที่ ๐.๑๙-๑.๓๐
สามารถดาวน์โหลดรับฟังได้ที่ http://bit.ly/1RFnmGS

ฮื่อ^^

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๑

ฮื่อ

ทำไมมันหงุดหงิด ?
เพราะว่าเห็นว่ามันไม่ดี

แล้วทำไมถึงเห็นว่ามันไม่ดี ?
เพราะจิตมันไม่ดีเมื่อกี้นี้ !

จริง ๆ แล้วมันควรจะดีใจว่า..
‘เออ ! เมื่อกี้กูเห็นของจริง’

แต่ใจเนี่ยนะ ! มันจะมีแอบลำเอียง
แอบให้ค่าตัวเองว่ามันควรจะดีกว่านี้

เรียกว่า ‘ตั้งมาตรฐานสูง’ ว่ามันควรจะดีกว่านี้
พอเห็นว่ามันไม่ดี ก็เลย ‘ฮื่อ !’
พอฮื่อ ! มาเนี่ยนะ ก็ให้รู้เลยว่าเมื่อกี้ไม่เป็นกลาง

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม
ณ คลินิกศูนย์ทันตกรรมปากน้ำ สมุทรปราการ
วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙

ไฟล์ 590117 – ดูลีลาของใจ – ศูนย์ทันตฯ
แทรก 09. ดูลีลาของใจ ระหว่างนาทีที่ ๐๔.๓๘-๐๖.๑๙

สามารถดาวน์โหลดเพื่อรับฟังเสียงธรรมได้ที่ bit.ly/21xrZG7

ดูลีลาของจิต

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๑๐

ดูลีลาของจิต

ลีลาของจิต ..นี่มันจะแสดงไปต่าง ๆ นานา
ให้รู้ไปตามจริง อย่างนั้น !

เมื่อกี้ไม่เป็นกลาง ..ให้รู้ว่าไม่เป็นกลาง
เมื่อกี้นี้มีการต่อว่าตัวเอง ..ให้รู้ว่ามันมีการต่อว่าตัวเอง

เมื่อกี้นี้มีโทสะกับตัวเอง ..ให้รู้ว่ามีโทสะกับตัวเอง
เมื่อกี้นี้มีความหงุดหงิดใจที่มันไม่ดี..
ให้รู้ว่ามันมีความหงุดหงิดใจ อย่างนี้นะ !

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม
ณ คลินิกศูนย์ทันตกรรมปากน้ำ สมุทรปราการ
วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙

ไฟล์ 590117 – ดูลีลาของใจ – ศูนย์ทันตฯ แทรก 09. ดูลีลาของใจ ระหว่างนาทีที่ ๐๔.๓๘-๐๖.๑๙
สามารถดาวน์โหลดเพื่อรับฟังเสียงธรรมได้ที่ bit.ly/21xrZG7

อินทรียสังวรศีล

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๐๙

อินทรียสังวรศีล

เบื้องต้นการศึกษาเรื่องศีล คือ
ไม่ให้กิเลส (มา) มีอำนาจครอบงำ

จนเราไปทำผิด ทางกาย ทางวาจา
โดยเริ่มตั้งแต่ทางใจ เห็นตั้งแต่มันเกิดขึ้นมาในใจ
ทำอย่างนี้ได้เรียกว่า ‘มีศีล’

ศีลจะรักษาได้ง่าย ถ้ามาเรียนที่ใจ
เมื่อเรียนเบื้องต้น คนที่ยังไม่ชำนาญในเรื่องการดูจิต

ก็เรียนศีลในแง่ที่ว่า ท่องเป็นข้อ ๆ ระวังรักษาเป็นข้อ ๆ
ศีล ๕ มีอะไรบ้าง ? ศีล ๘ มีอะไรบ้าง ?
ระวัง (เป็นข้อ ๆ) ไปเรื่อย ๆ !

แต่ ..พอเข้ามาถึงจิตแล้ว
การระวังรักษามันอยู่แค่ว่า
ระวังไม่ให้กิเลสมันโต !

(ห้าม) ไม่ให้กิเลสเกิดไม่ได้ !
(แต่) กิเลสเกิดก่อน.. แล้วรู้ทัน

(รับรู้อารมณ์แล้ว) กิเลสเกิดมา.. รู้ทัน.. กิเลสไม่โต !
รู้ทันปุ๊บ ! กิเลสดับ !

การรักษาศีล (ในแง่นี้)
จึงไม่ใช่แค่มาคอยระวัง ว่าจะไม่ด่าเขา

จะไม่พูดร้ายกับเขา จะไม่ทำร้ายเขา
แต่มันเพียงแค่คอยระวังใจ

เวลาเกิดกิเลสขึ้นมา.. รู้ทัน !
เกิดกิเลสขึ้นมา.. รู้ทัน !

อย่างนี้เรียกว่า..
มี “ศีล” ที่เรียกว่า มี “อินทรียสังวร”

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙
เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สเรียนรู้กายใจ สวนธรรมธาราศัย

รับฟังเสียงธรรมที่ 590731_อยู่กับโลก อยู่ตามธรรม ระหว่างเวลา ๐๕.๒๙-๐๖.๒๗
ดาวน์โหลดเสียงธรรมได้ที่ http://bit.ly/2aM0N5B

ตั้งสัจจะเข้าพรรษา

ถาม​ : ขอกราบเรียนถามว่าพุทธศาสนิกชนควรจะตั้งสัจจะเข้าพรรษาหรือไม่คะ ? แล้วถ้าจะตั้ง เราควรจะตั้งอย่างไรถึงจะเป็นไปเพื่อความก้าวหน้าและพัฒนาทางธรรมค่ะ ?

ตอบ​ : เรื่อง​เข้า​พรรษา​ จริง ​ๆ ​แล้ว​เป็น​เรื่อง​ของ​พระ​ภิกษุ​ คือ​มีพระ​วินัย​ที่​ให้​พระ​ภิกษุ​อยู่​จำ​พรรษา​ใน​ที่​ที่​เหมาะสม​
ตลอด​สาม​เดือน​ใน​ฤดูฝน​ คือ​ตั้งแต่​ แรม​ ๑​ ค่ำ​ เดือน​ ๘​ ถึง​ ขึ้น​ ๑๕​ ค่ำ​ เดือน​ ๑๑

เมื่อ​ท่าน​อยู่​ประจำ​ใน​อาวาส​นาน​เช่น​นี้​ ท่าน​ก็​ใช้​เป็น​โอกาส​ใน​การ​ศึกษา​และ​ปฏิบัติ​ธรรม​ เพื่อ​ความ​เจริญ​ใน​ไตร​สิกขา​ยิ่ง​ ๆ ​ขึ้นไป​

ฆราวาส​ญาติ​โยม​ผู้​เป็น​พุทธ​ศาสนิกชน​ทั้งหลาย​ เมื่อ​เห็น​ว่า​พระ​ภิกษุ​ท่าน​ใช้​เวลา​สาม​เดือน​นี้​ไป​เพื่อ​ความ​เจริญ​ทั้ง​ด้าน​ปริยัติ​และ​ปฏิบัติ​เช่นนี้​ ถ้า​คิดว่า​ เรา​ควร​จะ​ใช้​เวลา​สาม​เดือน​นี้​เพื่อ​ความ​เจริญ​ใน​กุศล​ธรรม​ของ​เรา​บ้าง​ ก็​น่า​อนุโมทนา

อย่าง​เช่น​ที่​มี​การ​รณรงค์​ให้ ​”งด​เหล้า​เข้าพรรษา” ก็​เห็น​ว่า​เป็น​เรื่อง​ที่​ดี​ ทราบ​มา​ว่า​หลาย​ท่าน​ก็​ทำ​ได้​จริง​
และ​ยัง​งดอยู่​อย่าง​ต่อเนื่อง

แต่​ชาว​พุทธ​หลาย​ท่าน​ก็​ไม่ได้​ดื่ม​เหล้า​อยู่​แล้ว​ ก็​ต้อง​หา​เรื่อง​ดี ​ๆ ​อย่างอื่น​มา​ทำ

หลัก​ก็​มี​อยู่​ว่า​ ใน​สาม​เดือน​นี้
– กุศล​อะไร​ที่​ไม่​เคย​ทำ​ ก็​ลอง​ตั้งใจ​ทำ​ดู​ ทำให้​กุศล​นั้น​เจริญ​ขึ้นมา
– กุศล​อะไร​ที่​เคย​ทำ​แล้ว​ แต่​ไม่​มั่นคง​ ก็​ทำ​ให้​จริงจัง​มั่นคง​ รักษา​กุศล​นั้นไม่ให้​เสื่อม

– อกุศล​อะไร​ที่​อยู่​ เลิก​ไม่ได้​สักที​ ก็​ลอง​ตั้งใจ​ละ​เลิก​อกุศล​นั้น​เสีย
– อกุศล​อะไร​ที่​เคย​เลิก​ได้​ แต่​ไม่​เด็ดขาด​ เผลอ​ ๆ ​ก็​หวน​กลับ​ไป​ทำ​อีก​ ก็​ลอง​ตั้งใจ​พากเพียร​ระวัง​ไม่​ให้​พลาด​อีก

เช่น​
– ไม่เคย​ไหว้พระ​สวดมนต์​ ไม่เคย​ทำ​กรรมฐาน​ใน​รูปแบบ​ที่​บ้าน​เลย​ ก็​ตั้งใจ​ทำ​ใน​ ๓​ เดือน​นี้​ให้ได้
– เคย​ไหว้พระ​สวดมนต์​ และ​ทำ​กรรมฐาน​ใน​รูป​แบบ​ที่​บ้าน​อยู่​เหมือนกัน​ แต่​ไม่​ประจำ​ ก็​ตั้งใจ​ทำ​ให้​เป็น​ประจำ​ทุกวัน​
ตลอด​ ๓​ เดือน​นี้​

– เคย​ใช้​โทรศัพท์มือถือ​ไป​ใน​เรื่อง​ไร้สาระ​วันละ​หลาย​ชั่วโมง​ ก็​ตั้งใจ​ ๓​ เดือน​นี้​ จะละ​พฤติกรรม​นั้น​
จะ​ใช้​เฉพาะ​ใน​เรื่อง​ธุระ​การงาน​จริง ๆ​

– เคย​ขึ้นเสียง​ เถียง​พ่อ​เถียง​แม่​ หรือ​ใช้​คำพูด​ที่​ทำให้​กระทบกระเทือน​จิตใจ​พ่อแม่​ ก็​ตั้งใจ​ ๓​ ​เดือน​นี้​ แม้​จะ​ไม่ชอบ ไม่พอใจ​ หงุดหงิด​มาก​แค่ไหน ก็​จะ​ไม่​หลุด​คำพูด​เหล่านั้น​ออกมา​ จะ​เจริญ​สติ​ดู​ความ​ร้ายกาจ​ของ​ใจ​เรา​เอง

– ไม่​เคย​ออกกำลังกาย​ตอนเช้า​ ก็​ตั้งใจ​ ๓​ เดือน​นี้​จะ​ตื่น​เช้า​ขึ้น​เพื่อ​มา​ออกกำลังกาย​ เจริญ​สติ​ไป​ด้วย​ กาย​เคลื่อนไหว​
มี​ใจ​รู้​ อย่างนี้เป็นต้น

การ​ทำ​อย่างนี้​ บางคน​ใช้​คำ​ว่า​ “ตั้ง​สัจจะ” แต่​อาตมา​ชอบ​ใช้​คำว่า ​”อธิษฐาน” มากกว่า

อธิษฐาน​ ไม่ได้​หมายถึง​ขอ​ให้​สำเร็จ​ผล​อย่างใดอย่างหนึ่ง​ หรือ​ขอ​เพื่อ​จะ​ได้​จะ​เอา แบบ​ที่​คน​ไทย​ทั่วไป​ใช้​กัน

แต่​อธิษฐาน​ ใน​ทาง​พุทธศาสนา​ หมายถึง​ ความ​ตั้งใจ​มั่น​ แน่วแน่​ที่จะ​ทำการ​ให้​สำเร็จ​ตาม​จุด​มุ่งหมาย​ ซึ่ง​เป็น​บารมี​อย่าง​หนึ่ง
​ใน​บารมี​ ๑๐​ เรียกว่า​ อธิษฐาน​บารมี

ใน​กรณี​นี้​ก็​จะ​ใช้​คำ​ว่า​ “สาม​เดือน​นี้​ ขอ​อธิษฐาน​ (คือ​ตั้งใจ​ที่​จะ)…” จะ​ทำ​ จะ​เจริญ​ หรือ​จะ​ละ​เลิก​อะไร​ ก็​เติม​ลง​ไป

ปี​นี้​ผ่าน​วัน​เข้า​พรรษา​มา​แล้ว​ จะ​ทัน​ไหม ?

ถ้า​ถือ​ตาม​พระ​วินัย​ ถ้า​มี​เหตุ​จำเป็น​ อธิษฐาน​พรรษา​ใน​วัน​แรม​ ๑​ ค่ำ​ เดือน​ ๘​ ไม่ทัน​ ก็​ให้​เวลา​อีก​ ๑​ เดือน​ มา​อธิษฐาน
“พรรษา​หลัง​” ใน​วัน​แรม​ ๑​ ค่ำ​ เดือน​ ๙​ ก็​ได้​ แล้ว​อยู่​จำ​พรรษา​ไป​จน​ถึง​ ขึ้น​ ๑๕​ ค่ำ​ เดือน​ ๑๒

โยม​ไม่ทัน​ได้อธิษฐาน​เจริญ​กุศล​ใน​คราว​ “พรรษา​ต้น” จะ​มา​อธิษฐาน​ใน​คราว​ “พรรษา​หลัง” ก็​ยัง​ได้ ระหว่าง​นี้​ก็​ซ้อม ​ๆ​ ไป​ก่อน

สำหรับ​คน​เริ่ม​ใหม่​ ไม่​เคย​ทำ​ และ​ไม่แน่ใจ​ว่า​จะ​ทำ​ได้​ไหม​ รู้สึก​ว่า​สาม​เดือน​นี่​นาน​จัง​ ก็​ขอ​แนะนำ​ว่า​ ให้​อธิษฐาน​เป็น​ชุด​
ชุดละ​ ๓​ วัน ครบ​ ๓​ วัน​ ก็​อธิษฐาน​ใหม่

ทำ​อย่างนี้​ง่าย​ดี​ ทำให้​มี​กำลังใจ​ อธิษฐาน​ ๒​ ชุด​ ก็​จะ​ครบ​สัปดาห์​แล้ว ไม่กี่​สัปดาห์​ก็​จะ​ครบ​เดือน​แล้ว แปบเดียว​ก็​ทำ​สำเร็จ
​ครบ​ ๓​ เดือน

ทำ​อย่างนี้​ ถ้า​พลาด​ ก็​พลาด​แค่​วัน​เดียว​ รุ่งขึ้น​ก็​อธิษฐาน​ใหม่ สมมุติ​ว่า​ ทำ​ได้​ ๓​ วัน​แรก​ พอ​วันที่​ ๔​ พลาด​ วันที่​ ๕​ ก็​เริ่ม​ใหม่​ อย่างไร​ ๆ​ ๓​ วัน​แรก​ก็​สำเร็จ​ไป​แล้ว​ ได้​กุศล​ตุน​ไว้​แล้ว​ ๓​ วัน​ และ​เดี๋ยว​จะ​มี​ความ​สำเร็จ​เพิ่ม​ขึ้น​มา​อีก​ที​ละ​ชุด

ถ้า​อธิษฐาน​ที​เดียว​ ๓​ เดือน​ ถ้า​ทำ​ได้​เป็น​เดือน​แล้วพลาด​วันเดียว​ ก็​อาจ​จะ​ใจ​ฝ่อ​ห่อเหี่ยว​ไป​เลย​
และ​อาจจะรู้สึก​ว่า​สาม​เดือน​นี้​สูญ​เปล่า

หมายเหตุ​ : วัน​แรม​ ๑​ ค่ำ​ เดือน​ ๙​ ปี​นี้ ตรงกับ​วัน​อังคาร​ที่​ ๘​ สิงหาคม​ พุทธ​ศักราช​ ๒๕๖๐​

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐

ทำไมมันถึงไม่หายโง่สักที ?

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๐๘

ทำไมมันถึงไม่หายโง่สักที ?

ราคะเกิดขึ้นง่าย เพราะเราสะสมราคะเอาไว้
เรียกว่า ‘(กาม) ราคานุสัย’

ความไม่ชอบใจเกิดขึ้นมา สะสมไว้
เรียกว่า ‘ปฏิฆานุสัย’

ไม่รู้เรื่องเลย อยู่ ๆ ก็เหม่อลอย
ความเหม่อลอยก็ดับ เพราะจิตเกิด – ดับ ทุกขณะ

แต่เกิด – ดับโดยที่ไม่มีสติ
ความไม่รู้อันนั้นดับไป แล้วก็เซฟ (save ข้อมูล) เอาไว้
เรียก ‘อวิชชานุสัย’

‘อวิชชา’ แปลว่าอะไร ?
แปลง่าย ๆ ว่า ‘โง่’

เราเซฟความโง่เอาไว้ เซฟเอาไว้นาน เรียกว่า ‘ดักดาน’
มันสะสมไว้

ทำไมมันถึงไม่หายโง่สักที ?
เพราะมันดักดาน !

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรเจริญสติ
เพราะเวลามีสติขึ้นมา .. ขณะนั้นเราเซฟ ‘สติ’

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม

ณ คอร์สเสียดายตายไปไม่รู้ธรรม
วันที่ ๖-๘ เมษายน ๒๕๕๖
แผ่นซีดี เสียดายฯ ๑ แทรก ๐๗.นาทีทอง ระหว่างเวลา ๐๔.๑๕-๐๕.๑๑
สามารถดาวน์โหลดรับฟังได้ที่ http://bit.ly/1nrd9BN

อาหารของกิเลส

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๐๗

อาหารของกิเลส

จะทำอย่างไรที่เราจะไม่ไปเบียดเบียนใคร
นี่ก็คือ “รักษาศีล”

แล้วเราก็จะได้มีการระมัดระวังการแสดงออก
ทั้งทางกายบ้าง – ทางวาจาบ้าง

รวมทั้งระมัดระวังกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ
ไม่ให้มันเกิดขึ้นมา
(ถ้าเกิดขึ้นมา) พอไม่รู้ทันมันจะโต แล้วมัน “ครอบงำ”

(กิเลส) มันโตขึ้นมาจากอะไร ? ..
จาก ‘เหยื่อ’ (คือ) ที่เราคิดนั่นแหละ

เราให้เหยื่อไปเรื่อย ๆ นะ
เราคิดไปเนี่ย (คือ)ให้เหยื่อไปเรื่อย ๆ

ให้เหยื่อ.. คือให้อาหารกิเลสไปเรื่อย ๆ มันก็โต
โตมา.. แล้วมันไม่รู้จะกินใคร..

มันก็กินเราเอง !
ครอบงำเราแล้วมันก็สั่งเรา…..
(ให้ไป) ทำอะไรที่มันผิดศีล

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ ฐณิชาฌ์ รีสอร์ท

รับฟังเสียงธรรมได้ที่ Link แผ่นซีดี วิถีธรรม๒
571116_มรดกที่ถูกลืม track 02.เหนี่ยวไก่ ระหว่างเวลา ๐.๐๑-๐๑.๑๐
สามารถดาวน์โหลดเสียงธรรมได้ที่ http://bit.ly/2nLmEfI

เปลี่ยนแรงขับเพื่อพ้นจากห้วงทุกข์

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๐๖

เปลี่ยนแรงขับเพื่อพ้นจากห้วงทุกข์

แรงขับเคลื่อนของชีวิตเรา
มันจะเป็นแรงขับเคลื่อนประเภทตัณหา

ตัณหาเนี่ยมันอยากจะได้สุขเวทนา
จากการเสพกามคุณทั้งห้า (เรียกว่า ‘กามตัณหา’)

(แล้วก็อยากเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกว่า ‘ภวตัณหา’)
ถ้าอันไหนเสพแล้วไม่ได้สมอยาก

มันจะมีตัณหาอีกตัวหนึ่งคือ ‘วิภวตัณหา’
อยากให้มันไปพ้น ๆ ไป

…..

ความอยากที่เป็นอกุศล เรียกว่า ‘ตัณหา’
ความอยากที่เป็นกุศล เรียกว่า ‘ฉันทะ’

…..

ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยตัณหาเนี่ยนะ !
จะมีความทุกข์ง่าย มีความสุขยาก

สุขก็สุขแปบเดียว
เดี๋ยวมันก็จะมีความทะยานอยากเรื่องอื่น ๆ ต่อ

….

ตอนนี้เรามาพัฒนาความอยากตัวใหม่
(ให้มี) ความอยากที่เป็น ‘ฉันทะ’

(คือ) ความอยากที่จะ (ทำ) ให้มีความดี ความดีงาม ความสมบูรณ์เกิดขึ้น
อย่างน้อย ๆ ก็ให้ใจเรานี้มีความดีงามสมบูรณ์

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ คอร์สเนยยะ
วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙

รับฟังเสียงธรรมได้ที่แผ่นCD ขยายผล๓
Track 500401-01.เปลี่ยนแรงขับเพื่อพ้นจากห้วงทุกข์ ระหว่างเวลา ๐๖.๒๕-๐๗.๒๓
ดาวน์โหลดเพื่อรับฟังได้ที่ http://bit.ly/2mIw2Ut

เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง

วรรคทอง วรรคธรรม#๑๐๕

เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง

เรา (มักจะ) พยายามมอง สนใจสิ่งที่คนอื่นเขาทำ
มากกว่าสนใจ “สิ่ง” ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
…..

หลวงปู่ดุลย์ บอกว่า..
“จิตส่งออกนอก เป็นสมุทัย”
(ก็คือ) ส่งจิตออกนอก เป็นเหตุให้ทุกข์ (เกิดขึ้น)

เห็นเขาทำอะไรไม่ดี
ไปสนใจเก็บมาไว้ในใจตัวเอง แล้วก็ทุกข์เอง

ไม่สนใจ “(สภาวะ) ทุกข์” ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
ไม่สนใจ “ความฟุ้งซ่าน” ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
(แต่) ไปสนใจว่า “เขาทำอะไร”

แม้แต่ว่าเขาทำดี
แต่เราไม่ได้ดีกับเขา..
เราเองก็ทุกข์ใจ

(หรือแม้ว่า) เขาทำไม่ดี
(แล้ว) เราไม่ชอบใจความไม่ดีของเขา..
เราเองก็ทุกข์ใจอีก

เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง !

ธรรมบรรยายโดย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล

แสดงธรรม ณ กิจนิมนต์ทำบุญสำนักงาน
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖

รับฟังเสียงธรรมได้ที่แผ่นซีดี เหนือบุญ ๓
ไฟล์ 09.1.รู้ทุกทาง 560523 ระหว่างเวลา ๑๔.๔๖-๑๖.๒๘
สามารถดาวน์โหลดเสียงธรรมที่ลิงก์ http://bit.ly/2gNLLhm