#นิมฺมโลตอบโจทย์ #หยุดเวียนว่ายตายเกิด #ถาม : ทำอย่างไรถึงจะ “หยุด” วงจรการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้คะ? #ตอบ : ก็มาดูว่า “เหตุให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดนั้นคืออะไร?” ..ก็ไปละเหตุนะ เหตุที่เกิดการเวียนว่ายตายเกิดก็คือ “ตัวตัณหา” เพราะฉะนั้นจะไปละตัวตัณหานี้ได้ ไม่ใช่ไป “อยาก” ไม่ให้มีตัณหา วิธีการละตัณหา ก็คือไป “เจริญมรรค” ความหยุดเวียนว่ายตายเกิด คือ นิโรธ ตัวที่ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด ก็คือ ตัณหา แต่วิธีไม่ใช่ว่า มีตัณหาแล้ว..ละตัณหา หรือว่าไม่เอามัน..มันทำยาก วิธีก็คือ เจริญ “มรรคมีองค์ ๘” “มรรคมีองค์ ๘” ก็สรุปเป็น ศีล สมาธิ ปัญหา แต่มรรคมีองค์ ๘ นี้ จะเริ่มด้วยปัญญาก่อน ๑. สัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ปัญญา) ๓. สัมมาวาจา (ศีล) ๔. สัมมมกัมมันตะ (ศีล) ๕. สัมมาอาชีวะ (ศีล) ๖. สัมมมาวายามะ (สมาธิ) ๗. สัมมาสติ (สมาธิ) ๘. สัมมาสมาธิ (สมาธิ) สัมมา ๒ สัมมาแรกก็คือ เป็นเรื่องของ “ปัญญา” ๓ ข้อต่อมา เป็นเรื่องของ “ศีล” แล้วก็ชุดสุดท้าย เป็นเรื่องของ “สมาธิ” มันเป็นเรื่องของการพัฒนาตนเอง คือ มันต้องมีกระบวนการพัฒนาจิตใจ คนจะ “หยุด” วงจรการเวียนว่ายตายเกิดได้ ..ต้องมี “ปัญญา” แล้วก็ไม่ใช่ปัญญาระดับ..คิดนึกเอา ต้องเป็นปัญญาในระดับที่ว่า “เห็นสภาวะแสดงความจริง” ไม่ใช่เห็นสภาวะเฉย ๆ ด้วยนะ! เห็นสภาวะแสดงความจริงว่า มันไม่เที่ยง หรือ เป็นทุกข์ หรือ เป็นอนัตตา แง่ใดแง่หนึ่งใน ๓ แง่นี้ เรียกว่า “เห็นไตรลักษณ์” การจะมีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็ต้อง “เตรียมจิต” ให้พร้อมจะมีปัญญา ก็คือทำให้.. มีสมาธิ มีสติ มีความเพียร ตัวที่เราต้องการจริง ๆ คือตัวสัมมาสมาธิ แต่มันจะเกิด “สัมมาสมาธิ” ได้ ก็ต้องมี “สัมมาสติ” และ “สัมมาวายามะ” คือ มีความเพียรที่ชอบด้วย พอมีสัมมาสมาธิได้ มันจะมีกำลังในการ “เห็นสภาวะ” ที่จากเคยเห็นว่า ‘เป็นเรา’ มันจะแยกออกมาเป็นว่า ‘อ้าว! นี่มันรูป’ ‘นี่มันนามที่รู้’ มันแยกความเป็นเราออกมาเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นรูป ส่วนหนึ่งเป็นนาม สมมติว่ากายนี้นะ เมื่อก่อนถ้าไม่ภาวนาจะรู้สึกว่า ‘กายเรา’ แต่ภาวนาไป เกิดจิตตั้งมั่นขึ้นมา หรือว่าเป็น “สัมมาสมาธิ” ขึ้นมา ก็จะเห็นว่า ‘กายนี้ถูกรู้ มีจิตเป็นผู้รู้อยู่ต่างหาก’ และ ‘ไอ้กายนี้ ไม่ใช่เรา’..ก็เหลือแต่นาม “นาม” นี้ก็จะมีทั้ง – เวทนา – สัญญา – สังขาร – วิญญาณ ..ก็เรียนรู้ไป คือจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เคยยึด หรือเคยเข้าใจว่าเป็นเรา..แสดงความจริงนี้ มันต้อง “เตรียมจิต” ให้มีคุณสมบัติพร้อมพอ ไม่ใช่คิดเอา! ต้องเป็นการที่จะไป “เห็น” เรียกว่า “ญาณทัศนะ” นั่นเอง “ญาณทัศนะ” นี้คือ “ญาน” เป็นคำหนึ่งที่เป็นเรื่องของปัญญา “ทัศนะ” คือ เห็น เห็นสภาวะนั่นเอง เห็นสภาวะแสดงความจริง ไม่ใช่คิด! ไม่ใช่คิด! คือ ครูบาอาจารย์อาจจะบอก หรือว่า พระพุทธเจ้าเองอาจจะตรัสเอาไว้ แสดงความจริงว่า “เป็นอย่างนี้ ๆ …” ถ้าผู้ฟังไม่มีประสบการณ์จริงจากการเห็นสภาวะ เอาแต่คิดเอานะ จะไม่เกิดปัญญาในระดับที่ว่า จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด มันจะเป็นความคิดเทียบเคียง เรียกว่า “วิตรรกะ” เป็นความคิดเอา “คิดเอา” ไม่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ในระดับที่จะพ้นจากวัฏสงสารได้ มันต้องเป็นระดับ “ญาณทัศนะ” ญาณทัศนะนี้อย่างน้อย ๆ ก็คือมี “วิปัสสนาญาณ “ เห็นว่าสิ่งใดเกิด-สิ่งนั้นดับ ประมาณอย่างนี้ มันจึงจะไปได้ มันจึงจะไม่ไปเวียนว่ายตายเกิด คือหลุด! ตัดวงจรเวียนว่ายตายเกิดได้ การจะเตรียมจิต ก็ต้องมี “ปฏิปทา” หรือมีพฤติกรรมที่เอื้อด้วย ในการเป็นอยู่ ก็ต้องเป็นอยู่ที่ดี เรื่องนี้ก็อยู่ในเรื่องของ “ศีล” หรือ “วินัย” “ต้องมีศีลดี” ไม่ใช่ว่ามุ่งจะเอาแต่สมาธิ แต่ไม่รักษาศีล ก็จะกลายเป็นสมาธิที่ชั่ว ที่เลว พร้อมที่จะไปทำผิดศีลได้ เช่นว่า มุ่งอยากจะทำสมาธิ แต่ใจนี้อยากใหญ่ เช่น พระเทวทัต ..อยากใหญ่ ไปยุให้ลูกฆ่าพ่อ นี้ก็ไปทำให้เขาผิดศีล แล้วตัวเองก็พูดคำพูด ที่ทำให้เขาแตกความสามัคคีกัน จากพ่อลูกรักกันกัน ก็กลายเป็นว่าลูกคิดจะฆ่าพ่อ ใช้คำพูดไม่ดี ผิดศีลนะ จริง ๆ ผิดศีล มันต้องรักษาศีลด้วย รักษาศีล – มีปฏิปทาที่เมื่อย้อนดูแล้ว ไม่แหนงใจ ไม่ถูกการกระทำในอดีตทิ่มแทงใจ คือถ้าทำอะไรไม่ดี พอไปเจริญกรรมฐานนะ มันจะถูกความผิดพลาด ที่เราทำผิดศีลไปแล้ว มันมากวนใจ แล้วจริง ๆ สมาธิ ก็จะไม่ได้สมาธิที่ถูกต้อง อย่างเก่งเลย คือ อย่างพระเทวทัต ทำสมาธิได้ แต่สมาธินั้นยังไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้องด้วยนะ ทำฌาน ทำฤทธิ์ได้ แต่ยังไม่ได้จิตตั้งมั่นนะ มันเป็นเพียงสมาธิแบบเอาไปทำอภิญญาบางตัวเท่านั้นเอง ยังไม่เกิดจิตตั้งมั่น ..ไปทำอภิญญา แล้วไป “สนองกิเลสตัวเอง” การได้สมาธิกลับกลายเป็นว่า ทำให้การทำชั่วยิ่งใหญ่ขึ้น ชั่วมากขึ้น เหมือนคนคิดจะทำเลว แต่ไม่มีอุปกรณ์ ก็ทำเลวได้น้อย แต่ถ้ามีอุปกรณ์ มีอาวุธ อะไรขึ้นมา ยิ่งอาวุธนั้นร้ายแรง ก็จะยิ่งทำชั่วได้ร้ายแรงมากขึ้น ..แบบเดียวกัน สมาธิมันเหมือนเป็นอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นจะทำให้อุปกรณ์นั้น มีประโยชน์ ไม่มีโทษ ก็ต้องรักษาศีลก่อน ศีลเป็นพื้นฐาน เป็นมาตรฐาน เป็นมาตรฐานเอาไว้ รักษาศีลได้ดี เวลามาทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง ก็จะมีแต่ความผ่องแผ้ว มีความสุข สุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ สรุปแล้วก็คือ มาเจริญ “ไตรสิกขา” ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าในแง่โยมก็คือ ทำ “บุญกิริยาวัตถุ ๓” ทาน ศีล ภาวนา ถ้าจะพูดกันในแง่ของว่า โดยองค์ประกอบหลัก ๆ ก็คือ “มรรคมีองค์ ๘” มันเป็นเรื่องที่เราต้องฝึก ต้องเจริญ ต้องพัฒนาตนเองขึ้นมา ไม่ใช่คิด อยากจะหยุด.. วงจรการเวียนว่ายตายเกิดอย่างเดียว มันต้องทำเหตุด้วย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=ONtGU586HWU (นาทีที่ 1.54.20-2.02.12 )

อ่านต่อ