#นิมฺมโลตอบโจทย์ เล่ม ๑ ตอนที่ ๑๘ #ขันธ์ ๕ ถาม : “ตัวรู้” ที่เราฝึกกัน ให้เรารู้ในการฝึกสติ ใช่เป็นนามในขันธ์ ๕ หรือเปล่าครับ? ตอบ : ใช่ “ตัวรู้” ที่เราฝึกในขั้นเจริญสติ ก็เป็นนามธรรม ซึ่งถ้าเทียบในขันธ์ ๕ ก็จัดอยู่ใน “สังขารขันธ์” เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้น จะแสดงคำอธิบาย “ขันธ์ ๕” ในทีนี้ไปด้วย [นำมาจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)*] ขันธ์ ๕ คือ กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกัน เข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา–เขา เป็นต้น, ส่วนประกอบห้าอย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิต) ๑. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ) ๒. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์, ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ) ๓. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้ จำอารมณ์นั้นๆ ได้, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ ๖ เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น) ๔. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศลอัพยากฤต) ๕. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้ง อารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖ มีการเห็น การได้ยินเป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ ๖) ขันธ์ ๕ นี้ ย่อลงมาเป็น ๒ คือ นาม และ รูป; รูปขันธ์จัดเป็นรูป, ๔ ขันธ์นอกนั้นเป็นนาม อีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม ๔: วิญญาณ ขันธ์เป็น จิต, เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก, รูปขันธ์ เป็น รูป, ส่วน นิพพาน เป็นขันธวินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ ๕ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบโจทย์บนนิมฺมโลเพจ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

อ่านต่อ