#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ดูแลบุพการี #ถาม : กราบรบกวนเรียนถามเรื่องการดูแลบุพการี ระหว่าง “บุตรที่มีทรัพย์-แต่ไม่มีเวลา” คือ ไม่มีเวลาดูแลบุพการี แต่มีทรัพย์ กับ “บุตรที่ไม่ค่อยมีทรัพย์-แต่มีเวลา” ก็คือ ได้ดูแลบุพการีด้วยการให้เวลาดูแล แต่ทรัพย์ไม่มาก สงสัยว่าบุตรคนไหนเป็น “บุตรกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี” และมากน้อยแค่ไหน? #ตอบ : ทันทีที่ได้เห็นคำถามนี้นะ มีความคิดแว๊บขึ้นมาว่า ‘คนถามเนี่ย.. เป็นคนไหน?’ คือจริง ๆ แล้วที่ดีที่สุดนะ ลูกทั้ง ๒ คนควรจะร่วมมือกัน และไม่ต้องมาแก่งแย่งว่าใครจะดีกว่าใคร? ใครจะเด่นกว่าใคร? เรามีทรัพย์-ไม่มีเวลา ก็สนับสนุนทรัพย์ เราไม่มีทรัพย์หรือมีน้อย-แต่มีเวลา ก็เอาเวลานั้นมาดูแลคุณพ่อคุณแม่ เรียกว่า ลูกทั้ง ๒ คนเนี่ยนะ ต่างฝ่ายต่างเอาจุดดีของตัวเองมาส่งเสริมกันในการดูแลพ่อแม่ การดูแลพ่อแม่ก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อันนี้ในกรณีว่าพ่อแม่มีลูก ๒ คน หรือ ๒ คนขึ้นไป เป็นพหูพจน์เนี่ยนะ ก็ลองดูอย่างนี้ ไม่ต้องมาเกี่ยงกันว่า ใครได้บุญมากกว่าใคร? ขอให้มีเจตนาที่จะดูแลคุณพ่อคุณแม่ ให้ท่านได้รับความสะดวกสบายในชีวิต ในความเป็นอยู่ในบั้นปลายชีวิต ก็น่าจะมาในแง่นี้ดีกว่า แต่ถามว่าใครกตัญญู?.. มันก็อยู่ที่ “เจตนา” ของแต่ละคน คนที่ดูแลใกล้ชิดหน่อย ถ้าเจตนาดีเขาก็ได้บุญเยอะหน่อย – นี้ความเห็นส่วนตัว เพราะว่า วัดเอาความง่ายความยากในการกระทำ.. คนจ่ายเงินมันง่าย นึกออกไหม? โอนเงิน ปึ๊ง.. เสร็จ!.. ง่าย! แต่คนดูแลนั่นก็อยู่ทั้งวันทั้งคืน หรืออย่างน้อย ๆ ก็อยู่หลายชั่วโมง ความลำบากในการเฝ้าดูแล โดยเฉพาะถ้าคุณพ่อคุณแม่ป่วยติดเตียง หรือไม่ถึงกับติดเตียง แต่ก็ต้องเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา มีความต้องการโน่นต้องการนี่.. เรียกใช้ อย่างนี้นะ ลูกก็ต้องไปทำ บางคนต้องปั่นอาหาร ให้อาหารทางสายยาง ต้องคอยดูแลเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ต้องคอยเช็คอุจจาระปัสสาวะ ประมาณอย่างนี้ งานหนัก ๆ ต้องลงแรง เป็นงานหนัก.. การทำอย่างนี้ ถ้าทำด้วยใจที่ต้องการที่จะทดแทนบุญคุณด้วยความกตัญญูกตเวที อย่างนี้นะ ‘ย่อมได้บุญมากกว่า!’ คล้าย ๆ กับว่า ลงมือทำ แล้วมีความเพียร ในระหว่างนั้นก็มีความอดทน คุณธรรมต่าง ๆ มันเพิ่มพูนในระหว่างที่ดูแลพ่อแม่ มากกว่ากดเงินโอน..ปึ๊ง! เสร็จ!.. หมดภาระ! ไม่ใช่อย่างนั้น ใช่ไหม? ก็เป็นอันว่าถ้าเทียบกันแล้ว ถ้าจะบังคับให้เทียบกันจริง ๆ นะ “คนที่ลงแรงก็น่าจะ ‘มีโอกาส’ ได้บุญมากกว่า” คำว่า “มีโอกาส” หมายความว่า มันอาจจะมีจุดพลาดเหมือนกัน จุดพลาดมาจากอะไร? ก็คืออยู่ด้วยกันเนี่ย งานมันเยอะนะ.. พองานมันเยอะ บางทีก็อาจจะมีขัดเคืองขัดใจกันระหว่างผู้ดูแลกับผู้ถูกดูแล ระหว่างลูกกับแม่กับพ่อเนี่ยล่ะ บางทีก็อาจจะหงุดหงิด “ทำไมไม่ยอมฟังเลย!” หรือว่า “หมอห้ามอย่างนี้ ยังมากินอีก!” ดุพ่อดุแม่เข้าไปอย่างนี้นะ หรือว่าบางทีก็เหนื่อย! เหนื่อย..บางทีก็ออกแรงแบบกระแทกกระทั้น มันก็มีโอกาสเป็นได้ บางทีก็ด้วยความที่มันอ่อนเพลียทางด้านร่างกาย แล้วก็เหนื่อย ก็พลอยทำให้จิตใจ ‘ขาดสติยับยั้ง’ ก็เป็นไปได้! เพราะฉะนั้น มันก็มีโอกาสทั้งในแง่ดี และในแง่ที่ต้องระมัดระวัง ในกรณีที่ลูกที่มีเวลาและให้เวลาในการดูแลพ่อแม่ จะว่าทรัพย์มากหรือทรัพย์น้อยก็แล้วแต่นะ แต่มีเวลาอยู่กับพ่อแม่ มีเรื่องที่ต้องระวังตรงนี้! ซึ่งปกติมาก เป็นเรื่องปกติมาก เพราะว่าบางทีมันเหนื่อย อันนี้ควรให้อภัย แต่อย่างน้อย ๆ ฝ่ายลูกก็ต้องระวังใจตัวเองว่า จะเหนื่อยขนาดไหน ถ้าพลาดอะไรไป :- – พลาดในแง่ของการกระทำทางกาย บางครั้งอาจจะรุนแรง – หรือทางใจด้วยความที่มีโทสะ – หรือทางวาจาพูดอะไรที่มันกระทบกระเทือนจิตใจของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ว่าพลาดทางใดทางหนึ่ง หรือทั้งสามทาง ให้รีบรู้ตัวให้ทันเร็ว ๆ แล้วถ้ามีโอกาสให้รีบขอขมา!! ในการดูแลนั้นเป็นการแสดงกตัญญูกตเวที ส่วนความผิดพลาดนั้น อีกเรื่องหนึ่ง..คนละเรื่องกัน ความผิดพลาดเป็นความผิดพลาดของเรา เราก็ควรจะแสดงออกถึงความสำนึกผิด ในสิ่งที่เราได้คิด ได้พูด ได้ทำลงไป คล้าย ๆ กับว่า ถ้าคุณความดีในการดูแลก็ทำไปเรื่อย ๆ เป็นเรื่องดี ทีนี้โทษของการที่เผลอพลาด พูดไม่ดี ทำไม่ดี มันอาจจะมีบ้าง ก็เรียกว่า ต้องเคลียร์ (clear หมายถึง เปิดเผย และทำให้ไร้มลทิน) กันหน่อย เคลียร์ (clear) ในสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาดไป วิธีเคลียร์ (clear) ก็คือ ไปขอขมาซะ ไม่มีอะไรมาก พ่อแม่เนี่ยปรารถนาดีกับลูกอยู่แล้ว อย่าเก็บให้ค้างคาใจ! ทีนี้ในฝ่ายลูกที่ไม่มีเวลา.. แต่มีทรัพย์ บางทีอาจจะมาเยี่ยมเยียน หรืออาจจะโทรคุยกัน เวลาจะเสนอแนะอะไรเนี่ยให้คำนึงถึงคนที่เขาอยู่ดูแลพ่อแม่ด้วย..ว่าเขาลำบากนะ ไม่ใช่เอาแต่เสนอ หรือเอาแต่ตำหนิ “ทำไมไม่ทำอย่างนั้นล่ะ?” “ทำไมทำอย่างนั้น?” “ไม่ทำอย่างนี้ล่ะ?” อย่างนี้นะ บางทีที่เสนอไปเนี่ย มันเป็นข้อเสนอแบบ.. คิดเอาหรู ๆ แต่ในความเป็นจริงมันทำยาก หรือพูดแนวเชิงตำหนิติเตียน บางทีมันทำให้คนที่ดูแลเนี่ยท้อใจ ควรที่จะคอยให้กำลังใจ ควรสำนึกอยู่เสมอว่า.. “คนที่อยู่ดูแลพ่อแม่แทนเรา ในขณะที่เราไม่มีเวลาเนี่ยนะ เขามีพระคุณ.. เขาเป็นตัวแทนของลูกทั้งหลาย ที่ทำให้ลูกทั้งหลายรู้สึกว่า ‘ลูกไม่อกตัญญู’ ถ้าเราไม่มีคนนี้คอยดูแล เราจะต้องลางาน หรือต้องเปลี่ยนงาน มาดูแล” นึกออกไหม? เพราะฉะนั้น เวลาให้ความเห็นอะไรประมาณว่า มันไม่เพอร์เฟค (perfect แปลว่า สมบูรณ์แบบ) ตามที่เราคิด อะไรอย่างนี้นะ อย่าไปเอาอำนาจเงินที่ฉันทุ่มให้ มาแสดงความเป็นใหญ่ในการแสดงความคิดเห็น คล้าย ๆ มันเป็นการทำร้ายจิตใจกัน ทางที่ดีคือ ร่วมมือกัน ประสานกัน เริ่มจาก “ขอบคุณ” ..ขอบคุณคนที่อยู่ดูแล และให้กำลังใจ บางทีอาจจะต้องมีการผลัดเวรกันด้วยซ้ำไป เสาร์อาทิตย์เราว่าง ไปผลัดเวรดูแลพ่อแม่บ้าง จะได้รู้ว่า คนที่เขาอยู่เนี่ยเหนื่อยแค่ไหน? มันไม่ใช่ง่ายนะ ในการดูแลคนป่วย-คนแก่ อันนี้ประสบการณ์เลยนะ อาตมาเนี่ยดูแลโยมพ่อโยมแม่นะ ทั้งที่เป็นพระนี่แหละ แต่ไม่มีปัญหา เพราะอาตมาเป็นฝ่ายมีเวลา โยมพี่มีเงิน.. ก็ธรรมดานะเพราะเป็นฆราวาสก็ควรมีเงิน และโยมพี่เขาก็รู้ด้วยนะพระเนี่ยนะคงไม่มีเวลาตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนที่จะมาดูแลโยมพ่อโยมแม่หรอก (เพราะตอนนั้นก็ช่วยงานเผยแผ่ธรรมะกับครูบาอาจารย์ด้วย) ก็จ้างพี่เลี้ยงมาช่วยดูแล ผ่อนเบาภาระในการดูแลของอาตมา เวลาโยมพี่มาเยี่ยม ก็บรรยากาศก็ไม่เครียดอะไร เราก็ไม่เครียดอะไร เพราะเข้าใจกัน รู้หน้าที่กัน สนับสนุนกัน ส่งเสริมกัน เรามีเวลา เขามีเงิน อย่างนี้นะ ก็เรียกว่าเอาข้อดีของแต่ละคนมาสนับสนุนในการดูแลโยมพ่อโยมแม่ ก็เป็นอันว่าการดูแลไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็มีความเข้าใจกัน ต่างฝ่ายต่างชื่นชมกัน เพราะฉะนั้นคำถามแบบนี้ ถ้าเป็นคำถามจากลูก ให้ลูกทั้งสองฝ่ายคิดในแง่ว่า.. ‘เราควรจะนำเอาข้อดีของแต่ละคนมาช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน’ ทีนี้ขอฝากอีกเรื่องหนึ่ง คือ ในฝ่ายพ่อแม่ที่ถูกดูแล พ่อแม่ที่ถูกดูแลเนี่ย ต้องให้ความยุติธรรม ไม่เอนเอียง ระหว่างลูกที่ดูแล กับ ลูกที่ส่งเงินมา ถ้าเราเป็นพ่อเป็นแม่เนี่ย เราจะปลื้มใครมากกว่ากัน? ลองคิดดูนะ เราป่วยอยู่นะ ลูกที่ดูแลเราอยู่ กับลูกที่ส่งเงินมา ลูกที่ส่งเงินมา นาน ๆ ก็มาเยี่ยมทีหนึ่ง มาเยี่ยมทีก็เอาเงินมาให้ มาหอมแก้ม ฟุดฟาด ๆ แล้วก็กลับไป เอาหลานมาเยี่ยมหน่อย หอมแก้ม ฟุดฟาด ๆ แล้วกลับไป เราปลื้มใครมากกว่ากัน? หันมาดูไอ้ลูกที่ดูแล.. ‘ไอ้เนี่ยนะ เราสั่งอะไรนะ มันก็ไม่ยอมทำตามเลย เพราะมันจะเอาตามหมอ’ อันนี้เป็นเรื่องสมมตินะ ในฐานะพ่อแม่ ลูกที่อยู่ดูแลมันไม่ได้ดังใจ เราก็หงุดหงิดไอ้คนที่อยู่ใกล้ ๆ แล้วก็คอยปลื้มไอ้คนที่นาน ๆ มาเยี่ยมที ยังไม่ทันได้ขัดใจอะไร มันก็กลับไปแล้ว อย่างนี้นะ พ่อแม่อาจจะเป็นเหตุหนึ่งทำให้คนที่อยู่ใกล้เนี่ยหมดกำลังใจได้ จริง ๆ แล้วพ่อแม่ควรจะให้ความยุติธรรมสักหน่อย เพราะมีโอกาสเป็นอย่างมาก อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า ‘ลูกที่ดูแลเนี่ย..จะเหนื่อย’ การเหนื่อย และการที่อยู่ด้วยกันตลอดเวลา หรือหลาย ๆ ชั่วโมงในหนึ่งวันเนี่ยนะ การกระทบกระทั่งกันก็เป็นไปได้ที่จะมี พ่อแม่ควรที่จะให้อภัยกับลูกที่ดูแล และควรจะเห็นอกเห็นใจว่าเขาเหนื่อย ในการที่ว่าต้องนอนเฝ้า ต้องคอยลุกแต่เช้า ตื่นก่อน-นอนทีหลัง ต้องคอยพลิกตัวทุก ๒ ชั่วโมง สำหรับคนที่ติดเตียง อย่างนี้เป็นต้น ต้องคอยทำอาหารด้วย ซักผ้าด้วย นี่เฉพาะดูแลแม่หรือดูแลพ่อนะ งานบ้านยังมีอีก มันก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสอยู่สำหรับลูกที่จะมาดูแลเรา ถ้าเขาทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง เขาเผลอหงุดหงิดบ้าง ก็ให้อภัยเขา อย่าเก็บมาเป็นเรื่องเคืองแค้นใจ แล้วไปพลอยปลื้มแต่คนที่นาน ๆ มาที ซึ่งเขาไม่ค่อยได้ออกแรง อันนี้ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ควรจะดำรงความเป็นผู้ใหญ่ด้วยการที่มีพรหมวิหาร “พรหมวิหารธรรม” มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา – เมตตาลูกเท่า ๆ กัน ปรารถนาดีด้วยความเท่าเทียม – มีความกรุณาลูกที่กำลังเหน็ดเหนื่อยในการดูแลเรา เข้าใจในทุกข์หรือภาระที่เขาประสบอยู่ มีกรุณากับเขา – มีมุทิตา กล่าวชื่นชมในความใส่ใจ ให้กำลังใจบ้าง แม้คำว่า “ขอบใจ” เพียงคำเดียวก็ช่วยได้มาก – วางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง และทำตนเป็นคนไข้ที่ดูแลง่าย เป็นคนไข้ที่ไม่เรียกร้องอะไรมาก.. เมื่อเห็นลูก ก็คิดประมาณว่า .. ‘ประเสริฐเหลือเกิน เพราะเราเลี้ยงลูกมาดี ลูกจึงไม่หนีเราไปไหน ยังดูแลเราอยู่’ ‘ขอบคุณที่อยู่ในโอวาท’ ‘ขอบคุณพระพุทธเจ้าที่สั่งสอนพระธรรมมา แล้วเราได้เรียนรู้ แล้วก็สั่งสอนลูกต่อ แล้วลูกเราก็รับเอาพระธรรมนั้นเอามาปฏิบัติ เป็นผู้กตัญญูกตเวที’ อย่างนี้ดีมาก!! ขอบคุณทุก ๆ คน ขอบคุณลูก ๆ ทุก ๆ คน ไม่ใช่ไปเกรี้ยวกราดใส่กับคนที่ทำอะไรไม่ดีในความรู้สึกของเรา มีแม่บางคนเกรี้ยวกราด ยังไม่ป่วยหนัก ลูกก็หนีแล้ว ยังไม่มีงานดูแลอะไรหนักเลยนะ แต่ว่าคอยเกรี้ยวกราด อะไรไม่พอใจก็เกรี้ยวกราด ลูกอยู่ไม่ไหว.. ก็หนี ลูกหนีไปเนี่ยนะ เพื่อนบ้านก็มาเยี่ยม.. ก็ด่าลูกให้เพื่อนบ้านฟัง! เพื่อนบ้านมาเยี่ยมทีเดียว ไม่มาเยี่ยมอีกเลย ญาติมาเยี่ยม ก็ด่าลูกให้ญาติฟัง ญาติมาเยี่ยมทีเดียว ก็ไม่เยี่ยมอีกเลย.. งงไหม? ไม่งงนะ! คือมีแต่โทสะ แล้วแสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราด ด่าคนอื่นให้คนมาเยี่ยมเยียนฟังเนี่ยนะ คนฟังเขาก็รู้สึกไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นยิ่งด่าลูกให้คนอื่นฟัง คนที่มาเยี่ยมยิ่งลำบากใจที่จะอยู่นั่งฟังคนนี้ด่าลูกให้ตัวเองรับรู้ ปัญหาอยู่ที่มีโทสะ แล้วไม่รู้ทันโทสะในใจนั่นเอง แต่ถ้าคนแก่ระดับเดียวกัน ป่วยระดับเดียวกัน แต่คนนี้ขอบคุณทุกคนที่มาช่วยอำนวยความสะดวก ที่มาช่วยดูแล หรือแม้แต่มาเยี่ยมเยียน .. มีอยู่คนหนึ่งนะบอกว่า ลูกสาวขออนุญาตสามีมาดูแลตัวเอง เขาฝากขอบคุณลูกเขยว่า “ขอบคุณมาก ที่อุตส่าห์สละภรรยามาให้เรา” ทั้ง ๆ ภรรยา คือลูกสาวตัวเองนะ บอกว่า “จริง ๆ แล้ว เขามีครอบครัวของเขาแล้ว เขาก็มีภาระในครอบครัวของเขา” นี่แม่พูดอย่างนี้นะ “ลูกสาวเราก็มีภาระในครอบครัวของเขา สามีเขาอุตส่าห์เสียสละภรรยามาดูแลเรา” ขอบคุณไปถึงสามีซึ่งเป็นลูกเขยตัวเอง คิดดูสิ! อย่างนี้ใครจะไม่อยากดูแล? ใครจะไม่อยากเยี่ยมเยียน? ใครจะไม่อยากมาปรนนิบัติสนับสนุน? รู้สึกเป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาเป็นลูกของคน ๆ นี้ เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มาดูแลคนดี ๆ แบบนี้ คนมาเยี่ยมได้ยินคำพูดอย่างนี้ก็พลอยปลื้มใจไปด้วย ก็ขอฝากไว้ สำหรับทั้งลูกสองฝ่ายที่ดูแลอยู่ กับลูกที่สนับสนุนด้านการเงิน ไม่ต้องมาแข่งบุญกัน แต่ให้มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน – ในฝ่ายลูกที่มีเงินสนับสนุน ก็ให้เห็นอกเห็นใจคนที่เหนื่อยยากในการดูแล เพราะมันเป็นงานยาก งานลำบาก – ฝ่ายลูกที่อยู่ดูแล ก็ให้ระวังว่า มันอาจจะมีบ้างที่มีการกระทบกระทั่งกันกับพ่อแม่ มันอาจจะมีบ้างที่เราจะเหนื่อย แล้วก็สติหลุด ทำอะไรรุนแรงเกินไป หรือพูดอะไรรุนแรงเกินไป ให้รับขอขมา ให้รีบขอโทษ – ฝ่ายคุณพ่อคุณแม่ ผู้เป็นผู้ใหญ่ ควรมีธรรมให้สมผู้ใหญ่ คือ “พรหมวิหารธรรม” มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา มีความเที่ยงธรรม ยุติธรรม ละอคติทั้งหลาย อคติในแง่ของพอใจ คือ ‘ฉันทาคติ’ อคติในความไม่พอใจ เป็น ‘โทสาคติ’ อคติในความเขลาเกินไป ก็กลายเป็น ‘โมหาคติ’ อคติในแง่ของความกลัว คือ ‘ภยาคติ’ เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องไม่มีอคติเหล่านี้ รักลูกด้วยความเข้าใจ ขอบใจลูกที่สนับสนุนการเงิน เสียสละทรัพย์มาดูแล เห็นอกเห็นใจลูกที่อยู่ดูแล ขอบใจที่เสียสละเวลา รวมทั้งแรงกายแรงใจ ประมาณอย่างนี้ แล้วคนดูแลก็มีกำลังใจ แล้วก็รู้สึกได้บุญทุกครั้งที่ได้ดูแล ลูกที่สนับสนุนทรัพย์ก็มีกำลังใจทำงานหาเงิน เห็นอกเห็นใจกันและกัน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่กันอย่าง “รู้-รัก-สามัคคี” ก็ขอฝากไว้ทั้ง ๓ ฝ่าย ทั้งลูกที่มีเงิน กับลูกมีเวลา และพ่อแม่ที่กำลังให้โอกาสลูกในการที่จะแสดงความกตัญญูกตเวที พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=IFnq-Ew7VVU (นาทีที่ 1.00-20.28)

อ่านต่อ