#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ความจริงโดยสมมติ กับ #ความจริงโดย​ปรมัตถ์​ ?? #ถาม​ : ช่วยอธิบายคำว่า “จิตรู้ในสิ่งที่อยู่เหนือบัญญัติ​” เป็นอย่างไรคะ? #ตอบ​ : คือความจริงในโลกนี้ ที่จิตจะรู้ได้ มีความจริง ๒ แบบ​ คือ ๑.​ ความจริงโดยสมมติ กับ ๒.​ ความจริงโดย​ปรมัตถ์​ ความจริงโดยสมมติ​ คือ​ ความ​จริง​ที่​ขึ้น​ต่อ​การ​ยอมรับ​ของ​คน​ จริง​ตาม​ที่​กำหนด​ตกลง​กัน​ไว้​ บางทีก็เรียกว่า​ “สมมติบัญญัติ​” หรือ​ “สมมติสัจจะ” ความจริงโดยปรมัตถ์​ คือ​ ความจริง​ที่​มี​อยู่​ตาม​ธรรมชาติ​ โดย​ไม่​ขึ้น​ต่อ​การ​ยอมรับ​ของ​คน​ เรียกว่า​ ปรมัตถสัจจะ​ จะเรียก​ว่า​ เหนือ​บัญญัติ​ หรือ​ พ้นจากสมมติ​ ก็ได้ พ้นจากสมมติ ก็คือ สภาวะ​ที่​ท่านแยกออกมาเป็น ๔ อย่าง​ ได้แก่ จิต​, เจตสิก​, รูป​, และ​ นิพพาน​ นี่เป็นความจริงโดยปรมัตถ์ จิต​ คือ​ ธรรมชาติ​ที่​รู้​อารมณ์​ เจตสิก​ คือ​ อาการ​หรือ​คุณสมบัติ​ต่างๆ​ ของ​จิต รูป​ คือ​ รูปธรรม​ทั้งหมด นิพพาน​ คือ​ สภาวะ​ที่​ไร้กิเลส​และ​ไร้ทุกข์​ ทีนี้ เวลาเราอยู่ในโลกปกติทั่ว​ๆ​ ไปเนี่ย เราจะอยู่กับสมมติบัญญัติมาก​ เช่น​ วันนี้มาคุยกับ “พระกฤช​” รวมกันกับทั้ง​ “พระชัยชนะ​” ในรายการ “ธรรมะสว่างใจ​” อย่างนี้นะ​ ชื่อนี้..เป็น​สมมติบัญญัติ​ หมดเลย ฟังอาตมาแล้ว..งง​ ความงง เนี่ย​..เป็นสภาวะหนึ่งในใจ​ เป็น​อาการ​ของ​จิต​ ถ้ารู้จัก ความงง.. ก็คือรู้ เจตสิก​ มีปรากฏการณ์อันหนึ่งเกิดขึ้นในใจ..ว่า​ งง เผอิญว่าฟังอาตมาไป..แล้วเกิด​ เข้าใจ​ ความเข้าใจ​ ก็​เป็น​เจตสิก เข้าใจ..แล้ว ดีใจ​ ความดีใจ..เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในใจ เป็น​เจตสิก คำว่า​ “ดีใจ​”.. เป็นสมมติ​สัจจะ​ เป็นสมมติ​บัญญัติ แต่​สิ่ง​หนึ่ง​ หรือสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจ​ ที่เรา​เรียกว่า​ ดีใจ​ เนี่ย​.. เป็น​ปรมัตถสัจจะ​ ให้มา​รู้​สภาวะ​ที่ว่านี้​ ที่ไม่ต้องไปเรียกชื่อมันก็ได้​ รู้สึกว่า​เมื่อกี้นี้มีอะไรเกิดขึ้นในใจ.. แล้ว​พอรู้ทัน.. มันก็ดับไป ตอนที่เผลอคิด.. ตอนคิดเนี่ย​ เรื่องราวในความคิด..ก็เป็นสมมติบัญญัติ​ แต่ตอน​รู้ทัน​ว่า​เผลอ​คิด..มันจะไม่รู้ลงในเรื่องราว​..จะรู้เพียงแค่ว่า​ เมื่อกี้เผลอคิด​ มี​ความ​เผลอ​เกิด​ขึ้น​ในใจ ไอ้ตอนที่รู้ว่า​เผลอคิดเนี่ยนะ​..มันไม่ลงในสมมติบัญญัติ จะ​เรียก​ว่า​ มี​สติรู้ในสิ่งที่อยู่เหนือบัญญัติ​ ก็ได้​ ถ้าคิด..แล้วรู้เรื่องราวในความคิดนะ​..ก็อยู่ในเรื่องสมมติ​บัญญัติ​ นึกออกไหม? แต่ถ้า รู้เพียงว่าเมื่อกี้จิตมันเผลอไป​..อย่างนี้​ก็เรียกว่า​ รู้ปรมัตถสัจจะ​ ไม่หลงไปในสมมติบัญญัติ​ หรือ​สมมติ​สัจจะ #ถาม​ : เมื่อกี้เหมือนกับที่ โยมออกจากสมาธิเนี่ย แล้วก็เดินออกมาข้างนอกใช้ชีวิตปกติ แล้วจิตคิดเนี่ย แล้วเรารู้ พอเราเห็นความคิดนั้น ความคิดนั้นดับไป #ตอบ​ : ดับเองนะ​? ถ้าดับเองเนี่ย..ก็​คือเห็นว่า เมื่อกี้เผลอคิด​ แค่​รู้..ไอ้​ที่​คิด​ก็​ดับปั๊ปเลย! มันจะเห็นทันทีเลย แล้วก็มันแสดงความจริงทันทีเลยว่า..มันไม่เที่ยง​ แล้วที่มันดับเนี่ย..ดับเองด้วย เรา​​ไม่ได้ตั้งใจดับเลย​..เราแค่​รู้​ นั่นแหละ​ ถ้าเห็นจริงนะ..มันจะเจริญวิปัสสนาทันทีเลย หรือถ้าไม่เจริญวิปัสสนา..ก็จะเอื้อให้เกิดวิปัสสนาได้ง่าย​ ๆ​ เพราะความจริงมันแสดงให้เห็นชัด​ ๆ​ เลยขณะนั้น ว่ามันเกิด-ดับ​ มันดับเอง​ด้วย #ถาม​ : พระอาจารย์กฤชคะ แล้วอย่างเราออกจากสมาธิแล้วเนี่ย​ ปัญญาเกิดขึ้น อย่างเช่นว่า.. เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แล้วเราคิดไม่ออก​ แต่อยู่ดี​ ๆ​ เกิดขึ้นมา แล้ว​มีปัญญาตอบคำถามนั้นได้เองเลย #ตอบ​ : ใช่!​ คือจิตมันมีคุณภาพ​ แต่ว่าคล้าย​ ๆ​ กับ​ว่า​ มันมีคำถามในใจอยู่ก่อนนะ​! แต่ตอนทำกรรมฐานเนี่ย..ไม่ต้องไปสนใจคำถามนั้น​ คล้าย​ๆ​ ว่า​มีเป้าหมายไว้นิดหนึ่ง​ จิตมันมีเป้าหมายของมันเองอยู่แล้ว​ว่า..มันสงสัยเรื่องนี้​ หรือมีติดขัดเรื่องนี้อยู่นะ​ แล้วพอจิตมันสงบลงไปนะ​.. มันจะมีความรู้ขึ้นมาเอง​ว่า..​ “ไอ้ที่ติดขัดเนี่ย​ มันต้องหาทางออกแบบไหน​?” หรือว่า.. “ควรจะทำอะไรกับมัน​?” จะมีคำตอบออกมาเอง #ถาม​ : พระอาจารย์คะแล้วทำอย่างไรถึงจะพัฒนาต่อไปอีกนะคะ​? จะมีวิธีฝึกยังไง? #ตอบ​ : ถ้า​จะ​ให้พัฒนาต่อ​ ก็​คือทำประจำ​ #ถาม​ : โยมถนัดที่จะดูลมหายใจมากกว่าดูร่างกายที่เป็นอสุภกรรมฐานนะคะ #ตอบ​: ก็เอาอย่างนี้​นะ ก็ดูลมหายใจไป​ แล้วก็หายใจ..เพื่อรู้จิต​ หายใจไปนะ​ หายใจไป..แล้วก็รู้ทันจิต หายใจไป..แล้วรู้ทันความปรุงแต่งของจิต หายใจไป​..แล้วก็เห็นว่าจิตมันเกิด-ดับ เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลง หายใจไป..แล้ว​ก็จะเข้าใจไปเรื่อย​ ๆ​ แล้วพอหายใจแล้ว​.. ด้วยความเข้าใจ​จิตนี้​นะ! หายใจแล้วหลุดพ้น​ ก็จะรู้ว่า..หลุดพ้นด้วย​ พระอาจารย์กฤช​ นิมฺมโล เรียบเรียงจากการตอบปัญหาธรรม ในรายการ​ “ธรรมะสว่างใจ” วันที่​ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/W8m1Tx0SPQ0 (นาทีที่​ 48:18 -​ 53:58)

อ่านต่อ