#นิมฺมโลตอบโจทย์ #หลุดปากด่าพระให้ไปขอขมา ?? #ถาม : ผมเผลอไปด่าผู้ทรงศีลที่เป็นพระครับโดยขาดสติ ผมจะทำอย่างไรดีครับ? #ตอบ : ไปขอขมา.. สมมติว่าไปด่าผู้ทรงศีล ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพระก็ได้นะ เมื่อไปด่าใครก็แล้วแต่ ถ้าเราไปด่าเขาไปแล้วเนี่ย โดยเฉพาะในกรณีนี้เป็นการด่าพระนะ ถ้ามีโอกาสก็ไปขอขมาท่าน และถ้าท่านเป็นพระที่ดี ท่านจะไม่ถือโทษเรา ถ้าไปเผลอด่าพระที่ดี.. เราเองนั่นแหละจะมีโทษมาก “ท่านจะไม่ตกต่ำจากการด่าของเรา” นึกออกไหม? พระพุทธเจ้าถูกด่าหลายครั้งนะ ในพุทธประวัติเนี่ย เช่นครั้งหนึ่ง ที่กรุงโกสัมพี ท่านพระอานนท์กราบทูลพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เราไปที่อื่นกันดีกว่า ทำไมเมืองนี้มีแต่คนด่า” พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า “อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?” “ก็ไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า” “ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?” “ก็ไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า” “ดูก่อนอานนท์ ถ้าทำอย่างนั้นเราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้นอธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ ใด ก็ควรให้อธิกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป” แล้วพระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมดาอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วย่อมไม่เกิน ๗ วัน ก็จะสงบระงับไปเอง” การด่าของคนอื่นมันไม่ได้ทำให้เราเลวไปตามคำด่าของเขา แต่เป็นโอกาสในการพิสูจน์ว่าเรามีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหน? ยิ่งถ้าเราไม่ได้มีปฏิกิริยาในทางที่แสดงออกว่ามีโทสะเลยนะ มันกลับกลายเป็นว่าทำให้เราสูงเด่นมากขึ้น ท่านเปรียบเหมือนระฆัง ถ้าไม่มีใครตีเลย ก็ไม่รู้ว่าระฆังนี้ดีหรือเปล่า? พอโดนตี..เป๊ง! “โอ้โห!..เสียงกังวานดีจัง” ที่รู้ว่าระฆังดี เพราะว่าระฆังถูกตีนั่นเอง! เพราะฉะนั้น หันมาพิจารณาพระถูกเราด่า พระท่านไม่ได้เสื่อม หรือตกต่ำไป จากการด่าของเรา แต่เราต่ำ! มันต่ำตั้งแต่โกรธ แล้วก็ไม่รู้ ไม่มีสติรู้ความโกรธของตัวเอง ขณะที่หลุดปากออกไปด่าเนี่ย ตอนนี้เราทำอกุศลกรรมเรียบร้อยแล้ว มีทั้งมโนกรรม คือ มีความโกรธในใจ มีทั้งวจีกรรม คือ ไปด่า เมื่อทำ “อกุศลกรรม” ไปแล้ว ควรทำอย่างไร? ทางพุทธศาสนาเรียกว่าต้องมี “ปฏิกรรม” ปฏิกรรม ภาษาพระมักจะแปลว่า “การทำคืน” แต่จะแปลว่า “การแก้กรรม” ก็ได้ คือไปหาทางแก้ไข ยอมรับว่าได้ผิดพลาดทำไม่ดีไปแล้ว ก็ตั้งใจละเลิกบาปอกุศลที่เคยทำไปนั้น และจะสำรวมระวัง แก้ไขปรับปรุงตนเองมาทำกรรมดีต่อไป วีธีแก้ไขจากการที่เราเผลอไปด่าผู้ทรงศีล ก็ควรจะไปขอขมาท่าน ไปกราบเรียนท่าน “พระคุณเจ้า…” หรือจะพูดคำว่า หลวงลุง หลวงปู่ หลวงพ่อ อะไรก็แล้วแต่นะ ก็บอกไปว่า “ผมพลั้งพลาดไป ได้ด่าท่านไปในวันนั้น ๆ” อะไรอย่างนี้นะ ..“ผมขอขมาครับ” พระท่านก็จะบอกว่า “ไม่ถือโทษ ไม่ถือโกรธ” ประมาณอย่างนี้นะ อาจจะไม่ได้พูดอย่างนี้เป๊ะ ๆ สรุปว่า..ก็ควรจะไปขอขมานะ “การขอขมา” มันอาจจะยากสำหรับคนบางคนที่ถือตัว ความถือตัวจะทำให้คน ๆ นั้นไม่ยอมไปขอขมาใคร ความรู้สึกของคนถือตัว เหมือนจะต้อง ‘ลดตัวเอง’ ลงไป จริง ๆ ไม่ใช่ลดตัวเอง มันเป็นการแสดงความกล้าหาญต่างหาก! แสดงความกล้าหาญ ในการแสดงความผิดของตัวเอง ด้วยความยอมรับและสำนึกผิด แล้วพอท่านยกโทษให้เนี่ย มันเป็น “การยกโทษจริง ๆ” โทษคือความรู้สึกหนักอกหนักใจ จากการที่เรารู้สึกว่า ‘เรากระทำความผิดไปโดยการด่าท่านไป’ พอเราได้ “ขอโทษ” แล้วท่าน “ยกโทษ” ให้ ..เราจะรู้สึกเบาขึ้นมาทันที! เหมือนท่านได้ “ยกโทษ” ออกมาจริง ๆ ‘โทษ’ ที่มันรู้สึกหนักเหลือเกินเนี่ยนะ ท่าน ‘ยก’ ออกไป จากการที่ท่านให้อภัยกับเรา ดังนั้น ถ้าสำนึกได้ว่า ‘เราทำผิดจากการที่ไปด่าท่าน’ ให้หาโอกาสไปขอขมา อันนี้ขอแนะนำเท่านี้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/nimmalo/videos/1290812144648942 (นาทีที่ 44.35-48.28)

อ่านต่อ