#นิมฺมโลตอบโจทย์ #จาคานุสติ #ถาม : การที่เรานึกถึงบุญที่ทำบุญตลอดเวลา เช่น บริจาคที่ดิน บริจาคเงิน บริจาคทอง แบบนี้เรียกว่า “ยึดติด” หรือไม่? #ตอบ : ทำบุญแล้วคิดซ้ำ ไม่ผิดนะ สามารถคิดได้ เขาเรียกว่า “จาคานุสสติ” คิดในสิ่งที่เราได้เคยบริจาคออกไป แล้วก็มีความปลื้มใจปีติใจ คิดซ้ำ แล้วก็มีความปลื้มใจ เช่นว่า เราได้ไปถวายผ้ากฐิน ได้ถวายผ้าไตรจีวรครบท่ามกลางหมู่สงฆ์ ปลื้มใจ..ปลื้มใจ.. แม้ว่าเหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว วันนี้.. เดือนนี้.. ผ่านมาเป็นเดือน.. หลายเดือนแล้ว.. แต่พอมาหวนคิดอีกที ก็ยังปลื้มใจอยู่ คิดแล้วก็มีความปลื้มใจ ใจที่มีความปลื้มใจนั้นเป็นกุศล ถ้าคิดถึงความที่เราได้ทำบุญ ได้บริจาค คิดแล้วใจไม่วอกแวกไปไหน คิดแต่เรื่องราวเรื่องนี้ กลายเป็นทำกรรมฐานตัวหนึ่งด้วยซ้ำไป เรียกว่า “จาคานุสติ” พอเราได้บริจาคอะไรไปแล้ว พอมาหวนคิดแล้วมีความสุข อย่างนี้มันจะมีกำลังใจที่จะบริจาคอีก อาจจะไม่บริจาคแบบเดิมก็ได้ อาจจะรู้สึกว่า ‘เนี่ยเราให้ แล้วมีความสุข’ ก็เลยมีความรู้สึกว่า เมื่อก่อนนี้.. เราคิดว่า ‘ต้องได้มาเท่านั้น จึงจะมีความสุข’ แต่ตอนนี้.. ‘การให้ การบริจาค ดูภาพรวมแล้ว มันเหมือนกับการที่เราเสียวัตถุ เสียสิ่งของ เสียทรัพย์ แต่พอมาคิดภายหลัง แล้วมันมีความสุขอย่างนี้’ มีความสุขตรงที่ว่า ผู้รับได้ประโยชน์ ผู้รับได้รับวัตถุจากเราไปแล้ว นำมาใช้ประโยชน์ต่อ ความรู้สึกที่เราได้ให้ ให้กับผู้รับที่เป็นเนื้อนาบุญที่ดี แล้วเราก็มีความปลื้มใจ เราศรัทธากับผู้รับ ศรัทธาในวิธีการสร้างบุญอย่างนี้ เราก็คิดว่า ถ้ามีโอกาสเราจะทำอีก ทำกับเนื้อนาบุญท่านอื่นก็ได้ กับที่อื่นก็ได้ แต่รู้ว่าการที่จะมีความสุขในแง่ของวัตถุนี้ มันไม่ใช่ว่าต้องรับเข้ามาอย่างเดียว การสละออกไปกับผู้รับที่ดี ก็กลายเป็นว่ามีความสุขได้เช่นกัน เหมือนกับแม่ แม่ให้กับลูก แม่มีความสุข แม่ดูแลลูก ให้เสื้อผ้า ให้อาหาร ให้ที่อยู่อาศัย ให้โอกาสต่าง ๆ กับลูก แม่มีความสุข พ่อก็เช่นเดียวกัน ประมาณอย่างนี้ การให้แล้วมีความสุข มันเกิดขึ้นจริง มีอยู่จริง มันไม่ได้มีความรู้สึกว่าเสียของไป หรือสูญเปล่า มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำการให้ทาน ทำการบริจาค แล้วมีความสุขใจ ปลื้มปีติใจ สามารถนึกทวนย้อนหลังได้ แต่คงไม่ใช่ตลอดเวลา คงไม่มีใครคิดอะไร ซ้ำเรื่องเดิมได้ตลอดเวลา เพราะเราต้องมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ที่ถามมาว่า “คิดอยู่ตลอดเวลา” คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่คิดซ้ำ ๆ ได้ ..นั่งแล้วคิดถึงเหตุการณ์ที่เราเคยทำบุญ ที่ผ่านมา ตอนที่คิดอยู่ใจมีความสุข อย่างนี้ได้ แต่ต้องเป็นตัวหนุนให้เรามีความเชื่อมั่นศรัทธาในการทำบุญ ในการบริจาคทานต่อไปด้วย แล้วก็เห็นว่า การทำบุญมีหลายรูปแบบ มีทั้งการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การขวนขวายช่วยเหลือคนอื่น ดูเหมือนเสียแรงงานนะ แต่พอช่วยเขาแล้วเนี่ย เรารู้สึกมีความสุขใจ เขากำลังทำดีแล้วเราช่วยเหลือเขา หรือเขากำลังมีทุกข์แล้วเราช่วยให้เขาพ้นจากทุกข์ด้วยแรงกาย อย่างนี้นะ มันเห็นว่า ‘การทำบุญมีได้หลากหลายวิธี’ การทำให้ใจนี้มีความสุข ทำได้หลายวิธี สรุปแล้วก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน โดยสรุปรวบยอดก็คือ บุญที่ได้จากการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ทำแล้วก็สามารถมานึกย้อนหลัง แล้วก็กลายเป็นว่าได้ทำกรรมฐานด้วย บุญจากการให้ทาน เมื่อมานึกทีหลัง ก็กลายเป็น “จาคานุสติ” บุญจากการรักษาศีล ที่รักษาศีลได้ มีอะไรมายั่วยวนให้เราผิดศีล แต่เราสามารถที่จะระงับไม่ให้ไปทำตามสิ่งที่ยั่วยวนนั้น การที่ยับยั้งตัวเองได้ ไม่แสดงออกทางกายวาจา ไปละเมิดชีวิตใคร ทรัพย์สินใคร คนรักของใคร ไม่พูดร้าย มานึกถึงการที่เรารักษาศีลได้ นึกย้อนหลัง กลายเป็น “สีลานุสติ” จาคานุสติ สีลานุสติ คือ สิ่งที่เราทำแล้ว และประสบความสำเร็จในการทำ นึกย้อนหลังแล้วก็มีความปลื้มใจ ปีติใจ เช่นเดียวกันที่โยมถามมาก็คือ เป็นเรื่องของการให้ทาน มานึกย้อนหลังก็เกิดความปลื้มใจ ปีติใจได้ แล้วก็ไม่ใช่มัวแต่ปลื้มอย่างเดียวนะ มันก็ควรจะส่งผลถึง อย่างที่ (๑) คือ มีกำลังใจที่จะบริจาคต่อ (๒) เห็นว่าทางแห่งการทำดี หรือทางแห่งการสร้างกุศล มีมากมายหลายอย่าง เราควรจะศึกษาวิธีการสร้างกุศล หรือสร้างบุญให้เกิดขึ้น ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลากหลายวิธี เราทำเรื่องเดียวนึกย้อนหลังยังมีสุขขนาดนี้ เรื่องอื่น ๆ ที่เราควรจะทำ ควรจะศึกษา ควรจะเรียนรู้ ฝึกฝนให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรายังมีอีกเยอะเลย ต้องไปศึกษา ต้องไปศึกษาดู บุญกิริยาวัตถุ ๓ ก็ดี บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี ศึกษาแล้วเอาไปปฏิบัติให้เกิดขึ้น แล้วนึกย้อนหลัง ก็ยังมีความสุข เช่นเดียวกับที่ บริจาคไปแล้ว นึกย้อนหลังแล้วมีความสุข แบบนั้นเช่นเดียวกัน ก็ขอเป็นกำลังใจให้โยม ว่าทำไปแล้วนึกย้อนหลังเนี่ย ทำได้ สามารถนึกได้ แล้วต้องให้เกิด ๒ เรื่องนี้ด้วย คือ ๑. ให้เกิดกำลังใจที่จะบริจาคต่อ ๒. เป็นแรงกระตุ้นให้เราหันไปสร้างบุญได้หลากหลายวิธีขึ้น อย่างน้อย ๆ ได้ ๒ อย่างนี้ จึงจะเป็นการดี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Zkxh5aCG39g (นาทีที่ 17:58 – 25:15)

อ่านต่อ