#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๑๑ #แสงโอภาสจากการทำสมาธิ ?? #ถาม: ทำไมเวลาผมนั่งหรือนอนทำสมาธิ ผมจะเห็นดวงสีม่วง ดวงสีแดง ดวงสีขาว ดวงสีแสด เล็ก ๆ ใหญ่ ๆ พระอาจารย์บางท่านบอกว่า “เป็นแสงโอภาส” “แสงโอภาส” คืออะไรครับ? #ตอบ: “โอภาส” เป็นภาษาบาลี แปลว่า แสงสว่าง เพราะฉะนั้น เห็นโอภาส คือ เห็นแสงสว่าง ก็แค่สักว่า “แสง” เท่านั้นเองไม่มีอะไร ไม่มีอะไรพิเศษ ไม่มีอะไรน่ากลัว เวลาเห็น”แสง” แล้ว“ใจ”เป็นยังไง?..ให้รู้ทันใจ เห็นแสง..แล้วสงสัย ความสงสัยไม่ใช่แสงแล้ว ให้รู้ทันใจว่า..มีความสงสัยเกิดขึ้นกับใจ รู้ทันว่า..สงสัย เห็นแสง..แล้วดีใจ “โห! วันนี้ฉันปฏิบัติดี แสงสีม่วงสวยเชียว” อย่างนี้นะ! ให้รู้ทันว่า..ดีใจ “เฮ้ย! เห็นอย่างนี้ แสดงว่าเราปฏิบัติดี เก่ง” มีความภูมิใจในแง่ของถือตัว ว่าเราเป็นนักปฏิบัติที่ดี ให้รู้ทันว่า..ถือตัว นึกออกไหม? แสงที่เกิดขึ้น ก็สักว่าแสง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเห็นแสงนั้นแล้ว ใจเราเป็นยังไง? ใจที่รับรู้แสงนั่นแล้ว เกิดอะไรขึ้น? สงสัย..ก็ให้รู้ กลัว..ก็ให้รู้ ดีใจ..ก็ให้รู้ ภูมิใจ เกิดมานะ..ก็ให้รู้ อย่างนี้นะ อย่างนี้เรียกว่าได้ประโยชน์จากการมี “แสง”ปรากฏ ตอนเห็นแสง.. แสงก็เป็นอารมณ์ของจิต แต่แสงก็อยู่ได้ไม่นาน เกิด-ดับไป มันไม่ได้มีแสงอยู่ตลอดเวลา เป็นเพียงนิมิตที่เกิดขึ้น เรียกว่า “นิมิตโอภาส” ภาษาบาลี “โอภาส” ก็แปลว่า แสงสว่าง นั่นเอง ก็คือ เห็นแสง..ก็รู้ว่า แสง มันคือ แสง เท่านั้นเอง! ไม่ต้องไปแปลค่า ไม่ต้องตีความ.. มันคือ แสง ทีนี้พอเห็นแล้ว “ใจ” เป็นยังไง? คราวนี้ย้อนมาดู ใจ พอย้อนดู ใจ แล้วนี่นะ..ก็จะเห็น จิต เกิด-ดับเปลี่ยนแปลง เห็นจิตทำงานของมัน กระทบแสงนี่.. บางที ใจ ก็ไม่เหมือนกัน เห็น แสง ครั้งนึง..จิต อาจจะดีใจ เห็นอีกครั้งนึง.. อาจจะ “ไม่ใช่แค่ดีใจ” อาจจะพลิกกลายเป็นกิเลสเลย! อย่างที่บอกว่า เริ่มจากดีใจ..แล้วกลายเป็นถือตัว หรือมีความภูมิใจเห็นว่าตัวเองเก่ง..กลายเป็นมานะอย่างนี้ เห็นว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติที่รู้สึกเหนือกว่าคนอื่นแล้ว เวลามองคนอื่น รู้สึกว่า “เราเนี่ย! เหนือกว่าเขา” อย่างนี้ เห็นว่าเราเหนือกว่าเขานะ กลายเป็นมานะ มีการเทียบเขาเทียบเรา ก็ให้รู้ทันกิเลสที่เกิดขึ้นด้วย บางคนเดินวิปัสสนามาอ่อนๆ แล้วเกิดแสงสว่าง ทำให้เข้าใจผิดว่าบรรลุมรรคผล อย่างนี้ก็เรียกว่า เกิด“วิปัสสนูปกิเลส” วิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นได้เพราะจิตไม่ตั้งมั่น วิธีแก้คือ พอจิตถลำไปหาแสง ให้รู้ทัน พอเห็นจิตถลำไป จิตก็ตั้งมั่นขึ้นมา ก็จะเห็นว่า แสงก็เป็นเพียงสิ่งๆหนึ่ง ที่ถูกรู้ เท่านั้น เพราะฉะนั้น แสง ก็ไม่ได้มีความหมายในตัวเอง ว่ามันจะดีหรือไม่ดี? ก็แค่..แสง เป็นสักว่า..แสง มันจะดีหรือไม่ดี?.. มันอยู่ที่ “จิต” หลังจากที่เห็นแสงแล้วนั้น มันเป็นยังไง? มันปรุงอะไรขึ้นมาอีก? ให้มารู้ทันที่จิต ไม่งั้นแล้ว ก็เห็นแสง..เกิดความภูมิใจ ไม่รู้ทัน ความภูมิใจ ก็กลายเป็นว่า ปรุงแต่งความภูมิใจ แล้วกลายเป็น ความถือตัว เป็นมานะ หรือเป็นวิปัสสนูปกิเลส อย่างนี้เป็นต้น ก็กลายเป็นว่า เอาสิ่งที่เห็น ซึ่งมันไม่ได้ดี ไม่ได้ร้ายอะไร กลายเป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่ไม่ดี เกิดขึ้นกับจิต ทีนี้ แทนที่จะไปดูแสง แล้วปล่อยให้จิตปรุงแต่งอะไรไปเรื่อยเปื่อยนะ กลับมาดูจิตด้วย เห็นจิตมันแสดงความจริงไปด้วย บางทีมันก็ปรุงดี บางทีมันก็ปรุงร้าย มันงง ๆ ไม่รู้จะเป็นยังไง?.. ให้รู้ทันไปเลยว่า สงสัย เป็นวิจิกิจฉา สงสัยขึ้นมา แสงจะเป็นสีอะไรก็แล้วแต่ ไม่จำกัด ก็สักว่าแสงเท่านั้นเอง เป็นนิมิตขึ้นมา หลังจากที่เราทำจิตให้สงบไปสักพักนึง บางทีก็จะเป็นนิมิตที่เกิดจากเห็นสิ่งภายนอก เช่น มีเทวดามาก็มีแสงได้ แต่จริง ๆ ก็ไม่ต้องคิดมาก เห็นอะไร? เกิดสงสัย..รู้ทันว่า สงสัย อย่างนี้ดีกว่า พูดไปอย่างนี้ เดี๋ยวเกิดสงสัย หรือว่าไปปรุงแต่งกลายเป็นอะไร? ปรุงนำหน้าไป ทั้ง ๆ ที่จริงมันไม่มีอะไร เป็นเพียงผลจากการทำกรรมฐานเท่านั้นเอง สรุปแล้วคือ โอภาส แปลว่า แสง แล้วพอ เห็นโอภาส คือ เห็นแสงนั่นแล้ว..จิตเป็นยังไง? ให้รู้ทันจิต เอาอย่างนี้ดีกว่า พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ “ธรรมะสว่างใจ” เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอทhttps://youtu.be/ZKDjnBeK-k0 (นาทีที่ 1:19:20 – 1:24:20)

อ่านต่อ