#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เจ้ากรรมนายเวร ?? #ถาม : “เจ้ากรรมนายเวร” หมายถึงอะไร? #ตอบ : “เจ้ากรรมนายเวร” เอาเฉพาะคำนี้เลยนะ.. ไม่มีในพระไตรปิฎก เป็นคำที่คนไทยใช้กันเอง แต่ถ้าว่าโดยความหมาย มันก็คือ “ผู้ที่จองเวร” เมื่อเราทำกรรมต่างๆ ไว้ในอดีต เราทำกรรมอะไร เคยล่วงเกินใครไว้ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นอดีต..ในชาตินี้ อดีต..ในชาติก่อนๆ ล่วงเกินใครไว้ ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือแม้ด้วยใจ แล้วคนที่ถูกล่วงเกินนั้น “ผูกโกรธและจองเวร” คนไทยก็จะเรียกคนผูกโกรธและจองเวรนั้นว่า.. “เจ้ากรรมนายเวร” อันนี้เป็นคำที่คนไทยเรียกกันเองนะ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า เจ้ากรรมนายเวร คือ ผู้เคยมีเวรมีกรรมต่อกันมาแต่ชาติก่อน คำจึงนี้หมายถึง ผู้ที่ยังจองเวรกันอยู่ ลองคิดง่ายๆ เอาเราเองก็แล้วกัน เราเองมีคนที่เราไม่ชอบหน้าบ้างไหม? คนที่เหม็นขี้หน้า มีไหม? เจอแล้ว อยากจะขัดขวาง เวลาเขาได้ดี ไม่ดีใจด้วย เวลาเขาจะเจริญ ถ้าขัดขวางได้ เราจะขัดขวาง ถ้ามีคนแบบนี้อยู่กับชีวิตของเราเนี่ยนะ เรากำลังเป็น “เจ้ากรรมนายเวร” ของเขา นึกออกไหม? เรา ‘จองเวร’ เขา ไม่ยินดีในความเจริญของเขา ไม่ยินดีที่จะเห็นเขามีความสุข พยามยามทำเท่าที่จะทำได้ ที่จะขัดขวางเขา หรือทำให้เขามีทุกข์ ยิ่งเห็นเขาทุกข์ เรายิ่งสะใจ ถ้ามีคนอย่างนั้นอยู่ในชีวิตของเรา ที่เราคิดอย่างนี้อยู่นะ เรานี้ล่ะ เป็น “เจ้ากรรมนายเวร” ของเขา เราเป็นผู้จองเวร เป็นผู้ผูกโกรธ เป็นผู้หาช่องทางที่จะทำให้เขาพินาศฉิบหาย ประมาณนี้ คล้ายๆ กับว่า โกรธแค้นที่เขาทำเราเจ็บแสบ เพราะฉะนั้น ‘มันจะต้องถูกล่า และถูกทำลาย อย่างสาสมที่มันได้ทำกับเราไว้!!’ คิดอย่างนี้นะ..เป็นเจ้ากรรมนายเวรแล้ว นึกออกไหม? เพราะฉะนั้นถ้าเราไปทำใคร จนเขาโกรธแค้น แล้วเขาไม่ละความพยายามที่จะทำร้ายเรา คนไทยเราก็จะเรียกคนประเภทนั้นว่า “เจ้ากรรมนายเวร” แล้วทีนี้จะทำอย่างไรล่ะ? ประการที่ ๑ ถ้าเราระลึกได้ว่า.. ‘เราเคยล่วงเกินใคร ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือแม้ด้วยใจ’ ถ้าระลึกได้นะ ควรจะไปขอขมา ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ ไปขอโทษ ขอขมากับบุคคลเหล่านั้น ให้เห็นว่า เราพลาดพลั้งไป เผลอไป ต้องไปแสดงให้เขาเห็นว่า เราสำนึกผิดจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ขอโทษเป็นพิธี.. เดี๋ยวนี้มันจะมีประเภทว่า ไป bully (ระราน, หาเรื่อง) หรือไป comment (แสดงความคิดเห็น) แบบด่า ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันเลย เพียงแค่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน หรือว่าความเห็นในเรื่องต่างๆ ไม่ตรงกัน มีคนชงเรื่อง ยกประเด็นอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ไปด่า ด่าแล้วด่าอีก ด่าซ้ำด่าซาก จนเขาทนไม่ได้ ไปฟ้องศาล อย่างนี้นะ ‘โอ้ ตายละหว่า! การด่ามีค่าขึ้นมาแล้ว’ กลายเป็นว่าจะต้องชดใช้ มีค่าเสียหายจากการถูกด่า เราไม่อยากจะจ่ายเงิน ก็ไป “พี่ครับ ขอโทษครับ” อะไรอย่างนี้ ..มันไม่ทันแล้ว ประมาณอย่างนี้ บางทีเขาถูกกระทำแล้ว หรือถูกล่วงเกิน จนไม่ยอมแล้ว เราไปเพียงแค่ขอโทษเนี่ยนะ เขาไม่ยอม อย่างนี้เรียกว่า เราไปล่วงเกินเขา จนเขาไม่ยอม ทีนี้แสดงว่าที่เราทำไป มันหนักหนาสาหัสจนเขาไม่ยอม ถ้าจะให้ดี ก็ควรจะระมัดระวังการแสดงออก ทั้งทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่จะคิดในใจ ถ้าจะมี ‘การล่วงเกินใคร’ เกิดขึ้นมา มันจะมีการปรุงขึ้นมาก่อนในใจ ถ้ารู้ทันในใจ เกิดดับอยู่ในใจ ก็เรียกว่าใช้ได้ ไม่ไปแสดงออกทางกาย ไม่ไปแสดงออกทางวาจา ก็เรียกว่าปลอดภัยระดับหนึ่ง ทีนี้ถ้าเผลอออกไปทางกาย ทางวาจาแล้ว ก็ควรจะไปขอขมากัน ในขณะเดียวกัน ถ้ามีใครทำร้ายเรา ล่วงเกินเราด้วยกาย ด้วยวาจา หรือแม้ด้วยใจ.. ถ้าเรารู้.. ก็ควรให้อภัย เรารู้อยู่แล้วว่า.. เราไม่อยากให้.. เจ้ากรรมนายเวร มา “จองเวร” กับเรา เราในฐานะที่อยากจะให้.. เจ้ากรรมนายเวร “ให้อภัย” กับเรา เวลาคนอื่นเขาทำกับเรา เราก็ควรจะ “ให้อภัย” กับเขาด้วย ไม่ใช่ขอให้คนอื่นให้อภัยกับเรา แต่ ‘กูจะจองเวรกับมึง!’ อย่างนี้รู้สึกจะไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ ถ้าเราคิดจะให้เจ้ากรรมนายเวร “ให้อภัย” แก่เรา เราควรจะแสดงออก ซึ่งความสำนึกผิด ที่เราทำกับเขาไว้ และถ้ามีใครทำอะไรกับเรา เราก็ควรที่จะยับยั้งชั่งใจ ไม่จองเวร ไม่คิดพยาบาทเขา ไม่คิดให้ร้ายเขา ให้สมกับที่เราปรารถนา ให้เจ้ากรรมนายเวรให้อภัยกับเรา เพราะฉะนั้นเราควรจะให้อภัย กับคนที่ล่วงเกินเราด้วย นึกออกไหม? ไม่งั้นก็.. “มึงอย่ามาจองเวรกู” แต่ “กูจะจองเวรมึง” อะไรอย่างนี้ อย่างนี้ดูแปลกๆ ไหม? คล้ายๆ เห็นแก่ตัวเกินไป ใช่ไหม? ไอ้คนที่จองเวรเราอยู่ ก็เห็นเรายังซ่าส์เหลือเกิน ก็สั่งสอนสักหน่อย ประมาณนี้ เข้าใจไหม? ..มันก็คือ ไม่ใช่ว่าเห็นเจ้ากรรมนายเวรเนี่ยเป็นตัวซวย หรือว่าเป็นตัวล้างตัวผลาญเรา จริงๆ แล้วเนี่ย ที่เขาคิดไม่ดีกับเรา เพราะเราทำไม่ดีกับเขาไว้ก่อน แต่ตอนนี้เราสำนึกหรือยัง? หรือว่าเรารู้หรือเปล่า? ระลึกชาติได้ไหม? อะไรประมาณนี้นะ เพราะฉะนั้น อย่าไปมองเจ้ากรรมนายเวรในแง่ว่า “เป็นตัวผู้ร้าย” มาก่อกวนชีวิตเรา แต่ให้มองว่า เรานี่แหละเคยทำไม่ดีกับเขาไว้ ไม่งั้นเขาไม่จองเวรขนาดนี้หรอก เข้าใจไหม? ให้ดูอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจะระวังการกระทำของเรา เราจะระวังของเรา เราจะไม่ไปล่วงเกินใคร เราจะระวังการแสดงออกทางกาย ทางวาจาของเรา และในขณะเดียวกัน ถ้ามีใครล่วงเกินเรา เราจะให้อภัย เราจะรู้สึกว่า.. แม้แต่ความโกรธที่เกิดขึ้นมาในใจเราเนี่ย เกิดทีไร ก็ทุกข์ทีนั้น เราปฏิบัติไปเนี่ยนะ เราดูใจของเรา เราเจริญสติ เจริญกรรมฐานของเรา ในการดูจิตดูใจ ความโกรธเกิดขึ้นมาทีไร เรารู้อยู่แล้ว.. โกรธปุ๊บ ทุกข์ทันที โกรธปุ๊บ ร้อนรนขึ้นมาทันที มันทุกข์ขึ้นมาทันที อย่าว่าแต่พัฒนาขึ้นมาไปเป็นผูกโกรธ หรือเป็นจองเวรเลยนะ การผูกโกรธและจองเวรเกิดขึ้น แสดงว่า มันโกรธขึ้นมา แล้วไม่รู้สึกตัว แล้วก็..ปรุงแล้วปรุงอีก คิดแล้วคิดอีก จนกลายเป็นจองเวร อาฆาต พยาบาท ‘โกรธร้อยปี อย่ามาดีร้อยชาติ’ ประมาณอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้น โกรธเกิดขึ้นที่ใด .. เรารู้อยู่แล้วว่า ‘มันเป็นทุกข์ทันที’ เราจะไม่ปล่อยให้มันขยาย หรือให้มันเลยเถิด ..กลายเป็น “ผูกโกรธ” หรือ “จองเวร” นะ ที่ทำได้แน่ๆ คือ ถ้ามีใครทำร้ายเรา ล่วงเกินเราด้วยกาย ด้วยวาจา หรือแม้ด้วยใจ เรารู้ เราจะไม่ผูกโกรธ เราจะไม่จองเวร แต่ถ้ามีใครจองเวรเราอยู่เนี่ย เราบังคับเขาไม่ได้เลย มีทางเดียวคือ – ทำดีให้เขาดู..จนเขายอม – หรือ ทำตนเองให้พ้นโลกไป เหมือนกับพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลก็สร้างกรรมไว้เยอะนะ สร้างอกุศลกรรมเอาไว้เยอะ ไปทำร้ายคนเอาไว้ ถึงกับเขาเสียชีวิตเลยก็มีใช่ไหม? ฆ่าคนตั้งมากมาย ทำให้ญาติๆ ต้องพลัดพรากจากคนที่เขารัก เขาก็ผูกโกรธ ผูกความแค้น ผูกความพยาบาท แต่ความโกรธ ความแค้น ความพยาบาทจะไม่ส่งผลไปแล้ว เพราะการทำร้ายกันสำเร็จ มันต้องมีขันธ์ ๕ มารองรับ แต่พระองคุลิมาล นิพพานเสียแล้ว ขันธ์ ๕ เปรียบเหมือนเปลวไฟที่หมดเชื้อแล้ว ไม่มีขันธ์ ๕ จะมารองรับวิบากอีกแล้ว ถ้าเรากลัวเจ้ากรรมนายเวรจะมาทำร้ายเราไม่จบไม่สิ้น จงเร่งเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้ขันธ์ ๕ นี้ที่เกิด-ดับ แล้วมันไม่เกิดอีก ขันธ์ ๕ ดับหมดแล้ว ก็หมดไปเลย ถ้ากลัวเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ให้มาเตือนตัวเองว่า.. “เราควรจะเร่งที่จะมาเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน..พ้นไป” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=OprPtoR6LMk (นาทีที่ 47.46-58.26)

อ่านต่อ