#นิมฺมโลตอบโจทย์ #บริกรรมพุทโธ ?? #ถาม : เวลานั่งสมาธิ โยมบริกรรม “พุทโธ” พุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธหายไป มันจะนิ่งขึ้นชั่วแว๊บเดียว รู้สึกว่ามันนิ่งแบบว่างเปล่า มันไม่ได้ทิ้งช่วง ไม่ได้นาน จะแค่แว๊บ ๆ #ตอบ : ปล่อยมัน ช่างมัน ถ้ามันทิ้ง “พุทโธ” ไม่เป็นไร ช่างมัน แต่ถ้ามันทิ้ง “พุทโธ” แล้วไปจับอย่างอื่น คือคิดฟุ้งซ่าน อย่างนี้ต้องรู้ว่าฟุ้งซ่าน แล้วมาเริ่มบริกรรม “พุทโธ” ใหม่ แต่ถ้ามันทิ้งพุทโธไปเฉยๆ โดยที่ยังมีความรู้สึกตัวอยู่ ก็ไม่เป็นไร จิตมันเริ่มวางภาระในการท่องคำบริกรรม อย่างนี้ไม่เป็นไร #ถาม : บางครั้งนั่งไปแล้ว เราอยากพุทโธ แต่จิตมันไม่อยากนึกถึงพุทโธ #ตอบ : ไม่เป็นไร ขอให้มีความรู้สึกตัว “รู้สึกตัว” ในที่นี้หมายถึงว่า กายกำลังอยู่ในอิริยาบถนั่ง..ก็รู้ว่ากายกำลังนั่งอยู่ กายหายใจด้วย..ก็รู้ว่ากายกำลังหายใจ อย่างนี้ไม่เป็นไร จะไม่มีพุทโธก็ไม่เป็นไร ถ้ามันมีความรู้สึกตัวอยู่ก็ใช้ได้ อิริยาบถอื่นก็เช่นเดียวกัน ที่ให้มีบริกรรม “พุทโธ” ด้วย ก็เพราะว่า บางทีเราเผลอไปแล้วไม่รู้ทัน ก็ต้องอาศัยคำบริกรรมเข้ามาช่วย บางทีตอนที่เผลอ เราไม่ได้เผลอธรรมดา เผลอแล้วคิด สังเกตดูว่าเวลาคิดเนี่ย จะมีเสียงพูดในใจของตัวเอง เสียงเราเองนี่แหละนะ คำว่า “พุทโธ” ที่เราบริกรรมอยู่จะช่วยให้เห็นชัดว่าเวลาที่เผลอไป เพราะมันมีเสียงอื่นแทรกเข้ามาที่ไม่ใช่เสียง “พุทโธ” เสียงเราที่พูดคำอื่นในใจ นั่นเรียกว่าเผลอ การมีคำว่า “พุทโธ” อยู่ในใจจะช่วยให้เราเจริญสติเห็นความเผลอได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ถ้ามีแค่ลมหายใจเนี่ยนะ บางทีก็เหมือนเห็นลมหายใจอยู่นะ แต่ก็รู้สึกว่าในขณะเดียวกันมันมีเสียงคำพูดอะไรก็ไม่รู้อยู่ในใจด้วย นี่คือเผลอคิดไปแล้ว..อันนี้มักจะไม่รู้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๓ https://youtu.be/deJJwzRLWMI (นาทีที่ 53.0-55.34)

อ่านต่อ