#นิมฺมโลตอบโจทย์ #คนเสียสละช่วยงานกับคนนั่งสมาธิ #ถาม: ได้ฟังหลวงพ่อ…ท่านสอนว่า.. “คนที่เสียสละช่วยงาน ก็ไม่ต้องน้อยใจว่า.. ไม่ได้นั่งสมาธิ เพราะผลก็ได้ เท่ากับคนที่นั่งสมาธิ..” โยมค้านในใจว่า.. น่าจะผลไม่เท่ากัน! เพราะส่วนตัวโยม การทำงานเสียสละนั้นมีผลน้อยกว่าการนั่งสมาธิ คำถามคือ ความคิดค้านในใจของโยมที่มีต่อหลวงพ่อ (ที่ลูกศิษย์ต่างบอกว่า เป็นพระอรหันต์แล้ว) ความค้านนั้น.. จะบาปหรือไม่? # ตอบ : ถ้าเพียงแค่ “ค้าน” คือไม่เห็นด้วย! ความรู้สึกไม่เห็นด้วย..แค่ไม่เห็นด้วยเนี่ย..ยังไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดโทสะ ..อันนี้ชักมีปัญหา !! ไม่ว่าท่านจะเป็นพระอรหันต์หรือเปล่านี่นะ มันขึ้นอยู่กับว่า.. เรามีกิเลสหรือเปล่าในการมีความคิดเห็นนั้นๆ? เช่นว่า ไม่เห็นด้วย! แต่ลองทำความเข้าใจท่านดูสิว่า.. ที่ท่านว่า “คนเสียสละช่วยงานไม่ต้องน้อยใจ” เจตนาในการพูดของท่านคืออะไร? แล้วก็ความหมายจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริง หรือเป็นจริงได้ไหม? ถ้าเราจะลองทำความเข้าใจ มองภาพผ่านๆ ทั่วๆไปเนี่ย คนเสียสละไปช่วยงาน ไม่ได้นั่งสมาธิไปกับเขา.. สมมุติว่า.. ระหว่างที่เขานั่งสมาธิกันอยู่ เราเป็นผู้เสียสละมาช่วยในด้านอื่น ในด้านการงาน แล้วท่านว่า.. “เราผลได้เท่ากับคนนั่งสมาธิ” ทีนี้ถ้าจะทำความเข้าใจ ก็คือ ในความรู้สึกของเรา จะรู้สึกว่า..” ไม่เท่า” ใช่ไหม? คนทั่วไปก็ว่า.. น่าจะไม่เท่า! “คนนั่งสมาธิ”กับ”คนช่วยงาน” ไม่น่าจะได้เท่าใช่ไหม? ซึ่งก็เป็นไปได้สำหรับคนทั่วๆไป คนนั่งสมาธิกับคนช่วยงาน ผลน่าจะได้ไม่เท่ากัน แต่ถ้ามันจะได้ผลด้วย บางทีไม่เท่ากันในแง่ที่ว่า.. บางทีนะ ถ้าคนช่วยงานเขาทำการช่วยงานด้วยใจที่เป็นกุศล ไม่ได้คิดอยากได้อะไร เสียสละจริงๆ อยากให้คนที่นั่งสมาธินั้น ได้มีโอกาสภาวนา เขาเองขอเสียสละ ใช้แรงกายแรงใจ ไม่มีเวลาไปนั่งนิ่งๆ อย่างเขา ที่ว่าได้ไม่เท่ากันน่ะ! บางที่คนช่วยงานได้มากกว่า ถ้าหากคนที่นั่งนิ่ง ๆ นั่นน่ะ.. ยังไม่รู้หลัก! แต่คนที่ช่วยงานเนี่ย ใจเสียสละ อย่างน้อยเขา”ได้บุญ” เขาได้บุญในแง่ที่ว่า”เวยยาวัจจมัย” เป็นบุญในการขวนขวายช่วยเหลือ เอาแรงกาย แรงใจเข้าไปช่วยเหลือ นั่งนิ่งเนี่ย บางทีก็นั่งเครียดก็มีนะ เป็นไปได้ไหม? คือมันบอกไม่ได้ คือเหมารวมไม่ได้ เอาอย่างนี้ดีกว่า เหมารวมไม่ได้ว่า”คนที่นั่งสมาธินิ่งๆ” กันน่ะ กับ “คนที่ช่วยงาน” ใครจะได้บุญมากกว่ากัน? มันพูดเหมารวมไม่ได้ !! มันต้องไปดูเป็นกรณีๆไป คนช่วยงาน ถ้าเขาเดินไปเดินมาได้อย่างรู้สึกตัว ใจก็เสียสละอยู่แล้ว และแถมมีสติรู้สึกตัว ไม่หลับแน่ๆ คนช่วยงานไม่หลับแน่ๆ เนี่ยนะ ช่วยงานอยู่แถมมีสติรู้สึกตัว เกิดกิเลสขึ้นมา..ก็รู้ทัน! ถ้ามีสติรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง มีความรู้สึกตัวอย่างดีนี่นะ ดีไม่ดี..ได้มากกว่าคนที่นั่ง ด้วยใจที่เสียสละนั่นแหละ บารมีก็ได้ กรรมฐานก็ได้ แต่ถ้า”คนที่จะเอา” คิดจะเอาบุญไม่ต้องการเสียสละ คิดจะเอา!! ฉันจะไปนั่งสมาธิ ใครให้ไปช่วยอะไร..ไม่เอา! ฉันจะนั่ง..อย่างนี้นะ มันเห็นแก่ตัวไหม? ถ้าคิดเห็นแก่ตัว ก็คงได้น้อยกว่าคนเสียสละใช่ไหม? ​ที่ท่านบอกว่า “อย่าไปน้อยใจ” คือถ้าคนที่ทำงานเหนื่อยก็เหนื่อย แล้วแถมยังน้อยใจด้วย อันนี้ก็.. เสียเปรียบ! เหนื่อยก็เหนื่อย แล้วก็แถมน้อยใจ.. ไอ้ตัวน้อยใจนั่นแหละ ที่ทำให้เสียเปรียบ !! แต่ถ้าไม่น้อยใจ.. ดีใจที่เราเสียสละ ให้โอกาสคนที่เขานานๆ มาทีหนึ่ง ให้เขาไปนั่ง เราอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ไว้ใจ ให้ช่วยงาน ดีใจที่ได้ช่วย ดีใจที่คนได้มาฝึก มาเรียนรู้กับครูบาอาจารย์ ช่วยบริการ ช่วยเสียสละ.. บุญก็ได้ ! บารมีก็ได้ !! สติก็มี !!! แล้วการบรรลุมรรคผลนั้น มันไม่จำเป็นว่า.. ต้องอยู่ในท่านั่ง มันอยู่ในอิริยาบถปกตินี้ก็ได้ อยู่ในชีวิตประจำวันนี้ก็ได้ และส่วนใหญ่เท่าที่ได้ยินมา.. จะอยู่ในชีวิตประจำวันนี่แหละ เกิดกระทบกันมีกิเลส รู้ทันกิเลส แต่ถ้านั่งแล้วเขาซึม, หลับ, เคลิ้ม หรือเครียดอย่างนี้นะ มันอาจจะได้ไม่เท่ากับคนเสียสละก็ได้ อันนี้ท่านก็ให้กำลังใจกับคนที่เสียสละว่า.. ก็ได้ผล อันนี้โยมอาจจะได้ยินมาว่า ท่านบอกว่า “ได้ผลเท่ากัน เท่ากับคนที่นั่ง สมาธิ” อันนี้อาจเท่ากันก็ได้ หรืออาจจะมากกว่าก็ได้ ! อาจจะน้อยกว่าก็ได้ ! มันแล้วแต่คน ถ้าคนที่นั่งสมาธิ.. ทุกคนคิดว่า.. ‘ฉันจะนั่งสมาธิ’! ไม่มีใครเสียสละมาทำงานส่วนรวม มันจะไปได้ไหม? จะมีงานนี้เกิดขึ้นได้ไหม? สมมุตินะ! สมมุติว่า.. งานนี้ อาตมามานั่งอยู่ตรงนี้ ทุกคนอยากฟังทั้งหมด ไม่มีคนเสียสละมาเป็นทีมงานเลย ทั้งที่สวนธรรมฯ และที่วัดสังฆทาน คิดว่าโยมจะได้เห็นภาพไหม? จะได้ยินไหม? รายการนี้จะเกิดขึ้นได้ไหม? นึกออกไหม? ถ้าไม่มีคนเสียสละแล้ว ไม่ใช่ว่าคนเสียสละนั้นจะไม่ได้ยินได้ฟังอะไรด้วย เขาก็ได้ฟัง และก็ได้ยินได้ฟังอยู่ทุกครั้งเลย ความเสียสละนั่นเองได้บารมี และการที่ฟังไปเรื่อยๆ บางทีครูบาอาจารย์พูดมา “มันสะกิดใจ!” บางทีเกิดความเข้าใจเลยว่า ‘อือ..ใช่! อย่างนี้นี่เอง’ ประมาณนี้ งานก็ทำ ธรรมะก็ได้ ​ดังนั้น “คนที่เสียสละ” ถ้าเสียสละเป็น เขาจะได้สองทาง เขาจะได้สองทางเลย.. 1. งานเสียสละคือได้อยู่แล้ว คือได้เสียสละ 2. ธรรมะก็ได้ ถ้ารู้หลักในการภาวนา ทำด้วยความรู้สึกตัว กิเลสอาจจะเกิดขึ้น ยิ่งทำงานกับคนมาก เนื้องานมีมากปัญหามาเยอะนี่นะ ยิ่งได้สร้างบารมีมาก และมีการกระทบกระทั่งกัน หรือมีกิเลสเกิดขึ้นมาในระหว่างทำงาน กิเลสเกิดขึ้น ก็เจริญสติ ปัญหามา มีปัญญาเข้าไปแก้ด้วยปัญญาก็ได้เจริญ แม้จะเป็นปัญญาทางโลกก็ยังดี บางทีก็ได้ปัญญาในทางวิปัสสนาด้วย คือเห็นว่ามันเกิด-มันดับ เห็นกิเลสในใจตัวเองน่ะเกิด-ดับ เกิด-ดับ ​ฉะนั้น ‘ความคิดค้านในใจ’ ถ้าเป็นความคิดค้านในใจเฉยๆ ในแง่ที่ว่า.. ‘อือ ไม่แน่นะ หลวงพ่อนะ บางทีคนที่เสียสละเนี่ย บางทีได้มากกว่านะ บางทีก็อาจจะได้น้อยกว่า หรือบางทีอาจได้เสมอกันก็ได้ มันไม่แน่’ แล้วเราก็คิดในแง่แบบนี้ ก็ไม่ได้เป็นอะไร เราก็ไม่ได้ไปปรามาสท่าน แล้วก็ไม่ได้ไปคิดน้อยใจ ว่าเราเสียสละแล้วท่านมาพูดอย่างนี้ เพื่อหลอกเราให้ทำงาน อะไรอย่างนี้นะ ถ้าคิดว่า.. ท่านหลอกเราให้ทำงาน ก็อาจเป็นอกุศล แต่ถ้าคิดค้านในแง่นี้ ‘ก็ไม่แน่นะ บางทีคนเสียสละอาจได้มากกว่า หรืออาจจะได้น้อยกว่า มันแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยของคนที่ทำงานนนั้น มีความเข้าใจในการภาวนาแค่ไหน’ การภาวนาไม่ใช่ว่าต้องมานั่งนิ่งๆ หรือว่ามาเดินจงกรมเสมอไป ไม่จำเป็น! แต่ถ้ามีเวลา.. มีโอกาสก็ทำในรูปแบบ แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มคนทำงาน ทำงานจริงๆเลย คือ ทำงานบริษัท หรือกับหน่วยงานต่างๆ เราจะมานั่งสมาธิในโต๊ะทำงาน ก็ผิดเวลาใช่ไหม? เราก็ทำงานไปเจริญสติไป ระหว่างที่คุยงานกับลูกค้า ลูกค้าพูดดี..เราดีใจ.. ดีใจ..รู้ทันว่าดีใจ ลูกค้างี่เง่า..เราไม่ชอบใจ..รู้ทันว่าไม่ชอบใจ อย่างนี้ได้บุญ ได้บุญในแง่ของการภาวนา เดินไปเข้าห้องน้ำ เห็นกายเดิน เห็นความทุกข์ในร่างกายบีบคั้น พอเข้าห้องน้ำรู้สึกเกิดสุขขึ้นมา ได้ระบายเอาของเสียออกไป อย่างนี้ได้เจริญสติ แล้ว ไม่ต้องทำในรูปแบบ เขาจ้างให้เราไปทำงาน ไม่ได้จ้างให้เราไปนั่งสมาธิ ไม่ได้จ้างให้เราไปเดินจงกรม อย่างนี้ แม้ไม่ได้ทำในรูปแบบ ถามว่า.. ได้ผลไหม?.. ได้ผล! แล้วไอ้คนที่นั่งอยู่ในที่ทำงาน แล้วไปนั่งสมาธิ.. ไอ้นั่น..กลับกลายเป็นว่าทำผิดเวลา นึกออกไหม? การนั่งนิ่งๆ ถ้านั่งผิดที่ผิดเวลา แทนที่จะได้บุญ กลับไม่ได้บุญ ฉะนั้นไอ้คนที่นั่งสมาธิ กับ คนที่ช่วยงาน มันไม่ได้แปลว่า.. คนที่นั่งสมาธิได้บุญมากกว่า หรือคนทำงานจะได้บุญน้อยกว่า หรือมากกว่า มันขึ้นอยู่กับว่า.. ทำเป็นหรือเปล่า?! ทำเป็นไหม?!! แต่คนเสียสละเนี่ย.. ได้อยู่แล้ว! ถ้าเขาคิดเสียสละ!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ 650817 ออกอากาศวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ นาทีที่ 53.58-1.06.11 คลิกลิงค์วีดีโอ 650817_ธรรมะสว่างใจ.mp4 https://youtu.be/rGNtxlhiZ3c

อ่านต่อ