Category Archives: นิมฺมโลตอบโจทย์

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #คัดลอกข้อมูลอย่างไรไม่ให้ผิดศีล #ถาม : ถ้าเรามีความจำเป็นจะต้องคัดลอกข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต (internet) มาใช้เพื่อการทำงาน เพื่อประกอบอาชีพ จะผิดศีลข้อ ๒ ไหมคะ? #ตอบ : ก็ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลนั้น เขายินดีให้เราคัดลอกไหม? คือเขาเต็มใจไหม? ถ้าเขาต้องการเผยแพร่ ก็คัดลอกได้ และถ้าให้ดีคือ อ้างอิงด้วย! ไม่ใช่คัดลอกแล้วก็มาเป็นของเรา นึกออกไหม? การคัดลอก ถ้าจะไม่ให้ผิดศีลข้อ ๒ คือ – ดูว่าเขาหวงข้อมูลนั้นไหม? – เขามีคำไหมว่า “ห้ามคัดลอก”? ถ้าเขามีข้อความระบุอะไรประมาณนี้นะ แสดงว่าคัดลอกไม่ได้ แต่ถ้าเขาต้องการเผยแพร่สิ่งที่เขามีอยู่นั้น (ข้อมูลหรือข้อความนั้น) ก็ไม่ใช่ว่าจะคัดลอกมาเป็น “ของเรา”! ก็ต้องอ้างอิงด้วยว่า “ข้อความนี้มาจาก…(ที่ไหน)” อ้างอิงเจ้าของเขาด้วย เช่น เอามาจาก nimmalo.com ประมาณอย่างนี้ ก็อ้างด้วยว่า มาจากที่นี่ หรือว่าข้อความจากเว็บ (web) ไหน ก็ต้องบอก สำนักข่าวนั้น..ว่าอย่างนี้ หรือคำพูดนี้ของใคร ก็อ้างคำพูดไปด้วย ไม่ใช่ว่าลอกมา แล้วบอกเป็นของเรา หรือว่าไม่อ้างอิงเลย ไม่อ้างอิงเลย ก็เหมือนขโมย!! แม้เขาจะเป็นเว็บ (web) หรือว่าเป็นแหล่งที่ไม่ได้หวงข้อมูล ก็ควรจะอ้างอิงอยู่ดี ไม่ใช่ว่า ‘เออ! หนังสือนี่ดีจัง..’ (เคยมีเรื่องอย่างนี้นะ) ‘โอ้..หนังสือนี่ดีจัง! ..เอาไปพิมพ์แจกดีกว่า’ เอาไปพิมพ์..แล้วไม่ได้บอกว่าใครเขียน เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้นะ หนังสือนั้นดีจริง ควรจะเผยแพร่ แต่ควรจะบอกด้วยว่า “ใครเขียน” ไม่ใช่เอาไปพิมพ์แล้วก็เลยไม่รู้ว่าใครเขียน? กลายเป็นวรรณกรรมที่ปริศนาว่า “ใครเป็นคนเขียน?” ..สืบไป ..สืบมา โอ้! “อาจารย์วศิน อินทสระ” ท่านเขียนเอาไว้ แล้วพอไปพิมพ์ไปตั้งชื่อใหม่ว่า สามเดือนก่อนปรินิพพาน ประมาณนี้ จริง ๆ หนังสือเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมของอาจารย์วศิน เขียนเอาไว้นานแล้ว ชื่อเรื่อง “พระพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน” (เป็นหนังสือที่ตัดตอนจากหนังสือเรื่อง “พระอานนท์พุทธอนุชา”) มีคนอ่านแล้วชอบใจ ก็ไปให้โรงพิมพ์ไปพิมพ์ซ้ำ แต่ไม่อ้างอิงชื่อผู้ประพันธ์ อย่างนี้ “ผิดมารยาท” ต้องอ้างอิงด้วย! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=gioUZb0Nzbc (นาทีที่ 1:34:26 – 1:37:18)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อินทรีย์อ่อน #ถาม : ถ้า “อินทรีย์อ่อน” ควรทำอย่างไรดีครับ? #ตอบ : อินทรีย์เนี่ย มีอะไรบ้าง?.. ๑. ศรัทธา ๒. วิริยะ ๓. สติ ๔. สมาธิ ๕. ปัญญา .. ๕ อย่างด้วยกัน อันไหนอ่อนล่ะ? ก็ดูสิ! (๑) ถ้า “ศรัทธาอ่อน” ก็ต้องมาเติม.. สมมติว่า ศรัทธาในพระรัตนตรัย ช่วงนี้เราไม่ค่อยศรัทธาเลย ก็อาจจะต้องมาอ่านพุทธประวัติ หรือ ประวัติของพระอริยเจ้า หรือ ประวัติของครูบาอาจารย์ ประมาณนี้นะ “เสริมศรัทธา” (๒) ถ้า “ความเพียรอ่อน” ก็อาจจะต้องตั้งใจให้มากขึ้น ความเพียรเนี่ย บางทีมันมาจากที่ว่า ไม่กล้าลงมือทำ ก็ต้องลงมือทำเลย! สมมติว่าจะทำในรูปแบบ ไม่ได้เริ่มซักที ก็ต้องเริ่มเลย! หรือว่า เริ่มแล้วก็ทำแค่แป๊บเดียว มันก็ต้องยืดเวลาไปอีก เพื่อให้เติมความเพียรลงไป ความเพียรจะเกิดขึ้นง่าย ๆ เลย คือ “มีสติรู้” ทุกครั้งที่มีสติ เมื่อนั้นมีความเพียร (๓) ทีนี้มาข้อ “สติ” คือทำได้เรื่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ รู้ทันกายบ้าง รู้ทันใจบ้าง มีขอบเขตสโคป (scope) อยู่แค่ “รู้กาย” หรือ “รู้ใจ” ถ้ารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางได้ ก็จะเห็นความจริงของกายของใจ แสดงออกมาในแง่ – ไม่เที่ยง – เป็นทุกข์ -เป็นอนัตตา การเห็นอย่างนี้ก็ต้อง “ฝึกสมาธิ” ด้วย (๔) “สมาธิ” ในแง่นี้ก็คือ ฝึกสมถะนั่นเอง ฝึกสมถะได้สมาธิ สมาธิก็มี ๒ แบบ มี (๔.๑) สมาธิแบบจิตไหลไปรวมอยู่กับอารมณ์ ก็ฝึกได้ ถ้า.. – ไม่ได้บังคับ – ไม่ได้เพ่ง – ไม่ได้เคร่งเครียดอะไร มีความสุขกับอารมณ์ใด จิตรวมอยู่กับอารมณ์นั้น ก็ถือว่าใช้ได้ เป็นสมาธิแบบหนึ่ง เอาไว้พักผ่อน จะสมาธิอีกอย่างหนึ่ง คือ (๔.๒) สมาธิแบบจิตตั้งมั่น คือ จิตไม่ได้ไหลรวมกับอยู่กับอารมณ์ รู้อยู่ รู้อยู่ แต่จิตไม่ไหลไปรวมอยู่กับอารมณ์ เรียกว่า “จิตตั้งมั่น” จะฝึกอย่างนี้ได้ก็คือ ทำสมถะไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วพอเผลอไป แล้วรู้ทัน รู้ด้วยใจเป็นกลาง ก็ได้ตั้งมั่นขณะหนึ่ง หรือ เห็นมาตั้งแต่เคลื่อนเลย ตอนเคลื่อน คือมันจิตไม่ตั้งมั่น เห็นตอนไม่ตั้งมั่น ได้ตั้งมั่นพอดี จะมีวิธีทำง่าย ๆ ๒ วิธีอย่างนี้ ..ก็ทำ ก็เป็นการ “เสริมอินทรีย์ในแง่ของสมาธิ” (๕) “ปัญญา” – เสริมอินทรีย์ในแง่ของปัญญา.. ปัญญาในที่นี้ หมายถึงเห็นความจริง นับตั้งแต่เห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม ทีนี้ถ้ามันยังไม่เกิดปัญญา อาจจะต้องคิดนำ เวลาเห็นสภาวะอะไรไปแล้ว เช่นว่า เห็นความโกรธ ก็คิดนำว่า ‘อ้าว! เมื่อกี้ไม่โกรธ ตอนนี้โกรธ แสดงว่าความโกรธไม่เที่ยง’.. อย่างนี้ก็ได้นะ คือเวลาเห็นอะไรมันเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องคิดไปก่อนว่า ‘เออ! เมื่อกี้ไม่มี ตอนนี้มี’ หรือว่า ‘เมื่อกี้มี แล้วตอนนี้ไม่มี’ อาจจะต้องพูดในใจ สอนมันบ้าง หรือว่า ‘ไม่ได้อยากเผลอเลย มันเผลอเอง’ คิดไปก่อนก็ได้ เห็นเผลอแล้ว แต่มันไม่เห็นในแง่ของไตรลักษณ์ ก็พูดในใจไปก่อน ‘เออนะ! มันบังคับไม่ได้นะ’ เหมือนอยากสงบ มันไม่สงบ ก็สอนตัวเองไว้บ้าง ‘เออเนี่ยแหละ จิตเนี่ยมันแสดงความจริงแล้ว มันบังคับไม่ได้ มันเป็นอนัตตา’ คือพูดสอนในใจ แต่ว่าให้รู้ว่าอันนี้คือคิดสอนตนเองนะ อันนี้คือเป็นการพูดในใจนะ ยังไม่ใช่ขึ้นวิปัสสนาจริง ไม่ได้เกิดปัญญาที่แท้จริง มันยังเป็นพูดสอนในใจ ยังไว้ใจไม่ได้ แต่ว่าคล้าย ๆ กับว่า “นำร่อง” นำร่องให้มันหัดมองในแง่ อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ..แง่ใดแง่หนึ่งบ้าง อย่างนี้ก็เรียกว่า “บ่มอินทรีย์” ที่ต้องทำมาก ๆ เลยก็คือ ความเพียรนะ ต้องเริ่ม!! ถ้าใครยังไม่ได้เริ่มเลย ก็ต้องเริ่ม อินทรีย์จึงจะแก่ ที่ว่า อินทรีย์อ่อน.. “อ่อน” ในที่นี้ คือ “ไม่แก่” ใช่ไหม? “แก่” ในที่นี้ คือ ทำมาจนมีกำลังเข้มแข็ง “แก่” ในที่นี้ไม่ใช่ “แก่หง่อม” แก่ คือ “มีกำลังเข้มแข็ง” ที่ตรงข้ามกับอ่อน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=2stxRE4fuGc&t=4286s (นาทีที่ 1:06:54 – 1:11:25)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #นิวรณ์ #ถาม : เวลาที่ “จะนั่งสมาธิ” ทำไมถึง “ต้องง่วงหงาวหาวนอน” อยู่ตลอด? เพราะว่า เวลา “จะ..นั่งสมาธิ” มัน “ต้อง..ง่วงหงาวหาวนอน” ยังไม่ทันนั่งเลย! ก็ง่วงซะแล้ว ถ้าเราเลิกคิดที่จะนั่ง แล้วก็ไปทำอย่างอื่น มันง่วงไหม? #ตอบ : ถ้าไปทำอย่างอื่นแล้วไม่ง่วง แสดงว่ามันเป็นนิวรณ์ มันเป็น “ง่วงปลอม ๆ” เป็นเพียงง่วงที่ขวางให้เราไม่เจริญ ในการที่จะมาฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ตัวที่ขวางไม่ให้เราเจริญนี้ล่ะ เรียกว่า “นิวรณ์” “นิวรณ์” แปลว่า ขวางกั้น กั้นไม่ให้เกิดความเจริญขึ้น ความเจริญในที่นี้คือ ทำให้เราไม่ได้สมาธิ เพราะฉะนั้น แค่คิดจะภาวนา แล้วง่วงเนี่ยนะ ดูไปเลย นี่คือ “นิวรณ์” ! รู้ลงไปเลย รู้ลงไปที่ความง่วงนั้น แล้วบอกในใจว่า ‘นิวรณ์’ มันเป็นเพียงแค่สภาวะขัดขวางเท่านั้นเอง ถ้ารู้อย่างนี้ได้นะ คือเรากำลังเจริญสติ รู้ทันนิวรณ์-ความง่วงหงาวหาวนอน พอรู้ทันด้วยใจเป็นกลางนะ มันจะตื่นขึ้นมาเลย มันจะดูต่อได้เลย คือ ทำกรรมฐานต่อได้เลย อย่างน้อย ๆ เห็นเลยว่า นิวรณ์ คือความง่วงนี้ เมื่อกี้มีอยู่จริง ๆ แล้วดับแล้ว อย่าไปกลัวมัน มันเป็นเพียงตัวขวางเท่านั้นเอง เป็นเพียงแค่ตัวขวาง ยังไม่ทันเริ่มเลย .. เรียกว่า เวลาจะนั่งสมาธินะ แค่ “จะนั่ง” เท่านั้นเอง ง่วงซะแล้ว บอกได้เลยว่า นิวรณ์ อย่าไปกลัวมัน รู้มันไปเลย รู้ไปซื่อๆ ว่า นี่คือนิวรณ์ แค่นั้น..ก็จะสว่างขึ้นมา พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=1Azlgbddx20 (นาทีที่ 1:08:50-1:10:56)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #แชทอย่างไรไม่ให้ผิดพระวินัย #ถาม : พระวินัยข้อที่ “ห้าม! ภิกษุคุยกับสีกา ในที่ลับหูลับตา ที่ไม่มีชายที่รู้เดียงสาอยู่ด้วย” นี้รวมถึงข้อความแชท (chat) ด้วยไหมคะ ถ้ารวม ..แค่ให้ชายรู้เดียงสา เห็นข้อความด้วย ก็ได้ใช่ไหมคะ? #ตอบ : ก็รวมด้วยนะ ข้อความแชทก็รวมด้วย เพราะฉะนั้นเวลามีข้อความมา ถ้าจะให้ดี พระก็ไม่ปิดบัง ก็เปิดให้พระเพื่อนกัน หรือว่า เป็นโยมผู้ชาย ได้เห็นด้วยก็ได้ บางทีใช้วิธีนี้ก็ได้นะ ในแง่ว่า “ไม่คุยแชทเดี่ยว” อย่างสมมติ พระมีโยมขอคุยทางแชท หรือทางไลน์ (Line) ก็ให้เป็นไลน์กลุ่มซะ คือโพสต์ (post) อะไรมา ก็มีคนอื่นเห็นด้วย ถ้าเป็นครอบครัว ก็ให้ทั้งสามีภรรยาเข้ามาอยู่ด้วยก็ได้ คือเขาโพสต์ หรือแชทอะไรมา อีกคนก็เห็นด้วย การคุยก็จะได้ไม่เป็นการ “แอบคุย!” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=bErYHgISee8&t=3544s (นาทีที่ 1:02:03 – 1:03:38)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #วิหารธรรม #ถาม : ถ้าใจเราไหลไปรวมกับกิเลส วิธีแก้ คือ ให้ใจกลับมาที่องค์กรรมฐาน ..แล้วดูใหม่ ใช่ไหมครับ? #ตอบ : ใช่! คือจิตเวลาทำกรรมฐาน เวลาเกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้นก็ตาม คนฝึกใหม่ ๆ มักจะ “ไหลไปรวม” จิตมักจะไหลไปรวมกับสิ่งที่ปรากฏ อันนี้น่าสนใจ..ก็ไปดู อันนี้น่าสนใจ..ก็ไปดู แม้แต่เห็นกิเลสนะ เห็นกิเลส แล้วก็.. ‘อ้า! อันนี้อะไรเนี่ย?’ ..อยากจะดู มันก็ไหลไปรวมอยู่กับกิเลสเลย เพราะฉะนั้นที่ควรทำบ่อย ๆ คือ “กลับมาสู่วิหารธรรม” คือ “ทำสมถะของเราใหม่” วิหารธรรม สำคัญนะ! จะว่า “ต้อง” ก็เกินไปนิดหนึ่ง คือ “ควร” จะกลับวิหารธรรมบ่อย ๆ วิหารธรรม เป็นตัวช่วยอย่างมาก สำหรับผู้ฝึกทำกรรมฐาน คือ เราจะทำทั้งสมถะและวิปัสสนา การที่มีวิหารธรรมเนี่ย เท่ากับว่าเราได้ทำ “สมถะ” บ่อย ๆ ก็จะมีโอกาสได้เห็นความจริงของจิต เวลาจิตมันมีปฏิกริยาอะไร ในการกระทบกับโลก มันจะเห็นปฏิกริยาของจิตนั้นแสดงความจริงบ่อย ๆ แสดงความจริง ก็คือ – ไม่เที่ยง – เป็นทุกข์ – เป็นอนัตตา บ่อย ๆ ก็คือ ได้ “เจริญวิปัสสนา” บ่อย ๆ แต่ถ้า เห็น… เห็น… แล้วก็นิ่ง ๆ ให้สงสัยไว้ได้เลยว่า จิตเราถลำไปสู่สิ่งนั้นแล้ว “ถลำไปสู่สิ่งนั้น” วิธีที่จะแก้ไข ก็คือ กลับมารู้ลมหายใจ หรือ กลับมาที่องค์กรรมฐานของเรา ที่เราใช้เป็นสมถะอยู่ อย่างนี้นี่เอง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=G7FVqqRyD1Q (นาทีที่ 28:35-30:32)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ศีลข้อ๓ #กาเมสุมิจฉาจารา #ถาม : เรื่องศีลข้อ ๓ นั้น ครอบคลุมถึงด้านซื่อสัตย์ทางใจ เช่น ไม่ไปเผลอใจชอบคนอื่น แม้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางกายก็ตาม แต่ทางใจ ไปกับหญิงอื่น ชายอื่นแล้ว เนื่องจากใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน การเผลอใจไปกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ครองนั้น ถือว่าผิดศีลข้อ ๓ หรือไม่ อย่างไร? #ตอบ : องค์ของศีลข้อที่ ๓ นี้ คือ “กาเมสุมิฉาจารา – เว้นการประพฤติผิดในกาม” องค์ประกอบของการผิดศีล ดูว่าผิดศีลหรือไม่ ก็คือ ๑. ชายหรือหญิงนั้น ต้องห้ามหรือเปล่า? ๒. มีคิดจะเสพหรือไม่? ๓. มีความพยายามเพื่อจะเสพหรือเปล่า? ๔. มีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่? ภาษาบาลีในคัมภีร์จะใช้คำว่า “มรรคถึงกัน” ไหม? ง่ายๆ เลยคือ มีเพศสัมพันธ์กันไหม? แค่สัมผัสโดนกัน อวัยวะเพศโดนกัน ก็เป็นแล้วนะ ..เรียบร้อย คือ ผิดศีลนะ (ศีลขาด) ทีนี้ถ้า “คิดเฉยๆ” มันไม่ถึงกับผิดระดับศีลขาด แต่มันเข้าองค์แล้วนะ มันคือจิตคิดจะเสพ เราคิดถึงใครที่นอกเหนือจากคู่ครองของเราเนี่ย ศีลยังไม่ขาด แต่ใจมันพร้อมที่จะขาด ประมาณว่ามันหมิ่นเหม่นะ! ทีนี้แม้ศีลจะไม่ขาด แต่ก็ผิดธรรมะ ฉะนั้น ที่บอกว่า “เผลอใจไปกับคนอื่น” ถ้าเราเผลอคิด เอามโนคิด เอาใจคิด มันเป็นเรื่องของการผิดด้านธรรมะ ยังไม่ขาดจากศีล แต่ว่า..ศีลยังไม่ขาดก็จริง แต่ก็ไม่ควร ! คิดแล้วก็รู้ทัน แล้วก็ไม่คิดต่อ ก็ยังดี ! ดีในแง่ที่ว่า ยังไม่ไปทำผิด ไม่มีการพยายามที่จะไปติดต่อ เพื่อจะนัดแนะ … หรือ หักห้ามใจได้ก่อนที่จะมีการมีเพศสัมพันธ์กัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นการ “หักห้ามใจ” คำว่า “หญิงต้องห้าม” หรือ “ชายต้องห้าม” มันก็คือ (๑) หญิงหรือชายนั้นมีคู่ครองแล้ว แต่งงานแล้ว หรือว่า (๒) เป็นหญิงหรือชายก็ตามที่เป็นนักบวช ถือว่าเป็นที่รู้กันว่านักบวชไม่ควรจะมามีเพศสัมพันธ์กับใคร แล้วถ้าเราไม่ใช่นักบวช แต่ไปมีเพศสัมพันธ์ด้วย เราผู้ไม่ใช่นักบวชก็ผิดด้วยนะ ประมาณว่า รู้อยู่ว่าเป็นเพศต้องห้าม แล้วเราก็ไปยุ่งด้วย อย่างนี้ก็ผิดเหมือนกันนะ เช่นสมมติว่า ผู้ชายไปเห็นแม่ชีสวย ๆ สักคน แล้วก็คิดปรุงแต่งว่า ไปจีบ พูดเกี้ยวอะไรอย่างนี้นะ ก็ผิด (ผิดธรรม) แต่จะถึงศีลขาดไหม? ก็มาดูว่ามันมีการมีเพศสัมพันธ์ด้วยไหมนะ ประมาณอย่างนี้ ยุคนี้เขาเรียกว่า เป็นยุคที่มี “กามคุณรุนแรง” เอาค่านิยมของทางตะวันตกเข้ามา มันก็เกิดความไม่ละอาย ก็จะผิดศีลข้อนี้กันมาก คือแม้แต่คิดเฉยๆ เนี่ย มันก็ผิดแล้ว มันผิดในแง่ที่ว่า มันเข้าองค์ประกอบของความผิดในศีลข้อนี้ แต่ถามว่า “ศีลขาดหรือยัง?” ก็มาดูที่ว่ามันครบ ๔ ข้อนี้ไหม? (๑) หญิงหรือชายนั้น เป็นที่ต้องห้ามหรือไม่? (๒) มีจิตคิดจะเสพหรือไม่? (๓) มีความพยายามหรือไม่? (๔) แล้วตกลงมีการเสพหรือไม่? ก็คือ มีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่? มาดูอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้น การเผลอใจไปกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง ถามว่าผิดหรือไม่? ..ผิดแล้วนะ!! แต่ศีลขาดหรือไม่? ..ยัง..ยังไม่ขาดนะ! ..ก็ตอบเท่านี้ก่อน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=CRTCdycGtXM (นาทีที่ 30:38 – 35:29)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #การนั่งสมาธิ #ถาม : เคยฟังหลวงพ่อฯ ให้นั่งสมาธิ – ขาขวาทับขาซ้าย – มือขวาทับมือซ้าย – ให้ตั้งกายให้ตรง แล้วโยมนั่งได้แป๊บเดียวค่ะ เพราะสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จะขอมานั่งที่เก้าอี้ได้ไหมคะ เพราะว่าอายุก็มากแล้วค่ะ? #ตอบ : ได้..ได้เลย! นั่งเก้าอี้ได้ คือ การนั่งขัดสมาธิราบ “ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย” นี้ สำหรับคนที่สุขภาพดีๆ คือ สมัยก่อนนี้ที่อินเดีย เก้าอี้คงไม่ได้มีทั่วไป โดยเฉพาะพระภิกษุนะ เวลาอยู่กุฏิ หรือไปตามป่า นั่งกับพื้น ก็มีท่านี้ล่ะ ที่จะนั่งแล้วนั่งได้สบาย ปัจจุบันนี้.. อย่างโยมบอกว่า “สุขภาพไม่ดี” อาจจะเป็นเพราะอายุ หรือว่า อาจจะเป็นเพราะความเจ็บป่วย “นั่งเก้าอี้” ก็ได้นะ ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ท่า ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า – อิริยาบทเราอยู่ในท่าไหน เรารู้ไหม? – มีสติรู้กายไหม..ว่าอยู่ในท่าไหน? – เดินอยู่ แล้วรู้ไหม..ว่ากายกำลังเดิน? – เห็นความเคลื่อนไหวของร่างกายไหม? – เห็นกายเป็นกายไหม? เวลานั่งอยู่นี้ นั่งแม้แต่นั่งเก้าอี้ อิริยาบทนี้ ท่าของกายนี้ เป็นอย่างนี้ รู้ไหม? “รู้ไหม?” หมายถึงว่า รู้ว่า : ‘กายนี้’ เป็นอย่างนี้ไหม? ไม่ใช่รู้ว่า ‘เรา’ เป็นอย่างไร? นะ รู้ว่า ‘กาย’ เป็นอย่างนี้ไหม? “เห็นกายเป็นกาย” เห็นกาย กำลังอยู่ในอิริยาบทอย่างนี้ เรียกว่า “เจริญสติปัฏฐาน – รู้อิริยาบถ” (เดิน ยืน นั่ง นอน) หรือว่า ระหว่างนั่งอยู่นี้ มันมีการเหลียวซ้าย-แลขวา นี่คือ “อิริยาบทย่อย” มันมีความเคลื่อนไหวอย่างนี้ รู้บ้างไหม? มีการยกมือไป-ยกมือมา เหยียด-คู้ อะไรอย่างนี้ รู้ไหม? อันนี้ก็เป็น “อิริยาบทย่อย” อยู่ใน “สัมปชัญญะปัพพะ” (หมวดสัมปชัญญะ) มันอยู่ที่ว่า ร่างกายเป็นอย่างไร รู้ ‘กาย’ ไหม? จิตใจทำงานอย่างไร รู้ ‘จิต’ ไหม? นั่งๆ อยู่นี้อาจจะรู้ที่กาย เห็นกายหายใจ นั่งอยู่..เห็นกายหายใจ มี “กายหายใจอยู่นี้” เป็น “อารมณ์” เป็นจุดเริ่มต้นก่อน ..แล้วพอมีความเผลอเกิดขึ้น รู้ทันความเผลอไหม? เผลอไป-ไม่รู้.. เผลอไป-มีราคะ-รู้ทันราคะ ก็ยังได้ เผลอไป-ไม่รู้-ไปรู้ตอนที่มีโทสะ ก็ยังได้ ฟุ้งซ่าน-แล้วก็รู้ หดหู่-แล้วก็รู้ ประมาณอย่างนี้ เห็นทันกิเลสนั่นเอง นั่งอยู่-รู้ทันกิเลส นั่งอยู่-แล้วมีกิเลสเกิดขึ้น-รู้ทันกิเลส ..แล้วก็เห็นกายนั่งต่อ กายที่นั่งอยู่นี้ ถ้ารู้กายอย่างที่ว่า ให้มันเป็น “ที่อยู่” ก็เห็น ‘กายที่นั่งอยู่นี้’ เป็นที่อยู่ เป็นเครื่องอยู่ คือทำสมถะจากการเห็นอิริยาบถนี้ก่อน ก็ยังได้นะ รู้กายไป แล้วพอจิตมันมีความเคลื่อนไหว มีการทำงานของจิต-รู้ทันจิต มีกิเลสเกิดขึ้น-รู้ทันกิเลส รู้แล้ว มารู้กายที่กำลังนั่งนี้ต่อ ก็เรียกว่าเอา ‘กายที่นั่งอยู่นี้’ เป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะนั่งที่เก้าอี้ .. หรือนั่งราบ .. ได้ทั้งนั้น เพราะว่าตัวสำคัญคือ “รู้กาย” มันไม่ได้รู้ว่าจะต้องท่านั้น.. ท่านี้.. มันไม่มีข้อบังคับนะ ไม่ใช่ว่าต้องนั่ง ‘ขาไหนทับขาไหน’ ด้วยซ้ำ คือ นั่ง หรือว่า มีอิริยาบถอย่างไร รู้ตามความเป็นจริงว่า มีอิริยาบทอย่างนั้น ถามว่า “นั่งเก้าอี้ได้ไหม?”..ก็ได้ โดยหลักการ ก็คือว่า “รู้กาย ตามที่เป็น” ถ้าจิตมันทำงาน “รู้จิต ตามที่มันเป็น” “รู้ซื่อๆ” “รู้ด้วยใจเป็นกลาง” เห็นกาย ก็เห็นกายตามเป็นจริง เวลาจิตมันทำงาน ก็เห็นจิตตามที่มันเป็นจริง มันก็สามารถที่จะเจริญกรรมฐานได้ ทั้งสมถะและวิปัสสนา ได้ทั้งหมดเลยนะ สามารถทำได้ ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=c3XEHbrk4ZU (นาทีที่ 1:18:56 – 1:23:11)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เดินพุทโธ #ถาม: เวลาเดินจงกรม โยมใช้ภาวนาคำว่า “พุทโธ” ไว้ที่เท้า ซึ่งโยมว่า ‘ไม่เหมาะ’ มีคนบางคนบอกว่า “พุทโธ เป็นคำที่สูง” จะใช้คำอื่นได้ไหมเจ้าคะ? #ตอบ: จริงๆ ใช้คำนี้ก็ได้นะ มันเป็นเพียงคำบริกรรม เราบริกรรม คำว่า “พุทโธ” ใช้บริกรรมที่ “ใจ” เราไม่ได้เอาพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธคุณ มาเหยียบย่ำ เพียงแต่ว่า ระลึกถึงพุทธคุณ ทุกก้าวเดิน ขวาย่าง..“พุท” ซ้ายย่าง.. “โธ” คือ มันมี “พุทโธ” อยู่ที่ “ใจ” อย่าไปนึกว่า มีคำว่า.. “พุท” แล้วเราไปเหยียบทับ ไม่ใช่อย่างนั้น! “โธ” แล้วซ้ายเหยียบทับ ไม่ใช่อย่างนั้น! ในทุกๆ ก้าว จะมีคำบริกรรม ขาขวาก้าว.. “พุท” ขาซ้ายก้าว.. “โธ” เราไม่ได้ไปเหยียบคำว่าพุทโธ แต่ทุกการก้าวเดิน เป็นตัวกระตุ้น ให้เรามีคำบริกรรมขึ้นมา ในเมื่อมี “๒ ขา” เราก็ใช้ “๒ คำ” “พุท-โธ” ก็เดินอย่างนี้แหละ ถ้าเราไม่สบายใจ มีคนทักแล้ว เราไม่สบายใจ เราจะเปลี่ยนคำก็ได้ “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ก็ได้ หรือไม่มีเลยก็ได้ จะไม่มีคำบริกรรม มีแต่ความรู้สึกตัวว่า ‘ร่างกายกำลังเดินอยู่’ ก็ยังได้ มันไม่ได้มีความหมายว่า เราจะเอาคำนั้นมาเหยียบย่ำ ไม่ใช่อย่างนั้น! ไม่ใช่เขียนใส่กระดาษ แล้วเอาขาไปเหยียบทับ ไม่ใช่อย่างนั้น! มันเป็นการบริกรรมด้วยใจ มีคำว่า “พุท” ในขณะที่เดินย่างเท้าขวา มีคำว่า “โธ” ในขณะที่ใช้เท้าซ้ายเคลื่อนไหว มันเป็นเพียงคำบริกรรม อย่าไปคิดมาก ว่า ‘เราใช้คำสูงมาเกี่ยวกับเท้า’ ไม่ใช่อย่างนั้น! และอย่างที่บอก ถ้าไม่สบายใจจริงๆ สมมุติว่า มีคนมาพูด จนเราอาจจะรำคาญ หรือว่าอาจจะคล้อยตามไป.. จริงๆ ไม่ควรจะคล้อยตาม แค่ว่าเขาพูดมาก ก็เปลี่ยนคำก็ได้ เขาจะได้ไม่ต้องมาว่าเรา บางทีเราไม่ถนัดที่จะอธิบายว่า จริงๆแล้ว เขาเข้าใจผิด เราไม่ถนัดที่จะอธิบาย เราก็จะเปลี่ยนก็ได้ ตอนบรรลุธรรม มันไม่ได้บรรลุด้วยคำบริกรรม คำบริกรรมเป็นตัวช่วยให้ เกิดมีความรู้สึกตัวขึ้นมาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เราจะใช้ “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ก็ได้ จะไม่หนอก็.. “ขวาย่างรู้” “ซ้ายย่างรู้” ก็ได้ หรือ “ขวา” “ซ้าย” “ขวา” “ซ้าย “ ก็ยังได้นะ คือ ขอให้มีความรู้สึกตัว ตัวเด่นมันคือว่า ใช้ความรู้สึกตัวว่า ร่างกายกำลังเคลื่อนไหว ใช้ “กายที่กำลังเคลื่อนไหว” นี้ เป็น “ที่อยู่ของจิต” ท่านให้รู้สึกตัวแม้กระทั่ง ในเวลาถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ถ้าการปฏิบัติธรรม เป็นของสูงนะ การปฏิบัติธรรมเป็นของสูง ควรจะใช้ตอนเข้าส้วมไหม? หรือว่าไม่ควรใช้? ต้องใช้ “ทุกขณะ” ใช่ไหม? อิริยาบถของเรามันไม่ใช่ว่า เป็นการใช้ของสูงของต่ำอะไร มันใช้เพื่อรู้สึกตัว-เจริญสติ สติมันอยู่ที่ว่า มี จิตรู้กาย หรือ จิตรู้ใจ รู้กาย หรือ รู้ใจ มีสติรู้กาย หรือ มีสติรู้ใจ มันไม่ได้ไปวัดว่า เป็นของต่ำ? ของสูง? ในลักษณะอย่างนั้น “มีสติ” – รู้กาย – รู้เวทนา – รู้จิต – รู้ธรรม ..รู้ได้หมดเลย มันไม่มีต่ำมีสูง ในขณะที่การปฏิบัติ มีแต่ “รู้” หรือ “ไม่รู้” “รู้” หรือ “เผลอ” เผลอ..แล้วรู้ก็ยังดี มันอยู่ที่ว่า ”มีสติ-รู้” หรือเปล่า? รู้แล้ว รู้ด้วยใจ มีคุณภาพอย่างไรด้วย? รู้ด้วย “ใจเป็นกลาง” หรือ “ไม่เป็นกลาง” รู้แล้ว “พอใจ” “ไม่พอใจ” รู้แล้ว “ไปแทรกแซงไหม?” มันควรจะมาพัฒนาในเรื่องนี้ ไม่ใช่ไปติดในคำบริกรรมว่าเป็นของสูง แล้วก็เลยไม่กล้าใช้กับอิริยาบถ กับอวัยวะต่ำๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่เกี่ยวกันเลย ขอทำความเข้าใจกันเสียใหม่นะ หลักการ คือ ให้มีคำบริกรรม เพื่อกระตุ้นให้มีสติ เพราะฉะนั้น คำบริกรรมมันอยู่ที่ใจ แล้วทำใจให้มีสติ ในทุกๆ การเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือ ถ้าจิตมันเผลอ..ก็ให้รู้นะ … เป็นอย่างนี้นะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://youtu.be/zoGIXy4zUto (นาทีที่ 1:26 – 6:57)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ตั้งเป้าหมายบรรลุโสดาบัน #ถาม : ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่า “เราจะบรรลุโสดาบัน” ได้ไหมครับ? เพราะผมเคยได้ยินมาว่า “ห้ามหวัง ถ้าจะบรรลุ เดี๋ยวเราจะรู้เอง” #ตอบ : คือ การตั้งเป้าหมาย..ตั้งได้ แล้วก็ควรตั้งด้วย คงยากที่จะไม่ตั้งเป้าหมาย หายากนะ ส่วนใหญ่แล้วนักปฏิบัติทั้งหลาย ก็จะตั้งเป้าหมายเอาไว้ แต่ว่าที่เคยได้ยินมาว่า “ห้ามหวัง” ก็คือว่า ในระหว่างที่ปฏิบัติ อย่ามัวแต่คิดว่า ‘จะเป็นโสดาบัน’ มันจะ “เอาแต่คิด” ..อย่างนี้ไม่ได้นะ ถ้าตั้งเป้าหมาย..แล้วทำเหตุ หรือว่าไปศึกษาว่า จะทำเหตุอะไร จะให้ถึงเป้าหมายนั้น แล้วลงมือทำเหตุ อย่างนี้มันจึงจะได้ คือ ตั้งเป้าหมายว่า “จะบรรลุโสดาบัน” การเป็นโสดาบันนั้น.. – สภาวะเป็นอย่างไร? – ท่านละกิเลสตัวไหน? หรือ – ละสังโยชน์ตัวไหนได้บ้าง? ละสังโยชน์สำคัญ ๆ ก็คือ ละ “สักกายทิฏฐิ” จะเห็นว่า “กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา” รู้ว่าเป้าหมายเบื้องต้นไปทางนี้ ..จะฝึกอย่างไร? จะฝึกตนอย่างไรให้บรรลุโสดาบัน? ก็ไปหาเหตุ ..หาเองไม่ได้แน่ ๆ ก็ต้องไปสืบหาว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร? ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีบ้างไหมในยุคนี้? ถ้ามี..ไปศึกษากับท่าน ศึกษาทั้งในแง่ของ ปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ปริยัติ คือเราก็ต้องไม่ทิ้ง ศึกษาว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร? ก็ต้องไปศึกษาดู ศึกษาจากในคัมภีร์ ถ้ามีโอกาสศึกษา.. ยุคนี้ก็น่าจะง่ายขึ้นนะ ในการเข้าถึงพระไตรปิฎก น่าจะง่ายขึ้น แล้วก็ ถ้าศึกษา..แล้วเข้าใจ สามารถทำตามในพระคัมภีร์ได้ ก็ทำไปเลยนะ แต่ถ้าอ่านแล้วงง สงสัยจุดไหนก็ตาม ก็ไปหาครูบาอาจารย์สอบถาม ยิ่งถ้าเป็นครูบาอาจารย์ ที่ท่านมีประสบการณ์จริง จากการฝึกปฏิบัติ มันก็จะเป็นประโยชน์ กับการศึกษาของเรา เพราะการมีประสบการณ์ .. เวลาท่านแนะนำ ท่านก็จะแนะนำได้ตรง ยิ่งถ้าท่านมีความสามารถ ในการที่จะรู้ว่าเราติดขัดตรงไหน สามารถอธิบายแจ่มแจ้ง ให้เราพ้นจากจุดติดขัดนั้นได้ ก็จะยิ่งดีมากนะ ก็เรียกว่า เราจะได้รับผลของการปฏิบัติ แม้จะยังไม่ถึงได้ขั้นโสดาบัน แต่มันจะพัฒนาขึ้นมา จากไม่เคยสงบ ..ก็สงบ จากไม่เคยรักษาศีลได้ ..ก็รักษาศีลได้ขึ้นมา จากที่ติดขัด ..ก็หลุดออกมาเป็นเปราะ ๆ มันจะมีศรัทธาเกิดขึ้น แล้วสามารถทำเหตุ ให้บรรลุมรรคผล ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้ ที่ไม่เคยรักษาวินัยได้ .. ไม่เคยรักษาศีลได้ .. ก็จะรักษาศีล มีวินัย เพราะมีเป้าหมายเอาไว้ มันเป็นกำลังใจ เขาเรียกว่า “มีเป้าหมาย..แล้วเดินไปให้ถึง” มันเหมือนเป้าที่ฝัน แต่อย่ามัวเอาแต่ฝัน การที่มัวแต่หวัง มันก็เหมือนเอาแต่ฝัน แล้วไม่ทำเหตุนะ ฝันแล้วไม่ทำเหตุ มันก็ไม่สมหวัง มันก็ได้แต่ฝัน แต่ว่า มีเป้าหมายที่หวังไว้ แล้วไปศึกษาว่า จะต้องทำเหตุอะไรให้ถึงเป้าหมายนั้น แล้วลงมือทำ ..อย่างนี้ได้ การตั้งเป้าหมายไม่ผิดนะ ในมงคลสูตรจะมีคำว่า “อัตตสัมมาปณิธิ” แปลว่า ตั้งตนไว้ชอบ คือ ตั้งเป้าหมายเอาไว้นั่นเอง มีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ ถ้าไม่ตั้งเป้าหมาย มันก็จะไม่รู้จะไปทำอะไร เหมือนซังกะตาย มันไม่มีเป้าหมาย คนไม่รู้จะทำอะไร อยู่ไปวัน ๆ มันไม่เหมือนกับผู้บรรลุขั้นสุดท้ายแล้ว คนฝึกตนจนเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ต้องไปฝึกอะไรต่อแล้ว จบแล้ว บรรลุเป้าหมายแล้ว คือถึงที่แล้ว ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องคาดหวังอะไรแล้ว เพราะสมหวังแล้ว มันไม่มีอะไรที่จะต้องคาดหวังต่อไป แต่คนที่ยังหวังอยู่ ก็ต้องคอยดูว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้ถึงความสมหวังนั้น” คืออะไร? ก็ต้องหวังอยู่นะ เพราะเรายังมีทุกข์อยู่ ก็ต้องหวังว่า จะต้องให้ ‘พ้นทุกข์’ นั่นล่ะ มันก็มีขั้นของการพ้นทุกข์ เป็นลำดับ ๆ ไป ขั้นต้นก็คือ “เป็นพระโสดาบัน” หวังได้นะ ตั้งเป้าหมายได้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=m520RAKdFFM&t=3259s (นาทีที่ 48.52 – 54.18)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เอาปลาที่เขาตกให้มาทำอาหารบาปไหม? #ถาม : นมัสการพระอาจารย์ มีเพื่อนบ้าน เขาชอบไปตกปลาที่ทะเล ไปแบบตั้งใจ เขาบอกว่า.. “ตกเอามาทำอาหาร..ไม่บาป” เขาบอกว่า “ไม่บาป” แต่ดิฉันคิดว่า ‘ยังไงก็บาป’ แต่บางครั้งเขาก็แบ่งปลา มาให้ดิฉันทำอาหารด้วย ดิฉันจะบาปด้วยไหมคะ? #ตอบ : เออ! มันหนักตรงที่ว่า เขาแบ่งมาให้ด้วยใช่ไหม? ประเด็นแรก เขาตกปลานะ เขาบาป “เขาตกปลานะ เขาบาปแน่ ๆ” ส่วนตอนที่เขาแบ่งมาให้เนี่ย “เขาให้ทาน ได้บุญ” เขาได้บุญ คือ ให้ทาน แต่วัตถุที่เขาเอามาให้ ถ้ามันเป็นสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่างนี้ก็ลำบากเรา ..จะทำอย่างไรต่อ? ถ้าเราจะเอาอาหาร เราก็ต้องฆ่าสัตว์ใช่ไหม? อย่างนี้อาจจะขอบคุณ แล้วก็บอกว่า “ไม่ถนัด” ควรปฏิเสธไอ้ตัวนี้ไป ถ้าเขาให้ปลาที่ยังเป็น ๆ อยู่ ทีนี้ถ้าปลาตายแล้ว อย่างนี้ไม่เป็นไร ไม่มีส่วนแห่งบาปนั้น แต่ถ้ามี “ใจยินดี” ‘เออ เขาก็ดีนะ เขาไปตกปลา แล้วยังเอาปลามาเผื่อแผ่เรา เขาจะไปอีกเมื่อไหร่นะ? เราจะได้มีปลามากินอีก’ ถ้าคิดในแง่นี้นะ ยินดีที่เขาจะไปตกปลาอีก อย่างนี้ เรามีส่วน! ถ้าไม่ได้อยากได้ แต่เขาให้มา ก็ต้องรับเอาไว้ ขอบคุณเขา แต่ก็ไม่ได้ยินดี กับการกระทำของเขา แต่รับด้วยน้ำใจ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าปลาตายก็เอามาทำ ถ้าเรารังเกียจ เราก็ไม่กินอันนั้น แต่ให้คนในครอบครัวกิน ..ก็ได้อยู่ จะบาปด้วยไหม? มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เราคิดอย่างไร? ถ้าติดใจ.. ‘เมื่อไหร่เขาจะไปอีก’ ดีใจ.. ที่เขาไปตกปลาแทนเรา หรือว่า เออได้ปลามาเยอะก็ดีนะ..ดีใจ เวลาเขาเข้าบ้านมา ชะโงกมองว่า มีปลาติดมือมาไหม? ..อย่างนี้ มีส่วนบาปด้วย! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=yHhOqRas3ls&t=6131s (นาทีที่ 1:39:22 – 1:42:12)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ตัณหา #ฉันทะ #ถาม : กราบนมัสการ ขอเมตตาอธิบาย ความแตกต่างระหว่าง “การทำบุญด้วย ตัณหา” กับ “การทำบุญด้วย ฉันทะ” #ตอบ : การทำบุญด้วย “ตัณหา” คือ อยากได้ อยากได้ผล อยากได้ผล เช่น ทำบุญแล้ว “อยาก” รวย ให้ทานแล้ว “อยาก” รวย รักษาศีลแล้ว “อยาก” สวย ทำกรรมฐานแล้ว “อยาก” ฉลาด มันตั้งความอยาก ตั้งความปรารถนา ..คือ ตัณหา อยากได้ผล ทำไป.. แล้วก็มักจะรอดูว่า ‘เมื่อไหร่จะได้ผล?’ อยากให้มีเสน่ห์ หรือว่า มีคนรัก มัน “อยากได้ผล” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยากติดอยู่กับโลก ! อยากอยู่ในโลกนี้ต่อไป แล้วเสวยกามต่อไป อย่างดีด้วยนะ กามอย่างดีด้วย ทำบุญอยากได้กาม ! แต่ทำบุญด้วย “ฉันทะ” มันเห็นว่า ‘สิ่งนี้ควรทำ’ ..ก็ทำ การให้ทาน มันคือ สิ่งที่ควรทำ เห็นเขาเดือดร้อน ..อยากให้ ให้เขาหายเดือดร้อน ประมาณนี้นะ ..ให้ทาน อยากให้รางวัลเขา คือ เห็นเขาทำดี อยากให้กำลังใจเขา ..ให้ทาน ได้ทั้งหมดเลย คือมันเป็นการเห็นประโยชน์ และเห็นความสมควรที่จะทำ “รักษาศีล” คือ ไม่เห็นข้อจำเป็นอะไร ที่จะไปฆ่าสัตว์ ไม่เห็นความจำเป็นอะไร ที่จะไปลักทรัพย์ หรือไปโกหก หรือไปผิดลูกเมีย เห็นโทษ เห็นภัย ไม่ทำเอง มันมี “ฉันทะ” ที่จะทำ มีความละอายต่อบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป มันก็ไม่ทำผิดศีล บุญจากการรักษาศีล ก็ได้ขึ้นมาเอง มี “ฉันทะ” ที่จะทำเอง รู้อยู่ว่าสังสารวัฏนี้มันเป็นทุกข์ เห็นทุกข์อยู่ อยากจะพ้นไปจากสังสารวัฏนี้ ก็เลยทำการภาวนา มี “ฉันทะ” ที่จะทำ เห็นพัฒนาการของการทำภาวนา เห็นด้วยประสบการณ์ตัวเอง เกิด “ฉันทะ” ที่จะทำต่อไป นี้คือความแตกต่าง ระหว่าง ตัณหา กับ ฉันทะ “ตัณหา อยากได้ผล” “ฉันทะ อยากทำเหตุ” ..ส่วนผลจะได้ของมันเอง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=4pwVjEis8Kc (นาทีที่ 2:07:18 – 2:09:52)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #เจริญสติในชีวิตประจำวัน #ถาม : ขอพระอาจารย์ชี้แนะวิธีการ แก้ไขการนั่งสมาธิให้ถูกวิธี เพราะเคยลองฝึกแล้วเกิดอาการ คือ เริ่มเย็นเบาสบายก่อน ต่อมาการใช้ชีวิตประจำวัน จะรู้สึกเหมือนเข้าสมาธิ หากทำงาน หรือ ทำอะไรแบบใช้สมาธิ สุดท้าย.. กวาดบ้านอยู่ แล้วรู้สึกเหมือนเข้าสมาธิ แล้วเห็นตัวเองกวาดบ้านอยู่ แต่เราไม่มีตัวตน มีแต่แสงสว่างอยู่แบบนั้น จึงเลิกฝึกสมาธิ ..ขอคำชี้แนะ #ตอบ : จริง ๆ แล้ว ในชีวิตประจำวัน ถ้ากายเคลื่อนไหวทำงานอยู่ มีความเคลื่อนไหวเนี่ยนะ จะเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะเจริญสติในชีวิตประจำวัน งานอะไรก็ตาม ที่ทำแล้วไม่ต้องใช้ความคิดมาก มีคิดบ้าง คือ คิดเริ่มต้นว่า ‘จะกวาด’ แต่ตอนทำงานจริง ๆ เนี่ย มันไม่ต้องใช้คิดวิเคราะห์อะไรมาก ..ก็ ‘กวาดไป’ ให้เห็น ‘กายเคลื่อนไหว’ แล้วถ้า ‘ใจเผลอออกจากงาน’ .. ..งาน คือ กวาดเนี่ยนะ ถ้า ‘ใจเผลอออกจากงาน’ ให้รู้ทันว่า ‘มีความเผลอ’ มันไม่ใช่ว่าไปกวาด แล้วก็ไปดูแสง.. ถ้ากวาดแล้วดูแสง.. มันจะทำงานกวาดได้ไหม? ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ ไม่เคยมีปรากฏการณ์อย่างนี้ กวาดไป.. แล้วเห็นกายเคลื่อนไหวนะ ..จะดี แล้วก็พอเห็นจิตมันทำงาน คือ กายเคลื่อนไหว ..เห็นว่า “กายเคลื่อนไหว” แล้วจิตเคลื่อนไหว ..รู้ทันว่า “จิตเคลื่อนไหว” อย่างนี้จะดีกว่า มันจะเอื้อให้เกิดวิปัสสนาขึ้นมาได้ คือ พอจิตมันทำงานเคลื่อนไหวเกิดขึ้น แล้วรู้ทันว่า ‘จิตเคลื่อนไหว’ ไม่ใช่ไปรักษาให้มันเป็นแสงสว่าง หรือ ให้มันนิ่ง ๆ แต่ถ้ามันจะสว่างเอง ก็ให้สว่างไป ไม่เป็นไร แต่ถ้าจะกลับมาเห็นกายเคลื่อนไหว ก็จะเหมาะที่จะเจริญวิปัสสนาด้วย ลองทำดูนะ ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=e751qE6XaV0 (นาทีที่ 1:39:15 – 1:41:28 )ล

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ไม่ดื่มสุราปฏิเสธอย่างไรดี #ถาม : นมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ ถ้าเราไม่ดื่มเหล้า แต่เจ้านาย และลูกค้าบริษัทฯ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ มักชักชวนให้ดื่ม เวลาไปทานข้าว หรือมีงานเลี้ยง ..เราก็ปฏิเสธไป เขาถามเหตุผลว่า “ทำไมไม่ดื่ม?” เลยตอบไปว่า “เรารักษาศีล ๕” และอธิบายแต่ละข้อให้ฟัง แต่เจ้านายก็บอกว่า “ไม่ต้องยึดถือมากหรอก งั้นยู (you) ดื่มไวน์ (wine) แทนก็ได้ เพื่อสุขภาพ” คำถาม คือ ถ้าเขาไม่เข้าใจ เลยคิดว่า หรือควรบอกไปว่า เราแพ้แอลกอฮอล์แทน เขาจะได้ไม่คะยั้นคะยอให้ดื่ม แบบนี้จะกลายเป็นผิดศีลข้อมุสาหรือไม่? #ตอบ : ดีนะ ก็บอกไปเลยว่า “แพ้” แต่ไม่ต้องบอกว่า “แพ้แอลกอฮอล์” แค่บอกว่า “แพ้” ..”เราแพ้ ถ้ากินแล้วแพ้” ไอ้ที่ว่า “แพ้” เนี่ย ไม่ได้แพ้แอลกอฮอล์ แต่ “แพ้ใจตัวเอง!” แล้วก็จะทำให้เราควบคุม ความประพฤติตัวเองไม่ได้ ถ้าเจ้านายบอกคะยั้นคะยอให้ดื่มเนี่ยนะ ก็บอก “เราแพ้” บอกไปเลยก็ได้ ถ้าเขาคะยั้นคะยอ ..ก็บอกว่า “ต้องการพนักงาน หรือต้องการลูกน้อง ที่มีสติ หรือ ขาดสติ?!” “ต้องการพนักงานเมา แล้วเอาน้ำไปราดหัวคนอื่นไหม?” อะไรประมาณนี้นะ ..เขาก็ไม่อยากได้ใช่ไหม? ใครเมาแล้ว “ทำชื่อเสียง” ..ไม่ค่อยมี มักจะเป็น..”ชื่อเสีย” !! โอกาสที่จะมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราดื่มแอลกอฮอล์นะ จะมีโอกาสเป็นไปได้มาก เพราะฉะนั้น อย่ายินดีที่จะให้เราเมาเลย บอกว่า “เราไม่รู้ประมาณว่า จะดื่มแค่ไหนจึงจะเมา” แล้วที่ว่า “ศีล ๕ รักษาไว้” ..ดีแล้วนะ “ขอให้ท่านดีใจ ที่ได้มีลูกน้อง หรือมีพนักงาน ที่รักษาศีลได้” ..ดีกว่านะ อย่าได้ดีใจ ที่จะเห็นเรา เป็นผู้ไม่มีศีลเลย เรียกว่า ได้แก้วมณีแล้ว จงรู้ค่าแก้วมณีนั้นด้วย ขออนุโมทนานะโยม รักษาความดีอันนี้เอาไว้ แล้วเวลาจะบอกว่าแพ้เนี่ย อย่าบอกว่า “แพ้แอลกอฮอล์” บอกว่า “แพ้” เฉย ๆ ถ้าดื่มเหล้าแล้ว “แพ้” ถ้าดื่มแอลกอฮอล์แล้วจะ “แพ้” ..แพ้อะไร? ..แพ้ใจตัวเอง ! ..แล้วแพ้กิเลส ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=VIh9T9loA58 (นาทีที่ 1:24:17 – 1:27:23)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #กรรมฐานสำหรับผู้สูงอายุ #ถาม : อายุ ๖๐ กว่าแล้ว จะทำสมาธิแบบไหนดี ให้ได้สมาธิ? #ตอบ : ไม่เกี่ยวกับอายุนะ จะมีที่สังเกตนิดหนึ่งเท่านั้นเองว่า เวลา ‘อายุมาก’ ถ้านั่งนิ่งๆ มันจะ ‘หลับง่าย’ (ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อนเลยนะ) สมมติว่า.. จะเริ่มฝึกเมื่อตอนอายุ ๖๐ ควรจะ “เจริญสติ ในท่าเคลื่อนไหว” อย่านั่งสมาธิแบบนิ่งๆ พอนั่งนิ่งๆ เนี่ยนะ ด้วยความล้าของร่างกาย ที่อายุมาก บางทีพอนั่งนิ่ง มันจะเป็นไปได้ง่ายที่จะขาดสติ ..หลับไป ทีนี้ก็ให้ “มีความเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นตัวกระตุ้น” กรรมฐานที่มันมีการเคลื่อนไหว เช่น “เดิน” อายุ ๖๐ น่าจะยังเดินได้ ..ก็เดิน หรือ ถ้าจะ “นั่ง” ก็ให้นั่งแบบมีความเคลื่อนไหว กรรมฐานที่เหมาะ ก็อย่างเช่น ที่หลวงพ่อเทียนท่านสอน มีการขยับ ๑๔ จังหวะ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นตัวรู้ขึ้นมา ท่านบอกว่า “กระตุ้นธาตุรู้” คือ ไม่ให้มันเคลิ้ม ไม่ให้มันง่วงซึม หรือว่า ไม่ให้มันเบลอๆ ไป เวลานั่งนานๆ บางทีถ้าอายุมาก มันจะเบลอ หรือ อาจจะหลับไปได้ ก็ให้มีการขยับ ถ้า ๑๔ จังหวะ รู้สึกว่ามากไป ก็อาจจะแค่พลิกมือ พลิกไป-พลิกมาก็ได้ พลิกไป-พลิกมา ก็ใช้ได้อยู่ จะ กำ-แบ กำ-แบ ก็ได้ คือให้มัน ‘มีความเคลื่อนไหว’ กระตุ้นตัวรู้ขึ้นมา กระตุ้นความรู้สึกตัวขึ้นมา แล้วเวลา ‘เผลอไป-ให้รู้ทัน’ มีความเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นตัวกระตุ้นขึ้นมาแล้วเนี่ยนะ เผลอไป-ให้รู้ทัน บางทีทำแล้ว มันทำซ้ำ ๆ มันก็ชินใช่ไหม? พอชิน บางทีก็เผลอไป แต่ด้วยความที่ มันมีการขยับอยู่นี้ มันก็จะเห็นว่า ‘เผลอ’ ได้ง่ายขึ้น มันดีกว่านั่งนิ่งๆ แล้วหลับ ตอนที่มันหลับไป.. มันไม่ได้เห็นสภาวะอะไร ! มันได้แค่พักผ่อน แต่ตอนนี้เราต้องการจะเจริญสติ ..เพื่อให้เห็นความจริง การหลับไป มันไม่ได้มีข้อมูลอะไรให้จิตดู เพราะฉะนั้น ตื่นขึ้นมา (จากการที่เราเคลื่อนไหว) เคลื่อนไหว-แล้วเผลอไป-แล้วรู้ทัน เห็น ‘เผลอ’ ดีกว่านะ เคลื่อนไหวๆ อยู่..แล้วฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่าน..แล้วรู้ว่าฟุ้งซ่าน ก็ดีกว่าหลับนะ คนอายุ ๖๐ กว่าแล้ว ถือว่าอายุมากแล้ว ก็ลองใช้.. “การเคลื่อนไหวของร่างกาย” เข้ามาช่วยนะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=CJuUJuMo19g (นาทีที่ 2:02:30 – 2:05:15)

อ่านต่อ