#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๑๒ #ทำไมฌานเสื่อมง่ายจัง! ?? #ถาม​ : โยมทำอานาปานสติได้ฌาน​ แต่คราวนี้พอไม่ได้ทำฌาน​ ๓​ วัน​ ฌานเสื่อม​ ทำไมฌานมันเสื่อมง่ายจังเลยคะ​? #ตอบ​ : ฌาน ก็เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง​ซึ่ง​เกิด-ดับ​ ฉะนั้น จะทำให้มันไม่เกิด-ไม่ดับ​เนี่ย ทำไม่ได้! ทำได้อย่างเดียว คือ​ ทำให้ชำนาญ​ ทำให้ชำนาญ​ คือ​ ทำ​บ่อย​ ๆ​ ทำครั้งเดียวแล้วจะให้มันมีอายุยืนยาวนานเนี่ย..ไม่พอ​ ต้องหมั่นทำ​ ทีนี้เวลาจะหมั่นทำเนี่ยนะ​! เคยได้แล้ว อย่าอยากได้อีก เพราะความอยากจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ไม่ได้​ ตอนที่ทำได้ครั้งแรกเนี่ยไม่มีความอยาก​ แค่จิต​ไปแตะรู้อารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ​ อารมณ์ที่เคยทำนั่นแหละ​ ทำแบบเดิม​ ส่วนไอ้ตัวเพิ่มเติม​ คือ​ ความอยากเนี่ย​..ไม่ต้อง​ ไม่ต้องไป​เติม​ ทำบ่อย ๆ ทำให้ชำนาญ​ แล้วก็ให้เห็นว่า​ มันเป็นธรรมดาของความปรุงแต่งทั้งหลายที่มันเกิดแล้วดับ​ ฉะนั้น เวลาฌานเสื่อมไป ก็ธรรมดา​ “ฌาน” ก็เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง​ซึ่งเกิด-ดับ​ เราบังคับไม่ได้​ เรา​ทำได้เพียงทำเหตุ​ คือ ฝึกบ่อย ๆ​ ถ้าอยากให้มีฌานอีก​ ก็ฝึก​ เอาจิตไปรู้อารมณ์ที่จิตชอบแบบสบาย​ ๆ​ รู้อารมณ์ที่สบาย ๆ​ ด้วยจิตสบาย ๆ นึกออกไหม? อย่างที่เคยทำนั่นแหละ​ ในเมื่อฌาน​ มันแสดงความจริงแล้วว่า​มันไม่เที่ยง​ ก็ให้รู้มันตรง​ ๆ​ ไปเลย ถ้ารู้สึกเสียดายอาลัยอาวรณ์..ความเสียดายเนี่ย​ อยู่ที่​จิต​ ก็รู้ทันไปเลยว่า..เมื่อกี้มีความเสียดายอาลัยอาวรณ์​กับสภาวะ​ คือฌานที่เกิดขึ้นดับไปเมื่อกี้นี้​ อยากได้ฌานอีก​..ให้รู้ทัน​ความอยาก​ อย่าทำฌานตามความอยาก​ เพราะจะไม่ได้​ เพราะความอยากที่ว่าอยากได้ฌานเนี่ย​ เรียกว่าเป็น “ตัณหา​” ตัณหา​ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดฌาน​ แต่ตัณหา​เป็นเหตุ​ให้เกิดทุกข์​ ให้รู้ทัน​ตัว​ตัณหา​คืออยากได้ฌานนั้นด้วย​ รู้ทันแล้ว..ทำยังไงต่อ? ก็เคยทำยังไง​ ก็​ทำอย่างนั้นแหละ​! เคย​รู้อะไร​ ก็​รู้สิ่งนั้นด้วยใจสบาย ๆ​ ด้วยจิตสบาย ๆ​ เคยรู้ลมหายใจ​..ก็รู้ลมหายใจแบบสบาย ๆ​ เคยบริกรรม “พุท-โธ​” ..ก็บริกรรม​ “พุท-โธ” แบบสบาย ๆ​ เคยหายใจเข้า​ “พุท​” หายใจออก “โธ​” ..ก็หายใจเข้า “พุท​” หายใจออก “โธ​” อย่างสบาย ๆ​ ตอนรู้อารมณ์แบบสบาย ๆ​ ด้วยจิตสบาย ๆ นี่นะ​! จิตจะมีความสุขเอง​ พอมีความสุข​อยู่กับอารมณ์นั้น​..จิตก็อยู่กับอารมณ์นั้นได้นานเอง​ ถ้ามันไม่อยู่​ มันดิ้นไป​ มันไม่ยอม​..เรียกว่า จิตอยู่ไม่สุข​ จิต​ดิ้นไปหาอารมณ์นู้นอารมณ์นี้..ให้รู้ทันไปเลยว่า​ จิตมันฟุ้งซ่าน​ เห็นความฟุ้งซ่านให้เป็นประโยชน์​ อย่าให้เห็นความฟุ้งซ่าน​ว่าเป็นศัตรู​ เห็นความฟุ้งซ่านเป็นประโยชน์ ก็คือ​ว่า​ เห็นความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมา​จริงๆ รู้ทัน​ ความฟุ้งซ่าน​..ความฟุ้งซ่าน​ดับ​ นึกออกไหม? บางทีอาจจะเกิดแบบนี้นะ​ เนื่องจาก​คนเคยได้แล้วเนี่ย​ มักจะอยากได้อีก​ พออยากได้อีก​ ก็ทำด้วยตัณหา​ พอไม่รู้ตัณหานี่นะ มันก็จะไม่ได้นะ​ ถ้ารู้ทันตัณหาได้​ ก็จะง่ายขึ้น​ ที่นี้​ถ้าทำตามตัณหาไป​ มันก็​จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์​ จิตก็จะฟุ้งซ่าน​ เพราะว่าตัณหาเป็นตัวแปรที่เพิ่มเข้ามา​ ซึ่งทำให้ไม่ได้ผลตามที่ต้องการ​ เหมือนทำเคมี​ สูตรผสมเคมีมันเปลี่ยนไป​ มีตัณหาปนเข้ามา​เนี่ย ก็ผิดสูตร​ จะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ​ ฉะนั้นตอนไม่ได้ผล เกิดหงุดหงิด​..ให้รู้ทัน ความหงุดหงิด​ มันฟุ้งซ่าน..ให้รู้ทัน​ ความฟุ้งซ่าน​ นึกออกไหม? ไอ้ความหงุดหงิด​ ความฟุ้งซ่าน​..ก็เป็นความจริงที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น​ ให้รู้ทันไป​ แต่ตัวเบื้องหลังจริง ๆ ที่ทำให้ไม่ได้ผล​ ก็คือ​ ตัวตัณหา​อยากได้เหมือนเดิม​ ให้รู้ทันกิเลส​ที่อยู่เบื้องหลังจริง ๆ​ ตอนต้นนี้ก่อน​ ไม่งั้นแล้วมันจะทำตามตัณหาอยู่เรื่อย ๆ​ รู้ทันกิเลสเบื้องต้น​ ที่เป็นแรงผลักดันให้ทำตัวนี้ขึ้นมาแล้วนี่นะ​ คราวต่อไป มันก็จะทำอย่างที่ไม่ต้องมีตัณหาตัวนี้​ พอทำอย่างไม่มีตัณหาตัวนี้​เนี่ย บางทีก็จะเกิดจิตที่​ฟุ้งซ่านขึ้นมาอีก​ ให้รู้ทัน​ ฟุ้งซ่าน​..ฟุ้งซ่าน​จะดับไป​ ความฟุ้งซ่านก็แสดงความจริงด้วย​ ไม่ใช่รอให้มีความสงบ​ แล้วจึงดู ความฟุ้งซ่าน​ ก็แสดงความจริงด้วย​ แสดงไตรลักษณ์ให้ดูได้ แสดงความไม่เที่ยงให้ดูได้​ แสดงความเป็นอนัตตาให้ดูได้​ จิตที่รู้..ก็เกิด-ดับด้วย​ ไม่ต้องไปประคอง​ ไม่ต้องไป​รักษา​ จิตรู้เอง​..ก็เกิด-ดับ​ ทั้งจิตดีและจิตไม่ดี..ก็เกิด-ดับให้ดู​ ปฏิเสธสิ่งใดสิ่งหนึ่ง​ ก็จะไม่ได้เห็นของจริงของสิ่งนั้น​! พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/edpg2OijZDM (นาทีที่​ 1:38:58​ -​ 1:44:25)

อ่านต่อ