Category Archives: นิมฺมโลตอบโจทย์

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #สมาธิเพื่อการเจริญปัญญา #ถาม : ถ้าจิตมันถูกกระทบ แล้วจิตอยากหนีไปอยู่เงียบ ๆ อยากนั่งสมาธิเงียบ ๆ ไม่อยากกระทบโลก เห็นความอยากนี้บ่อย ๆ ควรทำอย่างไร? #ตอบ : ดีนะ ที่ว่า “ดี” ไม่ใช่ว่าหนีดีนะ แต่ดีที่ “เห็น” ดีที่เห็น ‘จิตที่อยากหนี’ เก่งนะ.. เห็นอย่างนี้ได้ไม่ง่ายนะ !! คือส่วนใหญ่เนี่ย พอกระทบกับโลก เบื่อโลกมาก ๆ เข้า ก็อยากจะหลบตัวเองไปเงียบ ๆ แล้วก็ไปนั่งสมาธิ แล้วก็พอออกมาเจอโลกยุ่ง ๆ ก็..ไปแอบเข้าสมาธิ เรียกว่า “หลบ” มันก็ดี คือ อย่างน้อย ๆ ก็ยังมีที่ไปสงบบ้าง แต่ว่าสมมติว่า มันมีปัญหาอยู่เนี่ยนะ แล้วเราก็ทนปัญหาไม่ได้ ..แล้วก็เข้าสมาธิ ..ออกมา..เจอปัญหา ..แล้วเราก็เข้าสมาธิ อย่างนี้นะ.. ..มันไม่ได้แก้ปัญหา! เพราะฉะนั้น มันต้องเข้าไปแก้ปัญหาด้วย ! หรือว่ามันไม่ได้เกิดปัญญา มีทุกข์เกิดขึ้น.. ก็เข้าสมาธิ.. ..แล้วก็ออกมา ! เจอทุกข์..ก็เข้าสมาธิ… อย่างนี้นะ ครูบาอาจารย์ไม่สนับสนุนในแง่นี้นะ มีบางท่านนะ พอเป็นไข้ ท่านก็เข้าสมาธิ เข้าฌาน พอเข้าฌาน ก็ไม่รับรู้ในเวทนาที่เกิดขึ้น ครูบาอาจารย์บอก “อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อย่างนี้ คือ หนี ให้ดูเวทนา ไม่ใช่ไปหนีเข้าสมาธิ” แล้วไม่เห็นเวทนาแสดงความจริง มันก็เลยไม่เห็นเลยว่า ‘ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์’ ไม่เห็นเลยว่า ‘รูปเป็นทุกข์’ ไม่เห็นเลยว่า ‘เวทนาเป็นทุกข์’ ไม่เห็นเลยว่า ‘สังขารเป็นทุกข์’ มันหลบไป หลบไปมีความสุข แล้วพอใจในภพแห่งนักปฏิบัติตรงนั้น มันเลยไม่ได้มาดูความจริงว่า ‘ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์’ มันก็เลยไม่พ้นทุกข์ เพราะไม่เห็นทุกข์ ประมาณอย่างนี้นะ ถ้าระดับผู้ปฏิบัติ ถ้าหนีอย่างนี้นะ ครูบาอาจารย์จะไล่ออกมา บอกว่า “อย่าไปนั่งเพียงหวังสุขในสมาธิ” มันสุขในสมาธินะ มันไม่ยั่งยืน แล้วก็ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง จุดหมายปลายทางจริง ๆ เราต้องมาเข้าใจว่า ‘โลกเป็นอย่างนี้ ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนี้.. ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา’ เห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ แล้วจึงจะพ้นจากการ เวียนว่ายตายเกิดไปได้ พ้นจากวงจรแห่งทุกข์ทั้งหลายนี้ไปได้ เข้าสู่ความสุขที่แท้จริง คือ เข้าพระนิพพานได้ ไม่ใช่หนี! แต่นี่ดีนะ..ดี! คือคนที่ไปเข้าสมาธิ มักจะยากที่จะเห็นตัวนี้ด้วยตนเอง ถ้าเห็นเองได้นะ ขออนุโมทนาเลย..ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำสมาธิ นึกออกนะ? คือไม่ใช่จะไม่ทำสมาธิ แต่ไม่ได้ทำสมาธิเพื่อหนี! แต่ทำสมาธิเพื่อให้มีกำลัง ในการที่จะมาดูความจริง ของขันธ์ ๕ ได้แจ่มแจ้ง คือจิตถ้าไม่มีสมาธิเนี่ย มันไม่มีกำลังพอที่จะมาเจริญปัญญา ก็ต้องมีสมาธิ แต่สมาธิที่ว่านี้มันมี ๒ แบบ คือ ๑. สมาธิแบบ “อารัมณูปนิชฌาน” คือ จิตรวมอยู่กับอารมณ์ ๒. “ลักขณูปนิชฌาน” คือ จิตตั้งมั่น ไม่รวมอยู่กับอารมณ์ พร้อมเจริญปัญญา เกิดมรรคผล อย่างนี้ก็เรียกว่า ถ้าทำสมาธิควรทำให้ได้ทั้ง ๒ แบบ เวลาจิตรวมอยู่กับอารมณ์ ก็รวมไปก่อนนะ พอมันเผลอ ก็ให้รู้ทัน จิตที่เผลอไป มันก็คือ เผลอจากอารมณ์กรรมฐานของเรา พอเวลามันเผลอไป..รู้ทัน ให้รู้ด้วย ‘ใจเป็นกลาง’ ตอนรู้ด้วยใจเป็นกลาง จะเกิดสมาธิตัวที่ ๒ เรียกว่า “แยกธาตุแยกขันธ์” เรียกว่า “จิตตั้งมั่น” ขึ้นมา หรือ อยู่กับอารมณ์กรรมฐานไป พอมันเผลอ พอเริ่มเผลอปุ๊ป! มันจะเห็นจิตเคลื่อน พอเห็นจิตเคลื่อน รู้ทันว่าจิตเคลื่อนนะ มันจะได้จิตตั้งมั่น..ไม่เคลื่อน ! ก็จะเกิดสภาวะสมาธิแบบที่ ๒ คือ จิตตั้งมั่นขึ้นมาได้เหมือนกัน แยกธาตุแยกขันธ์ได้ชั่วขณะ ก็ทำสมาธิได้ แต่อย่าไปตั้งเป้าหมายว่า ‘จะเอาให้เงียบ ๆ’ หรือ ‘หนี’ แต่ให้ทำสมาธิเพื่อให้จิตมีกำลัง เพื่อที่จะมาเจริญปัญญา เจริญปัญญา คือ เห็นความจริง เห็นความจริง คือ มันต้องเห็นตัวปัญหา ปัญหา คือ ขันธ์ ๕ นี้ ก็ต้องมาแผชิญหน้ากับปัญหา ไม่ใช่หนีปัญหา ไม่ใช่หลบออกไปที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วก็พอกลับมา ปัญหายังไม่หายไป ก็หลบไปอีก อย่างนี้เรียกว่า “เอาสมาธิเป็นที่หลบ” อย่างนี้ไม่ใช่เป้าหมายของการภาวนา สมาธิต้องเอาไว้เพื่อให้จิต มีกำลังพร้อมจะเจริญปัญญา พอพร้อมที่จะเจริญปัญญา คือ – ไปเผชิญปัญหา – เห็นปัญหา – ยอมรับปัญหา..ว่ามีปัญหา – แล้วก็เห็นความจริงของปัญหานั้น ว่ามันเป็นสภาพอย่างนี้ “รู้” ที่มา คือ สมุทัย แล้วก็ “ละ” สมุทัยนั้นเสีย ..ก็เข้าสู่นิโรธ ต้องทำสมาธินะ! สมาธิต้องทำ! แต่ทำแบบมีจุดมุ่งหมาย..ไม่ใช่หนี! จุดมุ่งหมายที่ว่านั้น คือ เสริมคุณภาพจิต ‘ให้มีกำลัง’ มากพอที่จะไปเจริญปัญญาต่อไป พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=QpoPodr-MSQ&t=4704s (นาทีที่ 1:18:28 – 1:24:33)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #สมาธิที่ขาดสติ #ถาม : “การเจริญสติ” สามารถทำพร้อมไปกับ “การนั่งสมาธิ” ได้หรือไม่ หรือควรทำแยกกัน? #ตอบ : “สติ” ควรทำตลอด ไม่มีเวลาไหนที่ไม่ควรทำ สมาธิ ถ้าขาดสติเนี่ย น่ากลัวนะ ทำสมาธิ เอาแต่สมาธิ แล้วไม่เน้นสติ!..? “สติ” คือ ความรู้สึกตัว คือ ความระลึกได้ว่า ตนเองทำอะไรอยู่ รู้สภาวะ รู้กายรู้ใจ เพราะฉะนั้นการที่มีสติ มันจำเป็นอยู่เสมอ มีพุทธศาสนสุภาษิตอยู่คำหนึ่งว่า “สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา” แปลว่า “สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง” “จำปรารถนา” หมายความว่า แม้เราไม่ปรารถนา ก็ ‘ต้อง’ ปรารถนา มัน ’จำปรารถนา’ เหมือน โต๊ะ จำปรารถนา พื้น ถ้าไม่มีพื้น ก็ตั้งโต๊ะไม่ได้ แม้ไม่อยากจะมีพื้น ก็ต้องมี มันต้องมี! “สติ” มันต้องมี ในที่ทุกสถาน ในการณ์ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ จะคอยบอกคอยย้ำเตือน กับลูกศิษย์อยู่เสมอก็คือว่า “อย่าขาดสติ!” “สติ” อีกแง่หนึ่ง ก็คือ “ความไม่ประมาท” ถ้า “มีสติ” อยู่เมื่อไหร่ ก็ยัง “ไม่ประมาท” อยู่เมื่อนั้น ถ้า “ขาดสติ” เมื่อไหร่ ก็ “ประมาท” ทันที ถ้าเราจะปฏิบัติให้ตรง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ควรจะ “มีสติยู่เสมอ” พระพุทธเจ้า พระองค์มีปัจฉิมโอวาทเอาไว้ว่า “ท่านทั้งหลาย พึงทำความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมเถิด” เพราะว่าสังขารทั้งหลาย มีอันเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าเราปล่อยใจขาดสติไป แม้จะมุ่งไปเอาสมาธิ แต่สมาธินั้นขาดสติ สมาธินั้นกลับเป็นของที่น่ากลัว และทำร้ายตัวเองได้ เช่น พระเทวทัต จิตเป็นอกุศลก็ไม่รู้ ก็คือ ขาดสติ ขาดสติ ไม่รู้ว่า.. จิตกำลังเป็นอกุศล จิตกำลังแค้นเคือง จิตกำลังอยากใหญ่ ..แล้วทำสมาธิ มีความโลภ มีความแค้น มีความอยากใหญ่ ..ไปหลอกเจ้าชายอชาติศัตรู (พระเทวทัต) มีสมาธินะ สามารถเหาะได้ แปลงกายได้ หลอกเจ้าชายได้ อย่างนี้ “สมาธิที่ขาดสติ” เพราะว่า “จิตที่เป็นอกุศลอยู่ ก็ไม่รู้ ไม่เห็น” “สติ” ก็คือ รู้ทัน “รู้ทันจิต” ที่มันเป็นอกุศล “รู้ทันกิเลส” ที่เกิดขึ้นในใจ สภาวะที่เป็นอยู่ขณะนี้ จิตขณะนี้มันเป็น กุศล? หรือ อกุศล? ก็ให้ “รู้” ด้วย เพราะฉะนั้น ขาดสติไม่ได้เลย ถ้าคิดจะเจริญสมาธิ หรือคิดจะนั่งสมาธิ สิ่งสำคัญ ก่อนจะนั่งสมาธิ คือ เจริญสติให้เป็นก่อน มองออกไหมว่า.. ขณะนี้ ‘เป็นกิเลส?’ หรือ ‘ไม่ใช่กิเลส?’ ขณะนี้ ’เป็นกุศล?’ หรือ ‘อกุศล?’ มองสภาวะให้ออกก่อน ไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะไปเจริญอกุศลอย่างเพ่งๆ คิดจะทำสมาธิ แต่ไปเจริญอกุศลอย่างเพ่งเอาไว้ด้วย มันก็กลายเป็นว่า เพราะขาดสติ ทำให้ทำมิจฉาสมาธิ ต้องระวังด้วยนะ! จริง ๆ แล้ว “สติจำเป็นในที่ทุกสถาน ในการณ์ทุกเมื่อ” “สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา” “สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง” ไม่ใช่ว่าจะนั่งสมาธิล้วนๆ ไม่เอาสติ..ไม่มีนะ ต้องมีสติอยู่เสมอ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=lIRLHmJNZjM (นาทีที่ 45:44 – 50:20)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #แผ่เมตตา #ถาม : ทุกครั้งที่โยมนำคุณพ่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ ผ่าน Facetime หลังแผ่ส่วนกุศลเรียบร้อยแล้ว ท่านมักจะคุยเรื่องความทุกข์เก่า ๆ เอ่ยถึงบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว คนที่เกลียดท่าน ตำหนิท่าน เหตุการณ์ที่ทำให้ท่านจิตตก ใจท่านไม่สงบเลยเจ้าค่ะ โยมจึงเปิดภาพพระพุทธเจ้า ให้ท่านดูหลาย ๆ ภาพ พี่สาวรายงานโยมว่า ท่านนั่งพูดคนเดียวบ่อย ๆ บางทีโมโห ก่นด่าอยู่คนเดียวเสียงดัง มีธรรมวิธีข้อไหน จะนำใจของคุณพ่อให้ทุกข์น้อยลง? และ ท่านสามารถฝึกพ้นทุกข์ได้ไหม? ท่านจะจำวิธีทำสติ สมาธิ อนุโมทนาบุญ ได้อย่างไร? #ตอบ : ที่โยมนำพ่อสวดมนต์นั่งสมาธิ ก็ถือว่าดีนะ ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ทีนี้ก่อนจะแผ่ส่วนกุศล ให้นำคุณพ่อเจริญเมตตาก่อน ให้เห็นน้อมมาที่ตัวเองก่อน “เจริญเมตตา ให้เมตตาตนเองก่อน” บอกโยมพ่ออย่างนี้นะ เวลาเจริญเมตตา ให้เมตตาตนเองก่อน ทำเมตตาให้เกิดขึ้น แล้วค่อยแผ่ออกไป เวลาเมตตาตนเอง ในบทสวด ที่พระสวดจะใช้คำว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ” แปลว่า ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข เราก็นำคุณพ่ออย่างนี้เลยนะ ถ้ามีบทสวด เราก็ใช้บทสวด ถ้าไม่มีบท เราก็พูดนำ.. “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข” “ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” “ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้จองเวรใคร” คำนี้สำคัญนะ! “ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้พยาบาทใคร” สองคำนี้สำคัญ! สองคำนี้ล่ะ คือ ปัญหา แล้วเราจะนำใจคุณพ่อให้น้อมมาเห็นปัญหาตรงนี้ เราปรารถนาความสุข ก็บอกให้ตัวเองมีความสุข ตรงนี้จะเกิดขึ้นง่าย นี่คือ เมตตาตนเอง “ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข” “อย่าได้มีทุกข์” “อย่าได้จองเวรใคร” ไอ้ ‘จองเวร’ นั่นล่ะ เป็นตัวขัดขวางให้ไม่สุขแท้จริง “อย่าได้พยาบาทใคร” ไอ้ ‘พยาบาท’ ก็เป็นตัวปัญหาอีกตัวหนึ่ง ที่ทำให้เราไม่มีความสุขเช่นเดียวกัน มันก็คือภาพรวมของ ”โทสะ” นั่นเอง แต่เป็นโทสะที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก กว่าจะไปเป็นพยาบาทได้ มันก็ต้องโกรธ ..แล้วก็คิดแล้วคิดอีก กลายเป็นพยาบาท พยาบาทเสร็จแล้ว ..จองเวรข้ามภพข้ามชาติ ไอ้จองเวรนี้ล่ะ เป็นตัวหนัก หนักสุด จองเวรนี้คือ เจอเมื่อไหร่ก็จะแก้แค้น แม้จะข้ามภพข้ามชาติ เหมือนอย่างที่พระเทวทัตจองเวรกับพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งมาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ยังจองเวรอยู่ “การจองเวร” ก็คือมาจากโทสะนั่นเอง เพราะฉะนั้นเวลาเรานำสวดมนต์นั่งสมาธิผ่านมาแล้ว ก่อนจะไปแผ่ส่วนกุศล คือมีบุญอะไรจะไปแผ่ให้คนอื่น ทำบุญอีกตัวหนึ่งขึ้นมาก่อน คือ “เจริญเมตตา” และเริ่มที่ “เมตตาตนเอง” อธิบายด้วยว่า เจริญเมตตาตนเอง คือ ขอให้ตนเองนี้มีความสุข ตัวคุณพ่อเองก็นึกถึงว่า.. ‘ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความสุข อย่าได้มีทุกข์ อย่าจองเวรใคร จิตนี้อย่าไปจองเวรใคร จิตนี้อย่าไปพยาบาทใคร จิตนี้จงอย่าได้มีทุกข์ใด ๆ (ไอ้ทุกข์ทั้งหลายก็มีจากจองเวรและพยาบาทนี้) จงรักษาตน ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลาย ทั้งสิ้น ทั้งปวง’ ก็คือ มีปัญญา.. มีสติ มีปัญญา รู้ทันสภาวะ มีทุกข์เกิดขึ้นมา เบื้องต้นเลย ส่วนใหญ่มันจะมาจากจิตที่มีกิเลส คือโทสะ คืออยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร จิตคิดถึงคนที่เกลียดท่าน ตำหนิท่าน ไปคิดถึงคน ๆ นั้นนะ โทสะเกิดขึ้นทันที แว็บเดียวที่คิดถึง..ก็ทุกข์เลย โทสะเกิดขึ้น ทุกข์ทันที เพราะฉะนั้นให้รู้ทันตัวขัดขวางความสุข คือไอ้โทสะนี้ รู้ทันมัน ก่อนที่มันจะขยายกลายเป็นพยาบาท และเป็นจองเวร เวลาจูงใจให้เจริญเมตตา ทำอย่างนี้ แล้วก็ค่อยแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย แผ่ออกไป ยังไม่ต้องระบุว่าให้กับคนที่เกลียดหรือคนที่เป็นศัตรูก็ได้ แผ่ออกไปแบบทั่ว ๆ ไป ถ้าไปนึกถึงศัตรูก่อนนะ บางทีเมตตาหายไปเลย กลายเป็นโทสะขึ้นมาอีก ให้คิดแบบทั่ว ๆ ไป ไม่ต้องนึกถึงหน้าใครก็ได้ ถ้าจะนึก ให้นึกถึงหน้าคนที่เรารักก่อน คนในครอบครัว คนใกล้ชิดที่เป็นมิตรกัน – แผ่เมตตาออกไปจนถึงคนไม่รู้จัก – สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เขาทุกข์อยู่ ขอให้เขาพ้นทุกข์ไป ขอจงมีความสุข ใครที่มีทุกข์อยู่ก็ขอให้พ้นทุกข์ – ใครที่ประสบความสำเร็จอะไร เราดีใจด้วย – แล้วก็ข้อสุดท้าย เจริญอุเบกขา ทำในใจว่า ‘สัตว์โลกเป็นตามกรรม’ กรรมมี ๓ แบบ “สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม” โดยภาพรวมก็คือ ใครทำกรรมดี ..ย่อมได้รับวิบากที่ดี ที่เป็นสุข ใครทำกรรมที่ไม่ดี ..ย่อมได้รับวิบากที่ไม่ดี ที่เป็นทุกข์ และกรรมที่ทำได้ง่ายมาก คือ มโนกรรม กรรมทำได้ ๓ ทาง ก็คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อยู่บ้านไม่ได้ไปไหน มีมโนกรรม คิดถึงคนไม่ชอบ แล้วเครียด..ทุกข์ คิดถึงคนไม่ชอบ แล้วก็มีโทสะ..ทุกข์ อันนี้เรียกว่าทำกรรมแล้ว เป็น “มโนกรรมที่เป็นอกุศล” ..ให้รู้ทัน! รู้ทันมโนกรรมที่เป็นอกุศล แล้วเมตตาตนเองไป คิดอย่างนี้ซ้ำ ๆ ‘มีทุกข์เกิดขึ้นมาให้เมตตาตนเอง มีทุกข์เกิดขึ้นมาให้เมตตาตนเอง อย่าได้พยาบาทใคร อย่าได้จองเวรใคร ขอให้จิตนี้พ้นทุกข์’ เมตตาตนเอง แล้วก็แผ่ออกไป แผ่ออกไปซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ถ้าทำได้ครบถ้วนอย่างนี้ แรก ๆ อาจจะยังติดขัดบ้าง เพราะยังไม่คุ้น แต่พูดซ้ำ ทุกวัน ๆ ๆ จิตใจก็จะคุ้นชินที่จะเจริญเมตตา ขอให้มีฉันทะในการที่จะนำคุณพ่อให้พ้นจากความคิดในแง่ร้ายแบบนี้ ด้วยการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นก็คือ “เจริญพรหมวิหาร” นั่นเอง ก่อนที่จะแผ่ส่วนกุศล ตัวนี้เป็นกุศลสำคัญที่จะทำให้คุณพ่อพัฒนาขึ้น ..ลองทำดู แล้วตอนแผ่ส่วนกุศลก็นึกถึงบุญ ใน ๓ รูปแบบ คือ บุญจากการให้ทาน บุญจากการรักษาศีล บุญจากการเจริญภาวนา บุญจากการให้ทานมีทั้งวัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน ตัวเจริญเมตตาเมื่อสักครู่นี้ เป็น “อภัยทาน” มีอานิสงส์มากกว่าวัตถุทานด้วย แล้วบุญที่ได้จากการเจริญเมตตานั้น เราเป็นผู้ได้ก่อนเลย เราเจริญเมตตา เราเป็นสุขก่อนเลย ..แล้วก็แผ่ไปให้ผู้อื่น อย่างนี้ การแผ่ส่วนกุศล จะมีอานุภาพมากขึ้น เพราะใจเป็นบุญจริง ๆ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=wW0q91-EkRw&t=2399s (นาทีที่ 30:43 – 40.02)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ปฏิเสธการให้เงินกับคนขี้เกียจทำงาน #ถาม : การปฏิเสธการให้เงินใช้ กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะว่าเขาขี้เกียจทำงาน ไม่กระตือรือร้น เขาคิดอยู่เสมอว่า คนรอบ ๆ ข้างจะช่วยเขา จึงทำให้เขาเคยตัวเป็นนิสัย โยมกำลังช่วยอยู่ แต่ด้วยเหตุผลข้างบนนี้ ทำให้โยมไม่อยากช่วยแล้ว..จะบาปไหม? #ตอบ : บางทีเราอาจจะต้องให้เขาเรียนรู้บ้างว่า ผลของการขี้เกียจนั้นเป็นอย่างไร? ก็สามารถให้บทเรียนเขาได้ แต่ต้องระวังว่า ไม่ใช่เพราะโกรธ หรือ แค้น ไม่ใช่เพราะมีโทสะ แต่ทำด้วยใจอุเบกขา ปรารถนาให้เขาเรียนรู้ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของ ๆ ตน ถ้าทำอกุศลกรรม ก็จะได้รับผลที่เป็นอกุศล คือ ไม่น่าพอใจ “ความขี้เกียจ เป็น อกุศล” เพราะฉะนั้น ผลของความขี้เกียจเนี่ย ไม่เป็นที่รักของคนอื่นเลย คนก็จะมองในแง่ที่ว่า ‘คนนี้ไม่น่าคบหา’ ‘ไม่น่าใช้งาน’ ‘ไม่น่าจ้าง’ ‘ไม่ควรที่จะได้รับค่าจ้างแพง ๆ’ เพราะว่า.. ผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่ได้ตามที่สั่ง เพราะว่า “ขี้เกียจ” ก็ควรจะให้เขาได้เรียนรู้ผลของความขี้เกียจนั้น แต่ด้วยใจอุเบกขา ไม่ใช่โทสะ ..ทำได้นะ ทำได้ คือเป็นการช่วยเขาอย่างหนึ่ง เป็นการช่วยให้เขาได้รู้ว่า ความขี้เกียจมีโทษอย่างนี้ เขาจะได้เข็ดจากความขี้เกียจนั้น แล้วก็ไม่ขี้เกียจอีก ..ขยันมากขึ้น เรียกว่าเจตนาเพื่อจะช่วยเหลือเขานั่นล่ะ แต่เพราะเขาทำเหตุที่ไม่ดี คือ ขี้เกียจ เขาย่อมได้รับผลที่ไม่ดี คือให้เขาเห็นผลของกฏแห่งกรรมนั่นเอง ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลที่ดี ทำกรรมที่ไม่ดี ก็ย่อมได้รับผลที่ไม่ดี นี่เขาทำกรรมไม่ดี ทำเหตุไม่ดี ก็จะได้รับผลไม่ดี ก็สามารถทำได้นะ แต่ “ระวังใจ” เท่านั้นเอง ใจของเราต้องเป็นกุศลด้วย กุศลในที่นี้คือ “วางอุเบกขา” ออกอากาศวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=SAEU0b97XBg&t=6502s (นาทีที่ 1.45.45-1.48.19)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ไวยาวัจกร #ถาม : กราบนมัสการค่ะ มีความเข้าใจว่า การมอบปัจจัยโดยตรงที่พระสงฆ์ คือ “ผิด” แต่หลายครั้ง เวลาตักบาตร คนอื่นใส่เงินในย่ามกันทุกคน มีเราคนเดียวไม่ได้ใส่ แบบนี้ แปลว่า.. เรายึดติดเกินไปหรือเปล่าคะ? แล้วควรหรือไม่ สำหรับยุคนี้? #ตอบ : ถ้าเรารู้ว่ามันผิด แล้วจะทำทำไมล่ะ?.. ใช่ไหม? คนอื่นเขาไม่รู้ ..เขาเลยทำ คนอื่นเขาไม่รู้ เลยทำ ..ก็ปล่อยเขาไป สถานการณ์ตรงนั้น ถ้าเราจะไปบอกว่า “คุณอย่าไปทำอย่างนั้น!” เราอาจจะถูกมองไม่ดี บางทีเราคนเดียวใช่ไหม? แล้วเขาใส่กันมา ๑๐ คนแล้ว เรา..ผู้ปฏิบัติถูก อาจจะถูก”ผู้เข้าใจผิด”มองเราไม่ดี เพราะฉะนั้น ไม่เป็นไร เขาไม่รู้ เขาจึงทำอย่างนั้น แต่เรารู้แล้ว ถ้าเราทำ.. แสดงว่า.. “เราไม่เอื้อเฟื้อ” เพราะฉะนั้น เมื่อรู้แล้ว ถ้าเราจะถวายปัจจัย เราก็ไปตามถวายไปที่วัด ถ้าท่านมีลูกศิษย์มาด้วย ก็เอาปัจจัยนี้ฝากกับลูกศิษย์ บอกลูกศิษย์ว่า “นำปัจจัยนี้ถวายพระอาจารย์” แล้วก็บอกกับพระด้วยว่า “ได้ถวายปัจจัย ฝากไว้กับลูกศิษย์” เรียกว่า..ให้ท่านไป cross check (ตรวจสอบยืนยันความถูกต้อง) กันเอง คือ มอบปัจจัยให้กับลูกศิษย์ แล้วก็บอกกล่าวกับพระภิกษุด้วย ว่า “ได้มอบให้กับลูกศิษย์ไว้” “ลูกศิษย์” ในที่นี้ก็จะเป็นไวยาวัจกร คือ คอยจัดการช่วยเหลือรับใช้ ผู้ที่เป็น “ไวยาวัจกร” คือ รับปัจจัยของเราไปแล้ว ก็ไปจัดการตามที่พระประสงค์ ต้องการอะไรที่เหมาะกับสมณเพศ ท่านก็จะไปบอกกับลูกศิษย์ (ผู้ที่เป็น “ไวยาวัจกร”) อันนี้เป็นวิธีที่ถูก เรารู้วิธีที่ถูกแล้ว ก็ควรจะทำให้ถูก ไม่ใช่ไปทำผิดตามคนที่เขาไม่รู้ มันก็เลยยิ่งตอกย้ำความผิดกับไปใหญ่ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=yOFtaItcsO0&t=6079s (นาทีที่ 1.38.48-1.41.16 )

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ทำบุญ #กรวดน้ำไม่จำกัดเวลา #ถาม : เวลาที่เหมาะสม สำหรับการกรวดน้ำหลังจากทำบุญ ควรเป็นเวลาก่อนเพลไหมคะ? #ตอบ : “เพล” หมายถึง ๑๑.๐๐ น. .. “ก่อนเพลไหม?” .. “ไม่จำเป็น!” อันนี้ทำไมถามว่าเป็นเวลาก่อนเพล!?! คือ สมมติว่า เราจะอุทิศให้ “เปรต” เนี่ยนะ เปรตไม่ได้ถือศีลข้อ “วิกาลโภชนาฯ” ดังนั้น ทำบุญตอนบ่าย ก็อุทิศตอนบ่ายได้ ทำบุญตอนเย็น ก็อุทิศตอนเย็นได้ “บุญ” มันไม่ใช่ว่าจะจำกัดเวลา สมมติว่า เราใส่บาตรตอนเช้า ใส่เสร็จแล้ว มีความปลื้มใจ ปีติใจ กับการทำบุญนั้น ก็อุทิศ-กรวดน้ำได้เลย ไม่ต้องรอก่อนเพล! สมมติ..ลองแทนใจนะ ลองแทนใจ “เปรต” ที่กำลังรอรับส่วนบุญอยู่นี้ เห็น..เรากำลังใส่บาตร.. ‘เอ.. เขาจะอุทิศให้เราไหมหนอ?’ เราใส่บาตรเสร็จ แล้วเราเดินกลับบ้าน เราทำอะไรไปเรื่อย ๆ เนี่ยนะ ไม่ได้สนใจจะอุทิศให้ใคร ไม่ได้กรวดน้ำเลย ..เขาร้องไห้กลับไปแล้ว จะมากรวดน้ำทีหลังนี่..เขาไม่รู้แล้ว! กำลังมีบุญอยู่ตอนไหน ..กรวดน้ำตอนนั้น กำลังมีบุญอยู่ขณะไหน กำลังปลื้มใจ บุญยังไม่หดหายไปไหนเลยนะ.. ก็กรวดน้ำตอนนั้น! ไม่ต้องรอก่อนเพล-หลังเพลอะไรไม่เกี่ยวเลย กำลังมีความปลื้มใจปีติใจในบุญ ให้อุทิศตอนนั้น! ในเวลาที่กำลังมีความปลื้มใจปีติใจ เรื่อง “ก่อนเพล-หลังเพล” นั้นไม่เกี่ยว ไม่ต้องไปรอ แล้วไม่จำกัดว่า หลังเพลจะอุทิศไม่ได้นะ..อุทิศได้ ทำบุญ ตอนเย็น, ตอนค่ำ, ตอนดึก ถ้ามีนะ..ก็อุทิศได้ “เนื้อนาบุญ” ก็ไม่ใช่จำกัดเฉพาะพระเท่านั้นนะ ใครก็ตาม มีศีล เราก็ให้ได้ เพราะฉะนั้น.. เวลาที่เหมาะสมสำหรับการกรวดน้ำ คือ “เวลาที่กำลังมีบุญ” บุญเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่าเพิ่งให้เวลาปล่อยไปเนิ่นนาน เพราะผู้ที่จะมาอนุโมทนา เขาจะหมดกำลังใจ แล้วก็หมดหวัง ร้องไห้กลับไปซะก่อน ออกอากาศวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=H8orzKIbpYQ&t=6962s (นาทีที่ 1.53.24-1.56.05)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #กระทง(ไม่)หลงทาง #ถาม : เคยได้ยินว่า “ถ้าเราทำบุญร่วมกับใคร ก็จะมีโอกาสมาพบกันอีก ในชาติภพต่อ ๆ ไป” ถ้าเราไม่อยากเจอกับคนนั้นอีก เราไม่ควรทำบุญร่วมกับคนนั้นหรือเปล่า? #ตอบ : “ทำบุญ” .. ทำบุญกับใคร ก็ดีทั้งนั้นล่ะ! ถ้าไม่อยากเจอกันอีกนะ ให้ทำบุญที่เป็น “กรรมฐาน” ทำบุญที่เป็นกรรมฐานนี้ จะเป็น “สมถกรรมฐาน” – “วิปัสสนากรรมฐาน” คู่กัน ถ้าเราทำกรรมฐาน แล้วเขาไม่ทำ.. ก็ไม่เจอกัน ! เรียกว่า เราสร้างบุญในแง่ที่ว่า ระดับสูงหน่อย เขามาไม่ถึง ก็ไม่เจอกัน จะให้ดีเลย ก็คืออธิษฐานว่า “จะอยู่กับคนนั้น” คือเราต้องการอยู่กับใคร ก็อธิษฐาน.. มีเหมือนกันนะ ในสมัยพุทธกาล มีโยมอยู่คู่หนึ่ง อธิษฐานมาเจอกันมาทุกชาติ พอมาถึงชาตินี้ ก็ยังมีความพอใจ ที่จะอยู่ด้วยกันต่อ แล้วก็ยังบอกว่า “ยังขอเจอกันทุกชาติไป” ก็.. – ทั้งคู่ต่างเป็นคนดี – ทั้งคู่ต่างมีความพอใจที่จะอยู่ด้วยกันต่อ – ต่างก็รักษาศีล – ต่างก็มีความซื่อสัตย์ต่อกัน – มีความประพฤติดีงาม อยู่แล้วพอใจ อย่างนี้เขาอยากเจอกันต่อ ก็เป็นความปรารถนาของเขา ส่วนการ “ไม่อยากเจอกับคนนั้นอีก” ให้ดูว่าเรามีโทสะไหม? ถ้ามีโทสะ – ให้รู้ทันโทสะ มันจะพัฒนาตนเองได้ดีกว่า ถ้ามีความ “อยาก” ที่จะ “ไม่” มันคือ “ตัณหา” อย่างหนึ่ง – ให้รู้ทันตัณหาไป ตัณหาในกรณีนี้ มันเป็น “อยาก” ที่จะ”ไม่” ไม่ได้ “อยาก” เจอ ก็คือ “อยาก” ที่จะ “ไม่เจอ” ให้รู้ทัน “ตัณหา” ที่เกิดขึ้นในใจ เราภาวนาของเราไปดีกว่า จะทำบุญร่วมกับใครนี้นะ เราก็เคยทำบุญร่วมกันมากับคนมากมาย ครูบาอาจารย์เคยเปรียบเทียบว่า “คนเรานี้ การที่จะอยู่กับใคร หรือว่า จะจากกันไปนะ มันไม่แน่ไม่นอน” ครูบาอาจารย์เทียบเหมือนกับกระทง เคยไปลอยกระทงไหม? นี่เดี๋ยวจะเดือนสิบสองแล้วนะ “ลอยกระทง” กระทง ปล่อยจากมือ ๒ มือ ดูคู่กันดีนะ กระแสน้ำก็พัดไป..จากกัน จากกระทงนี้ ไปใกล้กับกระทงโน้น จากกับกระทงโน้น แล้วไปใกล้กับกระทงโน้นอีก เขาเรียกเป็น “ความไม่แน่นอนของสังสารวัฏ” เพราะฉะนั้น เราอย่าไปผูกใจกับใคร! ดูว่ามันเป็น “ความอ่อนแอทางใจ” ของเราเอง พอใกล้ใคร..ก็ชอบ ใกล้ใคร..ใจก็อ่อน นี่เป็นความอ่อนแอทางใจของเราหรือเปล่า? ลองดูก็แล้วกันนะ ถ้าเห็นอย่างนี้จะปลอดภัยกว่า ส่วนชาติหน้าจะไปเจอใคร มันก็เรื่องของกระทง ที่ลอยไปตามสังสารวัฏ ลอยไปตามกระแสความเกิด-ดับ ในสังสารวัฏ ถ้าเบื่อ ก็มาทำกรรมฐาน ทำกรรมฐาน ให้มันไม่ลอย ไม่เป็นกระทงที่ลอยไปตามยถาอย่างนั้น อีกต่อไป ให้เห็น..แล้วเบื่อ ดีกว่า เพราะฉะนั้น ในระหว่างนี้ “ให้ดูใจตัวเอง” ให้ดูใจตัวเองว่า มันอ่อนแอในแง่ที่ว่า มัน “หลง” พอใจ “หลง” ไม่พอใจ กับคนใกล้เคียงหรือเปล่า? ถ้าดูตรงนี้ได้ทัน ก็จะปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน ตอนนี้เราอยู่ในฐานะที่จะพอใจเขาได้ไหม? ถ้าไม่ควรจะพอใจ มีความพอใจเกิดขึ้น ก็ไม่ทำตาม ให้รู้ทันอย่างนี้ดีกว่า ดีกว่าจะมาอธิษฐานว่า ‘อย่าเจอคนนี้’ มันเป็นอย่างไร ? คล้าย ๆ กับว่า ถ้ายังเวียนเกิดเวียนตาย ก็เหมือนกระทงยังอยู่ในกระแสน้ำ เดี๋ยวมันก็ไปใกล้กระทงโน้น เดี๋ยวมันก็ใกล้กระทงนี้ อันนี้เล่นยาก เขาเรียกว่า ในเมื่อมันยังไม่สามารถละกิเลสในแง่ของกาม หรือว่ากามภพ มันยังอยู่ในกามภพ มันก็อดไม่ได้ ที่จะพอใจคนโน้นคนนี้ ลำบากนะ! ให้รู้ทันว่า ตอนนี้เราอยู่ในฐานะที่จะพอใจเขาได้ไหม? ถ้าไม่ควรจะอยู่ในฐานะที่จะพอใจใคร ตอนนี้นะ ก็อย่าไปพอใจ รู้ทันว่า ‘ตอนนี้เป็นเรื่องต้องห้าม’ ก็อย่าไปยุ่งเกี่ยว!! ออกอากาศวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=IPviWygnkFA (นาทีที่ 47.55-53.46)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ธรรมดาต้องพลัดพราก #ถาม : เราจะทำใจให้ “เบิกบาน” ได้อย่างไร? ขณะที่เราจะต้อง “พลัดพรากจากสิ่งที่รัก” #ตอบ : ยังไม่ต้องเบิกบานก็ได้ ..แค่ยอมรับ แค่ยอมรับว่า ‘มันเรื่องปกติ’ เป็นเรื่องปกติ ของทุกชีวิตที่เกิดมา.. พระพุทธเจ้าสอนให้ทุกคน พิจารณาอยู่เนือง ๆ (เนือง ๆ แปลว่า บ่อย ๆ) พิจารณาบ่อย ๆ ว่า เราจะต้อง ‘มีความแก่ เป็นธรรมดา’ ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เราจะต้อง ‘มีความเจ็บไข้ เป็นธรรมดา’ ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เราจะต้อง ‘มีความตาย เป็นธรรมดา’ ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เราจะต้อง ‘มีความพลัดพราก จากของรักของเจริญใจ เป็นธรรมดา’ คือมีของรัก แล้วก็ต้องพลัดพรากอยู่ดี นอกจากจะไม่รักอะไรเลย ก็จะไม่ต้องพลัดพรากใช่ไหม? แต่มันมีรักแล้ว ก็จะต้องพลัดพราก เป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องพลัดพราก จากของรัก จากคนรัก ถ้าดูอย่างนี้ ถ้าพิจารณาบ่อย ๆ แล้วเกิดมีความพลัดพรากขึ้นมา ..ก็ ‘ว่าแล้ว! กูว่าแล้ว! ว่าจะต้องพลัดพราก’ ..ก็เห็นเป็นธรรมดา จะไม่ทุกข์ จะไม่โศก จนกลายเป็นเรื่องทำร้ายตัวเอง มันอาจจะทุกข์ อาจจะโศก อาจจะกระเทือนใจบ้าง แต่เราพิจารณาอยู่บ่อย ๆ อยู่แล้ว “เราจะต้องมีความพลัดพราก เป็นธรรมดา” พอพิจารณาอย่างนี้ พอมันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ก็..เป็นธรรมดา มันลงที่ คำ “ธรรมดา” ได้เมื่อไหร่ ก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าให้ “เบิกบาน” “เบิกบาน” นี่อาจจะไม่จำเป็นเลย แต่มีความเข้าใจว่ามันเป็นเรื่อง “ธรรมดา” ความเบิกบานจะไม่มี ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร มันไม่ต้องมาแสร้งทำเบิกบาน ในยามที่ต้องมีความพลัดพราก แต่พลัดพรากแล้วเข้าใจ เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เป็นอย่างนี้ ที่มันเป็นทุกข์.. เพราะว่ารู้สึกไม่ธรรมดา!! ‘ทำไมต้องเป็นกู?’ ‘ทำไมต้องเกิดกับชีวิตฉัน?’ มันไม่ยอมรับความจริง พอไม่ยอมรับความจริง ก็จะเป็นทุกข์ เพราะมันปรารถนาในสิ่งที่ฝืนกับความจริง แต่ถ้าเห็นความจริง..เป็นความจริง ยอมรับมันได้ ไม่ขัดกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ คือ มันไม่เที่ยง เคยมีความสุข สุขนั้นไม่เที่ยง เห็นความไม่เที่ยง แล้วไม่ขัดแย้ง ยอมรับความจริง.. ไม่ทุกข์ เข้าใจไหม? มันบังคับไม่ได้ บังคับใจเขาไม่ได้ บังคับใจตัวเองยังไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น.. ถ้ามันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา ธรรมดา.. มันอยู่นอกความควบคุม อยู่นอกการบังคับ ไม่สามารถบังคับอะไรได้ ใจตัวเองก็ยังบังคับไม่ได้ ถ้าเห็น ‘ธรรมดา’ จะปลอดภัย ไม่ต้องไปแสร้งทำเบิกบาน แม้ไม่เบิกบาน แต่มีความเข้าใจอยู่ มันก็เรียกว่า เป็นการสงบระงับ ขอเพียงไม่ทุกข์ เท่านั้นพอ วิธีไม่ทุกข์ที่จะปลอดภัย ก็คือ ‘เข้าใจ’ ความเป็นธรรมดา ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มันเป็นเพียง.. ปรากฏการณ์หนึ่งในชีวิตเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น.. ความพลัดพรากก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าเราไม่รัก ก็ไม่เกิดการพลัดพรากอย่างนี้ ไม่พลัดพรากจากคนรัก ไม่เกิดพลัดพรากจากของรัก ถ้าเราไม่รักคนนี้ ก็จะไม่เกิดความพลัดพราก..จากคนรักคนนี้ ถ้าไม่รักของสิ่งนี้ มันก็จะไม่เกิดการพลัดพราก..จากของสิ่งนี้ ทั้ง ๆ ที่มันก็จะต้องแตกสลายเป็นธรรมดา เราก็รู้สึก ‘ธรรมดา’ ว่ามันจะต้องแตกสลายไป อาจจะเผลอรักไปแล้ว แต่ก็เป็นเวลาที่เราจะทำความเข้าใจว่า ‘มันเป็นเรื่องธรรมดา’ ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้ ไม่ต้องเบิกบานก็ได้ มันจะมีคุณค่ายิ่งกว่าเบิกบานด้วย มันคือเป็น “ปัญญา” เข้าใจความจริงของชีวิตไปเลย ออกอากาศวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=jZsiBniU64I (นาทีที่ 2.04.31-2.08.51)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #หัวใจเศรษฐี #อุอากะสะ #ถาม : โยมจะสอบถามเกี่ยวกับเรื่อง “ลาภลอย” บางคนถูกหวยบ่อยๆ แต่บางคนไม่ถูกเลย เป็นเพราะอะไรเจ้าคะ? #ตอบ : โอ้! แสดงว่าไม่ได้ให้ทานเอาไว้ ไม่ได้สงเคราะห์คนยากคนจน ไม่ได้ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ..ประมาณนี้ คือ เวลาคนเขาเดือดร้อน เราไม่ได้ไปทำเซอร์ไพรส์ (surprise) เขา (surprise แปลว่า ทำให้ตื่นใจ, ประหลาดใจ, ไม่คาดคิดมาก่อน) เวลาเราจะถูกหวย หรือว่าจะถูกลาภลอยใหญ่ๆ มันต้องระดับเซอร์ไพรส์นะ เวลาเราไปช่วยใคร แล้วเขาปลื้มมากเลยนะ ในการที่เขาได้รับความช่วยเหลือจากเรา มันก็จะเป็นเหตุให้เรา เวลาจะได้ลาภ ก็จะได้ลาภแบบเซอร์ไพรส์ ๆ ทีนี้ไอ้บุญพวกเรา มันทำแบบเนิบๆ มันก็ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ ก็เป็นไปตามเหตุที่ทำนั่นล่ะ ถ้าเอาจริงๆ นะ “ไม่ต้องไปหวัง” อย่า! ไปหวังลาภแบบประเภทนี้ ลาภที่ว่า “จากการพนัน” นะ มันเอาแน่ไม่ได้!! ถ้าหวังจะมีกินมีใช้ให้.. ๑. ขยันหา ๒. รักษาไว้ให้ดี ๓. มีกัลยาณมิตร ๔. เลี้ยงชีวิตชอบ “อุ อา กะ สะ” คือหัวใจเศรษฐี ซึ่งนำมาจาก “ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตนิกธรรม)” ได้แก่ ๑. อุ – อุฏฐานสัมปทา มีความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติการงานและการประกอบอาชีพที่สุจริต รวมถึงใช้ปัญญาหาวิธีที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จ ๒. อา – อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา เมื่อหามาได้ ก็ต้องรู้จักรักษาเอาไว้ ไม่ใช่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย คุ้มครองโภคทรัพย์และผลงานที่ทำมาด้วยหมั่นเพียรนั่นแหละ ๓. กะ – กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตร คือ คบเพื่อนดีด้วย เพื่อนที่มีน้ำใจ ร่วมสุขร่วมทุกข์ และเตือนเราได้ในคราวที่เราประมาท อย่าไปคบเพื่อนชวนเที่ยวกลางคืน ชวนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย หรือว่าคบเพื่อนที่ชวนให้ไปอบายมุข ๔. สะ – สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตให้พอสมควร มีความเป็นอยู่เหมาะสมแก่ฐานะของตัวเอง เช่น มีรายได้หมื่น ก็อย่าไปใช้จ่ายเป็นแสน จัดสรรรายได้หนึ่งหมื่นนี้ ให้พอเลี้ยงชีพ ในการที่จะเลี้ยงตัวเองให้ผ่านไปให้ได้ ให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย อย่าใช้จ่ายเกินตัว รู้จักประหยัด แล้วก็กลับไปข้อ ๑ ใหม่.. ขยันหา หามาได้..รักษาให้ดี ๆ รักษาให้ดี ๆ ไม่ใช่ว่าจะไม่ใช้เลยนะ ใช้ ..ใช้แต่ให้มันสมเหตุสมผล พอสมควรแก่ฐานะของตัวเอง อะไรจำเป็นต้องใช้..ก็ใช้ ไม่ใช่ว่าจะไม่ใช้เลย แล้วก็ข้อสำคัญข้อ ๓. คือ “กัลยาณมิตตตา” ก็คือคบเพื่อน “คบเพื่อน” เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญเลยว่า “เราจะไปดี หรือ ไปร้าย?” ก็คือ เพื่อนเนี่ยจะพาเราไป เราคบเพื่อนดี มันก็พาเราไปดี คบเพื่อนชั่ว มันก็พาเราไปชั่ว คบเพื่อนสำมะเลเทเมา มันก็พาเราไปสำมะเลเทเมา คบเพื่อนใช้จ่ายมาก ถ้าเราไปอยู่กลุ่มนี้นะ แล้วเราไม่จ่ายนะ เราก็ชักอึดอัดใช่ไหม? ก็ต้องดูว่า การคบเพื่อนของเรา.. – เราคบเพื่อนเหมาะกับฐานะเราไหม? – มันเป็นไปเพื่อความเจริญไหม? ถ้าเราอยู่ในฐานะเลือกได้ เช่นเป็นผู้บริหาร ก็ต้องเลือกบุคคลที่จะมาร่วมงานด้วย เพราะฉะนั้น การคบเพื่อนดี นอกจากจะไม่ใช่เพื่อนในระดับประเภทว่าอายุเท่าๆ กันนะ แม้แต่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์นี้ก็เป็นเพื่อนนะ เรียกว่า “เป็นกัลยาณมิตร” เพื่อนนี้ไม่ได้หมายความว่า เป็นเพื่อนร่วมเรียนร่วมชั้นเท่านั้นนะ พระพุทธเจ้า.. พระองค์ยังตรัสว่า พระองค์เป็นกัลยาณมิตรของทุก ๆ คน ใน”อุปัฑฒสูตร” สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด ทีเดียวนั้นพึงทราบโดยปริยายนี้ ด้วยว่าเพราะอาศัยเราผู้เป็นมิตรดี เหล่าสัตว์ผู้มีชาติ (ความเกิด) เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชรา (ความแก่) เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะ (ความตาย) เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส” เพราะฉะนั้นการคบเพื่อน ไม่ใช่ว่าจะเป็นแค่เพื่อนในรุ่นเดียวกัน เพื่อนต่างเจเนอเรชั่น (generation แปลว่า รุ่น) ก็ได้ เพราะฉะนั้น ‘คบครูบาอาจารย์’ ก็เป็นการ ‘คบเพื่อน’ ในแง่ของ ‘กัลยาณมิตร’ เหมือนกัน คือ.. – เป็นผู้ที่จะคอยตักเตือน – ที่จะคอยแก้ปัญหาให้ – หรือชี้ช่องทาง ให้เราเกิดปัญญาขึ้นมา – บอกทางพ้นทุกข์ให้เราได้ ประมาณนี้ การคบเพื่อนที่สามารถทำให้เราเจริญขึ้นเนี่ย ควรหา “กัลยาณมิตร” ในแง่นี้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=RVsLogVc3S4 (นาทีที่ 1.47.00 – 1.51.24)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #หยุดเวียนว่ายตายเกิด #ถาม : ทำอย่างไรถึงจะ “หยุด” วงจรการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้คะ? #ตอบ : ก็มาดูว่า “เหตุให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดนั้นคืออะไร?” ..ก็ไปละเหตุนะ เหตุที่เกิดการเวียนว่ายตายเกิดก็คือ “ตัวตัณหา” เพราะฉะนั้นจะไปละตัวตัณหานี้ได้ ไม่ใช่ไป “อยาก” ไม่ให้มีตัณหา วิธีการละตัณหา ก็คือไป “เจริญมรรค” ความหยุดเวียนว่ายตายเกิด คือ นิโรธ ตัวที่ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด ก็คือ ตัณหา แต่วิธีไม่ใช่ว่า มีตัณหาแล้ว..ละตัณหา หรือว่าไม่เอามัน..มันทำยาก วิธีก็คือ เจริญ “มรรคมีองค์ ๘” “มรรคมีองค์ ๘” ก็สรุปเป็น ศีล สมาธิ ปัญหา แต่มรรคมีองค์ ๘ นี้ จะเริ่มด้วยปัญญาก่อน ๑. สัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ปัญญา) ๓. สัมมาวาจา (ศีล) ๔. สัมมมกัมมันตะ (ศีล) ๕. สัมมาอาชีวะ (ศีล) ๖. สัมมมาวายามะ (สมาธิ) ๗. สัมมาสติ (สมาธิ) ๘. สัมมาสมาธิ (สมาธิ) สัมมา ๒ สัมมาแรกก็คือ เป็นเรื่องของ “ปัญญา” ๓ ข้อต่อมา เป็นเรื่องของ “ศีล” แล้วก็ชุดสุดท้าย เป็นเรื่องของ “สมาธิ” มันเป็นเรื่องของการพัฒนาตนเอง คือ มันต้องมีกระบวนการพัฒนาจิตใจ คนจะ “หยุด” วงจรการเวียนว่ายตายเกิดได้ ..ต้องมี “ปัญญา” แล้วก็ไม่ใช่ปัญญาระดับ..คิดนึกเอา ต้องเป็นปัญญาในระดับที่ว่า “เห็นสภาวะแสดงความจริง” ไม่ใช่เห็นสภาวะเฉย ๆ ด้วยนะ! เห็นสภาวะแสดงความจริงว่า มันไม่เที่ยง หรือ เป็นทุกข์ หรือ เป็นอนัตตา แง่ใดแง่หนึ่งใน ๓ แง่นี้ เรียกว่า “เห็นไตรลักษณ์” การจะมีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็ต้อง “เตรียมจิต” ให้พร้อมจะมีปัญญา ก็คือทำให้.. มีสมาธิ มีสติ มีความเพียร ตัวที่เราต้องการจริง ๆ คือตัวสัมมาสมาธิ แต่มันจะเกิด “สัมมาสมาธิ” ได้ ก็ต้องมี “สัมมาสติ” และ “สัมมาวายามะ” คือ มีความเพียรที่ชอบด้วย พอมีสัมมาสมาธิได้ มันจะมีกำลังในการ “เห็นสภาวะ” ที่จากเคยเห็นว่า ‘เป็นเรา’ มันจะแยกออกมาเป็นว่า ‘อ้าว! นี่มันรูป’ ‘นี่มันนามที่รู้’ มันแยกความเป็นเราออกมาเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นรูป ส่วนหนึ่งเป็นนาม สมมติว่ากายนี้นะ เมื่อก่อนถ้าไม่ภาวนาจะรู้สึกว่า ‘กายเรา’ แต่ภาวนาไป เกิดจิตตั้งมั่นขึ้นมา หรือว่าเป็น “สัมมาสมาธิ” ขึ้นมา ก็จะเห็นว่า ‘กายนี้ถูกรู้ มีจิตเป็นผู้รู้อยู่ต่างหาก’ และ ‘ไอ้กายนี้ ไม่ใช่เรา’..ก็เหลือแต่นาม “นาม” นี้ก็จะมีทั้ง – เวทนา – สัญญา – สังขาร – วิญญาณ ..ก็เรียนรู้ไป คือจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เคยยึด หรือเคยเข้าใจว่าเป็นเรา..แสดงความจริงนี้ มันต้อง “เตรียมจิต” ให้มีคุณสมบัติพร้อมพอ ไม่ใช่คิดเอา! ต้องเป็นการที่จะไป “เห็น” เรียกว่า “ญาณทัศนะ” นั่นเอง “ญาณทัศนะ” นี้คือ “ญาน” เป็นคำหนึ่งที่เป็นเรื่องของปัญญา “ทัศนะ” คือ เห็น เห็นสภาวะนั่นเอง เห็นสภาวะแสดงความจริง ไม่ใช่คิด! ไม่ใช่คิด! คือ ครูบาอาจารย์อาจจะบอก หรือว่า พระพุทธเจ้าเองอาจจะตรัสเอาไว้ แสดงความจริงว่า “เป็นอย่างนี้ ๆ …” ถ้าผู้ฟังไม่มีประสบการณ์จริงจากการเห็นสภาวะ เอาแต่คิดเอานะ จะไม่เกิดปัญญาในระดับที่ว่า จะพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด มันจะเป็นความคิดเทียบเคียง เรียกว่า “วิตรรกะ” เป็นความคิดเอา “คิดเอา” ไม่เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ในระดับที่จะพ้นจากวัฏสงสารได้ มันต้องเป็นระดับ “ญาณทัศนะ” ญาณทัศนะนี้อย่างน้อย ๆ ก็คือมี “วิปัสสนาญาณ “ เห็นว่าสิ่งใดเกิด-สิ่งนั้นดับ ประมาณอย่างนี้ มันจึงจะไปได้ มันจึงจะไม่ไปเวียนว่ายตายเกิด คือหลุด! ตัดวงจรเวียนว่ายตายเกิดได้ การจะเตรียมจิต ก็ต้องมี “ปฏิปทา” หรือมีพฤติกรรมที่เอื้อด้วย ในการเป็นอยู่ ก็ต้องเป็นอยู่ที่ดี เรื่องนี้ก็อยู่ในเรื่องของ “ศีล” หรือ “วินัย” “ต้องมีศีลดี” ไม่ใช่ว่ามุ่งจะเอาแต่สมาธิ แต่ไม่รักษาศีล ก็จะกลายเป็นสมาธิที่ชั่ว ที่เลว พร้อมที่จะไปทำผิดศีลได้ เช่นว่า มุ่งอยากจะทำสมาธิ แต่ใจนี้อยากใหญ่ เช่น พระเทวทัต ..อยากใหญ่ ไปยุให้ลูกฆ่าพ่อ นี้ก็ไปทำให้เขาผิดศีล แล้วตัวเองก็พูดคำพูด ที่ทำให้เขาแตกความสามัคคีกัน จากพ่อลูกรักกันกัน ก็กลายเป็นว่าลูกคิดจะฆ่าพ่อ ใช้คำพูดไม่ดี ผิดศีลนะ จริง ๆ ผิดศีล มันต้องรักษาศีลด้วย รักษาศีล – มีปฏิปทาที่เมื่อย้อนดูแล้ว ไม่แหนงใจ ไม่ถูกการกระทำในอดีตทิ่มแทงใจ คือถ้าทำอะไรไม่ดี พอไปเจริญกรรมฐานนะ มันจะถูกความผิดพลาด ที่เราทำผิดศีลไปแล้ว มันมากวนใจ แล้วจริง ๆ สมาธิ ก็จะไม่ได้สมาธิที่ถูกต้อง อย่างเก่งเลย คือ อย่างพระเทวทัต ทำสมาธิได้ แต่สมาธินั้นยังไม่ใช่สมาธิที่ถูกต้องด้วยนะ ทำฌาน ทำฤทธิ์ได้ แต่ยังไม่ได้จิตตั้งมั่นนะ มันเป็นเพียงสมาธิแบบเอาไปทำอภิญญาบางตัวเท่านั้นเอง ยังไม่เกิดจิตตั้งมั่น ..ไปทำอภิญญา แล้วไป “สนองกิเลสตัวเอง” การได้สมาธิกลับกลายเป็นว่า ทำให้การทำชั่วยิ่งใหญ่ขึ้น ชั่วมากขึ้น เหมือนคนคิดจะทำเลว แต่ไม่มีอุปกรณ์ ก็ทำเลวได้น้อย แต่ถ้ามีอุปกรณ์ มีอาวุธ อะไรขึ้นมา ยิ่งอาวุธนั้นร้ายแรง ก็จะยิ่งทำชั่วได้ร้ายแรงมากขึ้น ..แบบเดียวกัน สมาธิมันเหมือนเป็นอุปกรณ์ เพราะฉะนั้นจะทำให้อุปกรณ์นั้น มีประโยชน์ ไม่มีโทษ ก็ต้องรักษาศีลก่อน ศีลเป็นพื้นฐาน เป็นมาตรฐาน เป็นมาตรฐานเอาไว้ รักษาศีลได้ดี เวลามาทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง ก็จะมีแต่ความผ่องแผ้ว มีความสุข สุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ สรุปแล้วก็คือ มาเจริญ “ไตรสิกขา” ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าในแง่โยมก็คือ ทำ “บุญกิริยาวัตถุ ๓” ทาน ศีล ภาวนา ถ้าจะพูดกันในแง่ของว่า โดยองค์ประกอบหลัก ๆ ก็คือ “มรรคมีองค์ ๘” มันเป็นเรื่องที่เราต้องฝึก ต้องเจริญ ต้องพัฒนาตนเองขึ้นมา ไม่ใช่คิด อยากจะหยุด.. วงจรการเวียนว่ายตายเกิดอย่างเดียว มันต้องทำเหตุด้วย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=ONtGU586HWU (นาทีที่ 1.54.20-2.02.12 )

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อธิษฐานในพรรษา #ถาม : จะออกพรรษาแล้ว ผู้ที่อธิษฐานเข้าพรรษาไว้ ก็จะมีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ขอพระอาจารย์ให้มุมมองในการวางใจ #ตอบ : จะขอทำความเข้าใจคำว่า “ออกพรรษา” นิดหนึ่งก่อน โดยความเข้าใจของโยมทั้งหลายก็คือ พรุ่งนี้ (21 ตุลาคม 2564) ..วันนี้เป็นวันโกน พรุ่งนี้เป็นวันพระใหญ่ เป็นวันพระสุดท้ายของการจำพรรษาของพระภิกษุ โยมก็จะเรียกกันง่าย ๆ ว่า “วันออกพรรษา” แต่จริง ๆ ยังไม่ออกนะ ออกจริง ๆ ในวันรุ่งขึ้น วันพรุ่งนี้ยังต้องอยู่ในวัดนะ อธิษฐานอยู่ที่ไหนก็ต้องอยู่ที่นั่น ยังออกไม่ได้ วันสุดท้ายของการจำพรรษา ซึ่งมีชื่อเรียกในทางพระวินัยเป็นคำเฉพาะว่า “วันปวารณา” แปลว่า เปิดโอกาส หมายความว่า พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาด้วยกัน ไม่ว่าจะกี่รูปก็แล้วแต่ เมื่อถึงวันปวารณาให้มาปวารณากัน คือปกติในวันขึ้น ๑๕ ค่ำก็ตาม แรม ๑๕ ค่ำก็ตาม บางเดือนอาจจะเป็นแรม ๑๔ ค่ำ คือ เดือนละ ๒ ครั้ง จะมาประชุมเพื่อทบทวนสิกขาบท เรียกว่า วันอุโบสถ แล้วก็มาทำการทบทวนสิกขาบท เรียกว่า “สวดปาฏิโมกข์” แต่ในวันพรุ่งนี้ (วันนี้ ๑๔ ค่ำ) พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำนะ พรุ่งนี้ถ้าเป็นวันปกติตลอดปี ก็จะเป็นวันอุโบสถ แต่พรุ่งนี้จะเป็นวันพิเศษกว่าวันอื่น คือเป็นวันอุโบสถสุดท้ายของการจำพรรษา พระพุทธเจ้าก็จะให้วันนั้น เป็นการแสดงความสามัคคี ของภิกษุที่อยู่จำพรรษาด้วยกัน ให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษานั้น ใช้วันอุโบสถสุดท้ายของการจำพรรษา มาปวารณากัน “ปวารณา” ก็คือ เป็นการเปิดโอกาส เปิดโอกาสคือ “เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ที่นั้น ให้ตักเตือนได้” เรียกว่า.. ท่านจะไปที่ไหนต่อไปนี้ ถ้าได้เห็น หรือได้ยิน หรือแม้แต่สงสัยว่าท่านทำผิด ก็จงอาศัยความกรุณา ว่ากล่าวตักเตือน ไม่ใช่ว่าอาศัยความโกรธนะ อาศัย “ความกรุณา” ว่ากล่าวตักเตือน ถ้าท่านเห็นว่าผิด ท่านก็จะได้ว่าแก้ไขปรับปรุง ภาษาทางคัมภีร์จะเรียกว่า “ทำคืน” ทำคืน ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “ปฏิกรรม” แก้ไขทำให้มันดีขึ้น ถ้าอาบัติเล็กน้อยก็จะมีวิธีแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น ก็คือไปปลงอาบัติ ถ้าเป็นอาบัติหนักกว่านั้น ก็ต้องไปอยู่กรรม เป็นสังฆาทิเสส ถ้าอาบัติหนักสุดเลย ก็ต้องลาสิกขาบท ออกจากความเป็นพระภิกษุ จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ผิดอะไร ก็ตักเตือนกัน อย่างนี้เรียกว่า เป็นการปวารณา ซึ่งจะทำในวันพรุ่งนี้ ส่วนคำว่า”ออกพรรษา” เรามาเรียกกันเอง ในภาษาบาลีไม่มีคำว่า “ออกพรรษา” มีแต่คำว่า “ปวารณา” การออกพรรษานั้นจะออกโดยอัตโนมัติ คือในตอนวันเข้าพรรษานี้มีนะ วันเข้าพรรษาจะ “อธิษฐานจำพรรษา” พออธิษฐานจำพรรษา ในคำอธิษฐานจำพรรษา ก็จะบอกว่าจะอยู่ตลอดไตรมาส ไตรมาสแปลว่า ๓ เดือน บางท่านก็จะพูดทั้ง ๒ คำเลย “ตลอดไตรมาส ๓ เดือน” มันก็ไม่เป็น ๖ เดือนนะ มันก็คือแปลในคำว่าไตรมาส ตลอดไตรมาส ก็คือ ๓ เดือนนี้ จะอยู่จำพรรษาในเขตนี้ ซึ่งวันนั้นพระทั้งหลายก็จะมีการชี้ว่าเขตที่เราจะจำพรรษานะ เราจะจำในขอบเขตไหน จะไม่ไปรับอรุณนอกเขตนี้ หมายถึงว่า จะไม่ไปค้างคืนที่อื่นนอกเขตนี้ ไม่ไปรับอรุณนอกเขตนี้ อธิษฐานไว้ ๓ เดือน พอครบ ๓ เดือน ไม่ต้องอธิษฐานออกพรรษา พอครบแล้วก็เป็นอันว่าจะไปไหนก็ได้เลย ไม่ต้องมาทำพิธีออกนะ มีแต่พิธีเข้า คือ “อธิษฐาน” เหมือนกับโยมเวลาอธิษฐานอุโบสถ อธิษฐานอุโบสถ ถือศีล ๘ ข้อ จะมีคำว่า “ตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่ง” วันหนึ่งคืนหนึ่งจะถือศีล ๘ ข้อนี้ พ้นวันหนึ่งคืนหนึ่งแล้ว ก็ไม่ต้องมาลาศีล มันจะเป็นการกลับไปสู่ศีล ๕ โดยอัตโนมัติ อย่างนี้เช่นเดียวกัน การอธิษฐานของภิกษุที่อยู่จำพรรษา ๓ เดือน พอครบในวันพรุ่งนี้แล้วเนี่ย ก็จะไม่ต้องอยู่จำพรรษา ไม่มีความจำเป็น แต่ใครจะอยู่ต่อก็ได้ ไม่ได้ห้ามนะ แต่ใครจะเดินทางจาริกไป ต่อไปก็ได้ นี่เป็นเรื่องของพระวินัย แบบชี้แจงคำว่า “ออกพรรษา” แล้วก็คำว่า “อธิษฐาน” คร่าว ๆ นะ “อธิษฐาน” จะแปลว่า ตั้งใจมั่น คือตั้งใจอย่างมั่นคง ว่าจะทำให้สำเร็จ แต่เวลาเรามาใช้ในภาษาไทยมันจะเพี้ยนไปนิดหนึ่ง แต่ก็เพี้ยนไปมากเหมือนกัน คือเวลาเราพูดว่า “อธิษฐาน” ในหมู่คนไทยด้วยกัน “ไปอธิษฐานกับหลวงพ่อองค์นั้นสิ กับพระพุทธรูปองค์นั้นสิ” เรามักจะเป็น ‘การขอ’ รู้สึกไหม? ในหมู่คนไทยพอบอก “ไปอธิษฐานหลวงพ่อโต อย่างนี้นะ” ไปอธิษฐานหลวงพ่อโต หมายถึงว่าจะไป ‘ขอกับหลวงพ่อโต’ มันเพี้ยนไปนะ อธิษฐานไม่ได้แปลว่า “ขอ” ถ้าจะเป็นการขอ ก็เป็น “ขอที่จะทำ” ขอที่จะทำ ก็คือว่า อย่างพระจะจำพรรษาสามเดือน ณ ที่ใดที่หนึ่งก็อธิษฐาน ก็คือ ตั้งใจที่จะอยู่ ณ ที่นั้น ๓ เดือน อธิษฐาน คือตั้งใจ อธิษฐานบริขาร ก็เป็นการตั้งใจจะใช้สิ่งนั้นเป็นบริขาร ตั้งใจจะใช้จีวรนี้เป็นจีวรครอง ก็ต้องอธิษฐาน อธิษฐานใช้จีวร สังฆาฏิ สบง อธิษฐานใช้บาตร คือตั้งใจจะใช้ของใช้เหล่านี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ใช้หนึ่งชุด ก็คือต้องอธิษฐานใช้ จะใช้อันนี้เป็นบาตร จะใช้ใบนี้ คือตั้งใจ ไม่ใช่ว่าล้างเสร็จไปคว่ำ แล้วก็ของใครก็ไม่รู้ คว้ามา มันก็เรียกว่าใช้เหมือนเป็นของส่วนกลางไม่ได้ คือ ต้องรักษาสมบัติส่วนตัวอันนี้ไว้ ไว้ใช้ คือต้องอธิษฐาน ต้องจำว่า ว่าบาตรนี้ของเรา จีวรนี้ของเราทำพินทุกัปปะ คือทำตำหนิเอาไว้ด้วย นี้เรื่องของอธิษฐาน ….. ที่นี้เรื่องของอธิษฐานในพรรษา การอธิษฐานจำพรรษาเป็นเรื่องของพระภิกษุ โยมไม่จำเป็นต้องมาอธิษฐาน มันไม่มีวินัยข้อไหนที่จะบอกให้โยมมาจำพรรษา แต่โยมนี้อาศัยว่า.. พระภิกษุยังอธิษฐานจำพรรษาเพื่อที่จะมาศึกษาเล่าเรียนคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเอามาใช้ด้วย คือเรียนว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร แล้วท่านก็เอามาปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ในการจำพรรษาจึงเป็นการปฏิบัติที่พระภิกษุในเมื่ออยู่ประจำที่แล้ว เป็นเวลาที่แน่นอนไม่ไปไหน ก็จะเป็นโอกาสที่จะมาเล่าเรียน โดยเฉพาะพระใหม่ ก็จะเรียนพุทธพจน์ต่างๆ ปัจจุบันก็จะปรับมา เรียกว่า “เรียนนักธรรม” หรือจะเรียบบาลีอะไรอย่างนี้นะ ก็จะเป็นเวลาที่ท่านจะได้ใช้เวลาในการศึกษาเต็มที่ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นเวลาที่จะปฏิบัติด้วย บางท่านนอกจากจะศึกษาแล้ว ก็เป็นเวลาที่ท่านจะปฏิบัติ ในโอกาสอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์เป็นเวลา ๓ เดือน อย่างนี้นะ ก็จะใช้โอกาสนี้ปฏิบัติ เผื่อว่าเวลามีปัญหาอะไรจะได้สอบถามได้ หรือว่าจะได้รับการตักเตือนชี้แนะให้พัฒนาต่อไป เมื่อญาติโยมเห็นพระใช้เวลานี้ในการพัฒนาตน ญาติโยมก็ปรารถนาจะพัฒนาตนบ้าง ดังนี้การอธิษฐานของโยมในช่วง ๓ เดือนนี้ ตอนนี้แหละ โดยดูสิว่าตนเองบกพร่องในส่วนไหนก็จะอธิษฐานเพื่อป้องกันความบกพร่องนั้น ไม่ให้มันมีมาก หรืออย่างน้อย ๆ ไม่ให้มันมีข้อบกพร่องนี้ต่อไป คือให้พัฒนาตนเอง อะไรที่เป็นกุศลที่ยังไม่มี ก็จะพัฒนาสิ่งนั้นขึ้นมา อะไรที่เป็นอกุศล ก็พยายามอธิษฐานที่จะไม่ทำ ตรงนี้เรียกว่าเป็นการอธิษฐานของโยม โดยใช้เวลาในช่วง ๓ เดือนนี้ บางท่านทำสำเร็จ ก็เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา บางท่านทำไม่สำเร็จ อาตมาว่าก็เป็นเรื่องดีกว่าไม่ทำ คือบางคนอธิษฐานจะถือศีล ๘ ตลอด ๓ เดือน ถ้าถือมาได้ตลอด..อย่างนี้เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา แต่ถ้าถือมาแล้ว ๒ เดือน แล้วพลาดไป พลาดไปก็ยังได้ตั้ง ๒เดือน ! ถ้าฉลาดก็จะอธิษฐานต่อเลย อีกเกือบหนึ่งเดือนอธิษฐานต่อเลย เราพลาดไปหนึ่งวัน มันก็คือพลาดแค่วันเดียว ไม่ใช่ว่าจะเสียทั้งหมด ในการที่เราผิดพลาดอะไรไปจากการตั้งใจที่จะพัฒนาตนเอง ก็เป็นโอกาสให้เราตรวจสอบ “เอ้า..เราผิดพลาดเพราะมีเหตุอะไร?” เวลามีเหตุอย่างนั้นเกิดขึ้นมาเราจะได้ระวัง หลีกเลี่ยงเหตุนั้น ไม่เอาตนเองเข้าอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ก็ดูก็แล้วกันว่า ที่เราพลาดไปมันเป็นเพราะเหตุใด อย่างน้อยการตั้งใจทำดี แม้จะมีข้อผิดพลาด มันก็ยังดี..ดีกว่าไม่ทำ ยิ่งถ้าใครทำสำเร็จ ก็ยิ่งอนุโมทนาเลยนะ ทีนี้ในตอนที่ออกพรรษาแล้ว จะทำอย่างไรต่อ? คล้ายๆ ว่า ๓ เดือนนี้เราได้ตั้งใจทำดีอย่างหนึ่ง ออกพรรษาแล้ว..อาจจะตั้งใจอีกแบบหนึ่งก็ได้ ใน ๙ เดือนต่อไปนี้จะทำอะไรจะฝึกอะไร ก็อธิษฐาน จะแบ่งซอยเวลาย่อย ๆ ก็ได้ ไม่ต้องถึง ๙ เดือนก็ได้ เช่น ฤดูหนาวนี้ หรืออีกเดือนหนึ่งข้างหน้านี้ มันยังไม่หมดฤดูฝนตามพระวินัยนะ มันจะมีอีก ๑ เดือนจนถึงวันเพ็ญเดือน ๑๒ อีก ๑ เดือน ลองฝึกต่อ อาจจะฝึกต่อในข้ออื่น ๓ เดือนนี้อาจจะถือศีล ๘ มา อีกหนึ่งเดือนต่อไปอาจจะไม่ต้องมาฝึกศีล ๘ ก็ได้ มาฝึกข้ออื่น เช่นว่า “จะฝึกที่จะไม่พูดร้ายกับใคร มีใจโกรธได้ แต่ถ้าจะพูดจะไม่พูดร้ายกับใคร” สมมตินะ ก็เรียกว่าลองฝึกต่อไป ในช่วงที่ออกพรรษาไปแล้ว อะไรที่เป็นจุดด้อยของเรา ก็ลองฝึกดู เพื่อจะให้จุดด้อยนั้นไม่มารบกวน เรามีจุดด้อยข้อไหนก็ลองฝึกแก้ไขจุดนั้น บางคนก็ฝึกตั้งใจว่า “ถ้ายังไม่ให้สิ่งของอะไรกับใคร ก็จะไม่บริโภคเอง” ก็ขออนุโมทนากับทุก ๆ ท่าน ถ้าใครอธิษฐานทำความดีอะไร แล้วพลาดไปบ้าง ก็ขอให้เป็นบทเรียน พรรษาหน้าทำใหม่ให้ดียิ่งขึ้น คุณความดีต้องงดงามเพิ่มพูน ต้องพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นให้ได้ ไม่ตกต่ำไปกว่านี้ ออกอากาศวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=imIZUKfS1o8

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ตัวง่วง #จิตมีนิวรณ์ #ถาม : กราบท่านอาจารย์ ผมนั่งสมาธิ ฟังธรรม และง่วงมาก แต่ผมเห็นตัวง่วง และสติสัมปชัญญะก็จับตัวง่วงได้ทัน ผมเห็นชัดว่าตัวง่วงจะเข้ามาช่วงระหว่างจิตหนึ่งดับและจิตหนึ่งเกิด #ตอบ : โอ้โห! อันนี้ไม่ใช่จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมา-ดับไป แล้วจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมา-ดับไป แล้วมีตัวง่วงแทรก ไม่ใช่อย่างนี้นะ “ตัวง่วง” มันอยู่ที่จิต จิตมีนิวรณ์ – ถีนมิทธะเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าจิตนี้ดับไป แล้วมีอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่จิต ที่เรียกว่าตัวง่วงขึ้นมา แล้วมีจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นมารู้ไอ้ตัวง่วง ไม่ใช่อย่างนี้นะ “ตัวง่วง” นั่นแหละอยู่ในจิตดวงหนึ่ง ที่ว่าแทรกขึ้นมาเนี่ย ไม่ใช่ว่าไม่ใช่จิตนะ “ความง่วง” มันอยู่ในจิตขณะหนึ่ง เอาอย่างนี้ดีกว่า สมมติว่าเราภาวนาๆ ไป “พุทโธ พุทโธ” ไป จิตก็เกิด-ดับอยู่กับลมหายใจ หรือว่าพุทโธไปเนี่ยนะ สุดท้ายพุทโธไปแล้ว จิตดวงหนึ่งเนี่ยมันเคลิ้ม มันไหล ไอ้จิตเนี่ยมันมีนิวรณ์ที่เรียกว่า “ถีนมิทธะ” อยู่ด้วย เราจึงเรียกจิตนี้ว่า “ง่วง”.. ง่วงแล้ว จิตดวงหนึ่งเห็นไอ้จิตเมื่อกี้ ที่มันเคลื่อนเตรียมจะหลับเนี่ยนะ.. แล้วก็เห็น ไอ้อันนี้คือความง่วงที่เกิดในจิตเมื่อกี้นี้ เราเห็นว่าง่วงเนี่ยนะ จริงๆ เราเห็นจิตเมื่อกี้นี้มีความง่วงเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่า.. ‘จิตที่ภาวนาอยู่ดับไป แล้วจิตที่รู้เป็นจิต แต่ไอ้ง่วงไม่ใช่จิต’ อันนี้เข้าใจผิดนะ! ความง่วง ก็คือ สภาวะที่เกิดอยู่ในจิตขณะหนึ่ง แล้วจิตดวงที่มีสติเนี่ยไปรู้เข้า เพราะฉะนั้นที่บอกว่า.. “ตัวง่วงเข้ามาในช่วงระหว่างจิตหนึ่งดับและจิตหนึ่งเกิด” เหมือนจะดีแล้ว แต่ว่ามีความเข้าใจผิดตรงนี้ว่า.. จริงๆ แล้วความง่วงมันก็คือ “สภาวะ” อยู่ในจิตขณะหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าความง่วงเป็นตัวอะไรสักตัวหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างจิตขณะหนึ่งกับจิตอีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ถ้าเห็นความง่วงแสดงว่า “เห็นจิต” แต่เป็น “จิตที่ประกอบด้วยความง่วง” เมื่อกี้นี้ เหมือนกันกับว่าถ้าเราเบิกบาน สมมติว่าถ้าเราเบิกบานนะ เห็นความเบิกบานเมื่อกี้นี้ ก็คือ “เห็นจิต” ที่ประกอบด้วย ‘ความเบิกบาน’ จิตมีความสุข ไม่ใช่เห็นความสุขแล้วความสุขไม่ใช่จิต.. คือ “เห็นจิต” ที่มี ‘ความสุข’ เมื่อกี้นี้ เห็นมีความทุกข์.. เห็นทุกข์..อ้าว! ก็คือ “เห็นจิต” ที่ประกอบด้วย ‘ความทุกข์’ เมื่อกี้นี้ เหมือนกันเลยนะ ความง่วงก็คือ .. ถ้าเห็นว่า “ง่วง” ก็คือ “เห็นจิตเมื่อกี้มันง่วง” มี ‘ความง่วง’ ใน “จิต” เมื่อกี้นี้ เหมือนกับว่าภาวนาไปแล้วเผลอ.. เห็นเผลอ ไม่ใช่ว่าเผลอเนี่ยมันเป็นตัวประหลาดอะไรที่ไหน มันก็คือกิเลสตัวหนึ่งที่อยู่ในจิตเมื่อกี้นี้ แล้วจิตดวงที่รู้เนี่ยไปเห็นเข้า เพราะฉะนั้น ไอ้ตอนที่เห็นอย่างนี้ ก็เรียกว่า “เห็นจิต” เวลาพระพุทเจ้าสอนให้ดูจิต ใน ‘จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน’ เนี่ย ท่านจะบอกไว้เลย.. “จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้” สังเกตคำนะ!! ไม่ใช่ว่ารู้ราคะล้วนๆ.. “จิต” มีราคะ จิตมีราคะก็รู้ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตมีโมหะก็รู้ จิตไม่มีโมหะก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ ไอ้ง่วงเนี่ยมันอยู่ในหดหู่ หรือว่าจริงๆ กลุ่มใหญ่ก็คือเป็น subset (กลุ่มย่อย) อีกทีของโมหะนั่นเอง เป็นตัวกระจายมาว่าโมหะมีอะไรบ้าง ก็มาอยู่ในเรื่องฟุ้งซ่านกับหดหู่นี้ พอเข้าใจนะ? ..มันก็คือดูจิตเห็นจิตนั่นเอง แล้วก็ไอ้ตัวง่วงไม่ใช่ว่าเกิดลอยๆ โดยไม่อยู่ในจิตไหนเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ..มันก็คือ “จิต” เมื่อกี้นี้มีความง่วงปนอยู่ แล้ว “จิตที่รู้” ไปเห็นเข้าแล้ว และตอนที่จิตรู้เนี่ย สังเกตดีๆ ตอนรู้ไม่ง่วง ตอนรู้ ถ้ารู้จริงเนี่ย ตอนรู้..ไม่ง่วง แต่มันเห็นจิตที่ง่วงเมื่อกี้นี้ เพราะฉะนั้น แค่รู้ – กิเลสดับ แค่รู้ – นิวรณ์ดับ ไม่ต้องไปทำหน้าที่ดับนิวรณ์หรือดับกิเลสอะไรเลย “แค่รู้” อย่างนี้ถ้าโยมทำไปเนี่ยนะ ลองไปดูตรงนี้ น่าจะเห็นได้ง่ายแล้ว เพราะว่าเริ่มจับได้แล้วว่ามันมีปรากฏการณ์อันหนึ่งขึ้นมา ไอ้ปรากฏการณ์นั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์แบบไม่มีจิตเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ..มันมีจิตขณะหนึ่งที่มีปรากฏการณ์ คือง่วง ปรากฏอยู่เมื่อกี้นี้ ถ้าเห็นความง่วงคือเห็นจิต แล้วจะเห็นว่าจิตเมื่อกี้นี้ที่มีความง่วงอยู่..ดับแล้ว จิตปัจจุบันเป็นจิตรู้ แล้วหลังจากนั้นภาวนาต่อนะ กลับมาที่ลมหายใจของเราต่อ เราทำสมถะอะไรก็กลับมาทำสมถะนั้นนะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Z-RLdFXAPbU (นาทีที่ 1.15.27-1.20.58 )

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #สัจจะ #ถาม : ถ้าตั้งสัจจะกับผู้มีคุณธรรมสูง แล้วทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้จากที่ได้ว่าไว้ บุญบารมีที่ตั้งใจทำมา จะหมดไปจริงหรือไม่เจ้าคะ? #ตอบ : บุญบารมีที่ตั้งใจทำมา มันก็แค่ “ทำไม่ได้ คือ ไม่มี” ไม่มีไอ้ที่จะทำ..แล้วทำไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าบุญบารมีทำมาแต่อดีต จะ “หมด” หายไปด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น! ก็คือ “ตั้งสัจจะ” ไว้กับท่านใดท่านหนึ่ง ว่าจะทำอะไร แล้วทำไม่สำเร็จ ไอ้สิ่งที่ตั้งสัจจะไว้ ก็ไม่สำเร็จ เท่านั้นเอง ไอ้ที่ตั้งสัจจะไว้ว่า ‘จะทำ’ ก็ไม่สมกับ ที่ตั้งสัจจะไว้ คือ “ไม่สำเร็จ” แต่ไม่ใช่หมายความว่า บุญบารมีที่สะสมมาแต่อดีต จะหายไปหมด ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ไม่ใช่อย่างนั้น แค่ไอ้ตรงที่ตั้งสัจจะไว้..ไม่สำเร็จ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เป็นอุทาหรณ์ว่า ถ้าจะตั้งสัจจะอะไร ให้ดูกำลังของตัวเอง “ให้ดูกำลังของตัวเอง” ไม่ใช่ว่า ..เคยได้ยินว่า พระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ ตั้งสัจจะไว้ว่า “แม้เลือดเนื้อนี้จะแห้งไป ก็จะไม่ลุก!” เอา..จะเอาบ้าง อย่า! อย่า! ..กำลังเราไม่พอ! เลือดเนื้อยังไม่ทันแห้ง เหงื่อจะตกเสียเปล่า ๆ เอาอย่างนี้ดีกว่า ..ดูกำลังของตัวเอง ดูกำลังของตัวเองว่า.. สมมติว่า เคยนั่งกรรมฐานทำสมถะได้ ๑๕ นาที ก็เพิ่มไป จะเพิ่มอีก ๕ นาที เป็น ๒๐ นาที ..ค่อย ๆ เพิ่มอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเคยนั่งได้ ๒๐ นาที ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ‘จะนั่งตลอดรุ่ง’ ไม่ไหว มันเกิน เกินกำลัง นึกออกไหม? เพราะฉะนั้น จะตั้งสัจจะ ให้ดูกำลังของตัวเองด้วยว่า ทำได้หรือเปล่า? ถ้ามันออกแนวว่า จะไม่สำเร็จ อย่า! ไปถึงขั้น “ตั้งสัจจะ” เพียงแค่ว่า ‘เราจะลองพยายามให้เต็มที่ เต็มกำลัง สุดความสามารถ’ อย่างนี้นะพอได้ แต่ถ้าถึงกับ ลั่นวาจาไปว่า “ขอตั้งสัจจะ” ถ้าผิดจากคำนี้ไป.. ถ้าทำไม่ได้.. เราเองจะรู้สึกผิด มันจะกลายเป็นว่า “คาใจ” ..”ค้างคาใจ” อย่างกรณี ถ้าไปตั้งสัจจะกับผู้มีคุณธรรมสูง แล้วทำไม่ได้นะ ก็ต้องไปบอกกล่าวกับท่านว่า “ที่ได้เคยตั้งสัจจะ ต่อหน้าท่าน ว่าอย่างนี้… ขออนุญาต ‘ถอน’ สัจจะนั้น” แล้วก็ขอขมาท่านด้วย ที่ได้ไปตั้งสัจจะ แล้วทำไม่สำเร็จ มันจะได้ไม่รู้สึกว่า ‘เราผิด’ แล้วรู้สึกว่า ‘เราทำไม่ได้’ แล้วก็จะกลายเป็น ‘ท้อถอย’ แล้วจะทำอะไร..ก็ ‘ค้างคาใจ’ กับเรื่องนี้ มันกลายเป็นว่า สิ่งนี้มารบกวนใจอยู่เสมอ ก็ขอแนะนำอย่างนี้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=GxGhzAWKmZg (นาทีที่ 1.07.41-11.11.04)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ทำอย่างไร.. กับคนเสพติด fake news (ข่าวปลอม) #ถาม : คนในบ้านเสพติด fake news (ข่าวปลอม) ทางทวิตเตอร์ แล้วมากดดันให้โยมเห็นตาม คือเขาต้องการให้เราคิดเหมือน คือช่วยด่า แล้วพอเราเงียบ คือแค่ฟังและถ้าคุยด้วยเหตุและผล เขาก็ว่าเราเป็นฝั่งตรงข้าม ตอนนี้วัดก็ปิด กิจกรรมก็ไม่มีค่ะ ทำใจอย่างไรดี? #ตอบ : ก็ดีแล้วนะ หมายถึง โยมทำดีแล้ว เงียบไว้.. เงียบไว้ คนที่เขาฝังหัวไปแล้ว เราก็ไปเปลี่ยนเขายาก อย่างน้อย ๆ ที่เราจะช่วยได้นะ คือ ไม่เติม “วจีทุจริต” ในการสนทนากัน ทำให้เห็นว่า “วจีทุจริต” ต่าง ๆ ไม่จำเป็น แล้วยิ่งถ้าเขาด่า ยิ่งเขาแสดงความหยาบคาย.. มันจะยิ่งเห็นชัด ตัวคนด่าเอง อาจจะรู้สึกว่า ‘สะใจ ที่ได้ด่า’ แต่ถ้าเราฟังคำด่า แล้วไม่ด่าตอบ หรือไม่ไปโต้ตอบอะไร หรือถ้าจะโต้ตอบ ก็คุยด้วยเหตุผล คุยด้วยคำสุภาพ มันจะมีสักวันหนึ่ง ที่เขาเริ่มเห็นว่า ‘นี่กูบ้าอยู่คนเดียว!’ แต่ตอนนี้ มันยังไม่ถึงขั้นนั้น มันยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่า อยู่ในขั้นหลงผิดอยู่ หาเรื่องทะเลาะกับคนโน้น หาเรื่องด่าคนนี้ แล้วก็ชักชวน ให้คนมารวมกันด่า รวมกันยิง..ด้วยคำพูด เอาอาวุธ คือคำพูด ใช้คำพูดนี้ แทนอาวุธ อาวุธสมัยนี้ ก็คือกระสุน สมัยก่อนนะ พระพุทธเจ้าจะเปรียบว่า “เอาคำพูดนี้ แทนหอกดาบ” สมัยก่อน อาวุธที่มันน่ากลัว ก็คือ หอกดาบ ใช้คำพูด แทนหอกดาบ ประหัตประหารกัน มีพระทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าก็เตือนนะ เตือนไม่ฟัง พระองค์ก็ปลีกวิเวกเลย พระสองฝ่ายทะเลาะกัน ด้วยเหตุเพียงแค่ พระท่านหนึ่ง ไปเหลือน้ำไว้ในห้องน้ำ ไม่ได้คว่ำภาชนะน้ำเอาไว้ เหตุแค่นี้เท่านั้นเอง แล้วกลายเป็นทะเลาะ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย พระพุทธเจ้าก็เตือน เตือนให้ “ให้อภัยกัน ให้สมัครสมานสามัคคีกัน” พระสมัยนั้น.. ไม่น่าเชื่อเลยนะ พระพุทธเจ้าเตือนขนาดนี้ พระกลุ่มที่กำลังทะเลาะกัน บอกกับพระพุทธเจ้าว่า “พระองค์เสวยวิมุติสุขของพระองค์เถิด กระหม่อนฉันจะทะเลาะกันต่อ” ประมาณอย่างนี้ ถ้าพูดแบบให้มันหนัก ๆ นะ “พระองค์อยู่ส่วนพระองค์ไป เดี๋ยวผมจะทะเลาะกันต่อ” เวลาคนโง่นี่.. มันโง่จริง ๆ นะ ไม่แบ่งว่าเป็นพระเป็นโยมด้วยนะ สมัยนั้นเป็นอย่างนั้นเลยนะ เพราะฉะนั้นช่วงนี้..เราเป็นใคร? เราเป็นใคร? พระพุทธเจ้าเตือนพระ ยังถูกพระบอก “พระองค์ไปทางโน้น” พูดง่ายๆ นะ “พระองค์ไปทางโน้น เดี๋ยวผมจะทะเลาะกันต่อ” ..แล้วเราเป็นใคร? ถ้าเราอยู่ ๆ จะไปห้าม “เฮ้ย! หยุด!” มันจะฟังเราหรือ? พระพุทธเจ้ายังถูกไล่ออกไปข้างนอกเลย มีวิธีเดียวคือว่า “อย่าไปเสริมทุจริต” วจีทุจริต กายทุจริต มโนทุจริต อะไรต่าง ๆ ไม่เอา! ไม่เข้าไปเสริม เพราะคนพวกนี้ต้องการเอาชนะ ต้องการเอาชนะ ด้วยใจที่ขุ่นมัว มีโมหะ มืดดำ ตอนนี้อยู่ ๆ เราจะไปทำให้เขาหยุดนะ..ยากอยู่ ก็ต้องให้เขาได้รับวิบากอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยเขาเองนะ อย่างพระในยุคนั้น พอพระพุทธเจ้าปลีกวิเวกออกไป ในเมื่ออยากทะเลาะ ก็ทะเลาะไป พระองค์ก็ปลีกไปป่า ชาวบ้านทั้งหลาย.. ‘อ้าว! พระพุทธเจ้าไปไหน?’ อยากจะทำบุญกับพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าหายไปไหน? แล้วก็ทราบข่าวว่า เพราะพระพุทธเจ้าเตือนให้พระสองฝ่ายหยุดทะเลาะ แล้วไม่ยอมหยุด พระพุทธเจ้าก็ปลีกวิเวก โยมก็เลยทำโทษพระสองกลุ่ม ที่กำลังทะเลาะกัน ว่า “ถ้าอยากทะเลาะ ก็ทะเลาะไป เราไม่ใส่บาตร!” ใครมีแรงทะเลาะ.. ก็ทะเลาะไป! เจอโยมใช้มาตรการนี้เข้าไป พระก็หมดแรงทะเลาะ แต่นั้นเป็นเรื่องในอดีต ในสมัยพุทธกาล ยุคนี้ก็ต้องใช้ลักษณะอย่างนี้ อย่างที่โยมทำนี้ล่ะ คือไม่ต้องไปเถียง ไม่เถียงด้วย แล้วถ้าจะพูด ให้พูดด้วยเหตุผล พูดด้วยมีสติอย่างยิ่ง ไม่ชวนทะเลาะกับใคร ไม่ไปเหน็บ ไม่ไปใช้คำทิ่มแทงอะไรด้วย ถ้าจะอธิบาย ก็อธิบายไป ไปตามเหตุ ตามผล ตามข้อมูลที่มีจริง คนชวนทะเลาะ คนที่เสพข่าวที่ไม่จริงนะ บางทีก็ไม่รับรู้ข้อมูลอะไรที่มันตรงข้ามกับที่ตัวเองเชื่อ เราเองก็ต้องทำใจ ถ้าจะพูด.. ให้พูดความจริง ข้อมูลที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้ บางทีเราก็ไม่ต้องชวนทะเลาะอะไรมากนะ เดี๋ยวนี้ก็จะมีเพื่อนบ้านช่วย เช่น มีประเทศจีนช่วยนะ คนจีนมองออกว่า ‘พวกนี้มันอะไรของมัน?’ ..บอยคอต (boycott) เลย ไม่คบด้วย เสียลูกค้าไปเอง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=sg_MuJyunsQ (นาทีที่ 37.40-45.00

อ่านต่อ