#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อธิษฐานในพรรษา #ถาม : จะออกพรรษาแล้ว ผู้ที่อธิษฐานเข้าพรรษาไว้ ก็จะมีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ขอพระอาจารย์ให้มุมมองในการวางใจ #ตอบ : จะขอทำความเข้าใจคำว่า “ออกพรรษา” นิดหนึ่งก่อน โดยความเข้าใจของโยมทั้งหลายก็คือ พรุ่งนี้ (21 ตุลาคม 2564) ..วันนี้เป็นวันโกน พรุ่งนี้เป็นวันพระใหญ่ เป็นวันพระสุดท้ายของการจำพรรษาของพระภิกษุ โยมก็จะเรียกกันง่าย ๆ ว่า “วันออกพรรษา” แต่จริง ๆ ยังไม่ออกนะ ออกจริง ๆ ในวันรุ่งขึ้น วันพรุ่งนี้ยังต้องอยู่ในวัดนะ อธิษฐานอยู่ที่ไหนก็ต้องอยู่ที่นั่น ยังออกไม่ได้ วันสุดท้ายของการจำพรรษา ซึ่งมีชื่อเรียกในทางพระวินัยเป็นคำเฉพาะว่า “วันปวารณา” แปลว่า เปิดโอกาส หมายความว่า พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาด้วยกัน ไม่ว่าจะกี่รูปก็แล้วแต่ เมื่อถึงวันปวารณาให้มาปวารณากัน คือปกติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำก็ตาม แรม ๑๕ ค่ำก็ตาม บางเดือนอาจจะเป็นแรม ๑๔ ค่ำ คือ เดือนละ ๒ ครั้ง จะมาประชุมเพื่อทบทวนสิกขาบท เรียกว่า วันอุโบสถ แล้วก็มาทำการทบทวนสิกขาบท เรียกว่า “สวดปาฏิโมกข์” แต่ในวันพรุ่งนี้ (วันนี้ ๑๔ ค่ำ) พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำนะ พรุ่งนี้ถ้าเป็นวันปกติตลอดปี ก็จะเป็นวันอุโบสถ แต่พรุ่งนี้จะเป็นวันพิเศษกว่าวันอื่น คือเป็นวันอุโบสถสุดท้ายของการจำพรรษา พระพุทธเจ้าก็จะให้วันนั้น เป็นการแสดงความสามัคคี ของภิกษุที่อยู่จำพรรษาด้วยกัน ให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษานั้น ใช้วันอุโบสถสุดท้ายของการจำพรรษา มาปวารณากัน “ปวารณา” ก็คือ เป็นการเปิดโอกาส เปิดโอกาสคือ “เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ที่นั้น ให้ตักเตือนได้” เรียกว่า.. ท่านจะไปที่ไหนต่อไปนี้ ถ้าได้เห็น หรือได้ยิน หรือแม้แต่สงสัยว่าท่านทำผิด ก็จงอาศัยความกรุณา ว่ากล่าวตักเตือน ไม่ใช่ว่าอาศัยความโกรธนะ อาศัย “ความกรุณา” ว่ากล่าวตักเตือน ถ้าท่านเห็นว่าผิด ท่านก็จะได้ว่าแก้ไขปรับปรุง ภาษาทางคัมภีร์จะเรียกว่า “ทำคืน” ทำคืน ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “ปฏิกรรม” แก้ไขทำให้มันดีขึ้น ถ้าอาบัติเล็กน้อยก็จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น ก็คือไปปลงอาบัติ ถ้าเป็นอาบัติหนักกว่านั้น ก็ต้องไปอยู่กรรม เป็นสังฆาทิเสส ถ้าอาบัติหนักสุดเลย ก็ต้องลาสิกขาบท ออกจากความเป็นพระภิกษุ จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ผิดอะไร ก็ตักเตือนกัน อย่างนี้เรียกว่า เป็นการปวารณา ซึ่งจะทำในวันพรุ่งนี้ ส่วนคำว่า”ออกพรรษา” เรามาเรียกกันเอง ในภาษาบาลีไม่มีคำว่า “ออกพรรษา” มีแต่คำว่า “ปวารณา” การออกพรรษานั้นจะออกโดยอัตโนมัติ คือในตอนวันเข้าพรรษานี้มีนะ วันเข้าพรรษาจะ “อธิษฐานจำพรรษา” พออธิษฐานจำพรรษา ในคำอธิษฐานจำพรรษา ก็จะบอกว่าจะอยู่ตลอดไตรมาส ไตรมาสแปลว่า ๓ เดือน บางท่านก็จะพูดทั้ง ๒ คำเลย “ตลอดไตรมาส ๓ เดือน” มันก็ไม่เป็น ๖ เดือนนะ มันก็คือแปลในคำว่าไตรมาส ตลอดไตรมาส ก็คือ ๓ เดือนนี้ จะอยู่จำพรรษาในเขตนี้ ซึ่งวันนั้นพระทั้งหลายก็จะมีการชี้ว่าเขตที่เราจะจำพรรษานะ เราจะจำในขอบเขตไหน จะไม่ไปรับอรุณนอกเขตนี้ หมายถึงว่า จะไม่ไปค้างคืนที่อื่นนอกเขตนี้ ไม่ไปรับอรุณนอกเขตนี้ อธิษฐานไว้ ๓ เดือน พอครบ ๓ เดือน ไม่ต้องอธิษฐานออกพรรษา พอครบแล้วก็เป็นอันว่าจะไปไหนก็ได้เลย ไม่ต้องมาทำพิธีออกนะ มีแต่พิธีเข้า คือ “อธิษฐาน” เหมือนกับโยมเวลาอธิษฐานอุโบสถ อธิษฐานอุโบสถ ถือศีล ๘ ข้อ จะมีคำว่า “ตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่ง” วันหนึ่งคืนหนึ่งจะถือศีล ๘ ข้อนี้ พ้นวันหนึ่งคืนหนึ่งแล้ว ก็ไม่ต้องมาลาศีล มันจะเป็นการกลับไปสู่ศีล ๕ โดยอัตโนมัติ อย่างนี้เช่นเดียวกัน การอธิษฐานของภิกษุที่อยู่จำพรรษา ๓ เดือน พอครบในวันพรุ่งนี้แล้วเนี่ย ก็จะไม่ต้องอยู่จำพรรษา ไม่มีความจำเป็น แต่ใครจะอยู่ต่อก็ได้ ไม่ได้ห้ามนะ แต่ใครจะเดินทางจาริกไป ต่อไปก็ได้ นี่เป็นเรื่องของพระวินัย แบบชี้แจงคำว่า “ออกพรรษา” แล้วก็คำว่า “อธิษฐาน” คร่าว ๆ นะ “อธิษฐาน” จะแปลว่า ตั้งใจมั่น คือตั้งใจอย่างมั่นคง ว่าจะทำให้สำเร็จ แต่เวลาเรามาใช้ในภาษาไทยมันจะเพี้ยนไปนิดหนึ่ง แต่ก็เพี้ยนไปมากเหมือนกัน คือเวลาเราพูดว่า “อธิษฐาน” ในหมู่คนไทยด้วยกัน “ไปอธิษฐานกับหลวงพ่อองค์นั้นสิ กับพระพุทธรูปองค์นั้นสิ” เรามักจะเป็น ‘การขอ’ รู้สึกไหม? ในหมู่คนไทยพอบอก “ไปอธิษฐานหลวงพ่อโต อย่างนี้นะ” ไปอธิษฐานหลวงพ่อโต หมายถึงว่าจะไป ‘ขอกับหลวงพ่อโต’ มันเพี้ยนไปนะ อธิษฐานไม่ได้แปลว่า “ขอ” ถ้าจะเป็นการขอ ก็เป็น “ขอที่จะทำ” ขอที่จะทำ ก็คือว่า อย่างพระจะจำพรรษาสามเดือน ณ ที่ใดที่หนึ่งก็อธิษฐาน ก็คือ ตั้งใจที่จะอยู่ ณ ที่นั้น ๓ เดือน อธิษฐาน คือตั้งใจ อธิษฐานบริขาร ก็เป็นการตั้งใจจะใช้สิ่งนั้นเป็นบริขาร ตั้งใจจะใช้จีวรนี้เป็นจีวรครอง ก็ต้องอธิษฐาน อธิษฐานใช้จีวร สังฆาฏิ สบง อธิษฐานใช้บาตร คือตั้งใจจะใช้ของใช้เหล่านี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ใช้หนึ่งชุด ก็คือต้องอธิษฐานใช้ จะใช้อันนี้เป็นบาตร จะใช้ใบนี้ คือตั้งใจ ไม่ใช่ว่าล้างเสร็จไปคว่ำ แล้วก็ของใครก็ไม่รู้ คว้ามา มันก็เรียกว่าใช้เหมือนเป็นของส่วนกลางไม่ได้ คือ ต้องรักษาสมบัติส่วนตัวอันนี้ไว้ ไว้ใช้ คือต้องอธิษฐาน ต้องจำว่า ว่าบาตรนี้ของเรา จีวรนี้ของเราทำพินทุกัปปะ คือทำตำหนิเอาไว้ด้วย นี้เรื่องของอธิษฐาน ….. ที่นี้เรื่องของอธิษฐานในพรรษา การอธิษฐานจำพรรษาเป็นเรื่องของพระภิกษุ โยมไม่จำเป็นต้องมาอธิษฐาน มันไม่มีวินัยข้อไหนที่จะบอกให้โยมมาจำพรรษา แต่โยมนี้อาศัยว่า.. พระภิกษุยังอธิษฐานจำพรรษาเพื่อที่จะมาศึกษาเล่าเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเอามาใช้ด้วย คือเรียนว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร แล้วท่านก็เอามาปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ในการจำพรรษาจึงเป็นการปฏิบัติที่พระภิกษุในเมื่ออยู่ประจำที่แล้ว เป็นเวลาที่แน่นอนไม่ไปไหน ก็จะเป็นโอกาสที่จะมาเล่าเรียน โดยเฉพาะพระใหม่ ก็จะเรียนพุทธพจน์ต่างๆ ปัจจุบันก็จะปรับมา เรียกว่า “เรียนนักธรรม” หรือจะเรียบบาลีอะไรอย่างนี้นะ ก็จะเป็นเวลาที่ท่านจะได้ใช้เวลาในการศึกษาเต็มที่ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นเวลาที่จะปฏิบัติด้วย บางท่านนอกจากจะศึกษาแล้ว ก็เป็นเวลาที่ท่านจะปฏิบัติ ในโอกาสอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์เป็นเวลา ๓ เดือน อย่างนี้นะ ก็จะใช้โอกาสนี้ปฏิบัติ เผื่อว่าเวลามีปัญหาอะไรจะได้สอบถามได้ หรือว่าจะได้รับการตักเตือนชี้แนะให้พัฒนาต่อไป เมื่อญาติโยมเห็นพระใช้เวลานี้ในการพัฒนาตน ญาติโยมก็ปรารถนาจะพัฒนาตนบ้าง ดังนี้การอธิษฐานของโยมในช่วง ๓ เดือนนี้ ตอนนี้แหละ โดยดูสิว่าตนเองบกพร่องในส่วนไหนก็จะอธิษฐานเพื่อป้องกันความบกพร่องนั้น ไม่ให้มันมีมาก หรืออย่างน้อย ๆ ไม่ให้มันมีข้อบกพร่องนี้ต่อไป คือให้พัฒนาตนเอง อะไรที่เป็นกุศลที่ยังไม่มี ก็จะพัฒนาสิ่งนั้นขึ้นมา อะไรที่เป็นอกุศล ก็พยายามอธิษฐานที่จะไม่ทำ ตรงนี้เรียกว่าเป็นการอธิษฐานของโยม โดยใช้เวลาในช่วง ๓ เดือนนี้ บางท่านทำสำเร็จ ก็เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา บางท่านทำไม่สำเร็จ อาตมาว่าก็เป็นเรื่องดีกว่าไม่ทำ คือบางคนอธิษฐานจะถือศีล ๘ ตลอด ๓ เดือน ถ้าถือมาได้ตลอด..อย่างนี้เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา แต่ถ้าถือมาแล้ว ๒ เดือน แล้วพลาดไป พลาดไปก็ยังได้ตั้ง ๒เดือน ! ถ้าฉลาดก็จะอธิษฐานต่อเลย อีกเกือบหนึ่งเดือนอธิษฐานต่อเลย เราพลาดไปหนึ่งวัน มันก็คือพลาดแค่วันเดียว ไม่ใช่ว่าจะเสียทั้งหมด ในการที่เราผิดพลาดอะไรไปจากการตั้งใจที่จะพัฒนาตนเอง ก็เป็นโอกาสให้เราตรวจสอบ “เอ้า..เราผิดพลาดเพราะมีเหตุอะไร?” เวลามีเหตุอย่างนั้นเกิดขึ้นมาเราจะได้ระวัง หลีกเลี่ยงเหตุนั้น ไม่เอาตนเองเข้าอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ก็ดูก็แล้วกันว่า ที่เราพลาดไปมันเป็นเพราะเหตุใด อย่างน้อยการตั้งใจทำดี แม้จะมีข้อผิดพลาด มันก็ยังดี..ดีกว่าไม่ทำ ยิ่งถ้าใครทำสำเร็จ ก็ยิ่งอนุโมทนาเลยนะ ทีนี้ในตอนที่ออกพรรษาแล้ว จะทำอย่างไรต่อ? คล้ายๆ ว่า ๓ เดือนนี้เราได้ตั้งใจทำดีอย่างหนึ่ง ออกพรรษาแล้ว..อาจจะตั้งใจอีกแบบหนึ่งก็ได้ ใน ๙ เดือนต่อไปนี้จะทำอะไรจะฝึกอะไร ก็อธิษฐาน จะแบ่งซอยเวลาย่อย ๆ ก็ได้ ไม่ต้องถึง ๙ เดือนก็ได้ เช่น ฤดูหนาวนี้ หรืออีกเดือนหนึ่งข้างหน้านี้ มันยังไม่หมดฤดูฝนตามพระวินัยนะ มันจะมีอีก ๑ เดือนจนถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ อีก ๑ เดือน ลองฝึกต่อ อาจจะฝึกต่อในข้ออื่น ๓ เดือนนี้อาจจะถือศีล ๘ มา อีกหนึ่งเดือนต่อไปอาจจะไม่ต้องมาฝึกศีล ๘ ก็ได้ มาฝึกข้ออื่น เช่นว่า “จะฝึกที่จะไม่พูดร้ายกับใคร มีใจโกรธได้ แต่ถ้าจะพูดจะไม่พูดร้ายกับใคร” สมมตินะ ก็เรียกว่าลองฝึกต่อไป ในช่วงที่ออกพรรษาไปแล้ว อะไรที่เป็นจุดด้อยของเรา ก็ลองฝึกดู เพื่อจะให้จุดด้อยนั้นไม่มารบกวน เรามีจุดด้อยข้อไหนก็ลองฝึกแก้ไขจุดนั้น บางคนก็ฝึกตั้งใจว่า “ถ้ายังไม่ให้สิ่งของอะไรกับใคร ก็จะไม่บริโภคเอง” ก็ขออนุโมทนากับทุก ๆ ท่าน ถ้าใครอธิษฐานทำความดีอะไร แล้วพลาดไปบ้าง ก็ขอให้เป็นบทเรียน พรรษาหน้าทำใหม่ให้ดียิ่งขึ้น คุณความดีต้องงดงามเพิ่มพูน ต้องพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นให้ได้ ไม่ตกต่ำไปกว่านี้ ออกอากาศวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=imIZUKfS1o8

อ่านต่อ