#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๔ #ปฏิจจสมุปบาท #ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ?? #ถาม : ปฏิจจสมุปบาท คืออะไรครับ? #ตอบ : ปฏิจจสมุปบาท​นี่นะ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้​ พระพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้​ แล้วพระองค์เสวยวิมุตติสุขนี่นะ มีอยู่สัปดาห์หนึ่ง​พระองค์มาพิจารณาว่า​ พระองค์ตรัสรู้อะไร​? ก็เห็นว่าพระองค์ตรัสรู้ความจริงของโล​ก​ คือ ปฏิจจสมุปบาท​ ปฏิจจสมุปบาท​ ก็คือ​ เป็นความจริงที่ว่า​ “สิ่งนี้มี..ทำให้อีกสิ่งหนึ่งมี” เรียกว่า รู้ความเป็นเหตุปัจจัยของทุกข์​ และรู้ความเป็นเหตุปัจจัยของความดับทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทมี ๒ สาย สายหนึ่งคือสายที่ทำให้เกิดทุกข์​ อีกสายหนึ่ง คือสายที่ทำให้ดับทุกข์ สายที่ทำให้เกิดทุกข์​ พระองค์ก็​เริ่มตั้งแต่มีอวิชชา​ อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ​ วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ สฬายตนะ หมายถึง​ อายตนะภายนอก และอายตนะภายใน อายตนะภายใน ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ​ อายตนะภายนอก ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ คือ ความคิดนึกปรุงแต่ง​ สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ​ เพราะว่า​ อายตนะภายนอก กับอายตนะภายในก็มาเจอกัน ผัสสะนี่ ก็คือ ต้องมีตัวรับรู้ด้วยนะ ตา กระทบ แสง แล้วต้องมีตัวรับรู้ คือ ตัววิญญาณ วิญญาณ​ ก็คือ​ ทำให้ผัสสะนั้นสมบูรณ์​ ถ้ามี​ ตา​ กับ​ แสง​ กระทบกัน​ ไม่มีวิญญาณ อย่างนี้​ยังไม่เรียกว่า​ ผัสสะ เป็นเพียงแค่​ ตา​ กระทบ​ รูป​ แต่ไม่มีความรับรู้เกิดขึ้น เช่น​ ตา​ของศพ​ ตายใหม่​ ๆ​ ยังมีตา​อยู่​แสงก็มี แหกตาศพมา​ แสงก็เข้าตา​ แต่ไม่มีตัวรับรู้​ คือ​ ไม่มีวิญญาณ​ สฬายตนะ​ เป็น​ปัจจัยให้เกิด​ ผัสสะ​ ผัสสะ​ เป็นปัจจัยให้เกิด​ เวทนา​ เวทนา​ คือ​ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย​ ๆ​ เวลาลมพัดมาก็มี​ผัสสะ​ เกิดขึ้นทางกาย​ ลมเย็น..ก็รู้ว่าเย็น​ เย็นแล้วก็เกิดสุข​ ก็รู้ว่า ไอ้เวทนาที่เป็นสุขนี่​ เป็นผลมาจาก มีการสัมผัส​หรือ​ผัสสะกัน​ระหว่าง​ ลม​ กาย​ และก็มีวิญญาณการรับรู้​ ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา​ เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา​ เวลามีเวทนาเป็นสุข ก็ปรารถนาให้มีอีก​ มีเวทนาที่เป็นทุกข์​ ก็ปรารถนาที่จะไม่ให้มี​ ตัณหานี่​ มีได้ถึง ๓ แง่​ คือ กามตัณหา อยากได้​ อยากมี​ ภวตัณหา คือ อยากเป็​น​ วิภวตัณหา คือ อยากพ้นไปจากสิ่งนั้น​ เรียกว่า อยากได้ อยากที่จะไม่ได้​ อยากมี อยากที่จะไม่มี​ อยากเป็น อยากที่จะไม่เป็น​ รวมเป็น ตัณหา ทั้งหมดนะ! อยากได้ คือมี​ตัณหา​ ขึ้นมาแล้วน่ะ​ ก็เป็นปัจจัยให้เกิด อุปทาน​ อุปทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น​ เพราะอยากได้ แล้วก็อยากจะให้มันอยู่อย่างนี้​ และเป็นของเราด้วย ก็ยิ่งยึดเอาไว้​ แต่ความจริงของสิ่งทั้งหลาย คือ มันไม่เที่ยง​ เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา​ คือความจริงมันฟ้องอยู่ว่า​ มันรักษาไว้ไม่ได้​ เหมือนกับของมันจะต้องหลุด​มือไป​ ต้องรีบยึดสิ่งนั้นเอาไว้​ เพราะกลัวมันจะหลุดมือ กลัวมัน​จะไม่ได้เป็นของเรา​ แต่ความจริง คือ มันไม่ใช่ของเรา และ​มันไม่เป็นเราด้วย​ ก็เลยรีบยึดเอาไว้​ ตัว​อุปทาน คือ​ มันต่อต้านกับความจริง​ ต่อต้านความเป็นจริงของโลกนี้ ของชีวิตนี้​ ของธรรมชาตินี้​ พอ​มีอุปทาน​ อุปทานอีกอย่างนึง คือ มี​การแทรกแซง​ อุปทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ​ ภพ ก็คือ การแทรกแซง​ การทำกรรมต่างๆ​ การทำกรรมต่าง ๆ เนี่​ย ภพ มันมี ๒ แง่น่ะ ภพ ก็คือ​ เป็นแดนเกิด​ เช่น​ รูปภพ​ อรูปภพ​ อะไรอย่างนี้นะ​ ก็เป็นเรื่องของแดนเกิด​ แต่ภพอีกอย่างหนึ่ง​ คือ​เป็น​ กรรมภพ คือ​ การแทรกแซงการกระทำต่าง ๆ ด้วยเจตนา​ เช่น จิตเผลอไป​..รีบดึงกลับมา นี่ก็คือ การแทรกแซง​.. เกิด​ภพ​แล้ว ภพ​ของ​นักปฏิบัติอย่างเนี้ย มี​ภพ​ ก็เกิด​ ชาติ​ ..คือ​การเกิด ชาติ​นี่ ก็​มีชาติ​ มีการเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมา​ เกิดทีไรก็แก่ เจ็บ ตาย​ มีชาติ​ จึงมี​ชรา​ มีมรณะ​ พอมีชาติ​ ชรา​ มรณะ​ ก็ขัดแย้งกับความรู้สึกของ​บุคคลทั้งหลาย ของสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่อยากแก่​ ไม่อยากตาย ก็เกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส สรุปแล้วคือเป็นทุกข์​ นี่ก็เป็นปัจจัย​ของสภาวะธรรมต่าง ๆ​ ที่ส่งผลต่อเนื่องกันมาจนกลายเป็นมีทุกข์​ ส่วนปฏิจจสมุปบาทสายที่ทำให้ทุกข์ดับ​ ก็คือ เพราะอวิชชาดับ​ ทำให้​สังขารดับ​ และก็ไล่ไปเรื่อย ๆ​ จนถึง​ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ​ ชาติดับ ก็เป็นอันว่าทุกข์ดับ​ ความรู้อันนี้เป็นความรู้ที่ทำให้พระพุทธเจ้าปฏิญาณตนว่า​..พระองค์ตรัสรู้แล้วเป็นพระพุทธเจ้า​ ในคราวที่พระองค์เคยเสวยวิมุตติสุข​ ก็คือพระองค์ปรารภ พิจารณาธรรมะ​โดยพระองค์เอง อยู่พระองค์เดียวตามลำพัง​ ปฏิจจสมุปบาทเนี่ย​ พอพระองค์พิจารณาถึงธรรมที่ทำให้ตรัสรู้​ คือปฏิจจสมุปบาท​ พระองค์ก็ปรารภที่จะไม่สอน เพราะรู้สึกว่ายาก​ มันยากเกินไปที่สัตว์โลกจะมาทำความเข้าใจปฏิจจสมุปบาท​อย่างนี้​ ก็ปรารภที่จะไม่สอน​ แต่ต่อมาพระองค์ก็พิจารณาเห็นว่าสัตว์โลกทั้งหลายเนี่ย​ ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ๆ ก็มี หมายความว่า มีกิเลส​น้อย ๆ มีปัญญามากพอที่จะฟังคำสอนของพระองค์แล้วก็​เข้าใจได้..มีอยู่​! พระองค์พิจารณาอย่างนี้ โดยเปรียบกับบัวสามเหล่า​ เหล่าแรก​ก็คือ บัวที่พ้นน้ำแล้ว​ เพียงกระทบแดด ก็จะบาน​ บัวเหล่าที่สองก็คือ บัวอยู่ปริ่ม ๆ น้ำ​ รออีกไม่นาน​ ก็จะพ้นน้ำขึ้นมา​ แล้วก็กระทบแสงแดด ก็จะบาน​ บัวอีกเหล่านึงก็คือ อยู่ในน้ำ​ รออีกวันสองวัน ก็จะค่อย ๆ ชูดอก​ขึ้นมา แล้วก็พ้นน้ำ​ แล้วก็กระทบแดด แล้วก็บาน มีบุคคลสามประเภทนี้​ ทำให้พระองค์ตัดสินใจที่จะออกมาแสดงธรรม​ บุคคลสามประเภทนี้ก็คือ​ เทียบกันกับบุคคลที่รู้ได้เร็ว ก็คือ​ที่เป็นบัวพ้นน้ำแล้ว​ รู้ได้เร็วรองลงมา ก็เป็นประเภทที่อยู่ปริ่ม ๆ น้ำ​ คนที่ได้ยินได้ฟังธรรมะ แล้ว​ก็ต้องฝึกฝน​ฝึกปรืออีกนานเลย​นะ แต่ก็สามารถบรรลุธรรมได้ คนสามประเภทนี้ทำให้พระองค์ตัดสินใจที่จะแสดงธรรม​ ก็มองหาว่าควรจะแสดงให้ใครฟัง​? เริ่มต้นก็ดูที่อาฬารดาบส​ อุทกดาบส​ ปรากฏว่าสองท่านนั้นสิ้นชีวิตแล้วไปเป็​น​ “อรูปพรหม” ก็หมด​โอกาสที่จะฟังธรรม​ เพราะไม่มีรูปแล้ว ก็หมายถึงว่า ไม่มีตา ไม่มีหู​ ไป..ก็ไม่เห็น​ พูด..ก็ไม่ได้ยิน​ เค้าเรียกว่าพูดง่าย ๆ ตามประสาปัจจุบัน​ เรียกว่า​ “ฟาว” หมดโอกาสที่จะมาฟังธรรม​ แล้วนึกถึงว่า​ “ใครล่ะ? ลำดับต่อไป” ก็นึกถึง​ปัญจวัคคีย์​ พอไปแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์​ “นี่เล่าแบบรัด ๆ นะ​!” พอไปแสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์​ แทนที่พระองค์จะแสดงธรรม​ปฏิจจสมุปบาท​ พระองค์ปรับคำสอนของพระองค์ให้เหมาะ​กับผู้ฟัง​ เพราะพระองค์ปรารภตั้งแต่คราวแรกแล้วว่า​ปฏิจจสมุปบาท​เป็นเรื่องยาก​ ที่สัตว์โลกทั้งหลายจะมาฟัง​แล้วบรรลุธรรมได้​ เวลาพระองค์แสดงธรรมกับปัญจวัคคีย์​ พระองค์ไม่ได้แสดงปฏิจจสมุปบาทแบบที่พระองค์ปรารภตอนที่เสวยวิมุตติสุข​ ปรับหัวข้อในการแสดงธรรมเสียใหม่​ เรียกว่า “อริยสัจ ๔ ” ที่ปรับเนี่ยไม่ได้ค้านกันกับปฏิจจสมุปบาท​ เพียงแต่ทำให้มันง่ายขึ้น โดยเอาจุดที่น่าสนใจ​มาเป็นการนำเสนอ​ เช่น ปฏิจจสมุปบาท​สายให้เกิดทุกข์นี่ จะไล่มาตั้งแต่อวิชชาจนถึงทุกข์​นี่นะ น่าจะทำให้ยากเกินไปสำหรับผู้ฟัง​ พระองค์ก็หยิบเอาตัวปัญหา คือ “ทุกข์​” มาเป็นประเด็น​ขึ้นมา เอาปัญหาขึ้นมาว่า “เรามีปัญหาอย่างนี้นะ​!” คนฟังก็จะรู้สึกว่า “เออ! เรามีปัญหาอย่างนี้​” “แล้วปัญหานี้ มันมีเหตุนะ!” “เหตุ” มันก็คือ​ มันตั้งแต่ต้นสายเลย ตั้งแต่ “อวิชชา​” มาจนถึง​ก่อนจะเกิดทุกข์​เนี่ย​ก็เป็นสาเหตุ​ จะว่าให้ยาว​ ๆ​ อย่างนี้มันก็ดูยาก​ไป​ พระองค์ก็จับเอาตัวเด่น​ ๆ​ หลัก​ ๆ​ ที่เข้าใจง่าย คือ​หยิบเอาตัว “ตัณหา” ขึ้นมา​ เป็นตัวบอกว่า นี่คือ “สมุทัย​” เป็นเหตุให้เกิดทุกข์​ ก็คือปฏิจจสมุปบาทนั้นแหละ​ แต่มันแยกให้เป็นสองข้อ​ เป็นข้อทุกข์ และก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์​ และก็ไม่ได้เอามาตลอดทั้งสาย​ เอาแต่ตัวเด่น ๆ มา​ เอาตัว “ตัณหา​” ซึ่งทำความเข้าใจได้ง่ายหน่อย​ ส่วนปฏิจจสมุปบาทสายให้ดับทุกข์​ พระองค์ก็ไม่ได้ว่าทั้งสาย​ หยิบ​เอาภาวะที่พ้นทุกข์คือปลายทาง​ มาเป็นตัวตั้ง​ว่า..นี่เป็นเป้าหมาย​ ที่เราจะต้องไปให้ถึง​ ไปแสดงให้กับปัญจวัคคีย์ ให้เห็นว่า “มีทุกข์นะ​!” นี่อริยสัจข้อที่หนึ่ง​ “มีเหตุแห่งทุกข์นะ​!” นี่อริยสัจข้อที่สอง คือ สมุทัย และข้อที่สามคือ​ ชี้ให้เห็นเป้าหมาย​ว่า​ “ต้องให้ถึงทางดับทุกข์นะ!” ส่วนข้อที่สี่ อันนี้แหละ​เป็นพระปัญญาของพระองค์​ ในปฏิจจสมุปบาทเนี่ย​ ยังไม่ได้บอกวิธีการปฏิบัติ​นะ​ แต่​เวลาพระองค์จะแสดงธรรม​ เพื่อให้คนไปให้ถึงปลายทาง​ คือความพ้นทุกข์​ให้ได้เนี่ย​ พระองค์ก็หยิบเอาความรู้ที่พระองค์รู้แล้วเนี่ย​มาปรับ แล้วก็บอก​สอนว่าควรทำอย่างไร? ก็กลายเป็นว่ามีแนว​สำหรับให้คนได้ฝึก​ เพื่อให้ถึงปลายทางก็คือ มรรคมีองค์แปด มรรคมีองค์แปดเนี่ย สอนกับพระปัญจวัคคีย์​ แต่เวลาสอนกับคนอื่นหรือบุคคลอื่นนี่นะ​ อาจจะสอนเป็น​ไตรสิกขา​ก็ได้​ “ไตรสิกขา คงเคยได้ยินนะ​!” ก็คือ สีลสิกขา​ จิตตสิกขา​ ปัญญาสิกขา​ จริง ๆ​ ก็คือ มรรคมีองค์แปดที่ย่อเหลือสาม เวลาสอนกับพระภิกษุนักบวชก็สอนไตรสิกขา​ สีลสิกขา​ จิตตสิกขา​ ปัญญาสิกขา​ เวลาสอนกับชาวบ้านก็ปรับใหม่ให้เหมาะกับผู้ฟัง ก็กลายเป็น​ ทาน ศีล ภาวนา​ ก็คือ เป็นการปรับมรรคมีองค์แปดเนี่ยมาเป็นสามข้อ ให้เหมาะกับชาวบ้าน​ สรุปแล้วคือ​ ปฏิจจสมุปบาท​ ถ้ารู้สึกว่ายาก “ไม่เป็นไร! ธรรมดามาก​นะ” ให้มาเรียนอริยสัจ ๔ ก็ได้​ เรียนอริยสัจ ๔ ก็มา​ทำความเข้าใจว่า​..กิจในอริยสัจ ๔ นี่​ ควรทำอะไรบ้าง​? ทุกข์..ควรรู้​ สมุทัย..ควรละ​ นิโรธ..ควรทำให้แจ้ง​ มรรค..ควรเจริญ ถ้าเรียนอริยสัจ​ แล้วไม่มาถึงกิจในอริยสัจนี่นะ​ เรียกว่า​ยังไม่จบ มันไม่ได้ทางปฏิบัติ​ กิจในอริยสัจ คือ​ ทุกข์..ควรรู้​ เวลาเกิดอะไรเกิดขึ้นในชีวิตนี้ กายนี้ ใจนี้​..แค่ รู้ แต่ถ้ามันเริ่มเป็นตัณหา คือ มี​แรงขับดันผลักดันให้เราต้องทำอะไร​ ด้วยเจตนาดีบ้าง​ไม่ดีบ้างนี่นะ​ ส่วนใหญ่​ตัวปัญหา คือ เจตนาไม่ดี เป็นตัวตัณหาขึ้นมาเนี่ย​.. ให้รู้ ..ไม่ใช่​ รู้​ อย่างเดียว รู้แล้ว..ต้องละมันด้วย ไม่เอามัน ไม่ตาม ส่วนนิโรธ คือนิพพานเนี่ย​ไม่ใช่​ไปปรุง(แต่ง) แต่ทำมรรคให้เจริญ แล้วก็ไปรู้ตัวนิโรธ​ขึ้นมาเอง​ นี่ว่าคร่าว ๆ เทียบเคียงให้เห็น​กันระหว่าง ปฏิจจสมุปบาท กับ อริยสัจ ๔ เพื่อให้เห็นแนวทางการปฏิบัติ ให้เข้าถึง​ ให้เป็น​ประโยชน์ต่อพุทธบริษัท​ด้วย พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” เมื่อวันที่​ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/J_UdRcRcHj0 (นาทีที่ 50:52 – 1:05:50​ )

อ่านต่อ