#นิมฺมโลตอบโจทย์ #มิจฉาวณิชชา #อาชีพที่ไม่ควรประกอบ ?? #ถาม : กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ผมทำอาชีพเกี่ยวกับการฆ่าชีวิตสัตว์ ทุกทีที่ผมทำงานเสร็จ จะเข้าวัดไปทำบุญ อุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศล ให้กับชีวิตที่ผมฆ่าไป แบบนี้พอจะ “แบ่งเบาบาป” ของผมได้ไหมครับ? #ตอบ : ก็ยังดีกว่าไม่ทำ แต่ถามว่ามันสมน้ำสมเนื้อกันไหม? ถ้าว่ากันซื่อๆ เลยนะ “มันไม่สมน้ำสมเนื้อเท่าไหร่หรอก” เราฆ่าเขา แล้วเราไปทำบุญอุทิศให้เขาเนี่ยนะ ลองนึกถึงตัวเอง.. ‘ถ้าเราถูกฆ่า แล้วคนฆ่าเรา ไปถวายสังฆทานอุทิศให้เรา..เรายอมไหม?’ ถ้าคำตอบว่า ‘ยอม’ ก็แสดงทำได้ ทำต่อไป เพราะฉะนั้น ไอ้อาชีพที่ทำอยู่เนี่ย มันเป็นอาชีพที่ว่า “เสี่ยง” เสี่ยง..นี่พูดแบบ’เบา’ที่สุดนะ จริงๆ มันคืออาชีพที่เรียกว่า “มิจฉาวณิชชา” เป็นการเลี้ยงชีพ เป็นการค้าขาย หรือการทำอาชีพที่ “อุบาสกในพุทธศาสนา ควรเลี่ยง” เป็นอาชีพที่ไม่ควรประกอบ มีอะไรบ้าง? คือ ๑. ค้าอาวุธ ๒. ค้ามนุษย์ ๓. ค้าสัตว์..อย่างที่โยมทำมานี้ ๔. ค้าน้ำเมาหรือสิ่งมึนเมา สิ่งเสพติดต่างๆ ๕. ค้ายาพิษ การค้าขายอย่างนี้นะ ถ้าทำ มันจะมีรายได้เยอะ เพราะเป็นอาชีพที่มีรายได้เข้าง่าย แต่จริงๆ มันเป็นอาชีพที่มันไปสร้างเวร ไปสร้างอกุศล ลูกค้าของเราก็จะเป็นลูกค้าที่เสี่ยงด้วย เมื่อเขาใช้บริการแล้ว เขาจะเกิดอกุศล หรือว่าสัตว์ที่เราค้าเนี่ย เขาถูกทำร้าย เขาจะไม่ชอบใจ เพราะฉะนั้นตอนนี้ ถ้ายังเลิกไม่ได้ ยังหาอาชีพอื่นไม่ได้ ทำไปแล้วก็ทำบุญอุทิศให้เขา อย่างนี้ยังดีกว่าไม่ทำ!! แต่ถามว่ามันสมน้ำสมเนื้อกันไหม? กับการที่เราฆ่าสัตว์ แล้วเราไปทำบุญอุทิศให้ ..มันสมน้ำสมเนื้อกันไหม? คำตอบมันจะออกมาว่า “ไม่สมน้ำสมเนื้อ” เพราะฉะนั้นถ้าเลี่ยงได้ ให้ไปลองหาลู่ทางในการทำอาชีพอื่น แต่ยอมรับว่ามันไม่ใช่หาง่ายนะ เพราะฉะนั้นในระหว่างนี้ ยังเลิกไม่ได้กับอาชีพนี้ ทำบุญอุทิศไปก่อน ก็ยังดี ยังดีกว่าไม่ทำ แต่ถ้าจะให้แนะนำจริงๆ ก็คือว่า “ลองหาลู่ทางในการเปลี่ยนอาชีพ” เปลี่ยนอาชีพ ให้เป็นอาชีพที่.. – ไม่ไปเบียดเบียนชีวิตใคร – ไม่ไปทำให้ใครเขาเดือดร้อน ในแง่ของไปค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้าเนื้อสัตว์ ค้าน้ำเมา ค้ายาพิษอะไรเนี่ย คือเลี่ยงมิจฉาวณิชชา ..ลองไปหาอาชีพอื่น มีโยมที่รู้จักกัน มีอยู่คนหนึ่งเขาทำอาชีพเลี้ยงกุ้ง ทำนากุ้ง เป็นบ่อกุ้ง – เลี้ยงกุ้ง เอากุ้งไปขาย พอมาสนใจธรรมะ มาฟังธรรม รู้ว่าอาชีพนี้ไม่ดี มันเป็นการก่อเวร แล้วก็เป็นมิจฉาวณิชชา ตามที่พระพุทธเจ้าแสดงเอาไว้ แต่ยังเลิกไม่ได้ คล้ายๆ ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็ทำต่อไปก่อน แต่ก็ทำอย่างที่โยมว่าเนี่ย..ทำบุญไปด้วย ค้าขายชีวิตสัตว์ ด้วยใจที่รู้ว่า ‘มันมีโทษ’ มันก็จะ ‘คอยหาลู่ทางที่จะทำอย่างไร ที่จะเปลี่ยนอาชีพ?’ มันไม่ได้ทำด้วยใจที่เหลิงกับรายได้ที่เข้ามา แต่จะทำ “อย่างระมัดระวัง” แล้วถ้ามีโอกาสก็จะเปลี่ยน และในที่สุดก็เปลี่ยนได้ ก็เปลี่ยนอาชีพได้ มันเหมือนกับว่า รู้อยู่ว่าถ่าน (ถ่านหุงข้าว) ตอนจุดไฟนะ เวลาถ่านมันแดงเนี่ย ไม่มีควันนะ คนไม่รู้ก็จะจับถ่านอย่างเต็มมือ มันก็จะลวกมือพอง ไหม้เต็มที่ แต่ถ้ารู้อยู่ว่า ‘ถ่านนี้จะต้องร้อนแน่ๆ เลย’ รู้อยู่ว่า ‘ร้อน’ มันจะจับด้วยความระมัดระวัง และใช้เวลากับถ่านนี้ไม่นาน เช่นเดียวกัน ถ้าโยมรู้อยู่ว่า ‘อาชีพนี้ มันเป็นอาชีพที่ไม่ควรทำ’ ‘มันเป็นอาชีพที่ไปเบียดเบียนชีวิตสัตว์..มีโทษ’ แต่ตอนนี้มันยังเลิกไม่ได้ ด้วยสถานการณ์อะไรต่างๆ นาๆ แต่ตั้งใจจะเลิก ตั้งใจจะเปลี่ยนอาชีพ อย่างน้อยๆ บอกกับคนในครอบครัวว่า “ช่วยกันหาลู่ทาง” อาจจะเปลี่ยนในรุ่นเราไม่ได้ รุ่นลูกเปลี่ยนได้..ก็โอเค (ok) ถ้าเปลี่ยนในรุ่นเราได้..ดีมาก ก็คล้ายๆ กับว่า เหมือนกับเรามีถ่านเพลิงอยู่ จำเป็นต้องจับมัน จะจับใช้เวลากับมันไม่นาน แล้วจะหาวิธีที่จะจับแล้วมือพองน้อยที่สุด ไม่ได้จับทั้งมือ “มันจะจับอย่างไรดีนะ?” “จะหาอะไรจับ?” แต่มันแน่นอนมีโทษ! มันมีโทษอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าเลี่ยงได้..ให้เลี่ยง ถ้าทำอาชีพอื่นได้..ให้ทำ แต่ตอนนี้ถ้ายังเลี่ยงไม่ได้ ยังทำอาชีพนี้อยู่ ก็ทำอาชีพนี้ไป ..แล้วหาโอกาสทำบุญ ก็ยังดีกว่าไม่ทำ แต่ถามว่า “มันสมน้ำสมเนื้อกันไหม?” .. ไม่พอนะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Ct5Sn_isBNI (นาทีที่ 1.37.10-1.43.40

อ่านต่อ