#นิมฺมโลตอบโจทย์ #รดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ #ถาม : “การรดน้ำมนต์ – การสะเดาะเคราะห์” ถ้าจะทำให้ได้ผลควรทำอย่างไร? #ตอบ : ควรไปแก้ที่การกระทำของเรา การรดน้ำมนต์ หรือ การสะเดาะห์เคราะห์ มันเป็นพิธีกรรมที่ให้กำลังใจ สมมติว่า.. เรา “ต้องการชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ไม่ตกต่ำ” ก็ต้องไปรักษาศีล “ต้องการร่ำรวย” ก็ต้องไปสร้างเหตุแห่งความรวย ก็คือ 1. ขยันหา 2. หามาได้แล้วก็รักษาให้ดี 3. มีกัลยาณมิตร แล้วก็ 4. เลี้ยงชีวิตสมควรแก่ฐานะของตนเอง หัวใจเศรษฐี..อุ-อา-กะ-สะ นึกออกไหม? ไม่ใช่ว่ารดน้ำมนต์แล้วจะรวย หรือรดน้ำมนต์แล้วจะหายเคราะห์ จะ “หายเคราะห์” ก็คือว่า.. มีกิเลส..แล้วรู้ทัน ! ไม่ไปสร้างกรรมอันใหม่ที่เป็นอกุศล เพราะที่รับทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ให้เชื่อไว้ว่า มันเป็นเหตุมาจากที่ทำบาปอกุศลเอาไว้ในอดีต อย่าไปชี้ว่า ‘คนนั้นคนนี้ทำเรา’ ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่า “หาแพะ” เรานั่นล่ะ ! จริง ๆ แล้วนะ..พูดอย่างภาษาชาวบ้าน คือ เรานั่นล่ะทำเอาไว้ในอดีต ทำไม่ดีเอาไว้ในอดีต จึงเป็นเหตุให้ต้องรับวิบาก อันเป็นทุกข์เป็นร้อน เดือดร้อนในปัจจุบัน ..ให้เชื่ออย่างนี้! “การรดน้ำมนต์ – การสะเดาะเคราะห์” คือพิธีกรรมที่คนทำกันมานี้ เป็นเพียงให้สบายใจ เอาแค่นี้พอนะ มันเป็นเพียงให้สบายใจ รดน้ำมนต์ไปแล้ว ทำพิธีสะเดาะห์เคราะห์ไปแล้ว ..ทำไม่ดี !! ถ้าทำไม่ดีเหมือนเดิมนะ..ชีวิตก็ไม่ดี “ศีล” เดิมยังไม่มี ก็ยังไม่มีเหมือนเดิม ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น ไม่มีอะไรเป็นเครื่องป้องกันอบายเลย “ทาน” ที่เคยให้ ยังงกเหมือนเดิมนะ ก็ไม่มีใครรัก ไม่มีพวก ไม่มีบริวาร ไม่มีมิตรที่จะมาคบหาด้วย เห็นแก่ตัวอย่างนี้ใครจะไปเอาด้วย อย่างนี้นะ “พฤติกรรมไม่เปลี่ยน! ..จะเอาชีวิตเปลี่ยนได้อย่างไร?” พฤติกรรมที่ไม่ดี ..ก็ไม่รู้เลย อย่างนี้นะ ก็แสดงว่ามองไม่เห็นความไม่ดีของตัวเอง ทำความไม่ดี ชีวิตก็ตกต่ำไป เพราะว่าสร้างเหตุแห่งความไม่ดีเอาไว้ ก็ต้องพิจารณาตัวเอง มองเห็นสิ่งที่ไม่ดีในตัวเอง หรือ ความดีที่ยังไม่ได้ทำ.. ความดีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ก็ขวนขวายหาทางทำ ทำแล้วก็ต้องทำให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำทีเดียว ทำทีเดียวแล้วมาอ้างบอกว่า “ทำแล้ว” อย่างนี้ไม่พอ ! ทำทีเดียวยังไม่พอ ทำอีกทำซ้ำ ทำจนเป็น “อาจิณณกรรม” ก็คือทำซ้ำ ๆ ทำจนเป็นนิสัย ทำจนเป็นปกติของเรา เป็นอย่างนี้ จนคนมองว่า.. ‘อ้อ! คนนี้เขาเปลี่ยนแปลง’ ให้เขาเชื่อ! ไม่ใช่ว่าเราเคยเป็นอย่างไร ..ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ชีวิตก็ยังเหมือนเดิม มันต้องมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นไปในทางที่เลวลง ต้องเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีความเปลี่ยนแปลง!! แล้วจริง ๆ แล้วเนี่ย พอทำความเปลี่ยนแปลง ในด้านพฤติกรรมของเราให้เกิดขึ้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปสะเดาะห์เคราะห์ที่ไหนเลย!! ไม่จำเป็นต้องไปรดน้ำมนต์ที่ไหนเลย!! เราเองนี้ล่ะเป็นผู้สะเดาะห์เคราะห์ได้ด้วยตัวเอง เราเอาความมืดมัวออกไปจากชีวิต ด้วยการที่เราเจริญกุศลขึ้นมา มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำให้ครบวงจร โดยเฉพาะในเรื่องภาวนา “ภาวนา” ก็ให้ทำทั้งสมถะและวิปัสสนา ภาวนาในเรื่องสมถะก็คือ เจริญในเรื่องของกุศลให้เกิดขึ้นกับจิต จิตไม่เคยสงบให้ทำความสงบ จิตไม่เคยเจริญเมตตา..ให้เจริญเมตตา ไม่เคยกรุณา มุทิตา..ให้เจริญกรุณา มุทิตา ประมาณอย่างนี้ กุศลอะไรที่ไม่เคยทำ กุศลอะไรที่ไม่เคยมี ก็ให้มีขึ้นมา ศรัทธามีไหม? ศรัทธาในอะไร? ศรัทธาใน “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” โดยเฉพาะในเรื่องของ ”พระพุทธเจ้า” ก็คือศรัทธาว่า พระองค์ตรัสรู้จริง “ธรรมะ” ที่พระองค์ทรงแสดงมา เป็นธรรมะเพื่อให้คนฝึก ไปให้ถึงความพ้นทุกข์ได้จริง “พระสงฆ์” ก็คือผู้ที่ได้ฟังธรรม ไม่ได้ฟังอย่างเดียว ฟังแล้วเอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วจนได้ผลของการปฏิบัติ ..มีจริง!! แล้วก็ไม่ได้มีคนเดียว ไม่ได้มีท่านเดียว มีมามากมาย เขาเรียกว่า “เป็นหมู่สงฆ์” แล้วมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ ให้เชื่ออย่างนี้ด้วย คือต้องมีความเชื่อ โยงมาถึงตัวเองด้วย โยงมาถึงขนาดที่ว่า ‘เราเองก็สามารถพัฒนา ให้ถึงขั้นที่ได้รับผลจากธรรมะของพระพุทธเจ้าได้’ ..ต้องมีความเชื่ออย่างนี้ “มีศรัทธา”.. แล้วก็มีความเพียร (ในการที่จะทำกุศลให้เกิดขึ้น) กุศลอะไรที่ยังไม่ทำ..ก็ทำ กุศลอะไรที่ทำสำเร็จแล้ว ก็อย่าให้มันเสื่อมไป คือ ต้องทำอีก ต้องทำสม่ำเสมอ รักษากุศลที่เคยทำไว้นั้นอย่าให้เสื่อมลงไป อกุศลอะไรที่มีอยู่ สำรวจตัวเอง เรียนรู้แล้วก็ไม่ทำมันอีก อกุศลอะไรที่ละได้แล้ว ระวังว่าอย่าให้มันเกิดขึ้นใหม่ ทำความเพียร.. มี “วิริยะ” อย่างนี้ “เจริญสติ” อยู่เสมอ รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจทำงาน เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจทำงานตามที่มันเป็น “ตามที่มันเป็น” ก็คือจะพบว่า ใจเราเนี่ยจะทำงานในแง่เป็นกิเลสอยู่เสมอ เห็นบ่อย ๆ ยิ่งเห็นบ่อยยิ่งดี คือจะเห็นว่าจิตนึ้มันมีการทำงานอย่างนี้ มันมีกิเลสเกิดขึ้น มีราคะ มีโทสะ มีโมหะเกิดขึ้น ทุกครั้งที่รู้ – กิเลสจะดับ เพราะตอนที่มีกิเลส มันจะไปคิดเรื่องอื่น แต่ตอนรู้นั้น มันรู้ว่า ‘จิตเมื่อกี้นี้มันมีกิเลสเกิดขึ้น’ ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลาง กิเลสก็จะหยุดลงทันทีตอนที่รู้นั่นเอง สติก็ต้องทำ! สมาธิก็ต้องทำ!! จิตตั้งมั่นก็ต้องทำให้ได้!!! เขาเรียกว่า “เป็นการเจริญกุศลให้เกิดขึ้น” ..ชีวิตจะดีขึ้นเอง อย่าไปหวังเพียงแค่ว่าไปรดน้ำมนต์ หรือว่าไปสะเดาะเคราะห์ ผ่านพิธีมาแล้ว ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทางกาย วาจา และทางใจด้วย ชีวิตมันก็ไม่ได้ดีขึ้น ให้รดน้ำให้เปียก ให้น้ำมนต์หมดโอ่งก็ชีวิตไม่ดีขึ้น เปียกเปล่า ๆ เท่านั้นเอง แล้วก็เปลืองแรงคนพรม พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Zkxh5aCG39g (นาทีที่ 10:08 – 17:38 )

อ่านต่อ