All posts by admin

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #คัดลอกข้อมูลอย่างไรไม่ให้ผิดศีล #ถาม : ถ้าเรามีความจำเป็นจะต้องคัดลอกข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต (internet) มาใช้เพื่อการทำงาน เพื่อประกอบอาชีพ จะผิดศีลข้อ ๒ ไหมคะ? #ตอบ : ก็ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลนั้น เขายินดีให้เราคัดลอกไหม? คือเขาเต็มใจไหม? ถ้าเขาต้องการเผยแพร่ ก็คัดลอกได้ และถ้าให้ดีคือ อ้างอิงด้วย! ไม่ใช่คัดลอกแล้วก็มาเป็นของเรา นึกออกไหม? การคัดลอก ถ้าจะไม่ให้ผิดศีลข้อ ๒ คือ – ดูว่าเขาหวงข้อมูลนั้นไหม? – เขามีคำไหมว่า “ห้ามคัดลอก”? ถ้าเขามีข้อความระบุอะไรประมาณนี้นะ แสดงว่าคัดลอกไม่ได้ แต่ถ้าเขาต้องการเผยแพร่สิ่งที่เขามีอยู่นั้น (ข้อมูลหรือข้อความนั้น) ก็ไม่ใช่ว่าจะคัดลอกมาเป็น “ของเรา”! ก็ต้องอ้างอิงด้วยว่า “ข้อความนี้มาจาก…(ที่ไหน)” อ้างอิงเจ้าของเขาด้วย เช่น เอามาจาก nimmalo.com ประมาณอย่างนี้ ก็อ้างด้วยว่า มาจากที่นี่ หรือว่าข้อความจากเว็บ (web) ไหน ก็ต้องบอก สำนักข่าวนั้น..ว่าอย่างนี้ หรือคำพูดนี้ของใคร ก็อ้างคำพูดไปด้วย ไม่ใช่ว่าลอกมา แล้วบอกเป็นของเรา หรือว่าไม่อ้างอิงเลย ไม่อ้างอิงเลย ก็เหมือนขโมย!! แม้เขาจะเป็นเว็บ (web) หรือว่าเป็นแหล่งที่ไม่ได้หวงข้อมูล ก็ควรจะอ้างอิงอยู่ดี ไม่ใช่ว่า ‘เออ! หนังสือนี่ดีจัง..’ (เคยมีเรื่องอย่างนี้นะ) ‘โอ้..หนังสือนี่ดีจัง! ..เอาไปพิมพ์แจกดีกว่า’ เอาไปพิมพ์..แล้วไม่ได้บอกว่าใครเขียน เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้นะ หนังสือนั้นดีจริง ควรจะเผยแพร่ แต่ควรจะบอกด้วยว่า “ใครเขียน” ไม่ใช่เอาไปพิมพ์แล้วก็เลยไม่รู้ว่าใครเขียน? กลายเป็นวรรณกรรมที่ปริศนาว่า “ใครเป็นคนเขียน?” ..สืบไป ..สืบมา โอ้! “อาจารย์วศิน อินทสระ” ท่านเขียนเอาไว้ แล้วพอไปพิมพ์ไปตั้งชื่อใหม่ว่า สามเดือนก่อนปรินิพพาน ประมาณนี้ จริง ๆ หนังสือเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมของอาจารย์วศิน เขียนเอาไว้นานแล้ว ชื่อเรื่อง “พระพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน” (เป็นหนังสือที่ตัดตอนจากหนังสือเรื่อง “พระอานนท์พุทธอนุชา”) มีคนอ่านแล้วชอบใจ ก็ไปให้โรงพิมพ์ไปพิมพ์ซ้ำ แต่ไม่อ้างอิงชื่อผู้ประพันธ์ อย่างนี้ “ผิดมารยาท” ต้องอ้างอิงด้วย! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=gioUZb0Nzbc (นาทีที่ 1:34:26 – 1:37:18)

อ่านต่อ

วันเสาร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #รู้ทันตัวหงอย หดหู่ ท้อถอย ซึมเซา ง่วงเหงา หาวนอน ให้รู้ไปเลยว่ามันคือ “ถีนมิทธะ” หรือจะบอกว่า.. มันคือ “ไอ้ตัวหงอย” นี่ก็ได้ เอาคำเดียวก็ได้ “ไอ้เจ้าหงอย.. ฉันเห็นแก่แล้ว!” มันหงอยอีก.. รู้อีก ยิ่งรู้บ่อยๆ มันจะจำได้ ตอนเห็นครั้งแรกนะ มันเป็นแค่รู้จักกัน ว่านี่คือ “อาการหงอย” เราก็ทำงานของเราต่อนะ! อย่าไปหงอย..แล้วก็จม… เราก็ขยับตัวทำงานของเราต่อไป ถ้าอยู่ในการทำรูปแบบ เราก็ทำสมถะของเราไป ถ้าในชีวิตประจำวัน เราก็ทำงานของเราไป มันเกิด “หงอย” อีก..ก็รู้ทันอีก! “ฉันเห็นแก่แล้ว!!” … แรกๆ ต้องฝึกก่อนนะ !! แรกๆ ในการฝึกที่จะรู้จักมันเนี่ย ต้องมีเจตนาในการดูสักหน่อย มีความหงอยแล้ว.. “ฉันรู้จักแก่แล้ว” หงอยอีก.. “ฉันรู้จักแก่แล้ว” รู้ไปเรื่อยๆ คือ มีเจตนาในการดู อันนี้อยู่ในขั้นฝึก ฝึกไปเรื่อยๆ เนี่ยนะ พอจำได้แม่นเนี่ย “สติ” มันจะเอามาใช้ตอนที่ว่า … มันมีข้อมูลเป็น “ความจำ” เต็มที่แล้ว มั่นคงดีแล้ว เสถียรแล้ว พอมี “ความหงอย” เกิดขึ้นมา… มันเทียบได้กับ “ของเก่า” “ของเก่า” ที่เก็บไว้เป็น “สัญญา” เนี่ย สัญญาเอามาใช้ในกรณีนี้ คือ “สติ” แปลว่า “ระลึกได้” ในภาษาไทยทั่วๆ ไปก็จะใช้คำนี้กัน มันก็คือ เอามาใช้ในขั้นตอนที่เรียกว่า มี “ถิรสัญญา” คือ มีสภาวะความหงอยเกิดขึ้น มันเอาไปเทียบกับของเก่า ระลึกได้ว่า.. นี่คือ “ความหงอย” และ การทำงานอย่างนี้ มันทำงานเอง ตอนนี้ เรียกว่า “ระลึกได้” แท้ๆ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “ฝึกใจไม่ให้หดหู่ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/MddicOf8zGE (นาที 30.55-33:35)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #อินทรีย์อ่อน #ถาม : ถ้า “อินทรีย์อ่อน” ควรทำอย่างไรดีครับ? #ตอบ : อินทรีย์เนี่ย มีอะไรบ้าง?.. ๑. ศรัทธา ๒. วิริยะ ๓. สติ ๔. สมาธิ ๕. ปัญญา .. ๕ อย่างด้วยกัน อันไหนอ่อนล่ะ? ก็ดูสิ! (๑) ถ้า “ศรัทธาอ่อน” ก็ต้องมาเติม.. สมมติว่า ศรัทธาในพระรัตนตรัย ช่วงนี้เราไม่ค่อยศรัทธาเลย ก็อาจจะต้องมาอ่านพุทธประวัติ หรือ ประวัติของพระอริยเจ้า หรือ ประวัติของครูบาอาจารย์ ประมาณนี้นะ “เสริมศรัทธา” (๒) ถ้า “ความเพียรอ่อน” ก็อาจจะต้องตั้งใจให้มากขึ้น ความเพียรเนี่ย บางทีมันมาจากที่ว่า ไม่กล้าลงมือทำ ก็ต้องลงมือทำเลย! สมมติว่าจะทำในรูปแบบ ไม่ได้เริ่มซักที ก็ต้องเริ่มเลย! หรือว่า เริ่มแล้วก็ทำแค่แป๊บเดียว มันก็ต้องยืดเวลาไปอีก เพื่อให้เติมความเพียรลงไป ความเพียรจะเกิดขึ้นง่าย ๆ เลย คือ “มีสติรู้” ทุกครั้งที่มีสติ เมื่อนั้นมีความเพียร (๓) ทีนี้มาข้อ “สติ” คือทำได้เรื่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ รู้ทันกายบ้าง รู้ทันใจบ้าง มีขอบเขตสโคป (scope) อยู่แค่ “รู้กาย” หรือ “รู้ใจ” ถ้ารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางได้ ก็จะเห็นความจริงของกายของใจ แสดงออกมาในแง่ – ไม่เที่ยง – เป็นทุกข์ -เป็นอนัตตา การเห็นอย่างนี้ก็ต้อง “ฝึกสมาธิ” ด้วย (๔) “สมาธิ” ในแง่นี้ก็คือ ฝึกสมถะนั่นเอง ฝึกสมถะได้สมาธิ สมาธิก็มี ๒ แบบ มี (๔.๑) สมาธิแบบจิตไหลไปรวมอยู่กับอารมณ์ ก็ฝึกได้ ถ้า.. – ไม่ได้บังคับ – ไม่ได้เพ่ง – ไม่ได้เคร่งเครียดอะไร มีความสุขกับอารมณ์ใด จิตรวมอยู่กับอารมณ์นั้น ก็ถือว่าใช้ได้ เป็นสมาธิแบบหนึ่ง เอาไว้พักผ่อน จะสมาธิอีกอย่างหนึ่ง คือ (๔.๒) สมาธิแบบจิตตั้งมั่น คือ จิตไม่ได้ไหลรวมกับอยู่กับอารมณ์ รู้อยู่ รู้อยู่ แต่จิตไม่ไหลไปรวมอยู่กับอารมณ์ เรียกว่า “จิตตั้งมั่น” จะฝึกอย่างนี้ได้ก็คือ ทำสมถะไว้สักอย่างหนึ่ง แล้วพอเผลอไป แล้วรู้ทัน รู้ด้วยใจเป็นกลาง ก็ได้ตั้งมั่นขณะหนึ่ง หรือ เห็นมาตั้งแต่เคลื่อนเลย ตอนเคลื่อน คือมันจิตไม่ตั้งมั่น เห็นตอนไม่ตั้งมั่น ได้ตั้งมั่นพอดี จะมีวิธีทำง่าย ๆ ๒ วิธีอย่างนี้ ..ก็ทำ ก็เป็นการ “เสริมอินทรีย์ในแง่ของสมาธิ” (๕) “ปัญญา” – เสริมอินทรีย์ในแง่ของปัญญา.. ปัญญาในที่นี้ หมายถึงเห็นความจริง นับตั้งแต่เห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม ทีนี้ถ้ามันยังไม่เกิดปัญญา อาจจะต้องคิดนำ เวลาเห็นสภาวะอะไรไปแล้ว เช่นว่า เห็นความโกรธ ก็คิดนำว่า ‘อ้าว! เมื่อกี้ไม่โกรธ ตอนนี้โกรธ แสดงว่าความโกรธไม่เที่ยง’.. อย่างนี้ก็ได้นะ คือเวลาเห็นอะไรมันเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องคิดไปก่อนว่า ‘เออ! เมื่อกี้ไม่มี ตอนนี้มี’ หรือว่า ‘เมื่อกี้มี แล้วตอนนี้ไม่มี’ อาจจะต้องพูดในใจ สอนมันบ้าง หรือว่า ‘ไม่ได้อยากเผลอเลย มันเผลอเอง’ คิดไปก่อนก็ได้ เห็นเผลอแล้ว แต่มันไม่เห็นในแง่ของไตรลักษณ์ ก็พูดในใจไปก่อน ‘เออนะ! มันบังคับไม่ได้นะ’ เหมือนอยากสงบ มันไม่สงบ ก็สอนตัวเองไว้บ้าง ‘เออเนี่ยแหละ จิตเนี่ยมันแสดงความจริงแล้ว มันบังคับไม่ได้ มันเป็นอนัตตา’ คือพูดสอนในใจ แต่ว่าให้รู้ว่าอันนี้คือคิดสอนตนเองนะ อันนี้คือเป็นการพูดในใจนะ ยังไม่ใช่ขึ้นวิปัสสนาจริง ไม่ได้เกิดปัญญาที่แท้จริง มันยังเป็นพูดสอนในใจ ยังไว้ใจไม่ได้ แต่ว่าคล้าย ๆ กับว่า “นำร่อง” นำร่องให้มันหัดมองในแง่ อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ..แง่ใดแง่หนึ่งบ้าง อย่างนี้ก็เรียกว่า “บ่มอินทรีย์” ที่ต้องทำมาก ๆ เลยก็คือ ความเพียรนะ ต้องเริ่ม!! ถ้าใครยังไม่ได้เริ่มเลย ก็ต้องเริ่ม อินทรีย์จึงจะแก่ ที่ว่า อินทรีย์อ่อน.. “อ่อน” ในที่นี้ คือ “ไม่แก่” ใช่ไหม? “แก่” ในที่นี้ คือ ทำมาจนมีกำลังเข้มแข็ง “แก่” ในที่นี้ไม่ใช่ “แก่หง่อม” แก่ คือ “มีกำลังเข้มแข็ง” ที่ตรงข้ามกับอ่อน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=2stxRE4fuGc&t=4286s (นาทีที่ 1:06:54 – 1:11:25)

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #คุ้มครองจิต สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ ฯ ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต ที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดยิ่งนัก มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ (ตกไปในกาม) เพราะว่าจิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้ ที่ว่า “ตกไปในกาม” เนี่ย! อย่าคิดว่า..ตกไปแบบฝันหวาน หรือตกเฉพาะทางเพศอะไร.. ไม่ใช่อย่างนั้นนะ!’ คิดเรื่องไม่ดี.. ก็คือเรื่อง “กาม” เหมือนกันนะ! แต่มันผิดหวัง “ผิดหวังในกาม” นึกออกไหม? “คนตกนรก” นี่คือ.. ตกอยู่ในกามาวจรภูมิ !! ไม่ใช่ว่า “กามาวจร” จะต้องสุขสบายเสมอไป คืออย่าคิดว่า เป็นภูมิที่สุขสบาย มีกามอันดีเสมอไป ไม่ใช่อย่างนั้นนะ! “กามาวจร” ที่แย่.. ตกนรก ก็มีนะ! อยู่ในอบายเลยก็มี จิตของเราเนี่ย! กำลังอยู่ในกามาวจรที่เป็นอบาย กำลังเป็นทุกข์อยู่ แต่มันตกมาแล้ว..ก็รู้ทัน! และมันจะตกบ่อยๆ ก็รู้บ่อย ๆ และก็.. เข้าใจ ให้อภัยตัวเองหน่อยว่า.. วันไหน หรือ ขณะไหน.. ไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร! เพราะว่า.. มันเห็นได้ยาก! มันละเอียด มันเห็นได้ยาก ให้อภัยตัวเอง.. ไม่เป็นไร.. ดูต่อ!! รักษาไปเรื่อยๆ มันเห็น ไม่เห็น.. ก็ทำสมถะต่อไป มันทุกข์อีก.. ก็ ‘เอ้อ! ทุกข์อีกแล้ว’ ทุกข์อีกแล้ว ก็แสดงว่า.. “ตกลงไปในกาม” อีกแล้ว อย่างนี้นะ! “รักษาจิต” ก็คือ รู้ทัน.. เอามาทำสมถะต่อ “มันเห็นได้ยาก” แต่มันเห็นได้ทีเนี่ยนะ ควรให้รางวัลตัวเอง ควรจะดีใจ.. เพราะมันเห็นได้ยาก! มันละเอียด.. มันเห็นได้ยาก พอเห็นได้ที ควรจะดีใจ ให้รางวัลตัวเองหน่อย ‘โห! ฉันเห็นแล้ว ของเห็นได้ยาก.. ฉันเห็นแล้ว..’ ให้ดีใจ “จิตตัง คุตตัง สุขาวะหัง” “คุตตะ” แปลว่า “คุ้มครอง” การทำอย่างนี้ เรียกว่า.. เป็นการ “คุ้มครองจิต” โดยจิตเองที่ฝึกมาดี จิตที่คุ้มครองดีแล้ว.. นำสุขมาให้ สุขในที่นี้.. ไม่ใช่สุขแค่ในเรื่องของกามแล้ว แต่เป็นสุขในระดับสูงขึ้นไป..สูงขึ้นไป.. จนกระทั่งถึง.. “พระนิพพาน” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “ฝึกใจไม่ให้หดหู่ ” วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/MddicOf8zGE (นาที 16:10 – 17:58)

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #แก้กรรม..แก้พฤติกรรม ถ้าจะแก้กรรม คือ ทำสิ่งใหม่ให้ดี ถ้าสมมุติว่า.. เราทำกรรมอะไรอย่างหนึ่ง..ให้คนนี้โกรธ เราไม่ได้ไปแก้ว่า “ไม่ได้ทำสิ่งนั้น!” ไม่ใช่แก้อย่างนั้น! ไอ้ที่เราที่แก้ว่า.. “ให้มันลบๆ กันไป หายๆ กันไป ลืมๆ กันไปซะ” ไม่ใช่ทำอย่างนั้นนะ! ทำอย่างนั้นนะ.. เขาไม่ลืมหรอก! แต่ที่เขาจะเปลี่ยนใจ ให้มาเป็นมิตรกับเราได้ คือ เราต้องทำดีกับเขา “การแก้กรรม” ก็คือ แก้พฤติกรรมของเรา ที่เคย.. ทำหน้ายักษ์ใส่เขา “พูดห้วนๆ” ใส่เขา .. ก็เป็น “ยิ้มให้เขา” พูดด้วย “วจีกรรมที่อ่อนหวาน” เรียกว่า.. “ปิยวาจา” พูดออกมาจากใจด้วยนะ! ไม่ใช่แบบว่า.. หลอกลวง หลอกลวงไป..เขาจับได้.. เขายิ่งโกรธใหญ่เลย! ออกมาจากใจ ยิ้ม ด้วยปรารถนาดี พูดคำพูด…ก็ด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน และปรารถนาดีมีเมตตาต่อกัน ทำอย่างนี้ซ้ำๆ บ่อยๆ เขาย่อมมีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับมา..ในทางที่ดี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “อโหสิกรรม ” วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ ลิงค์รายการ https://youtu.be/0WqhazkqOyM (นาทีที่07:11 – 8:10)

อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สันทิฏฐิโก..การเห็นเอง ในความหมายที่พระพุทธเจ้าแสดง กับ พราหมณ์ เพื่อบอกว่า…ไอ้การฝึกอย่างเนี่ย ! มันก็ต้อง “เห็นด้วยตนเอง” เหมือนกัน ราคะ.. ดับไป! ราคะ.. แสดงไตรลักษณ์ โทสะ.. ดับไป! โทสะ.. แสดงไตรลักษณ์ เนี่ย ! มันก็อยู่ในเรื่องของ “สันทิฏฐิโก” ทั้งหมด ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทั้ง “ตน” และ”ผู้อื่น” เมื่อเห็นกิเลสแล้ว เนี่ยนะ! มันไม่มีกิเลสขึ้นมาบงการ ให้ไปมีความประพฤติ.. ไปเบียดเบียนใคร พระองค์ตรัส ถึงขนาดว่า.. ไม่เบียดเบียน ”ตน” ไม่เบียดเบียนทั้ง “ผู้อื่น” และไม่เบียดเบียน “ทั้งคู่” ไปพร้อมๆ กัน นี่คือ.. สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้ด้วยตนเอง คือ.. นอกจาก “ตนเอง” จะปลอดภัยแล้ว “ผู้อื่น” ก็ปลอดภัยด้วย “สังคมต่างๆ” ก็ปลอดภัยด้วย จากการที่เราฝึกฝนตนเอง.. เห็นเอง เห็น ”กิเลส” ที่เกิดขึ้นในใจตนเอง การที่เราฝึก “สันทิฏฐิโก” มันไม่ได้ฝึกเพียงแค่ประโยชน์ตน แต่.. มันได้ประโยชน์ผู้อื่นด้วย ได้ประโยชน์กับคนรอบข้าง.. สังคมทั้งหลาย ฝึก “คนเดียว” ได้ขนาดนี้ ฝึก ”หลายๆ คน” ก็ย่อมทำให้.. สังคมเนี่ย! ปลอดจากภัยต่างๆ อีกเยอะเลย.. พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “สันทิฏฐิโก ” วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/X-cAAGxLLZs (นาทีที่ 22:45 – 24:09 )

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #วิหารธรรม #ถาม : ถ้าใจเราไหลไปรวมกับกิเลส วิธีแก้ คือ ให้ใจกลับมาที่องค์กรรมฐาน ..แล้วดูใหม่ ใช่ไหมครับ? #ตอบ : ใช่! คือจิตเวลาทำกรรมฐาน เวลาเกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้นก็ตาม คนฝึกใหม่ ๆ มักจะ “ไหลไปรวม” จิตมักจะไหลไปรวมกับสิ่งที่ปรากฏ อันนี้น่าสนใจ..ก็ไปดู อันนี้น่าสนใจ..ก็ไปดู แม้แต่เห็นกิเลสนะ เห็นกิเลส แล้วก็.. ‘อ้า! อันนี้อะไรเนี่ย?’ ..อยากจะดู มันก็ไหลไปรวมอยู่กับกิเลสเลย เพราะฉะนั้นที่ควรทำบ่อย ๆ คือ “กลับมาสู่วิหารธรรม” คือ “ทำสมถะของเราใหม่” วิหารธรรม สำคัญนะ! จะว่า “ต้อง” ก็เกินไปนิดหนึ่ง คือ “ควร” จะกลับวิหารธรรมบ่อย ๆ วิหารธรรม เป็นตัวช่วยอย่างมาก สำหรับผู้ฝึกทำกรรมฐาน คือ เราจะทำทั้งสมถะและวิปัสสนา การที่มีวิหารธรรมเนี่ย เท่ากับว่าเราได้ทำ “สมถะ” บ่อย ๆ ก็จะมีโอกาสได้เห็นความจริงของจิต เวลาจิตมันมีปฏิกริยาอะไร ในการกระทบกับโลก มันจะเห็นปฏิกริยาของจิตนั้นแสดงความจริงบ่อย ๆ แสดงความจริง ก็คือ – ไม่เที่ยง – เป็นทุกข์ – เป็นอนัตตา บ่อย ๆ ก็คือ ได้ “เจริญวิปัสสนา” บ่อย ๆ แต่ถ้า เห็น… เห็น… แล้วก็นิ่ง ๆ ให้สงสัยไว้ได้เลยว่า จิตเราถลำไปสู่สิ่งนั้นแล้ว “ถลำไปสู่สิ่งนั้น” วิธีที่จะแก้ไข ก็คือ กลับมารู้ลมหายใจ หรือ กลับมาที่องค์กรรมฐานของเรา ที่เราใช้เป็นสมถะอยู่ อย่างนี้นี่เอง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=G7FVqqRyD1Q (นาทีที่ 28:35-30:32)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #แชทอย่างไรไม่ให้ผิดพระวินัย #ถาม : พระวินัยข้อที่ “ห้าม! ภิกษุคุยกับสีกา ในที่ลับหูลับตา ที่ไม่มีชายที่รู้เดียงสาอยู่ด้วย” นี้รวมถึงข้อความแชท (chat) ด้วยไหมคะ ถ้ารวม ..แค่ให้ชายรู้เดียงสา เห็นข้อความด้วย ก็ได้ใช่ไหมคะ? #ตอบ : ก็รวมด้วยนะ ข้อความแชทก็รวมด้วย เพราะฉะนั้นเวลามีข้อความมา ถ้าจะให้ดี พระก็ไม่ปิดบัง ก็เปิดให้พระเพื่อนกัน หรือว่า เป็นโยมผู้ชาย ได้เห็นด้วยก็ได้ บางทีใช้วิธีนี้ก็ได้นะ ในแง่ว่า “ไม่คุยแชทเดี่ยว” อย่างสมมติ พระมีโยมขอคุยทางแชท หรือทางไลน์ (Line) ก็ให้เป็นไลน์กลุ่มซะ คือโพสต์ (post) อะไรมา ก็มีคนอื่นเห็นด้วย ถ้าเป็นครอบครัว ก็ให้ทั้งสามีภรรยาเข้ามาอยู่ด้วยก็ได้ คือเขาโพสต์ หรือแชทอะไรมา อีกคนก็เห็นด้วย การคุยก็จะได้ไม่เป็นการ “แอบคุย!” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=bErYHgISee8&t=3544s (นาทีที่ 1:02:03 – 1:03:38)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #นิวรณ์ #ถาม : เวลาที่ “จะนั่งสมาธิ” ทำไมถึง “ต้องง่วงหงาวหาวนอน” อยู่ตลอด? เพราะว่า เวลา “จะ..นั่งสมาธิ” มัน “ต้อง..ง่วงหงาวหาวนอน” ยังไม่ทันนั่งเลย! ก็ง่วงซะแล้ว ถ้าเราเลิกคิดที่จะนั่ง แล้วก็ไปทำอย่างอื่น มันง่วงไหม? #ตอบ : ถ้าไปทำอย่างอื่นแล้วไม่ง่วง แสดงว่ามันเป็นนิวรณ์ มันเป็น “ง่วงปลอม ๆ” เป็นเพียงง่วงที่ขวางให้เราไม่เจริญ ในการที่จะมาฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ตัวที่ขวางไม่ให้เราเจริญนี้ล่ะ เรียกว่า “นิวรณ์” “นิวรณ์” แปลว่า ขวางกั้น กั้นไม่ให้เกิดความเจริญขึ้น ความเจริญในที่นี้คือ ทำให้เราไม่ได้สมาธิ เพราะฉะนั้น แค่คิดจะภาวนา แล้วง่วงเนี่ยนะ ดูไปเลย นี่คือ “นิวรณ์” ! รู้ลงไปเลย รู้ลงไปที่ความง่วงนั้น แล้วบอกในใจว่า ‘นิวรณ์’ มันเป็นเพียงแค่สภาวะขัดขวางเท่านั้นเอง ถ้ารู้อย่างนี้ได้นะ คือเรากำลังเจริญสติ รู้ทันนิวรณ์-ความง่วงหงาวหาวนอน พอรู้ทันด้วยใจเป็นกลางนะ มันจะตื่นขึ้นมาเลย มันจะดูต่อได้เลย คือ ทำกรรมฐานต่อได้เลย อย่างน้อย ๆ เห็นเลยว่า นิวรณ์ คือความง่วงนี้ เมื่อกี้มีอยู่จริง ๆ แล้วดับแล้ว อย่าไปกลัวมัน มันเป็นเพียงตัวขวางเท่านั้นเอง เป็นเพียงแค่ตัวขวาง ยังไม่ทันเริ่มเลย .. เรียกว่า เวลาจะนั่งสมาธินะ แค่ “จะนั่ง” เท่านั้นเอง ง่วงซะแล้ว บอกได้เลยว่า นิวรณ์ อย่าไปกลัวมัน รู้มันไปเลย รู้ไปซื่อๆ ว่า นี่คือนิวรณ์ แค่นั้น..ก็จะสว่างขึ้นมา พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=1Azlgbddx20 (นาทีที่ 1:08:50-1:10:56)

อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า… เพราะไม่รู้ “อริยสัจ ๔” สัตว์ทั้งหลาย จึงวนเวียนอยู่ใน “สังสารวัฏ” เวียนเกิด.. เวียนตาย ทุกข์.. ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก เกิดทีไร.. ก็ทุกข์เมื่อนั้น เพราะไม่รู้อริยสัจ นี่เอง! ทำให้เราต้องเกิด.. ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก ทุกข์.. ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก จึงเป็นเรื่องจำเป็น! สำหรับสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ต้องการพ้นทุกข์ จะต้องมาเรียน “อริยสัจ ๔” นี้ … ให้เข้าใจ! ผู้ที่เข้าใจ “อริยสัจ ๔” อย่างแจ่มแจ้ง ! จะพ้นจาก “ทุกข์” โดยสิ้นเชิง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ ” วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ลิงค์รายการ https://youtu.be/CdsLQ2WpVDs (นาทีที่ 15:03-15:38)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ศีลข้อ๓ #กาเมสุมิจฉาจารา #ถาม : เรื่องศีลข้อ ๓ นั้น ครอบคลุมถึงด้านซื่อสัตย์ทางใจ เช่น ไม่ไปเผลอใจชอบคนอื่น แม้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางกายก็ตาม แต่ทางใจ ไปกับหญิงอื่น ชายอื่นแล้ว เนื่องจากใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน การเผลอใจไปกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ครองนั้น ถือว่าผิดศีลข้อ ๓ หรือไม่ อย่างไร? #ตอบ : องค์ของศีลข้อที่ ๓ นี้ คือ “กาเมสุมิฉาจารา – เว้นการประพฤติผิดในกาม” องค์ประกอบของการผิดศีล ดูว่าผิดศีลหรือไม่ ก็คือ ๑. ชายหรือหญิงนั้น ต้องห้ามหรือเปล่า? ๒. มีคิดจะเสพหรือไม่? ๓. มีความพยายามเพื่อจะเสพหรือเปล่า? ๔. มีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่? ภาษาบาลีในคัมภีร์จะใช้คำว่า “มรรคถึงกัน” ไหม? ง่ายๆ เลยคือ มีเพศสัมพันธ์กันไหม? แค่สัมผัสโดนกัน อวัยวะเพศโดนกัน ก็เป็นแล้วนะ ..เรียบร้อย คือ ผิดศีลนะ (ศีลขาด) ทีนี้ถ้า “คิดเฉยๆ” มันไม่ถึงกับผิดระดับศีลขาด แต่มันเข้าองค์แล้วนะ มันคือจิตคิดจะเสพ เราคิดถึงใครที่นอกเหนือจากคู่ครองของเราเนี่ย ศีลยังไม่ขาด แต่ใจมันพร้อมที่จะขาด ประมาณว่ามันหมิ่นเหม่นะ! ทีนี้แม้ศีลจะไม่ขาด แต่ก็ผิดธรรมะ ฉะนั้น ที่บอกว่า “เผลอใจไปกับคนอื่น” ถ้าเราเผลอคิด เอามโนคิด เอาใจคิด มันเป็นเรื่องของการผิดด้านธรรมะ ยังไม่ขาดจากศีล แต่ว่า..ศีลยังไม่ขาดก็จริง แต่ก็ไม่ควร ! คิดแล้วก็รู้ทัน แล้วก็ไม่คิดต่อ ก็ยังดี ! ดีในแง่ที่ว่า ยังไม่ไปทำผิด ไม่มีการพยายามที่จะไปติดต่อ เพื่อจะนัดแนะ … หรือ หักห้ามใจได้ก่อนที่จะมีการมีเพศสัมพันธ์กัน อย่างนี้เรียกว่าเป็นการ “หักห้ามใจ” คำว่า “หญิงต้องห้าม” หรือ “ชายต้องห้าม” มันก็คือ (๑) หญิงหรือชายนั้นมีคู่ครองแล้ว แต่งงานแล้ว หรือว่า (๒) เป็นหญิงหรือชายก็ตามที่เป็นนักบวช ถือว่าเป็นที่รู้กันว่านักบวชไม่ควรจะมามีเพศสัมพันธ์กับใคร แล้วถ้าเราไม่ใช่นักบวช แต่ไปมีเพศสัมพันธ์ด้วย เราผู้ไม่ใช่นักบวชก็ผิดด้วยนะ ประมาณว่า รู้อยู่ว่าเป็นเพศต้องห้าม แล้วเราก็ไปยุ่งด้วย อย่างนี้ก็ผิดเหมือนกันนะ เช่นสมมติว่า ผู้ชายไปเห็นแม่ชีสวย ๆ สักคน แล้วก็คิดปรุงแต่งว่า ไปจีบ พูดเกี้ยวอะไรอย่างนี้นะ ก็ผิด (ผิดธรรม) แต่จะถึงศีลขาดไหม? ก็มาดูว่ามันมีการมีเพศสัมพันธ์ด้วยไหมนะ ประมาณอย่างนี้ ยุคนี้เขาเรียกว่า เป็นยุคที่มี “กามคุณรุนแรง” เอาค่านิยมของทางตะวันตกเข้ามา มันก็เกิดความไม่ละอาย ก็จะผิดศีลข้อนี้กันมาก คือแม้แต่คิดเฉยๆ เนี่ย มันก็ผิดแล้ว มันผิดในแง่ที่ว่า มันเข้าองค์ประกอบของความผิดในศีลข้อนี้ แต่ถามว่า “ศีลขาดหรือยัง?” ก็มาดูที่ว่ามันครบ ๔ ข้อนี้ไหม? (๑) หญิงหรือชายนั้น เป็นที่ต้องห้ามหรือไม่? (๒) มีจิตคิดจะเสพหรือไม่? (๓) มีความพยายามหรือไม่? (๔) แล้วตกลงมีการเสพหรือไม่? ก็คือ มีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่? มาดูอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้น การเผลอใจไปกับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง ถามว่าผิดหรือไม่? ..ผิดแล้วนะ!! แต่ศีลขาดหรือไม่? ..ยัง..ยังไม่ขาดนะ! ..ก็ตอบเท่านี้ก่อน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=CRTCdycGtXM (นาทีที่ 30:38 – 35:29)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #การนั่งสมาธิ #ถาม : เคยฟังหลวงพ่อฯ ให้นั่งสมาธิ – ขาขวาทับขาซ้าย – มือขวาทับมือซ้าย – ให้ตั้งกายให้ตรง แล้วโยมนั่งได้แป๊บเดียวค่ะ เพราะสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จะขอมานั่งที่เก้าอี้ได้ไหมคะ เพราะว่าอายุก็มากแล้วค่ะ? #ตอบ : ได้..ได้เลย! นั่งเก้าอี้ได้ คือ การนั่งขัดสมาธิราบ “ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย” นี้ สำหรับคนที่สุขภาพดีๆ คือ สมัยก่อนนี้ที่อินเดีย เก้าอี้คงไม่ได้มีทั่วไป โดยเฉพาะพระภิกษุนะ เวลาอยู่กุฏิ หรือไปตามป่า นั่งกับพื้น ก็มีท่านี้ล่ะ ที่จะนั่งแล้วนั่งได้สบาย ปัจจุบันนี้.. อย่างโยมบอกว่า “สุขภาพไม่ดี” อาจจะเป็นเพราะอายุ หรือว่า อาจจะเป็นเพราะความเจ็บป่วย “นั่งเก้าอี้” ก็ได้นะ ความสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ท่า ความสำคัญมันอยู่ที่ว่า – อิริยาบทเราอยู่ในท่าไหน เรารู้ไหม? – มีสติรู้กายไหม..ว่าอยู่ในท่าไหน? – เดินอยู่ แล้วรู้ไหม..ว่ากายกำลังเดิน? – เห็นความเคลื่อนไหวของร่างกายไหม? – เห็นกายเป็นกายไหม? เวลานั่งอยู่นี้ นั่งแม้แต่นั่งเก้าอี้ อิริยาบทนี้ ท่าของกายนี้ เป็นอย่างนี้ รู้ไหม? “รู้ไหม?” หมายถึงว่า รู้ว่า : ‘กายนี้’ เป็นอย่างนี้ไหม? ไม่ใช่รู้ว่า ‘เรา’ เป็นอย่างไร? นะ รู้ว่า ‘กาย’ เป็นอย่างนี้ไหม? “เห็นกายเป็นกาย” เห็นกาย กำลังอยู่ในอิริยาบทอย่างนี้ เรียกว่า “เจริญสติปัฏฐาน – รู้อิริยาบถ” (เดิน ยืน นั่ง นอน) หรือว่า ระหว่างนั่งอยู่นี้ มันมีการเหลียวซ้าย-แลขวา นี่คือ “อิริยาบทย่อย” มันมีความเคลื่อนไหวอย่างนี้ รู้บ้างไหม? มีการยกมือไป-ยกมือมา เหยียด-คู้ อะไรอย่างนี้ รู้ไหม? อันนี้ก็เป็น “อิริยาบทย่อย” อยู่ใน “สัมปชัญญะปัพพะ” (หมวดสัมปชัญญะ) มันอยู่ที่ว่า ร่างกายเป็นอย่างไร รู้ ‘กาย’ ไหม? จิตใจทำงานอย่างไร รู้ ‘จิต’ ไหม? นั่งๆ อยู่นี้อาจจะรู้ที่กาย เห็นกายหายใจ นั่งอยู่..เห็นกายหายใจ มี “กายหายใจอยู่นี้” เป็น “อารมณ์” เป็นจุดเริ่มต้นก่อน ..แล้วพอมีความเผลอเกิดขึ้น รู้ทันความเผลอไหม? เผลอไป-ไม่รู้.. เผลอไป-มีราคะ-รู้ทันราคะ ก็ยังได้ เผลอไป-ไม่รู้-ไปรู้ตอนที่มีโทสะ ก็ยังได้ ฟุ้งซ่าน-แล้วก็รู้ หดหู่-แล้วก็รู้ ประมาณอย่างนี้ เห็นทันกิเลสนั่นเอง นั่งอยู่-รู้ทันกิเลส นั่งอยู่-แล้วมีกิเลสเกิดขึ้น-รู้ทันกิเลส ..แล้วก็เห็นกายนั่งต่อ กายที่นั่งอยู่นี้ ถ้ารู้กายอย่างที่ว่า ให้มันเป็น “ที่อยู่” ก็เห็น ‘กายที่นั่งอยู่นี้’ เป็นที่อยู่ เป็นเครื่องอยู่ คือทำสมถะจากการเห็นอิริยาบถนี้ก่อน ก็ยังได้นะ รู้กายไป แล้วพอจิตมันมีความเคลื่อนไหว มีการทำงานของจิต-รู้ทันจิต มีกิเลสเกิดขึ้น-รู้ทันกิเลส รู้แล้ว มารู้กายที่กำลังนั่งนี้ต่อ ก็เรียกว่าเอา ‘กายที่นั่งอยู่นี้’ เป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะนั่งที่เก้าอี้ .. หรือนั่งราบ .. ได้ทั้งนั้น เพราะว่าตัวสำคัญคือ “รู้กาย” มันไม่ได้รู้ว่าจะต้องท่านั้น.. ท่านี้.. มันไม่มีข้อบังคับนะ ไม่ใช่ว่าต้องนั่ง ‘ขาไหนทับขาไหน’ ด้วยซ้ำ คือ นั่ง หรือว่า มีอิริยาบถอย่างไร รู้ตามความเป็นจริงว่า มีอิริยาบทอย่างนั้น ถามว่า “นั่งเก้าอี้ได้ไหม?”..ก็ได้ โดยหลักการ ก็คือว่า “รู้กาย ตามที่เป็น” ถ้าจิตมันทำงาน “รู้จิต ตามที่มันเป็น” “รู้ซื่อๆ” “รู้ด้วยใจเป็นกลาง” เห็นกาย ก็เห็นกายตามเป็นจริง เวลาจิตมันทำงาน ก็เห็นจิตตามที่มันเป็นจริง มันก็สามารถที่จะเจริญกรรมฐานได้ ทั้งสมถะและวิปัสสนา ได้ทั้งหมดเลยนะ สามารถทำได้ ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=c3XEHbrk4ZU (นาทีที่ 1:18:56 – 1:23:11)

อ่านต่อ

วันพุธที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตเคยชิน.. ทำลายชีวิต คนจะฆ่าตัวตายเนี่ย ต้องท้อจนถึงได้ที่เลยนะ.. จนถึงระดับเลยนะ จิตหมดกำลังที่จะมีชีวิตต่อ มันไม่ใช่ง่ายๆ เลยนะ ที่คนจะมาถึงจุดนี้ได้ คือ ต้องอ่อนแอสุดๆ จิตที่อ่อนแอ อย่างนี้เนี่ยนะ.. มันติดไปด้วย! เพราะมันตายด้วยจิตที่อ่อนแอ ถ้ามีโอกาสกลับมาเกิดอีก.. และถ้าเจอปัญหาชีวิตอีก.. ก็จะอ่อนแอ ไม่สู้กับปัญหานั้น ! มันอ่อนแอ.. มันไม่สู้.. มันยอมแพ้.. แพ้! .. แล้วก็ทำร้ายตัวเอง ท้อแท้! .. ที่จะมีชีวิตต่อ .. “ชีวิต” จริงๆ แล้วมีค่ามากนะ “มนุษย์” จริงๆ แล้วเนี่ย จะรักชีวิตมาก แต่ความท้อแท้.. ที่ว่าเนี่ย! มันสามารถทำให้ทำลายสิ่งที่ควรถนอม..ควรหวงแหนเอาไว้ คือ “ชีวิต” นี้ ..ทำลายไป… มันต้องอ่อนแออย่างมาก “จิต” ไม่มีกำลังที่จะอยู่ต่อ เพราะฉะนั้น.. เวลามีปัญหา มันก็จะเลือกที่จะทำลายชีวิตต่อไป เพราะฉะนั้น.. ที่ครูบาอาจารย์บอกว่า “ถ้าฆ่าตัวตาย!! ชาติหน้าก็มีโอกาสที่จะฆ่าตัวตาย” อีก มันไม่ได้หมายความว่า ฆ่าตัวตายชาตินี้แล้ว… อีก ๕๐๐ ชาติ จะฆ่าตัวตายไปเรื่อยๆ อันนั้นมันเป็นสำนวนเฉยๆ นะ จริงๆ มันคือว่า.. “จิตมันมีนิสัยอย่างนี้” หรือ “มันมีพื้นฐาน” มันมีทางของมันแบบนี้ มันก็จะเลือกทางนี้ มัน “เคยชิน” ที่จะเป็นอย่างนี้ จิตมัน “เคยชิน” ที่จะตัดสินใจ กับปัญหาอย่างนี้.. ด้วยวิธีนี้ เมื่อเคยตัดสินใจอย่างนี้แล้ว จะถูกตัดสินว่า.. ‘จะต้องทำอย่างนี้ ไปอีก ๕๐๐ ชาติ’ ..ไม่ใช่นะ! มันเป็นอย่างนี้เพราะ “ความเคยชินของจิต” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “การฆ่าตัวตาย” วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://youtu.be/uFloDzBb9Js (นาทีที่ 05:07 – 06:57)

อ่านต่อ

วันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #อย่าโต้เถียง..โต้แย้ง การโต้เถียงเนี่ย! เป็นการสร้างเรื่องราวที่ไม่จำเป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอน เอาไว้ว่า.. “อย่าไปพูด! ที่เป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน” เพราะการโต้เถียงกันนั้น จะทำให้จิตใจของเราไม่สงบ มีการฟุ้งซ่าน ไปในการหาเหตุผลมาหักล้าง ขณะที่โต้เถียงกันเนี่ย.. จิตใจไม่สงบ เมื่อจิตใจไม่สงบ.. ห่างจากสมาธิ ห่างจากสมาธิ…ไม่เกิดปัญญา “ปัญญา” .. ที่ว่านี้! พระองค์หมายถึง เอาปัญญาในแง่ของวิปัสสนา ไปเลยนะ แต่ถ้าพวกเราอยู่ในโลกปกติธรรมดาเนี่ย ปัญญาแค่ในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน.. ก็ขาดหายไป! เพราะมีการโต้เถียงกัน เพราะฉะนั้น อย่าสร้างประเด็นที่จะเป็นการโต้เถียง โต้แย้ง ที่จะไม่ให้มีการโต้เถียง โต้แย้ง ก็คือ.. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เขาอาจจะเห็นต่าง จากเราก็ได้ ไม่ต้องเห็นเหมือนกับเรา แต่เวลาจะแสดงความเห็น ให้แสดงความเห็นด้วยคำพูด.. ที่ไม่ไปทำร้ายจิตใจเขา ที่เราไม่ทำร้ายจิตใจเขา เพราะว่า.. เรามีความเคารพความเห็นของคนอื่นเป็นพื้นฐานอยู่ในใจด้วย มันก็ทำให้ การแสดงออกของเราแสดงออกด้วยความเคารพ คนเขาเห็นเราเคารพเขา เขาก็เคารพตอบ แต่ถ้าเราคิดจะทำร้ายเขา เขาก็จะป้องกัน และอาจจะทำร้ายตอบ มันก็ต้องเริ่มจากเรา ที่เราจะเห็นความสำคัญของเขา ในแง่ที่ว่า.. สามารถมีความคิดเห็นต่างกันได้ แต่เคารพซึ่งกันและกัน เห็นต่างกัน.. แล้วอยู่ด้วยกันก็ได้ แต่ว่ามีเป้าหมายร่วมกัน คือ “เราจะทำยังไง ให้สังคมนี้เจริญขึ้น” “ข้อเสีย” ให้มันลดลง! ให้มี “ข้อดี” เจริญขึ้น! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “ผู้ติดในโลกโซเชียล” ลิงค์รายการ https://youtu.be/az4tD1kH9Hs (นาทีที่ 19.58-21.51 )

อ่านต่อ