#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ชนไก่ตาย #อุทิศกุศล #เจตนาฆ่า #ไม่เจตนาฆ่า ?? #ถาม : ขับรถมอเตอร์ไซด์ไปชนไก่ตาย แล้วก็เก็บซากไก่ไปไว้ที่โคนไม้ จะบาปมากไหม? กลัวจะเป็นเจ้ากรรมนายเวรกัน #ตอบ : ถ้ามีเจตนาฆ่าก็มีบาป เพราะเจตนาเป็นกรรม..เป็นตัวกรรม แต่ถ้าไม่ได้เจตนาฆ่า ไก่มันมาตัดหน้าแบบฉุกเฉิน ถ้าเราหลบเราอาจจะบาดเจ็บ หรือว่าคนที่โดยสารมาด้วยอาจจะบาดเจ็บ อย่างนี้นะเรียกว่า ไม่ได้มีเจตนาฆ่าไก่ หรือถ้ามีเจตนาก็น้อยมาก ก็โทษน้อย “โทษมาก หรือ โทษน้อย มันอยู่ที่เจตนา” ….. ทีนี้ที่ถามว่า “จะเอาไปฝังที่โคนต้นไม้ แล้วมันจะพ้นจากการมีเจ้ากรรมนายเวรหรือเปล่า?” เรื่อง “เจ้ากรรมนายเวร” นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง “เจ้ากรรมนายเวร” ในความหมายของคนไทยทั่ว ๆ ไป ก็คือหมายความว่า มีสัตว์ถูกกระทำ แล้วจองเวร เรียกว่ามีความเจ็บแค้นจองเวร ซึ่งอันนี้เราบังคับเขาไม่ได้ ถ้าสัตว์นั้นจองเวร สัตว์นั้นก็เป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา เราห้ามเขาไม่ได้ ที่เราจะทำได้ก็คือว่า ทำบุญอุทิศไปให้ “ทำบุญอุทิศไปให้” ทำประมาณเหมือนกับว่า … สิ่งที่เราทำไปแม้จะไม่ตั้งใจ แต่มันก็เป็นผลทำให้เขาตาย ก็อาศัยเหตุนี้ ปรารภสิ่งนี้ ทำบุญแล้วระลึกถึงเขา อุทิศให้เขาด้วย ถ้าเขาโกรธแล้วก็จองเวรอยู่ เห็นเราทำบุญให้เขาบ่อย ๆ แล้วก็เริ่มเข้าใจว่าจริง ๆ เราไม่ได้มีความตั้งใจที่จะชน หรือไม่ได้มีเจตนา อาการที่จะคลายจากความอาฆาต ก็เป็นไปได้ง่าย แต่ถึงกระนั้น อย่าคาดหวังว่า เขาจะหายอาฆาต หายจองเวรเร็วนัก เพราะฉะนั้นแสดงว่าไม่ใช่ทำบุญครั้งเดียว..แล้วถ้าเขาจองเวรอยู่เนี่ย เขาจะเลิกจองเวร คิดดู! ถ้าสมมติว่าเป็นเราถูกรถชนตาย แล้วคนขับนั้นทำบุญอุทิศให้เราครั้งเดียว ..เราจะพอใจไหม? ‘กูตายนะ มึงทำให้กูครั้งเดียวเองเหรอ?’ อะไรอย่างนี้นะ ..เข้าใจไหม? ก็คล้าย ๆ กับว่า ทำบุญให้คู่ควรกับการที่เขาตายสักหน่อย ทำบ่อย ๆ นึกถึงใจเขา-ใจเรา เขาตายโดยที่เราไม่เจตนาก็จริง แต่ก็ควรจะทำบ่อย ๆ นึกถึงบ่อย ๆ แต่ถึงกระนั้นเราก็คาดหวังไม่ได้เลยว่า เขาจะเลิกจองเวรเมื่อไหร่? ซึ่งอันนี้อยู่นอกเหนือจากการบังคับ หรือการควบคุมของเรา หน้าที่ของเรามีทางเดียวก็คือว่า ทำความดีแล้วอุทิศให้เขา จนเขาซึมซาบซาบซึ้งกับความดีของเรา มองไปมองมาจากที่จ้องจะจับผิด..ไม่เจอผิด เจอแต่ถูก เจอแต่ดี เจอแต่กุศล อย่างนี้ใช้ได้ เพราะฉะนั้นความผิดพลาดนี้ดูไปแล้วดูเหมือนจะเหตุการณ์ที่ไม่ดี แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง กลายเป็นเรื่องดีได้ ดีในแง่ที่ว่ามันเป็นจุดพลิกผันให้ชีวิตของเราเลิกละสิ่งที่ไม่ดี เพราะเกรงว่าเขาจะไม่ยกโทษให้ ก็กลายเป็นมีแต่เรื่องดี ๆ เกิดขึ้นมา อะไรที่ไม่ดี ก็พยายามเลิกละ หรือว่ารู้ทัน ไม่เอามัน ไม่ทำตามมัน ในกรณี ถ้าจะแน่ใจแค่ไหนว่าเขาจะเลิกหรือเปล่า? อะไรอย่างนี้นะ บอกได้เลยว่า “บอกไม่ได้” หน้าที่ของเราคือ ทำเหตุดี ๆ แล้วอุทิศให้เขาไป ทำบุญบ่อย ๆ อุทิศให้เขาไป แล้วก็เวลาอุทิศ ถ้ามีโจทย์เยอะ นอกจากไก่ตัวนี้แล้วก็มีตัวอื่นอีก ก็อุทิศไปด้วย แต่ถ้าคราวนี้มันเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า แล้วก็เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น แล้วก็ต้องการจะอุทิศเจาะจงให้กับไก่ตัวนี้ ก็ทำได้ ทำบุญแล้วก็เจาะจงให้กับไก่ตัวนี้ ทีนี้พอนาน ๆ เข้า นาน ๆ เข้า เราอาจจะเผื่อแผ่ให้กับคนโน้นคนนี้ หรือว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายไปเลยก็ได้ เวลาอุทิศส่วนกุศล อุทิศแบบเจาะจงไปก่อนก็ได้ แล้วพอตอนท้ายก็เปิดปลายไว้ด้วยว่า “ขออุทิศให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย หรือขอให้กับญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย” จริง ๆ แล้วสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นญาติกันทั้งนั้น ความที่เราประสบเหตุอันที่ดูเหมือนจะไม่ดี .. แต่ถ้ามองให้เป็น มันเป็นเหมือนเหตุการณ์ที่พาให้เราไปทำดีต่อ เหมือนอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หลานทำตุ๊กตาตกแตก หลานร้องไห้ ดูเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระ แต่อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็อุตส่าห์เอาเหตุนี้มาทำบุญจนได้ บอกกับหลานว่า “โอ้.. หลาน ไม่เป็นไร..” คือหลานรักตุ๊กตาเหมือนเป็นลูกของตัวเอง ลองแทนจิตใจเด็กนะ เด็กประมาณเล่นตุ๊กตาเหมือน “โอ่โอ้.. เอ่เอ้..” กล่อมลูกนะ เผลอทำหลุดมือไป แล้วตุ๊กตาแตก ตุ๊กตาสมัยก่อนก็คงจะทำจากดินเผา ก็ตกแตก อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็บอก “อย่าเสียใจไปเลย เดี๋ยวหาให้ใหม่” เด็กก็ไม่ยอม ก็เลยบอกกับเด็กว่า “เอาอย่างนี้นะ ลูกของหลานเนี่ยตายไปแล้ว ร้องไห้ไปก็ไม่ฟื้นคืนชีวิตมาหรอก ไม่สามารถกลับคืนดีขึ้นมาได้ เอาอย่างนี้ดีกว่า ถ้าหลานรักลูก เรามาทำบุญอุทิศให้ลูกกันดีกว่า” หลานบอก “อ้า.. ดีหมือนกันทำบุญให้ลูก” ก็ไปนิมนต์พระพุทธเจ้ามา คิดดูสิ! นิมนต์พระพุทธเจ้ามาทำบุญ! ทำบุญเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสถาม “วันนี้มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ทำไมถึงนิมนต์เรามา?” อนาถบิณฑิกเศรษฐีบอกว่า “วันนี้ทำบุญอุทิศให้ตุ๊กตา” พระพุทธเจ้าตรัสถาม “เรื่องราวเป็นอย่างไร?” ก็เลยเล่าให้ฟัง “โอ้ฉลาด!” พระพุทธเจ้าตรัสสาธุการเลยนะ “อนาถบิณฑิกเศรษฐีฉลาดมาก” ปรารภเหตุที่ดูเหมือนไม่มีเรื่องอะไรเลย เหมือนเรื่องไร้สาระมากเลย แต่อุตส่าห์ปรารภเรื่องแม้จะไร้สาระ ให้มันเกิดสาระขึ้นมาจนได้ แล้วเป็นการสอนหลานด้วย เวลาโตไปก็จะจำได้ว่า ถ้ามีใครตายก็ทำบุญอุทิศให้คนนั้น ลูกตัวเองตายคือตุ๊กตาตาย ยังอุตสาห์นิมนต์พระพุทธเจ้ามาทำบุญ แล้วอุทิศบุญให้กับลูกตัวเองก็คือตุ๊กตาตัวนั้น แม้จะไม่มีผลให้ตุ๊กตาตัวนั้นจริง ๆ แต่มันมีผลคือ ผู้ทำบุญ-ได้บุญ ผู้ทำกุศล-ได้กุศล ได้ทำบุญกับผู้เลิศด้วย คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นผู้เลิศ เรียกว่าไม่เสียชื่อที่เป็นอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถือว่าเป็นบุคคลที่เป็นตัวอย่างได้เลย เป็นผู้ฉลาดในการทำบุญ *** เพราะฉะนั้นไม่ว่าเหตุอะไรเกิดขึ้นนะ.. อย่างไปชนไก่ตายเนี่ย เอาเหตุนี้มาทำบุญต่อได้เลย แล้วอย่าไปทำแค่นึกย้ำในแง่เศร้าโศกเสียใจกับเหตุการณ์ เสียใจเมื่อไหร่..ให้รู้ทัน เสียใจเมื่อไหร่..ให้รู้ทัน ไอ้ความเสียใจนั้นเป็น “อกุศล” รู้ทัน “อกุศล” ที่เกิดขึ้น แล้วจะเกิด “กุศล” ทันที คือ มีสติเห็นจิตที่มันเกิดอกุศลขณะนั้น *** พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/watch/live/?v=231278638481272&ref=watch_permalink (นาทีที่ 1.37.25 -1.45.33)

อ่านต่อ