#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เริ่มปฏิบัติจนถึงนิพพาน ?? #ถาม : ขอให้สรุปวิธีการปฏิบัติจากเริ่มต้นจนเข้าถึงนิพพาน แบบง่าย ๆ #ตอบ : มันไม่ง่ายนะสิ! แต่ถ้าให้สรุปนะ มันสรุปลงในประโยคสั้น ๆ ที่ครูบาอาจารย์ได้สอนมา ก็คือ “มีสติ รู้กาย รู้ใจ ตามความป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” การมีสติ รู้กาย รู้ใจ ก็คือ เรียนรู้ในสิ่งที่เรายึดมั่นว่าเป็นเรา กาย-ใจ จริง ๆ แล้ว ตอนที่เราอยู่กับโลกปัจจุบันทั่ว ๆ ไปเนี่ย เราไม่เห็นเป็นกาย เป็นใจ หรอก ส่องกระจกนะ.. “กฤช.. พระกฤช!” ไปไหนเจอใครก็ทักชื่อคนนั้น ไม่ค่อยได้มองว่า เป็นกาย เป็นใจ เพราะฉะนั้น เวลาระลึกถึงการที่จะมาปฏิบัติธรรม ถ้าจะมุ่งที่จะ เข้าถึงมรรคผลนิพพาน อย่างง่าย ๆ ก็คือ เตือนตัวเอง! ให้มาระลึกถึง “กาย” หรือระลึกถึง “ใจ” บ้าง เห็น “กาย” เป็น “กาย” จริง ๆ นะ ไม่ใช่เป็นฉัน ไม่ใช่เป็นเรา และไม่ใช่กู “เห็นเป็นกาย” เช่น ยกมาเนี่ย คือเป็นก้อนอะไรสักก้อนหนึ่ง ไม่เรียกว่า “มือ” ไม่เรียกว่า “มือฉัน” ด้วย เป็นก้อนอะไรสักก้อนหนึ่ง เวลาแปรงฟันเนี่ย รู้สึกว่ามันเหมือนมีความเคลื่อนไหวของก้อนอะไรสักก้อนหนึ่ง เรียกเป็นภาษาว่า “กาย” แต่ความรู้สึกตอนนั้นจะไม่มีคำพูด จะมีความรู้สึกว่ามันเป็นก้อนอะไรสักก้อนหนึ่ง บรรยายทีหลังก็คือ เป็น “กาย” บ้าง เป็น “รูปธรรม” บ้าง บางทีก็เวลา “เห็นใจ” เนี่ย ไม่ใช่ว่าเห็นใจในความหมายที่ว่า “เห็นใจเธอเหลือเกิน” ไม่ใช่นะ! เห็นใจ คือเห็น “ใจ” ตนเอง เห็นจิตมันทำงาน เห็นกิเลสที่เกิดขึ้นกับจิต ต้องเห็นถึงสภาวะส่วนที่เป็นนามธรรมแท้ ๆ เห็นใจ คือเห็น “ใจ” จริง ๆ เห็นจิต คือเห็น “จิต” จริง ๆ หรือเห็นสิ่งที่เกิด-ดับปนเปื้อนอยู่ในจิต จิตปกติจะผ่องใส แต่พอมีกิเลสจรมา จิตก็ไม่ผ่องใส เวลาเห็นกิเลส กิเลสก็จะเกิด-ดับให้ดู เพราะฉะนั้น เวลาเห็นกาย เห็นใจเนี่ย ต้องเห็นตามที่มันเป็น อย่าไปปรุงแต่ง อย่าไปดักดู อย่าไปปั้นให้มันเป็นไปตามอยาก มันเป็นอย่างไร รู้ไปอย่างนั้น จิตโกรธ รู้ว่า..โกรธ จิตเผลอ รู้ว่า..เผลอ รู้ไปตามจริง แล้วมันจะแสดงความจริงอีกระดับหนึ่งคือ – มันไม่เที่ยง เกิดดับเปลี่ยนแปลง และ – การเกิดดับเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย หมายถึงว่า เห็นจิต ก็เห็นความเป็นจริงในแง่ที่ว่า มันมีอยู่จริง ๆ แล้วจิตก็แสดงความจริงในแง่ของ “ไตรลักษณ์” ด้วย เวลาดูจิต ไม่ใช่ดูเห็นครั้งเดียวแล้วก็จะบรรลุธรรมเลย ต้องดูแล้ว ดูอีก ดูซ้ำ ดูซาก ดูไปเรื่อย ๆ จนใจมันยอม ตอนใจมันยอมเนี่ยนะ มันจะ “ดูด้วยความเป็นกลาง” ส่วนคำว่า “จิตตั้งมั่น” ทำให้เห็นสภาวะได้ชัดเจนว่า มีสิ่งหนึ่งถูกรู้ มีสิ่งหนึ่งเป็นผู้รู้ ตอนจะได้มรรคผลจริง ๆ เนี่ย มันจะดูสภาวะด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่เองเอียงไปในทางที่พอใจหรือไม่พอใจ ไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อให้เป็นไปตามอยาก เพราะแทรกแซงทีไร..ไม่ได้ผล เวลามีสุขขึ้นมา อยากให้สุขนาน ๆ มันไม่สุขตามปรารถนา เวลามีทุกข์ขึ้นมา อยากให้ทุกข์ดับไปเร็ว ๆ ทุกข์มันก็ไม่ดับไปตามปรารถนา มีโกรธเกิดขึ้นมา อยากไม่โกรธ มันก็ไม่เป็นไปตามปรารถนา ลองมาหมดแล้ว คือแทรกแซงมาเรียบร้อยทุกอย่าง ลองมาทุกครั้งแล้ว ไม่เป็นไปตามปรารถนา จนมันยอมที่จะดูเฉย ๆ ตอนดูเฉย ๆ ไม่แทรกแซงเนี่ย มันจะแสดงความเป็นจริงขึ้นมา ตอนมีความจริงปรากฏขึ้นมา แล้วใจเป็นผู้รู้อยู่เฉย ๆ เนี่ยนะ จะเป็นอาการที่หลวงปู่สังวาลเรียกว่า “รู้เฉย รู้เฉย” คือดูอยู่เฉย ๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง มันจะเข้าใจปรากฏการณ์นั้น พอเข้าใจปรากฏการณ์นั้น มันคือเข้าใจขันธ์ ๕ พร้อมกันไปหมดเลย ถ้าถึงขั้นเห็นอนัตตาของจิต ก็เรียกว่า “เข้าถึงมรรคผล” ดูไปเรื่อย ๆ ถ้าขั้นแรกได้แค่โสดาบัน ก็ดูต่อไปอีก จนได้เป็นพระสกิทาคาฯ, พระอนาคาฯ จนสุดท้ายเป็นพระอรหันต์ ทำประโยคนี้ให้ชัดขึ้นมา ให้ปรากฏขึ้นมาในใจให้ได้ คือ ประโยคที่ว่า “มีสติ รู้กาย-รู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/Watsanghathan.Nonthaburi/videos/2967659003340538 (นาทีที่ 1.44.50-1.49.26)

อ่านต่อ