วันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนห้า(๕) ??? พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #เผชิญความทุกข์อย่างไรดี ทุกข์เป็นความจริงที่กำลังปรากฏอยู่ และพระพุทธองค์ทรงสอนให้เรา “รู้” ทุกข์ ไม่ใช่ให้ “เป็น” ทุกข์ แล้วก็ไม่ใช่ให้ “หนี” ทุกข์ ถ้าเราครุ่นคิด ติดอยู่ในความรู้สึก ก็จะจมอยู่กับทุกข์ เอาความคิดผิดมาซํ้าเติมปัญหา เรียกว่า ปฏิบัติผิด กลายเป็น.. “เพิ่มทุกข์” ถ้าเรา ไม่ชอบทุกข์ที่กำลังเป็น .ก็จะมีตัณหา “อยาก” ที่จะพ้นจากทุกข์นี้ แต่ตัณหาเป็นสมุทัย คือเป็นเหตุแห่งทุกข์ ก็เรียกว่าปฏิบัติผิด เหมือนอยากดับไฟ แต่กลับไปเพิ่มเชื้อ ผลที่ได้ ก็กลายเป็น “ยิ่ง ทุกข์” อาการป่วยของลูก…เป็นวิบาก ผู้เป็นพ่อแม่ก็ดูแลไปตามกำลัง ตรงนี้เป็นบุญ กุศลที่สร้างใหม่ของพ่อแม่ การที่คิดว่า ‘วันใด ที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่คอยดูแลแก ไม่รู้แกจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร’ เป็นความกังวล ความกังวล เป็นอกุศล และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ซํ้ายังนำทุกข์มาให้ เมื่อมีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นมาอีก ให้ “รู้” ว่ากังวล ขณะกังวล เป็นอกุศล ขณะรู้เป็นกุศล ความกังวลเป็นตัวสร้างทุกข์ฟรีๆ ถ้าอีก ๑๐ ปี ลูกหายป่วย เราก็ทุกข์ฟรีไป ๑๐ ปี ถ้าอีก ๕ ปี ลูกหายป่วย เราก็ทุกข์ฟรีไป ๕ ปี แต่มันอดที่จะกังวลไม่ได้หรอก แต่ก็อาศัยว่ามีความกังวลนี่แหละ ให้เรารู้ ให้เราฝึกเจริญสติ จิตปลอดจากความกังวลแล้ว เราก็แก้ปัญหา ด้วยปัญญา ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยความกังวล มีลูกป่วย ดีกว่ามีลูกเลว! ดูดีๆ ช่วงที่อาการของลูกเป็นปกติ หรือดีขึ้น เรามีความสุข ก็อย่าให้สุขนั้นผ่านไปเปล่า ให้ใจชุ่มชื่นบ้าง อย่าจมกับความทุกข์ เพราะคนรอบข้างจะพลอยทุกข์ไปด้วย โดยเฉพาะลูก กรรมที่ทำให้ได้รับวิบากอย่างนี้ ก็เป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว อย่าเสียเวลา คำนึงน้อยใจ เรื่องที่น่าหวาดหวั่นในกาลข้างหน้า ก็เป็นอนาคตที่ยังไม่เกิด อย่าเสียเวลากังวล ทำปัจจุบันให้ดี อนาคตจะดีเอง ปัจจุบันน้อยใจ ให้รู้ ปัจจุบันหวั่นใจ ให้รู้ ปัจจุบันเศร้าใจ ให้รู้ ปัจจุบัน กังวล ให้รู้ ปัจจุบันทุกข์ ให้รู้ ขณะที่รู้ ขณะนั้นละสมุทัย ขณะที่รู้ ขณะนั้นทุกข์ดับ ขณะที่รู้ ขณะนั้นกำลังเจริญมรรค ขอเพียงไม่หนีปัญหาเผชิญหน้าด้วยสติ ทุกข์ที่เห็น..จะสอนใจให้เข้มแข็ง และมีปัญญาพ้นทุกข์ในที่สุด พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบโจทย์บนนิมฺมโลเพจ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙

อ่านต่อ