#นิมฺมโลตอบโจทย์ เล่ม ๑ บทที่ ๑๖ #หลักการตรัสของพระพุทธเจ้า ?? ถาม : การพูดความจริงไม่หมด พูดเพียงครึ่งเดียว (half-truth) หรือการโกหกสีขาว (White Lies) จะเพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือ เพื่อประโยชน์ผู้อื่นนั้น เป็นการล่วงศีลข้อมุสาวาท หรือไม่ครับ? ตัวอย่างเช่น พ่อแม่บอกลูกว่า “ถ้าไม่นั่งให้เรียบร้อยบนรถ (ชี้ไปยังคนแปลกหน้าบนถนน) ตำรวจจะมาจับไปนะ!” หรือเพื่อนบอกว่า “เดือนนี้รับเงินเดือนเกือบแสนน่ะ” (นี้เป็นยอดรวมเงินเดือน และ Bonus ที่จ่ายในเดือน ๑๒) หรือเพื่อนร่วมงาน นาย ฮ. บอก กับที่ประชุม อาสา กับประธานว่า จะทำโครงการนั้นโครงการนี้มากมาย แต่เวลาผ่านไป โครงการต่างๆ ก็ไม่ได้ทำ จนมีผู้อื่นเอาไปทำ จนแล้วเสร็จ ประธานก็ชม นาย ฮ. ก็ดีใจประประกาศ ความสำเร็จ ประหนึ่งตัวทำ โครงการนั้นเอง จึงไม่แน่ใจว่าใน ตัวอย่างที่ยกขึ้นมา เป็นการล่วงศีลในข้อมุสาวาท หรือไม่ อย่างไรครับ ขอความเมตตาพระอาจารย์ชี้แนะครับ ตอบ : องค์ของศีลข้อมุสาวาท มีดังนี้ ๑. เรื่องไม่จริง ๒. จิตคิดจะกล่าวคำไม่จริงนั้น ๓. พยายามกล่าวคำไม่จริงนั้น ๔. ผู้อื่นเข้าใจเรื่องนั้น คือแค่เข้าใจ แม้ไม่เชื่อ ผู้พูดก็ศีลขาดแล้ว การพูดความจริงไม่หมด พูดเพียงครึ่งเดียว (half-truth) หรือการโกหกสีขาว (White Lies) จะผิดและมีโทษเพียงใด ก็อยู่ที่เจตนา และผลเสียที่เกิดขึ้นจากการพูดนั้น ผลเสียมาก ก็มีโทษมาก กรณีที่ ๑ พ่อแม่บอกลูกว่า “ถ้าไม่นั่งให้เรียบร้อยบนรถ (ชี้ไปยังคนแปลกหน้าบนถนน) ตำรวจจะมาจับไปนะ!” – ถ้าคนแปลกหน้าที่ถูกชี้นั้นไม่ใช่ตำรวจ ก็ผิดศีล – ถ้าเป็นตำรวจจริงๆ แต่การนั่งของลูก (ที่ว่าไม่เรียบร้อยน่ะ) เป็นเหตุให้ตำรวจจับจริงหรือไม่ ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ แล้วพูดไป ก็ผิดศีล – แม้ว่าพ่อแม่จะมีเจตนาเพียงจะสั่งสอนลูก แต่ถ้านำคำไม่จริงมาสอน ก็มีผลเสีย เช่น ทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าคนนั้นเป็นตำรวจ เข้าใจว่าเพียงนั่งไม่เรียบร้อยก็เป็นให้ถูกจับ สร้างภาพในใจว่าตำรวจดุร้าย น่ากลัว เป็นต้น ซึ่งก็จะส่งผลถึงทัศนคติ บุคลิกภาพ และการใช้ชีวิตต่อไป นี่ยังดีนะ.. อาตมาเคยเดินผ่านโยมแม่-ลูก ลูกทำอะไรไม่ทันสังเกต ได้ยินแต่เสียงแม่ดุลูกว่า “หยุดเดี๋ยวนี้นะ เดี๋ยวพระตี!” โถ…มาใส่ร้ายพระ! คงจะคิดผลักภาระให้พ้นตัว แต่ก็กลายเป็นกล่าววจีทุจริต เลยต้องเลี้ยวไปปรับทัศนคติสักหน่อย ตัวอย่างคำที่ควรพูดในกรณีที่ ๑ : “นั่งให้เรียบร้อยนะคะ เดี๋ยวถ้าจำเป็นต้องเบรค ลูกจะได้ไม่ล้มคะมำ จะได้ไม่เจ็บตัว” “นั่งให้เรียบร้อยหน่อยนะจ๊ะ พ่อจะได้มีสมาธิขับรถ ถ้าต้องมาดูลูกบ้าง ดูถนนบ้าง เดี๋ยวมันจะเกิดอุบัติเหตุนะ” เป็นต้น คือ หันมาใช้คำพูดในเชิงแนะนำด้วยเมตตา ไม่ใช่พูดสั่งห้ามที่ระคนด้วยความโกรธ หรือพูดเอาง่ายด้วยการโกหกหลอกเด็ก กรณีที่ ๒ เพื่อนบอกว่า “เดือนนี้รับเงินเดือนเกือบแสนน่ะ” (นี้เป็นยอดรวมเงินเดือน และ Bonus ที่จ่ายในเดือน ๑๒) – ถ้าเพื่อนตั้งใจอวดรวย แล้วพูดเพื่อให้เราเข้าใจว่า’เขามีรายได้มากกว่าที่เป็นจริง’ เพื่อนก็ผิดศีล ข้อมุสาวาท – ถ้าเพื่อนพูดอำเราเล่นๆ ก็เป็นพูดหยอกล้อ โทษก็เบากว่า คือต้องดูที่เจตนา กรณีที่ ๓ เพื่อนร่วมงาน นาย ฮ. บอกกับทีประชุม อาสากับประธานว่า จะทำโครงการนั้น โครงการนี้ มากมาย แต่เวลาผ่านไป โครงการต่างๆ ก็ไม่ได้ทำ จนมีผู้อื่นเอาไปทำ จนแล้วเสร็จ ประธานก็ชม นาย ฮ. ก็ดีใจประประกาศความสำเร็จ ประหนึ่งตัวทำ โครงการนั้นเอง กรณีนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า นาย ฮ. กล่าวมุสาวาท นาย ฮ. อาจจะได้รับคำชมจากประธาน แต่เพื่อนร่วมงานก็จะรังเกียจ และคาดว่า อีกไม่นาน..ความจริงก็จะปรากฏ เมื่อถึงเวลานั้นก็จะตกตํ่าแบบไม่มีใครเห็นใจ! ขอยกหลักการตรัสของพระพุทธเจ้า มาแสดงประกอบ เพื่อความเข้าใจแจ่มชัดยิ่งขึ้นว่า เวลาเราจะพูดอะไรกับใคร ควรพูดหรือไม่ จะพูดอย่างไร พูดเมื่อไร หลักนั้นมีดังนี้ :- ๑. คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่ตรัส ๒. คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ไม่ตรัส ๓. คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์เลือกเวลาตรัส ๔. คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ก็ไม่ตรัส ๕. คำพูดที่จริง ถูกต้อง แต่ไม่เป็นประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์ก็ไม่ตรัส ๖. คำพูดที่จริง ถูกต้อง เป็นประโยชน์ เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น พระองค์เลือกเวลาตรัส ขอแถมอีกชุด คือ องค์ประกอบของวาจาสุภาษิต ได้แก่ ๑. กล่าวถูกต้องตามกาล ๒. กล่าวคำจริง ๓. กล่าวคำอ่อนหวาน ๔. กล่าวด้วยจิตเมตตา สรุปคือ – เว้นมุสาวาท – กล่าววาจาสุภาษิต – เลือกเวลาที่เหมาะสม แล้วจึงพูดเฉพาะคำพูดที่จริง ถูกต้องเป็นประโยชน์ ส่วนผู้ฟังจะชอบใจหรือไม่ เราบังคับเขาไม่ได้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบโจทย์บนนิมฺมโลเพจ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

อ่านต่อ