#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๕๘ ?? #ถาม : ขออนุญาตทักท้วงคำอาราธนาธรรมใน ตอบโจทย์ ๑๕๗ นะครับ เพราะจำได้ว่าบทนี้…

#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๕๘
??
#ถาม : ขออนุญาตทักท้วงคำอาราธนาธรรมใน ตอบโจทย์ ๑๕๗ นะครับ เพราะจำได้ว่าบทนี้ ที่ถูกต้องตามพระไตรปิฏก (พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ สุตฺต. ขุ. อปทานํ (๒) พุทฺธวํโส จริยาปิฏกํ) ควรจะเป็น:

พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สมหฺปติ (พ๎รัห๎มา จะ โลกาธิปะตี สะหัมปะติ)
กตญฺชลี อนธิวรํ อยาจถ (กะตัญชะลี อะนะธิวะรัง อะยาจะถะ)
สนฺตีธ สตฺตา อปฺปรชกฺขชาติกา (สันตีธะ สัตตา อัปปะระชักขะชาติกา)
เทเสหิ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชนฺติฯ (เทเสหิ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชันติฯ)

ซึ่งใน ตอบโจทย์ ๑๕๗ มีทั้งหมด ๕ จุดที่ไม่ตรงตามบทบาลีในพระไตรปิฏก:
๑. กะตัญชะลี ไม่ใช่ กัตอัญชะลี
๒. อะนะธิวะรัง ไม่ใช่ อันธิวะรัง
๓. สัตตา อัปปะระชักขะชาติกา ไม่ใช่ สัตตาปปะระชักขะชาติกา
๔. เทเสหิ ไม่ใช่ เทเสตุ
๕. ปะชันติ ไม่ใช่ ปะชัง

ฝากพิจารณาด้วยครับ

#ตอบ : คำอาราธนาธรรมที่ชาวพุทธไทยใช้กันอยู่ และได้ยินกันมาอย่างคุ้นเคย เป็นแบบที่ปรากฏอยู่ใน “ตอบโจทย์ ๑๕๗” ไม่ตรงกันกับที่ปรากฏในพระไตรปิฎกตามที่มีผู้ทักท้วงมาจริง

แต่ใน“ตอบโจทย์ ๑๕๗” ยกเอาคำอาราธนาแบบดังกล่าวมาแสดง เพราะเห็นว่าเป็นคำที่คุ้นเคยของคนทั่วไป เผื่อว่าใครที่ฟังมาจนชินแต่ไม่ทราบความหมาย จะได้โยงเข้ากับเหตุการณ์ในพุทธประวัติตามที่เล่ามา
และที่ไม่ได้ยกข้อความบาลีในพระไตรปิฎกดังกล่าวมาเทียบเคียง เพราะเห็นว่าเดี๋ยวจะเกิดประเด็นใหม่ขึ้นมา เช่นอาจจะมีคนท้วงว่า “ไม่เหมือนกับที่เคยได้ยิน” “ผิดจากที่ท่องมา-เรียนมาในนักธรรมตรี” ซึ่งยังไม่อยากเปิดประเด็นนี้ เกรงว่าจะออกนอกเรื่องไปไกล ยิ่งอาตมาเป็นพวกฟุ้งซ่าน ชอบออกนอกถนนใหญ่แล้วเลี้ยวเข้าซอยอยู่ด้วย ๕๕๕๕

แต่ที่ท้วงมาก็ดีนะ ขออนุโมทนา จะได้ใช้โอกาสนี้ยกมาให้เห็นกันชัดขึ้น และขออนุญาตเปลี่ยนวิธีเขียนเป็นแบบบาลีอักษรไทยให้เหมือนกัน เพื่อสะดวกในการเทียบเคียง

– ข้อความจาก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ ภาษาบาลี อักษรไทย พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ สุตฺต. ขุ. อปทานํ (๒) พุทฺธวํโส จริยาปิฏกํ
“พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ
กตญฺชลี อนธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตา อปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสหิ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชนฺติ ฯ”

– คำอาราธนาธรรม ที่ใช้กันในประเทศไทย
“พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ
กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ.”

ข้อสังเกตความแตกต่าง
๑. บรรทัดที่ ๒ “กตญฺชลี อนธิวรํ” กับ “กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ”
๒. บรรทัดที่ ๓ “สตฺตา อปฺปรชกฺขชาติกา” กับ “สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา”
๓. บรรทัดสุดท้าย “เทเสหิ” กับ “เทเสตุ” และ “ปชนฺติ” กับ “ปชํ”

เข้าใจเอาเองว่า ผู้ที่ปรุงคำอาราธนาธรรมขึ้นมานี้(ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด) น่าจะพยายามปรุงคำจากพระไตรปิฎก ให้เข้ากับอินทรวงศ์ฉันท์ เพื่อให้สะดวกต่อการสวดสรภัญญะ
อินทรวงศ์ฉันท์ มีข้อกำหนดว่า ใน ๑ คาถา มี ๒ บาท
ใน ๑ บาท มี ๒ วรรค ๑๒ พยางค์
มีจำนวนพยางค์ ครุลหุ ตามบังคับฉันท์ดังนี้
O O I O O I I O I O I O
O O I O O I I O I O I O
หมายเหตุ
สัญญลักษณ์
O แทนพยางค์ครุ เสียงหนัก คือพยางค์ที่มีสระเสียงยาว หรือสระเสียงสั้นแต่มีตัวสะกด
I แทนพยางค์ลหุ เสียงเบา คือพยางค์ที่มีสระเสียงสั้นและไม่มีตัวสะกด
จังหวะการสวด ในทุกบาทจะเป็นจังหวะ ๒+๓ พยางค์ และ ๓+๔ พยางค์ ดังนี้

พฺรหฺมา/ จ โลกา//ธิปตี/ สหมฺปติ//
กตฺอญฺ/ชลี อนฺ//ธิวรํ/ อยาจถ//
สนฺตี/ธ สตฺตาปฺ//ปรชกฺ/ขชาติกา//
เทเส/ตุ ธมฺมํ// อนุกมฺ/ปิมํ ปชํ//
หมายเหตุ สัญญลักษณ์ / แทนจังหวะหยุด
ทีนี้ พอปรุงมาแล้ว ก็สวดง่ายขึ้น

แต่ถ้าถามว่า “ตรงกับที่มีมาในพระไตรปิฎกไหม?” ก็ไม่ตรงหรอก!
ซึ่งอาตมาก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะไปสั่งให้ปรับแก้อะไร
เป็นเพียงพระผู้น้อย ด้อยปัญญา ไม่ได้เป็นมหาฯ (แถมยังตาสั้นอีกต่างหาก)
คงต้องให้เป็นหน้าที่ของพระผู้ใหญ่ นักการศาสนา นักวิชาการ หรือนักนิรุกติศาสตร์ ท่านทำดีกว่า

แล้วประชาชนทั่วไปจะใช้อย่างไหนดี?
ก็แล้วแต่ว่าจะต้องการแบบไหน
ถ้าเอาตามความเคยชิน ก็ใช้คำที่ปรุงใหม่ไป
ถ้าต้องการใช้คำที่ถูกต้องตามพระไตรปิฏก ก็ใช้ไป

(นี่ยังนึกอยู่ว่า ถ้าขึ้นประเด็นนี้ตั้งแต่คำถามที่แล้ว เราจะวกกลับมาที่เรื่อ “ธุลีในดวงตา” ได้อย่างไร?)

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับอาราธนาจากพระพรหมแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงประกาศพระสัทธรรมตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อประโยชน์คือให้สัตว์โลกทั้งหลายมีความเข้าใจโลก มีความเห็นที่ถูกต้อง ดำรงชีพอยู่อย่างมีทุกข์น้อยลง จนถึงพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง
สำหรับอาตมา เมื่อมีโอกาสไปบรรยายธรรม ไปสนทนาธรรม ผู้ฟังจะใช้คำแบบไหนก็ได้
แม้ไม่มีศาสนพิธีหรือพิธีกรรมใดๆ ไม่ได้กล่าวคำอาราธนาเป็นภาษาบาลี ขอให้มีใจนอบน้อม และพร้อมที่จะรับฟัง ก็ยินดีที่จะบรรยายและสนทนาธรรมด้วย โดยพยายามที่จะปฏิบัติตามพุทธพจน์ตั้งแต่ครั้งแรกที่พระองค์ส่งสาวกออกประกาศพระศาสนาว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนเป็นอันมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย”

๒ เมษายน ๒๕๖๒

ลิงค์โพสต์ นิมฺมโลตอบโจทย์ ๑๕๗
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1130405487142491&id=354448708071510


อ่านบน Facebook