#นิมฺมโลตอบโจทย์ #สังโยชน์๑๐ #สังโยชน์เบื้องต่ำ #สังโยชน์เบื้องสูง ?? #ถาม : เมื่อวานนี้ผมถามสังโยชน์ ๑๐ ไปตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ อยากจะให้ท่านเทศน์ให้ฟังอีกทีนึง โดยเน้นข้อ ๓ ข้อ ๔ ให้ชัดหน่อยครับ #ตอบ : สังโยชน์ ๑๐ เป็นชื่อของกิเลสที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงในแง่ที่ว่า มันผูกมัดใจคนให้วนเวียนในวัฏฏทุกข์ ข้อ ๑) สักกายทิฏฐิ คือทิฏฐิว่ามีเรา มีความเห็นว่าเป็นตัวของตน คือมันมีทิฏฐิที่เป็นมิจฉาทิฏฐิว่ามีเรา เห็นว่ากายเป็นเรา เห็นว่าใจเป็นเรา มันเป็นความเข้าใจผิดซึ่งเกิดตามหลังความคิดอันไม่แยบคาย มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริง ที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกัน คิดว่ามีเรา ก็อยากได้อะไรต่างๆ มาสนองเรา ส่วนมากก็วนอยู่ในเรื่องกาม อยากดู อยากฟัง อยากกิน อย่างนี้เป็นต้น หนักเข้าก็เห็นแก่ตัว รวมแล้วก็คืออยากได้อยากเอาสิ่งนั้นมาสนองความอยากของเรา อยากได้กาม อยากได้เกียรติ อยากได้สรรเสริญ ทุกอย่างอยากได้มาเพื่อสนองความเป็นเราที่คิดว่ามี.. “เรา”จริง ๆ ไม่มี มีแต่ “ความคิดว่าเป็นเรา” จึงเรียกกิเลสตัวนี้ว่าเป็นเพียงทิฏฐิ ข้อ ๒) วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย เช่น สงสัยว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริงไหม? พระธรรมคำสอนเป็นเรื่องจริงไหม? พระสงฆ์มีจริงไหม? ทำให้ไม่มั่นใจ ไม่มีความแกล้วกล้าที่จะมุ่งหน้าไปตามหนทางที่พระพุทธองค์ทรงสอน ข้อ ๓) สีลัพพตปรามาส โดยคำศัพท์ “สีล(อ่านว่า สี-ละ)” คือ ศีล, “พต(อ่านว่า พะ-ตะ)” คือ พรต, ปรามาส(อ่านว่า ปะ-รา-มา-สะ) แปลว่า การจับ แต่เป็นการจับแบบไม่มั่นคง โดยความหมายก็คือถือผิดไป สีลัพพตปรามาส ก็คือ การถือศีลพรตแบบงมงาย ยึดถือผิดไปว่า จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ก็ต้องทำรูปแบบอย่างนี้เท่านั้น หรือต้องมีพิธีอย่างนี้ มีข้อปฏิบัติต่างๆ ก็ยึดถือทำตามๆ กันไป ไม่รู้เหตุผล กลายเป็นเรื่องขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ไป บางทีก็ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตอบแทน เพื่อลาภสักการะ เพื่ออำนาจใหญ่โต เลยเถิดออกนอกลู่นอกทาง บางทีก็เคร่งครัดในระเบียบที่ตั้งขึ้นเอง ต้องทำอย่างนั้นจึงจะสำเร็จ ต้องทำอย่างนี้จึงจะสำเร็จ ต้องเอาหัวหมูมาบูชาจึงจะสำเร็จ ประมาณอย่างนี้นะ หรือว่าต้องเดินท่านี้เท่านั้นจึงจะสำเร็จ หรือว่าต้องเดินที่นี่เท่านั้นจึงจะสำเร็จ คล้าย ๆ กับมันมีกรอบมีขอบเขตของการปฏิบัติแบบงมงาย ไม่ได้ถือหลักว่าต้องมีสมถกรรมฐาน วิปัสนากรรมฐาน ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ไปยึดเอารูปแบบ ต้องดูกายก่อน ห้ามดูจิตก่อน ต้องพุทโธเท่านั้น สัมมาอาระหังไม่ได้อะไรอย่างนี้ คือไปยึดเอารูปแบบจนไปตำหนิติเตียนกันเอง แล้วก็ถือว่าตัวเองถูก-คนอื่นผิด เพียงแค่รูปแบบไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วจะเข้าใจถึงหลักการของการปฏิบัติ แล้วไม่ไปตำหนิติเตียนกันด้วยเพียงรูปแบบ ข้อ ๔) กามราคะ แปลว่า ความติดใคร่ในกาม หมายถึง ความพอใจใฝ่หาในการดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส และสัมผัสทางกาย ที่น่าพอใจ นี่เรียกว่า “กามราคะ” คนที่ติดในกามก็จะติดในการดูของสวยงาม ถ้าไม่ได้ดูก็จะเกิดโทสะหรือเกิดทุกข์ ติดในการที่จะฟังเสียงไพเราะ หรือเสียงชมเสียงสรรเสริญเท่านั้น ถ้าไม่ได้รับคำชม ไม่ได้รับคำสรรเสริญ จะรู้สึกเป็นทุกข์ ต้องกินของอร่อยเท่านั้น ถ้าวันไหนไม่อร่อยก็เป็นทุกข์ วันไหนอากาศไม่ดีก็เป็นทุกข์ ร้อนไปก็เป็นทุกข์ หนาวเกินไปก็เป็นทุกข์ อย่างนี้นะ ความสุขนี่มันขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอกทั้งหมดเลย แล้วการที่ยังมีกามราคะอยู่ ก็เป็นเหตุให้ผิดหวัง ผิดหวังทีไรก็เป็นโทสะ แต่โทสะนี่ก็ไปอยู่ข้อที่ ๕ แล้ว..เป็นปฏิฆะ ข้อ ๕) ปฏิฆะ ปฏิฆะ แปลว่า ความกระทบกระทั่งในใจ หงุดหงิดขัดเคืองใจ ซึ่งก็มีเหตุมาจากที่ว่า หวังกามสุขแล้วผิดหวังจากกามสุขนั้น กลายเป็นโทสะหรือเป็นปฏิฆะ ข้อ ๔ และข้อ ๕ สองข้อนี้จะเกี่ยวกันเนื่องกัน เวลาละได้มันจะละไปด้วยกัน หมายถึงว่าพระอนาคามี เวลาละกามได้ ไม่ได้หวังความสุขจากการดู การฟัง การดม การกิน หรือการสัมผัส ก็จะละไปได้ทีเดียวทั้งคู่เลย ทั้งสองข้อนี้ เพราะมันเกี่ยวเนื่องกัน เมื่อละกามราคะได้ มันไม่หวังแล้วเนี่ย มันก็ไม่มีโทสะหรือไม่มีปฏิฆะจากการผิดหวังในเรื่องของกาม มันก็เลยละไปด้วยกัน ๕ ข้อแรกนี้รวมเรียกว่า “สังโยชน์เบื้องต่ำ” คืออยู่ในขั้นหยาบ พระอนาคามีท่านจะละสังโยชน์ ๕ ข้อแรกนี้ไปได้ สามข้อแรกละได้ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันแล้ว อีกสองข้อก็ละไปด้วยกัน ตอนที่ละกามได้ด้วยอนาคามิมรรค ยังเหลืออยู่อีก ๕ ข้อ เป็นสังโยชน์เบื้องสูง เป็นเรื่องของกิเลสละเอียดๆ ที่จะละได้ด้วยอรหัตตมรรคเท่านั้น ได้แก่ ข้อ ๖) รูปราคะ รูปราคะนี่ไม่ใช่ราคะใน Picture-รูปภาพ นะ รูปราคะ แปลว่า ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต หมายถึงรูปฌาณ แสดงว่าพระอนาคามีเข้ารูปฌาณได้ แต่ยังติดในสุขในการเข้ารูปฌาน พอใจในความสงบของสมาธิขั้นรูปฌาน ติดใจในรูปภพ ข้อ ๗) อรูปราคะ แปลว่า ความติดใจในอรูปธรรม ซึ่งก็คือ อรูปฌาน หมายความว่า พระอนาคามีที่ทำอรูปฌาณได้ แล้วยังติดในความสุขในการเข้าอรูปฌาน พอติดความสุขในการเข้าอรูปฌาณ ก็จะติดในสังโยชน์ข้อนี้ ยังติดใจในอรูปภพ สมมติว่าเวลาพระอนาคามีคุยกับโยมเนี่ยนะ แล้วก็รู้สึกว่าโยมฟุ้งซ่านมากเลย ท่านก็แอบเข้าฌาน พอแอบเข้าฌานจิตก็เคลื่อน จิตเคลื่อนเข้ารูปฌาน ถ้าท่านทำอรูปฌานได้ ก็จะหลบเข้าอรูปฌาน จิตเคลื่อนเข้าอรูปฌาน แล้วเวลาเข้าฌานเนี่ยจิตเคลื่อน แต่อย่าไปตำหนิท่านนะ จริงๆ แล้วภูมิจิตภูมิธรรมของท่านก็อยู่ในระดับสูงมากแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพวกเรา แต่ที่พูดก็เพื่อให้เห็นว่าการพอใจ มีราคะในรูปฌานและอรูปฌาน มันยังเป็นปัญหาของท่าน ปัญหาของท่านนะ..ไม่ใช่ปัญหาของเรา ปัญหาของท่านคือ ยังมีการติดในรูปฌานและอรูปฌานอยู่ ข้อ ๘) มานะ แปลว่า ความถือตัว แต่ไม่ใช่มานะแบบปุถุชนแบบเรา มานะแบบปุถุชนคือถือตัวถือตนแบบตำหนิคนอื่น เหยียดหยามคนอื่น นึกว่าตัวเองเจ๋งแล้ว พระอนาคามีไม่ได้มีหยาบๆ อย่างนั้น พระอนาคามีจะมีมานะคือในแง่ของการเปรียบเทียบ เช่น สมมติว่าท่านมีตาทิพย์ แต่โยมไม่มีตาทิพย์ แล้วท่านก็คิดเทียบ คือรู้ตามจริงนะ แต่ยังมีการเทียบเขาเทียบเรา หรือว่าไปเจอครูบาอาจารย์ โอ้โห! ครูบาอาจารย์ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านผุดผ่องไม่มีทุกข์อะไรเลย แต่เราเนี่ยยังมีงานอยู่ มันมีการเปรียบเทียบ แต่ไม่ใช่ออกมาในแนวหยาบ ๆ แบบเหยียดหยามอะไรใคร ไม่มีการตำหนิติเตียนในแง่ทำให้เกิดกิเลสหยาบๆ มานะของพระอนาคามีไม่ได้หยาบแบบที่เราเข้าใจ มันเป็นเพียงการเทียบเขาเทียบเรา บางทีเทียบด้วยความเคารพด้วยซ้ำไป เจอครูบาอาจารย์ท่านผ่องใสมาก เรายังมัวหมองอยู่เลย เรายังไม่พ้นเลย มันมีการเทียบเขาเทียบเราอย่างนี้ ถ้าเทียบเขาเทียบเราเมื่อไหร่เป็นมานะเมื่อนั้น ก็เป็นงานของท่านพระอนาคามี ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นงานละเอียดมากๆ เลย ข้อ ๙) อุทธัจจะ แปลว่า ความฟุ้งซ่าน อุทธัจจะของพระอนาคามีเนี่ยนะ ไม่ใช่อุทธัจจะแบบปุถุชน แต่เป็นฟุ้งซ่านในธรรม โยมอาจจะงง..อยู่ในธรรมยังฟุ้งซ่านอีกเหรอ คือเอาง่าย ๆ ว่า จิตยังเคลื่อนอยู่ ตัวท่านมีสมาธิก็จริง สมาธิของท่านดีก็จริงนะ แต่เวลาเข้าสมาธิยังไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลา ยังมีการเคลื่อน จิตเคลื่อนแสดงว่าไม่ตั้งมั่น..เข้าใจมั้ย? ความฟุ้งซ่านของท่านเนี่ยมันการการฟุ้นซ่านเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแง่ที่ว่าระลึกถึงรูป แล้วเอาจิตไปแปะกับรูปธรรม หรือระลึกถึงอารมณ์ที่ไม่ใช่รูป คืออรูป เช่นอารมณ์ว่างๆ จิตส่งไปหาความว่าง อันนี้เรียกว่าจิตเคลื่อนไป ถ้าจิตมีการส่งออกเมื่อไหร่ก็เป็นการฟุ้งซ่าน เป็นเรื่องของอุทธัจจะในธรรม ปุถุชนเนี่ย..ขอให้ได้เข้าให้เถอะ..ฌานเนี่ย จิตเคลื่อนก็ไม่ว่าหรอก แต่การที่มีจิตเคลื่อนของพระอนาคามี เป็นปัญหาของท่าน พระอรหันต์เนี่ยจิตไม่เคลื่อน ไม่มีการฟุ้งซ่านในลักษณะที่จิตเคลื่อนแบบนี้ เพราะฉะนั้นคำว่าฟุ้งซ่านหรืออุทธัจจะในสังโยชน์เนี่ยนะ มีตั้งแต่ฟุ้งซ่านแบบทั่วๆ ไป คือคิดนึกเรื่อยเปื่อยแบบปุถุชนเลย ฟุ้งไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ จิตเคลื่อนออก ฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ อันนี้ชัดเจน แต่ของพระอนาคามีเนี่ยท่านละกามแล้ว คงไม่ได้ไปคิดถึงโยมคนนั้น ไม่ได้ไปคิดถึงอยากจะกินร้านนั้น อะไรอย่างนี้ไม่ได้คิดแล้ว ความสุขของท่านคือการเข้าฌาน เพราะฉะนั้นเวลาเข้าฌานของท่าน ถ้าจิตเคลื่อน..ท่านยังฟุ้งซ่านอยู่ มันไม่ใช่ฟุ้งซ่านแบบปุถุชนทั่วไป สังโยชน์เบื้องสูงข้อท้ายๆ เนี่ยนะ มันไม่ใช่เพียงหยาบๆ แต่เป็นส่วนละเอียดที่พระอนาคามียังละไม่ได้ และเป็นงานของท่านที่ท่านจะต้องมาสังเกตจิตของท่านเองว่า มันยังเคลื่อนอยู่นะ บางท่านเนี่ยเห็นจิตเคลื่อนตอนที่สิ้นชีวิตจากมนุษย์แล้วไปเกิดเป็นพรหม พอเกิดเป็นพรหมท่านจึงเห็นว่าจิตมันเคลื่อนเข้าหาพรหมโลก แล้วท่านก็สำเร็จตอนนั้นเลย คือว่าเห็นจิตเคลื่อนแล้วก็ใช้ได้แล้ว อันนี้ไม่ใช่ว่าอาตมาไปเห็นท่านนะ แต่ว่ามีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ บางท่านเป็นพระอนาคามีตอนเป็นมนุษย์ คิดว่าสำเร็จแล้วหรืออาจจะรู้ว่าท่านเป็นอนาคามีแล้วก็ได้นะ แต่พอสิ้นชีวิตเห็นจิตเคลื่อน พอเห็นจิตเคลื่อนเนี่ยใช้ได้เลย จิตก็ตั้งมั่นพอดี ก็เหมือนตอนที่เห็นกิเลส เห็นกิเลสๆจะดับ เห็นจิตเคลื่อน..จิตก็ไม่เคลื่อน..ตั้งมั่นขึ้นมา มันสำคัญตรงที่ว่าจะเห็นมั้ยเท่านั้นเอง ข้อ ๑๐) ข้อสุดท้าย”อวิชชา” แปลว่า ความไม่รู้ ก็คือมันจะมีติดอยู่นิดนึง พระอนาคามีท่านจะรู้สึกว่าติดอยู่นิดนึง เหมือนยังไม่รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งท่านก็ยังความหาอยู่ เคล็ดลับคือ ถ้ายังควานหาอยู่..ก็ยังไม่เจอ อันนี้ก็ไม่ใช่ความรู้ของอาตมานะ ฟังครูบาอาจารย์มาอีกที เหมือนคนจะขึ้นยอดเขานะ หาทางอยู่นั้นล่ะ หาทางว่าจะขึ้นยอดเขา..ไม่เจอทาง แต่พอหยุดหา..มันคือถึงยอดเขาพอดี คือถ้าใจยังควานหา เหมือนยังไม่รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง แสดงว่ายังมีอวิชชา ซึ่งตรงเป็นงานของพระอนาคามีอีกเหมือนกัน พูดไปปุถุชนก็จะฟุ้งซ่านเปล่าๆ ฟังไว้พอประดับความรู้ก็พอ …อันนี้เป็นเรื่องของสังโยชน์ ที่อาตมาอธิบายได้เนี่ย ไม่ใช่อาตมาเป็นพระอรหันต์แล้วจึงอธิบายได้อย่างนี้นะ ฟังครูบาอาจารย์มาอีกทีเหมือนกัน อาตมาได้ฟังครูบาอาจารย์อธิบายมาก็เลยนำมาถ่ายทอดต่อ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้าง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://youtu.be/1KLZIWRyAJ0 (นาทีที่ 33.24-47.50)

อ่านต่อ