#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เกร็ดเรื่องกฐิน #สันโดษในปัจจัยสี่ #ถาม : พระไม่รับปัจจัยทอดกฐิน บาปไหม? ?? #ตอบ : จริง ๆ แล้ว กฐิน แปลว่า สะดึง สะดึง คือ ไม้ที่เอาไว้เป็นอุปกรณ์ สำหรับการเย็บผ้า ถ้ายุคที่ผ่านมา ที่เคยเห็นก็คือ เป็นสะดึงกลม ๆ ไว้ ปักชื่อนักเรียน ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ยังใช้กันอยู่หรือเปล่า? ที่โรงเรียนในชั่วโมงที่สอนเย็บปักถักร้อยเนี่ย จะยังมีใครใช้ตัวนี้ไหม? อาจจะต้องอนุรักษ์กันไว้นะ ช่วยสอนไว้หน่อย เพื่อให้พระอธิบายเรื่องกฐินได้ง่ายขึ้น ส่วนสะดึงสำหรับทำจีวร ต้องใหญ่กว่านั้น สะดึงทำจีวรจะเป็นกรอบใหญ่ ๆ เหตุที่ขนาดใหญ่ก็เพื่อเย็บจีวร ก็ต้องใหญ่หน่อย เพราะฉะนั้นเวลาพระจำพรรษาเสร็จแล้ว จะมีการหาผ้าเพื่อมาทำผ้ากฐิน ก็คือเอาผ้ามาเข้าสะดึงเพื่อเย็บ ให้สำเร็จเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง จีวรผืนใดผืนหนึ่งหมายถึงว่า เป็นจีวร เป็นสบง หรือเป็นสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง ถ้าเป็นเรา ก็น่าจะเลือกเอาผืนเล็กที่สุด เย็บง่ายที่สุด ก็คือ สบง เหตุที่เลือกผ้าผืนที่เย็บง่ายที่สุด ก็เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาว่า ต้องทำผ้าให้เสร็จภายใน ๑ วัน พระก็ไปหาผ้ามา ผ้าที่ได้มาคือ ผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ก็คือผ้าบังสุกุล ไปหาตามกองขยะ ไปตามป่าช้า สมมติว่าไม่มีโยมมาเกี่ยวข้องเลย ก็คือ พระที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันเนี่ย ไปช่วยกันหาผ้า แล้วมามอบให้พระภิกษุรูปหนึ่ง ผ้านั้นเรียกว่า ผ้ากฐิน เพราะต้องเอาไปเข้ากฐิน คือ เข้าสะดึง ไปทำต่อ พระที่รับผ้ากฐินนั้นมา ก็ต้องเอาผ้าไปเข้าสะดึง หรือเข้ากฐินนี้ แล้วก็ไม่ได้ทำคนเดียว พระที่ช่วยหามานั่นแหละ ท่านเหล่านั้นก็มาช่วยทำต่อด้วย ทั้ง ๆ ที่มอบให้กับพระผู้รับกฐินนั้นแล้วนะ ก็ต้องมาช่วยกันทำ ให้สำเร็จเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งขึ้นมา ก็คือมาตัด มาเย็บ มาย้อม ถ้าเกิดเป็นผ้าจากที่สกปรก เช่น จากกองขยะ จากผ้าห่อศพ ต้องมาซักก่อน ก็เริ่มขั้นตอนตั้งแต่ซัก แล้วก็มากะ(คือคำนวนและขีดเส้น) มาตัด มาเย็บ มาย้อม จนสำเร็จ เป็นผ้าขึ้นมา เมื่อสำเร็จแล้วผ้านั้นอยู่ในมือของพระผู้รับกฐิน พระรูปนั้นก็จะมาบอกกับสงฆ์ บอกว่า “ผ้ากฐินสำเร็จแล้วครับ ขอท่านทั้งหลายจงอนุโมทนาเถิด” พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็อนุโมทนากัน อย่างนี้เป็นเรื่องของผ้า กฐิน คือ เรื่องของผ้า ไม่มีเรื่องเงินทอง จริง ๆ บริวารต่าง ๆ เช่น หม้อ อ่าง กระถาง กะทะ อะไรต่าง ๆ เนี่ย เดิมก็ไม่มีด้วย แต่ทีนี้พอโยมเห็นพระไปหาผ้าตามกองขยะ ตามป่าช้า โยมก็อยากจะช่วย เห็นพระลำบากเหลือเกินในการทำผ้าให้สำเร็จมาเป็นผืน ๆ หนึ่งขึ้นมาได้ ขั้นต้นเห็นพระลำบากในการหาผ้าบังสุกุลที่เป็นผ้าขาว โยมก็ไปหาผ้าขาวมาให้ คราวนี้เอาผ้าขาวมาถวาย พอเอาผ้าขาวมาถวายเนี่ย คล้าย ๆ กับว่าต้องแจ้งกับพระด้วยว่า “ปีนี้ท่านทั้งหลายไม่ต้องไปหาผ้านะ เดี๋ยวโยมจะเอาผ้ามาถวายเอง” เมื่อโยมเอาผ้ามาถวายต่อสงฆ์แล้ว สงฆ์ก็ต้องมีการปรึกษากัน ประมาณว่า “ผ้านี้ประดุจดังผ้าทิพย์ อันเลื่อนลอยมาแต่นภากาศ…” ทำไมต้องเลื่อนลอยมาแต่นภากาศ เพราะว่าถ้าไม่มีผ้านี้นะ ต้องไปหาตามกองขยะ ต้องไปหาตามป่าช้า แต่ตอนนี้ เหมือนเป็นผ้าทิพย์เลย เราไม่ต้องไปเดินหาตามกองขยะ ไม่ต้องไปหาตามป่าช้า มันปรากฏอยู่ข้างหน้า โยมที่เอามาถวาย เราจึงเรียกว่า เป็นเปรียบประดุจดังผ้าทิพย์ อันเลื่อนลอยมาแต่นภากาศ “…แต่ไม่เจาะจงจะให้ใคร เป็นสังฆทาน…” กฐินนี่เป็นสังฆทานนะ ไม่ได้เจาะจงให้ใคร “…เราทั้งหลายในที่นี้ มาประชุมกันตรงนี้ จงพิจารณากันเถิดว่า ผ้านี้ควรแก่ใคร” เป็นเรื่องของผ้านะ ยังเป็นเรื่องของผ้าอยู่ ไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามาเลย โยมเอาผ้ามาถวาย พระก็มาปรึกษากันว่า ‘อ้าว ผ้านี้ปรากฏขึ้นกับสงฆ์แล้ว ควรที่จะยกผ้านี้ให้กับใคร?’ ถ้ามีการปรึกษากัน ๒ รูป อีกรูปหนึ่งก็เสนอเลย “รูปนี้คุณสมบัติพร้อมพอ ขอเสนอท่าน (…..) เป็นผู้ครองผ้ากฐินผืนนี้” ถ้าผ้าได้เป็นผ้าขาว ท่าน (…..) ก็ต้องเอาผ้านี้ไปรีบจัดการให้เป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งขึ้นมา โดยมีพระที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันไปช่วยด้วย เรียกว่า แม้จะมอบให้แล้ว ไม่ได้มีกรรมสิทธิแล้ว แต่ต้องไปช่วยด้วย นี่คือแสดงความสามัคคีกัน ถ้าเป็นผ้าที่สำเร็จมาแบบพร้อมเลย ตัดเย็บแล้ว เหลือแต่ย้อม ก็รับผ้ามาถวายท่าน (…..) บอกว่า ท่าน (…..) ครองผ้ากฐินนะ ท่าน (…..) ก็มีหน้าที่อย่างเดียว คือไปย้อม ถ้าย้อมเสร็จแล้ว เป็นผ้าสำเร็จรูปเหมือนเดี๋ยวนี้ ผ้าตัดเย็บแล้ว ย้อมสีเรียบร้อยแล้ว เมื่อโยมถวายมาแล้ว งานหรือหน้าที่ที่จะไปทำอะไรกับผ้านี้มีเพียงแค่ พินทุ อธิษฐาน แล้วก็บอกกับหมู่สงฆ์ว่า เรียบร้อยแล้วครับ ผมกรานกฐินแล้ว ท่านทั้งหลายพึงอนุโมทนา กรานกฐิน ก็คือว่า ตั้งแต่ เอาผ้าไปซัก ไปกะ ตัด เย็บ ย้อม จนสำเร็จเป็นผ้าขึ้นมา ตอนนี้มันสำเร็จแล้ว ก็เหลือแต่พินทุ และอธิษฐาน การกรานกฐิน คือ กระบวนการทำผ้าที่แม้จะหาจากซากศพ หรือหาจากกองขยะ ทำให้สำเร็จเป็นผ้าผืนหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า กรานกฐิน นี่แหละเรื่องของผ้าทั้งนั้นเลย สิ่งของอื่นนอกนั้นเรียกว่า บริวาร บริวารก็คือ อุปกรณ์ต่าง ๆ บางทีโยมเอาผ้ามาถวายแล้วก็รู้สึกว่า “เอ.. ท่านอยู่วัดเนี่ยนะ อาจจะต้องใช้อุปกรณ์บางอย่าง เครื่องมือบางอย่างในการที่จะอยู่ที่วัดนั้น เวลาผ่าฟืน..มีขวานหรือยัง? เวลาจะสับแก่น (แก่นขนุน) มีมีดหรือยัง? เวลาจะทำเตา มีอุปกรณ์เครื่องมือแบบช่างหรือเปล่า? จะต้องมีอุปกรณ์ คือเกรียงในการใช้ปูนไหม? ถ้ายังไม่มีก็หาอุปกรณ์มา เหล่านี้เรียกว่า บริวารกฐิน ยังไม่มีเงินด้วยซ้ำไป มันยังเป็นเรื่องบริวารกฐิน ไอ้เงินเนี่ยคือ บางทีรุ่นหลังมาวัดแล้วเห็นว่า บางสิ่งบางอย่างเช่น อาคารสถานที่ ต้องใช้ปัจจัยมาก คือใช้เงินมากในการทำให้สำเร็จ คนที่มาถวายกฐินก็เห็นว่า “เออ.. อาคารนี้ยังสร้างค้างอยู่ ก็น่าจะมีปัจจัยเพื่อจะสร้างอาคารนี้ต่อ” ก็ถวายปัจจัยมา ปัจจัยนี้มาทีหลัง “อ้าว.. ที่ดินขยายไว้ ยังค้างคาค่าที่ดินเขาอยู่” ก็เอาปัจจัยมา เพื่อที่จะให้ทางวัดจ่ายให้กับเจ้าของที่ดิน อะไรที่มันต้องใช้เงินมาก ก็เลยต้องมีปัจจัยคือเงินเนี่ย มาถวายตอนทอดกฐินด้วย แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระวินัยจริง ๆ คือ ผ้า แม้แต่หม้อ อ่าง กระถาง กะทะ ขวาน พร้า อะไรเนี่ย ก็ยังเป็นเพียงบริวารเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นปัจจัยก็เป็นบริวาร ห้อยตามบริวารที่กล่าวมาด้วยซ้ำไป ก็จริง ๆ แล้วเนี่ย ถ้าได้เพียงผ้า การทอดกฐินวันนั้น ก็ไม่บกพร่องไปเลย อย่าว่าแต่ได้เงินเป็นหมื่นแสนเลย อันนั้นเป็นเพียงส่วนเกินด้วยซ้ำไป และโดยเฉพาะความเป็นพระภิกษุ ท่านควรจะยินดีในปัจจัยเท่าที่มี เรียกว่ามีสันโดษ.. สันโดษในปัจจัย ๔ ไม่ควรจะไปเรียกร้องเอาจากโยมให้มากอย่างนั้น มันจะสร้างความลำบากใจให้กับผู้ให้ผู้ถวาย ก็ถ้าปัจจัยน้อย แล้วเราจะต้องมีงานก่อสร้างอย่างนี้นะ ถ้ามันไม่พอก็หยุดแค่นั้น แสดงว่าโยมไม่ศรัทธาจะทำต่อ ที่เราสร้างก็เพราะว่า เพื่อประโยชน์กับญาติโยม ไม่ใช่ประโยชน์กับตนเอง กุฏิเราก็มีแล้ว อาหารเราก็มีแล้ว บิณฑบาตทุก ๆ วัน ก็เท่าที่อยู่ได้ เราก็ภาวนาของเราเพื่อให้พ้นทุกข์ต่อไป ส่วนอาคารสถานที่ เท่าไหร่ก็เท่านั้น… ครั้งหนึ่ง มีพระไปกราบเยี่ยมหลวงพ่อพุทธทาส คราวก่อนที่เคยมา เห็นว่ามีอาคารหลังหนึ่งกำลังก่อสร้าง แล้วก็ลาท่านไปจำพรรษาที่อื่น กลับมาก็เลยถามถึงอาคารหลังนั้น “เสร็จหรือยังครับ?” หลวงพ่อพุทธทาสบอกว่า “เสร็จแล้ว” โอ้ ท่านก็ดีใจว่าเสร็จแล้ว อยากจะไปดูผลงานอาคารหลังนั้นเหลือเกินว่า พอเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ไปดู “ไหนว่าเสร็จแล้ว?!?! เสาชั้นที่สองยังเป็นเหล็กเส้นอยู่เลย” มันมีแค่ชั้นล่างเท่านั้นเอง แล้วก็เทพื้นชั้นสองไว้ แต่เสาชั้นสองขึ้นไปเนี่ย ยังเป็นเหล็กเส้น มีปลอกเหล็ก ก็เลยกลับมาหาหลวงพ่อ บอกว่า “หลวงพ่อครับ หลวงพ่อบอกว่าเสร็จแล้ว แต่ผมไปดู มันยังไม่เสร็จครับ หรือว่าหลวงพ่อตั้งใจจะสร้างไว้แค่นี้ครับ?” หลวงพ่อพุทธทาสจึงตอบว่า “ทำไมจะไม่เสร็จ มันเสร็จของมันทุกวันแหละ วันนี้ก็เสร็จ พรุ่งนี้ก็เสร็จ วันต่อๆไปมันก็เสร็จของมันทุกวัน” “พอทำวันนี้ได้เท่าไหร่ เราก็วางมันลงจากใจ ไม่กังวล ไม่คิดว่ายังไม่ได้ทำตรงนั้น ไม่ได้ทำตรงนี้ เราไม่คิด เราวางเลย” ถ้าพูดให้สั้นก็คือ “มันเสร็จเท่าที่เสร็จ” หมายความว่า วันนี้เสร็จแค่นี้ ก็ถือว่าเสร็จแล้ว ถ้ามีปัจจัยทำต่อ ก็ทำต่อไป ถ้าไม่มีปัจจัยทำต่อ มันก็เสร็จแค่นี้ ทำใจแบบหลวงพ่อพุทธทาส ก็คือถ้ามีอะไรค้างคาอยู่ ทำใจว่า วันนี้เสร็จแค่นี้ คือมันได้แค่นี้ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องก่อสร้างที่อาจจะยังทำไม่เสร็จ แต่ไม่ทราบว่า ในคำถามนี้ พระท่านมีการก่อสร้างอะไรยังค้างอยู่หรือเปล่า? ไม่ทราบนะ พูดถึงพระทั่ว ๆ ไปก็แล้วกันว่า ถ้ามีญาติโยมถวายปัจจัย แล้วมีความรู้สึกเหมือนไม่พอต่อการก่อสร้าง ให้ทำใจเหมือนอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสทำ ก็คือ วันนี้ทำได้แค่นี้ ก่อนจะเสร็จสิ้นของวันนี้ หมายถึงว่าจะเสร็จงานวันนี้ เก็บของให้เรียบร้อย เหมือนเสร็จแล้ว ใครมาก็จะได้ดูว่ามันไม่เกะกะใคร เหมือนทำงานเสร็จเรียบร้อยอยู่ทุก ๆ วัน วันนี้เสร็จเท่านี้ ถ้าวันนี้เราตายไป พรุ่งนี้ไม่ได้มีโอกาสมาทำต่อ ก็ไม่ติดใจกังวล มันก็คือเสร็จ มันไม่ค้างคาใจ ไม่ใช่ตายไปแล้วก็กังวลอยู่ว่า อาคารนั้นยังไม่เสร็จ ก็อาจจะไปเป็นจิ้งจก หรือว่าเป็นคางคก อยู่ตามซอกหลืบอะไรสักอย่าง แถวๆอาคารที่มันยังไม่เสร็จนั่นเอง ใจต้องเป็นอิสระจากโลกนี้ด้วย ไม่ใช่ออกบวช คือออกจากเรือนมาแล้ว มาติดวัดอีกเนี่ย..ก็ลำบากเหมือนกัน ก็ลองดูนะ ให้เหตุการณ์ต่าง ๆ แม้จะผิดพลาดไป ก็ให้เรียนรู้ว่า มันเป็นบทเรียนของท่านเหล่านั้นก็แล้วกันนะ ก็ไม่ใช่ว่าผิดพลาดอย่างนี้แล้วก็จะต้องเอาถึงตาย เอาเป็นว่า ท่านพลาดไป ต่อไปนี้ก็ให้รู้ว่า มันไม่ใช่ว่าไปให้ความสำคัญกับปัจจัย จนลืมแก่นของพิธี คือผ้ากฐิน ให้เรียนรู้พระวินัยให้ถึงว่า โดยแท้จริงแล้ววินัยข้อนี้ท่านมุ่งเอาอะไร มุ่งเอาที่ผ้า เมื่อเข้าใจอย่างแล้ว ใจก็มุ่งไปที่ผ้า ได้ผ้าสำเร็จที่จะให้ทำตามพระวินัยได้แล้ว ก็พอใจเท่านี้ ส่วนสิ่งอื่นนอกนั้น เป็นอดิเรกลาภทั้งนั้นเลย อดิเรกลาภ แปลว่า ลาภส่วนพิเศษ ลาภเกินปกติ หม้อ อ่าง กระถาง กะทะ ผ้าทิพย์อะไร หรือว่าปัจจัยที่ติดพ่วงมา ถือเป็นอดิเรกลาภ แม้จะมีทรัพย์ไม่พอที่จะสร้างอาคารจนสำเร็จเนี่ย แต่มันก็คือกำไรแล้ว เพราะเป็นส่วนพิเศษ ที่เกินปกติ อันนี้เรียกว่า มีปัจจัยทำได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น แล้วก็เป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างในวัดนั้นด้วย รับผิดชอบในการทำงาน แต่อย่าถึงขนาดที่ว่าเป็นทุกข์ กับการที่ได้ปัจจัย ไม่ได้ตามคาดตามหวัง เรียกว่า เพราะมีหวัง..จึงทุกข์เพราะผิดหวัง ก็ต้องระวัง อันนี้เราหวังเพียงแค่ผ้า จริง ๆ แม้ไม่ได้ผ้า ยังไม่ต้องผิดหวังเลยด้วยซ้ำไป ปีนี้จำพรรษาแล้ว ไม่มีโยมมาเป็นเจ้าภาพถวายผ้ากฐินเลยก็ไม่ต้องเดือนร้อนอะไร ก็เพียงแค่ปีนี้ไม่ได้รับกฐินเท่านั้นเอง ก็ไม่บาปอะไร พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/Watsanghathan.Nonthaburi/videos/1020478765092235 (นาทีที่ 1.40.44-1.54.50)

อ่านต่อ