#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๕๕ ?️?️?️ #ถาม : เนื่องจากช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง อยากทราบว่าการเป็นฆราวาสจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้แค่ไหน…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๕๕
?️?️?️
#ถาม : เนื่องจากช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง อยากทราบว่าการเป็นฆราวาสจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้แค่ไหน ให้อยู่ในสัมมาวาจาของมรรคมีองค์ ๘ ครับ? เราวิจารณ์บุคคล วิจารณ์นโยบายได้แค่ไหนครับ? เราจะไปเตือนคนอื่น หรือคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง ว่าเลือกพรรคนี้นโยบายนี้ คนนั้นคนนี้ไม่ดีกับประเทศ ได้ไหมครับ? และถ้าเราเลือก แล้วคนนั้นดันเป็นคนที่ไม่ดี ได้เข้าไปบริหารประเทศ จะเป็นกรรมของเราไหมครับ จะมีผลให้เราห่างจากทางเดินมรรคมีองค์ ๘ ไหมครับ?
หรือถ้าเป็นนักปฏิบัติ ควรปลีกตัวไม่ติดตามเรื่องการเมือง วางอุเบกขา ไม่ต้องไปเลือกตั้งเลยครับ?

#ตอบ : ทีละประเด็นนะ
๑. ฆราวาสจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้แค่ไหน ให้อยู่ในสัมมาวาจาของมรรคมีองค์ ๘ ?
– สัมมาวาจา ได้แก่ เจตนางดเว้นจากพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ฉะนั้น ถ้าการแสดงความเห็นที่เว้นจากการพูด ๔ แบบข้างต้น ก็ไม่ผิดจากข้อสัมมาวาจา
– ด้วยมาตรฐานนี้ เราก็สามารถแยกแยะได้ว่า ผู้สมัครคนไหนมีสัมมาวาจาบ้าง ใครเอาแต่ด่า(พูดคำหยาบ) ใครชวนทะเลาะ หรือพูดมาแล้วก่อให้เกิดความแตกแยก(พูดส่อเสียด) ใครเสนอข้อมูลที่ไม่จริง บิดเบือนข้อมูล(พูดเท็จ) แม้จะดูน่าสนใจแค่ไหน ฟังดูสะใจแค่ไหน ก็ตัดสินใจได้ว่าจะไม่น่าเลือก เป็นต้น

๒. วิจารณ์บุคคล วิจารณ์นโยบายได้แค่ไหน?
– วิจารณ์ตามฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยคำสุภาพ

๓. เตือน หรือคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง ว่าเลือกพรรคนี้นโยบายนี้ คนนั้นคนนี้ไม่ดีกับประเทศ ได้ไหม?
– ได้สิ แต่ก็ควรเตรียมพร้อมเปิดใจรับคำโต้แย้งจากเขาด้วย ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรตกลงกันว่าแต่ละฝ่ายจะนำเสนอความเห็นโดยใช้เหตุผล นำข้อมูลที่ปรากฏ ตามที่เป็นจริง มาแบ่งปันกัน ไม่ใช้อารมณ์

๔. เลือกแล้ว คนนั้นดันเป็นคนที่ไม่ดี ได้เข้าไปบริหารประเทศ จะเป็นกรรมของเราไหม?
– เป็นสิ!

๕. กรรมจากข้อ ๔ มีผลให้เราห่างจากทางเดินมรรคมีองค์ ๘ ไหม?
– คงไม่ขนาดนั้น แต่จะส่งผลให้มีทุกข์มากขึ้น และผู้รับผลก็มีมากมหาศาล

๖. เป็นนักปฏิบัติ ควรปลีกตัวไม่ติดตามเรื่องการเมือง วางอุเบกขา ไม่ต้องไปเลือกตั้งไหม?
– เรื่องการเมือง แม้เราไม่สนใจ มันก็ส่งผลถึงเราจนได้ ถึงจะปลีกตัวไปอยู่ผู้เดียวในป่าในถ้ำ ก็ไม่แน่ว่าจะพ้นไปได้ (เช่น เขามีนโยบายจะพัฒนาถ้ำที่เราอยู่ ให้เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นต้น)
ทางที่ดี ควรติดตามอย่างผู้รู้ มองออกว่าใครดีใครร้าย ซึ่งคงไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ จะเป็นดีมากดีน้อย ร้ายมากร้ายน้อย การที่จะแยกแยะได้ ก็ต้องติดตามข้อมูลบ้างจึงจะรู้ได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ควรศึกษากฏหมายไว้บ้าง บางทีพูดคุยกันเพลิน เลยเถิดไป กลายเป็นทำผิดกฏหมาย

๒๒ มีนาคม ๒๕๖๒


อ่านบน Facebook