#นิมฺมโลตอบโจทย์ ๒๕๖ #ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมยังมีกิเลส #นักปฏิบัติธรรมโกรธ ?? #ถาม: พระอาจารย์อธิบายว่า..เรามีราคะเกิดขึ้น-เรารู้-ราคะดับ มีโทสะเกิดขึ้น มีโมหะเกิดขึ้น เรารู้แล้วมันดับ ตรงนี้สงสัยว่าแล้วกิเลสแบบนี้มันจะลดลงได้อย่างไร? #ตอบ: ยังไม่ต้องไปลดกิเลสนะ ไม่มีเป้าหมายว่าจะลด..แต่เรามีเป้าหมายว่าจะรู้ #ถาม: อย่างสมมุติว่าเป็นพระโสดาบันท่านก็ยังเกิดขึ้นแล้วก็ยังเห็น #ตอบ: ท่านยังมีกิเลสนะ อย่าไปยั่วท่านนะ! เพราะท่านก็ยังโกรธได้ แล้วท่านก็ยังมีราคะอยู่ อย่าไปยั่วท่าน #ถาม: ถ้างั้นแสดงว่าหน้าที่ของเราแค่รู้ เราก็ไม่ใช่ว่าเป็นคนดี ก็คือเราก็สามารถที่จะมีราคะได้ #ตอบ: ใช่..แค่รู้ว่ากิเลสมีอยู่ จะรู้เลยว่า เราไม่ใช่คนดี พอภาวนาไปแล้วจะรู้ว่า ยัยตัวร้ายคือเรานี่แหละ ถ้าเป็นผู้ชายก็ กูก็อยู่ในระดับพญามารตัวนึง #ถาม: คือเวลาอย่างในที่ทำงานอย่างนี้น่ะค่ะ บางทีเพื่อนก็บอกว่า เอ๊ะ! เห็นเรามาปฏิบัติธรรม ฟังธรรมอย่างนี้ แล้วเพื่อนก็บอกว่า เอ๊ะ! ทำไมขนาดไปปฏิบัติธรรม แล้วยังมีกิเลสอยู่ #ตอบ: “อ๋อ! กูยังไม่ใช่พระอรหันต์นะ” บอกไปเลย บอกเขาไปเลย “ก็ยังไม่ใช่พระอรหันต์นะยังมีกิเลสบ้าง อย่ามายั่วนะ แล้วนี่ก็ยังไม่ใช่พระอนาคามีด้วยนะ ยังมีโกรธนะ!” #ถาม: คือก็อธิบายเพื่อนนะว่าขนาดพระท่านบวชนะ พอสึกออกมาท่านก็ยังมีกิเลสอยู่ #ตอบ: แม้ว่ายังไม่สึก ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีกิเลสนะ เคยอ่านข่าวมั้ย? หน้าหนาวที่ผ่านมา พระหนุ่มนอนอยู่ พระแก่ไปปลุก เป็นวันพระต้องมาตั้งบาตร ก็เรียกพระหนุ่มให้ไปช่วยตั้งบาตร กำลังนอนอุ่น ๆ เลยนะ พระหนุ่มโมโห ชกหน้าพระแก่เลย! แต่นั่นก็เกินไป อันนี้ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดี เพียงแค่จะบอกว่าคนมาบวชพระก็ยังโกรธได้ โยมที่เป็นนักปฏิบัติก็เช่นกัน เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ถ้าจะให้ปลอดภัยจริง ๆ นะ อย่าไปโชว์ตัวว่าเราเป็นนักปฏิบัติ เวลาเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันเนี่ยนะ ให้มีอิริยาบถแบบคนปกติเลย จะเดิน.. ต้องเดินย่อง ๆ มั้ย? ..ไม่ต้อง! ต้องเอามือมากุมตรงนี้มั้ย? ..ไม่ต้อง! ปกติเคยเดินท่าไหนก็เดินท่านั้นแหละ รู้สึกตัวไป เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมา มันจำกัดมั้ยว่า ต้องอยู่ท่าไหน? ไม่จำกัดใช่มั้ย ท่าไหนมันก็มีกิเลสได้ใช่มั้ย? แล้วมันจำกัดมั้ยว่าต้องท่าไหนจึงจะรู้ ? ไม่จำกัดด้วย นึกออกมั้ย? ท่าไหนมีกิเลสเกิดขึ้นมา..ก็รู้ตอนท่านั้นแหละ ฉะนั้น ไม่ต้องมีท่าของนักปฏิบัติ เพราะถ้ามีท่าของนักปฏิบัตินะ คนก็จะเขม่น! #ถาม: กลัวว่าจะเป็นบาปค่ะ #ตอบ: บาปตรงไหน? #ถาม: เพื่อนมองว่าเราเป็นคนปฏิบัติ แล้วเราก็ยังทำแบบนี้อยู่ แล้วแบบฉันไม่อยากปฏิบัติแล้วอะไรอย่างนี้ จะทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสียค่ะ #ตอบ: ไม่ต้องกลัว พระพุทธศาสนาไม่เสื่อมด้วยเหตุนี้ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ กลัวว่า เราจะเสื่อมไปจากพระพุทธศาสนา นึกออกมั้ย? ที่ว่า “เสื่อมไปจากพระพุทธศาสนา” หมายถึงว่า เราเสื่อมศรัทธาลงไป เราไม่มาฝึก ไม่ศึกษาในศีล ในจิตและในปัญญา อย่างนี้เราก็จะเสื่อมไปเองจากพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็ยังเป็นพระพุทธศาสนา ถึงแม้คนทั้งโลกนี้จะลืมพระพุทธศาสนาไปแล้ว พระธรรมวินัยที่แสดงความจริงอันนี้ ก็ยังคงเป็นจริงอยู่นั่นเอง เพียงรอให้บุคคลอีกบุคคลหนึ่งมาตรัสรู้ความจริงอันนี้ รอพระสัมมาสัมพุทธะองค์ต่อไป เท่านั้นเอง ทีนี้ถ้าเรา “เสื่อมไปจากพระพุทธศาสนา” การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ไม่เป็นประโยชน์กับเรา น่าเสียดายมากนะ เพราะเราอุตส่าห์เกิดมาเจอแล้ว ทีนี้เพื่อให้ปลอดภัย อย่าไปโชว์ตัวว่าเราเป็นนักปฏิบัติ เราไม่จำเป็นต้องไปป่าวประกาศว่า ไปปฏิบัติธรรมมานะ มาคอร์สมา อะไรอย่างนี้ ไม่ต้องไปบอกกับคนที่เขายังไม่พร้อมจะฟัง แต่คนที่ดูแล้วมีแววก็ชักชวนได้ ก็ดูเอาตามที่เหมาะสม ถ้าไปชักชวนหรือไปบอกกับคนที่เขาไม่พร้อมมันจะเจอสถานการณ์อย่างนี้ก็คือว่า เขาอาจจะมาลองดี “ยัยคนนี้ผ่านการปฏิบัติที่วัดนี้มาเนี่ย วัดนี้ดีสักแค่ไหน?” เขาก็จะลองแหย่แล้ว ถ้ามียี่ห้อติดว่าเราเป็นนักปฏิบัติเนี่ย เราก็จะมีคนมาลองดีอย่างนี้แหละ แต่ถ้าเราไม่มียี่ห้ออะไร เป็นคนธรรมดา คนธรรมดาก็กิเลสแบบคนทั่ว ๆ ไปเหมือนกัน แล้วเราก็ทำตามกิจวัตรของคนธรรมดา ไม่ต้องไปมีอะไรพิเศษไปจากคนธรรมดาทั่วไป จะแตกต่างจากเขาก็ตรงที่ มีความรู้สึกตัว แต่เราก็รักษาศีลด้วยนะ เพียงเราไม่ไปอยู่ในสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่ที่จะผิดศีล เราก็ป้องกันตัวเองได้เยอะแล้ว งานอบายมุขเราไม่ไป เช่น เที่ยวเตร่กลางคืนเราไม่ไป เราก็รอดพ้นจากอันตรายอะไรอีกเยอะแยะเลย คนเขาชักชวนเราไปงานนั้นงานนี้ที่เสี่ยง ก็ไม่ไป ก็รักษาตัวรอดได้ เพื่อนอาจจะตำหนิติเตียนบ้าง กระแนะกระแหนบ้าง อะไรอย่างนี้นะ ก็อาจจะเป็นครั้งสองครั้ง ครั้งที่สามสี่ห้าเขาก็ชินแล้ว เขาไม่ชวนเราแล้ว ทีนี้ก็สบาย รอดตัวไป ส่วนงานอื่นที่เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์เราก็ทำ มีกิจกรรมดีๆ เราก็ทำ ถ้าเพื่อนกลุ่มนี้มันไม่เอาดี ไม่เอาประโยชน์เลย ก็ไม่ต้องเสียดาย ถ้าเรามีกิจกรรมใหม่ที่ดีทำ เราก็จะมีเพื่อนกลุ่มใหม่ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยาย เรื่อง ฝึกใจให้เป็นอิสระ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ อาคารธรรมดีรุ่งโรจน์ ลิงค์ไฟล์เสียง 621215 ฝึกใจให้เป็นอิสระ-ธรรมดีรุ่งโรจน์ (ระหว่างเวลา๐๑.๒๘.๑๖ – ๐๑.๓๕.๑๘) http://bit.ly/391iGIs

อ่านต่อ