#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๐๖ #ปิดวาจาไม่พูดแล้วยิ้มได้ไหม ?? #ถาม​ : ไปวัดเขาบอกว่า “ให้ปิดวาจา ไม่พูด” แล้วเรามองกัน..คือไม่พูดแต่ก็เห็นหน้า ยิ้มให้กันได้ไหมค่ะ? #ตอบ​ : ได้​ ๆ​ แต่จริง ๆ นี่นะ​ โดยหลักการนะ​ การปิดวาจาเนี่​ย ไม่ใช่ปิดเพื่อที่จะ​เป็นใบ้​ แต่ว่า ‘ปิด’ เนี่ย เพื่อให้รู้ความปรุงแต่งในใจ​ให้ชัดเจนขึ้น​ เนี่ยมันปรุงอยู่ในใจนะ​! แต่ปากไม่พูด​ ให้รู้ทันตัวที่มันปรุงแต่ง​ ไม่ใช่ว่าจะหาวิธียังไง ที่จะสื่อสารกับเขาให้ได้ โดยอาจจะเขียนอะไรอย่างนี้ อย่างนี้ก็​พูด​ดีกว่า เข้าใจไหม? ยิ้มให้ได้ คืออยู่ด้วยกัน​แล้วก็ยิ้มให้กัน​ อย่างนี้ไม่มีปัญหาอะไร​ แต่ถ้าคิดจะสื่อสารอะไรกับเขาสักอย่าง​ อย่างนี้เราก็วุ่นวายใจอยู่ข้างใน #ถาม​ : คือหนูเข้าใจ​ แต่ทีนี้หนูเห็นทุกคนเขาหน้าบึ้งกันหมด​ ยิ้มก็ไม่ได้หรือเปล่า? หนูก็เลยสงสัย​ตรงนี้ #ตอบ​ : ยิ้มได้ ๆ​ “พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน​ ไม่ใช่ผู้บึ้ง​ ผู้นิ่ง ผู้เครียด​ ยิ้มให้ได้​ แต่ถ้าเราสมาทานปิดวาจานะ​ ก็ไม่พูดเท่านั้นเอง​ ทีนี้ไม่พูดเพื่ออะไร? นี่ต้องดูด้วย​ ดูจุดมุ่งหมายด้วยนะ​ ไม่พูดเพื่ออะไร? ไม่พูดเพื่อที่จะดูความปรุงแต่ง​ คือดูจิตนั่นเอง​ เห็นสังขารที่มันปรุงแต่งอยู่ข้างใน​ มี “วจีสังขาร” คือ มันปรุงเป็นคำพูด​ #ถาม​ : อันนี้หนูเข้าใจค่ะ​ เรื่องไม่พูดหนูเข้าใจ​ แต่ไม่พูด​ ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องหน้าบึ้งใส่กัน​ไปเลย​ ไม่ใช่นะ! #ตอบ​ : กลายเป็นผู้เครียดใช่ไหม? ต้องเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน​ รู้ คือ รู้จิต รู้กิเลส​ รู้ความปรุงแต่ง​ ตื่น คือ รู้สึกตัวอยู่​ ไม่ใช่หลับใหล​ หลับใหลในที่นี้​ หมายถึงว่า มีโมหะ​ ลืมตาตื่นอยู่นะ แต่เป็นผู้หลับใหลได้ คือ มีโมหะ​ เราต้องเป็นผู้ตื่น​ คือ มีสติ​ รู้ทันกาย​ รู้ทันใจ​ ที่นี้สมมุติว่าไปเจอคนบึ้งนะ​ และเรานึก​ “แหม​! ยายเนี่ย แสดงว่าไม่เข้าใจเลย” คิดตำหนิเขานะ นี่สมมุตินะ​! คิดตำหนิเขา..ให้รู้ทันด้วยว่า​ เนี่ย​เรามีความปรุงแต่ง​ในแง่ตำหนิเขา​ ไอ้ความ​ปรุงแต่งในแง่ตำหนิเขา​เนี่ย​..ไม่ดี​ เป็นอุปกิเลส​ ให้รู้ทันอุปกิเลสตัวนี้​ เขาจะเป็นยังไง ก็เรื่องของเขานะ​ เขาจะหน้าบึ้ง เขาจะเครียด​ เขาจะอะไร​ ..ก็เรื่องของเขานะ​ แต่เราเนี่ย มีความเห็นอยู่ในใจ​เนี่ย..ให้รู้ทัน​ ความเห็น​ตรงนี้ด้วย​ เข้าใจไหม? #ถาม : ไอ้ที่ว่าทุกคนเขาอาจจะรู้อะไรกันมาไม่เหมือนกัน ในความคิดของแต่ละคน​ แต่ “เอ! เรายิ้มให้เขา​เราผิดหรือเปล่า? นี่เขาห้ามยิ้มด้วยหรือเปล่า​?” เราก็ไม่รู้ข้อปฏิบัติ​ #ตอบ : โอ้​! ถ้าห้ามยิ้มด้วย​ ย้ายวัดเลย​ เปลี่ยนสำนักได้เลย เรียกว่า มีปราโมทย์อยู่ในใจ​ ปราโมทย์เนี่ย​เป็นธรรมเริ่มต้นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ซึ่งเป็นต้นทาง​ มีธรรมอยู่ชุดนึงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้บ่อยมาก​ คือ มีปราโมทย์​ มีปีติ​ มีปัสสัทธิ​ มีสุข​ แล้วจึงมีสมาธิ​ ปราโมทย์ ก็คือ ความเบิกบาน​ ร่าเริง ร่าเริงแล้ว ก็มีปีติ คือความอิ่มใจ​ ปัสสัทธิ นี่​คือ ความไม่เครียด​ เป็นความปลอดโปร่งโล่งใจ​ ผ่อนคลายกายใจ แล้วค่อยมีสุข​ แล้วสุขนี่ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ​ ดังนั้น คนที่จะมีสมาธิให้ถูกต้องเนี่ย ต้องเริ่ม​ด้วยปราโมทย์​ ไม่ใช่บึ้งตึง​ เครียด​ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ! พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/xGwa3WUjc4Y (ระหว่างนาทีที่​ 7:33 -​ 12:24)

อ่านต่อ