All posts by admin

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #การกรวดน้ำ #ถาม : ทำบุญตักบาตร แล้ว “กรวดน้ำแห้ง” ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้รับบุญไหมเจ้าคะ? #ตอบ : ได้.. สามารถรับได้ คำว่า “กรวดน้ำ” เนี่ยนะ จริง ๆ แล้ว ความหมายก็คือ “อุทิศบุญกุศล” อันนี้เป็นประเพณีที่เราสืบกันมาว่า เวลาอุทิศบุญกุศล เราจะใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ ว่าน้ำที่หลั่งลงไปนี้.. น้ำจากภาชนะหนึ่ง เทลงสู่ภาชนะหนึ่ง.. น้ำจากภาชนะนี้ที่เต็มอยู่ก่อน แล้วก็ลงไปสู่ภาชนะอีกภาชนะหนึ่ง.. ให้เต็มได้ ฉันใด บุญที่เราทำนี้ ก็ขออุทิศให้กับบุคคลอื่น ให้เหมือนกับว่า “เรามีบุญเต็ม ๆ นี้ ขอให้ท่านได้รับเต็ม ๆ” แล้วก็ให้แบบ one way (ทางเดียว) คือ ไม่เอาคืน คือ แสดงความจริงใจว่า “ขออุทิศให้” ..อุทิศให้ได้นะ เราไม่มีอุปกรณ์การกรวดน้ำในขณะนั้น เราก็ตั้งใจอุทิศได้เลย “การกรวดน้ำ” เป็นเพียงการแสดงออก เป็นสัญลักษณ์ ให้รู้ว่า “เราอุทิศให้” เหมือนน้ำได้ถ่ายเท ..จากภาชนะหนึ่ง ..ไปสู่ภาชนะหนึ่ง ถ้าเรา “ไม่มีอุปกรณ์การกรวดน้ำ” เราก็ “ใช้ใจ” ของเรานี้ ระลึกถึงบุญที่เราทำ เรามีความปลื้มใจปีติใจในบุญนั้น ก็อุทิศได้เลย อุทิศในขณะที่กำลังมีบุญอยู่นั่นนะ คือ กำลังดีใจ กำลังปลื้มใจ กำลังปีติใจ ..อุทิศขณะนั้นได้เลย และ ควรอุทิศขณะที่กำลังปลื้มใจนั้น ทำได้เลยนะ แต่ถ้า “มีอุปกรณ์การกรวดน้ำ” จะใช้กรวดน้ำไปด้วย ก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้น คือ คล้าย ๆ กับว่า การมีอุปกรณ์นี้ มันจะเป็นอุบาย ในการที่จะทำให้เรามีสมาธิในการทำสิ่งนี้ คือ ในการที่จะอุทิศบุญกุศล แล้วก็เป็นข้อดีสำหรับญาติเรา หรือว่าคนที่เราจะอุทิศให้ ถ้าเขาติดในเรื่องของพิธีกรรม ว่า “ต้องกรวดน้ำนะ! ฉันถึงจะดีใจ” ประมาณอย่างนี้ เผื่อไว้ว่าเขาจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยม – conservative ต้องเห็นว่าเรากรวดน้ำ จึงจะดีใจ ถ้าไม่กรวดน้ำ แล้วรู้สึก ‘ทำไม่ครบ’ อะไรแบบนี้ แล้วไม่ดีใจ ..เผื่อ ๆ ไว้ก็ได้นะ นี้ในกรณีที่ว่า ถ้าบริเวณนั้นหรือว่าสถานที่นั้น เราไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ในการกรวดน้ำ ..เราอุทิศได้เลยนะ โดยหลักใหญ่ก็คือว่า เราทำบุญ แล้วอุทิศบุญ ..อย่างนี้ได้..ได้เลย แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า “ห้ามกรวดน้ำ” ไม่ได้ปฏิเสธอย่างนั้นนะ กรวดน้ำได้ ก็กรวดน้ำ เป็นผลดีเหมือนกัน สำหรับเผื่อญาติของเรา จะเป็นลักษณะที่ว่ายึดถือในเรื่องของพิธีกรรม พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=bd0goHUPz4o&t=2114s (นาทีที่ 31:48-35:13)

อ่านต่อ

วันอังคารที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ประพฤติพรหมจรรย์ “ประพฤติพรหมจรรย์” เนี่ย! ไม่ได้บอกว่า.. จะต้องบวชเป็น “ภิกษุ” หรือ “ภิกษุณี” ถือศีล ในแง่ที่ว่า “อพรหมจริยา” ก็ถือว่าเป็น.. ประพฤติพรหมจรรย์ อย่างเช่น.. ในยุคนี้เราไม่มีภิกษุณี เนี่ยนะ ผู้หญิงที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ก็ “สมาทานศีลแปด” ยาวๆ เลย จะเป็นแม่ชี หรือ จะเป็นอุบาสิกา ไว้ผมก็ตาม แต่ว่า “สมาทานศีลแปด” ยาวๆ นี่! เป็นการถือบวชของท่านเหมือนกัน เรียกว่า “ประพฤติพรหมจรรย์” แล้วก็เป็นการเห็นโทษของกาม ไม่เข้าไปหากามอีก แต่ถ้าประพฤติแบบอย่างหย่อนๆ หน่อย ก็คือว่า.. มาลองใช้ชีวิตของ “ผู้ประพฤติพรหมจรรย์” ดูบ้าง เพื่อคล้ายๆ กับว่า ให้เห็นว่า “สภาวะที่พ้นจากกาม” ก็มีอยู่นะ ! สภาพชีวิตที่ไม่ต้องมีกามเนี่ย มัน.. มีอยู่นะ! แล้วก็ลองมาสัมผัสชีวิตแบบนี้ดูบ้าง เป็นการเรียนรู้ แต่ถ้าจะเอาให้ระดับสูงขึ้นมา ก็คือ.. อยู่แบบนี้ตลอดชีวิต แต่.. ข้อดีของพระพุทธศาสนาคือ “ไม่บังคับ” มาเรียนรู้ชั่วคราวก็ได้! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน “สิ้นภพจบพรหมจรรย์” วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/xfTe-396lf4 (นาที 57:24 – 58:54)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #การอุทิศบุญให้สัตว์ที่เสียชีวิต #ถาม : วัวควายที่ตายเป็นโรคระบาด แล้วตายเป็นหมู่ เป็นร้อย เราจะทำบุญ แผ่บุญส่วนกุศล ให้ได้อย่างไร? #ตอบ : ก็ทำบุญ บุญก็มีทั้ง – ให้ทาน – รักษาศีล – เจริญภาวนา แต่บุญที่จะอุทิศให้ในกรณีอย่างนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ “การให้ทาน” “ทาน” ก็ควรจะให้ครบทั้ง “ปัจจัย ๔” (๑) เน้นไปที่อาหารก่อน “อาหาร” (๒) ถ้าได้.. มี “เครื่องนุ่งห่ม” ด้วยก็ดี (๓) ถ้ามี “ยารักษาโรค” ด้วยก็ยิ่งดี (๔) ส่วน “ที่อยู่อาศัย” เราอาจจะเป็นประเภทสมทบทุน ไปสร้างกุฏิ สร้างศาลา อะไรประมาณอย่างนี้ ก็ได้อยู่ สรุปแล้วคือ ทำบุญ ..แล้วอุทิศให้ คำว่า “อุทิศให้” เราคงไม่ได้ระบุชื่อใช่ไหม? วัวควายเป็นฝูง ใช่ไหม? วัวควายที่เป็นโรคระบาด ตายเป็นหมู่ เป็นฝูง เป็นร้อย เราก็อุทิศให้ “กลุ่มนั้น” “วัวควาย กลุ่มนั้น ฝูงนั้น ที่ตายไป ถ้ารับรู้ จงมาอนุโทนาในบุญที่เราตั้งใจอุทิศให้” บางคนเลี้ยงวัวควาย อาจจะด้วยความรัก ตั้งชื่อให้ด้วย ก็ระบุชื่อได้ แต่ถ้าเป็นร้อย คงไม่ได้ตั้งชื่อ หรือถ้ามีชื่ออยู่บ้าง ก็ระบุชื่อในตอนอุทิศด้วยก็ดี “เจ้าด่าง เจ้าอ้วน เจ้าดำ อะไรอย่างนี้ก็ระบุไป ..และเพื่อน ๆ” (สมมติว่าตัวอื่นไม่ได้ตั้งชื่อ ก็บอกไป) ส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้ตั้งชื่อ ก็บอกกลุ่มไปเลยก็ได้ “วัวควายกลุ่มนี้” ระบุได้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๐ เม.ย. ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=hD-_3ogWYRQ&t=3523s (นาทีที่ 1:08:25 – 1:10:22)

อ่านต่อ

วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ต้องงดของแสลง ถ้าเรา “เผากิเลส” อาจจะต้อง ‘งด..ในสิ่งที่ชอบ’! แล้วก็ ‘ทำ..ในสิ่งที่ไม่ชอบ’ บ้าง ก็คือ.. มันต้องเผากิเลส งด!! เหมือนคนเป็นโรค ต้อง ‘งดของแสลง’ !! … อันนี้ก็เช่นเดียวกัน รู้อยู่ว่า “มีกิเลสอยู่” กิเลสเนี่ย.. มันหมักหมมมานาน แล้วก็.. หนาแน่น สำหรับบางท่าน อาจต้องมีข้อวัตรบางอย่าง เพื่อเผากิเลส วิธีการเผา ก็อาจจะต้องมีคุณธรรม เข้าไปกำกับว่า.. ไอ้ที่เรา ‘เผากิเลส’ น่ะ มันไม่ใช่ว่า..ไปเผาเพื่อ ‘ทรมานตนเอง’ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “สิ้นภพจบพรหมจรรย์” ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/xfTe-396lf4 (นาทีที่ 4.24-5.01)

อ่านต่อ

วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #อดกลั้นต่อกิเลส “อดกลั้น” คือ อดทน.. ต่อความล่วงเกินของผู้อื่น ความล่วงเกินของผู้อื่น ก็จะมีคนที่ล่วงเกิน เมื่อเทียบกับเรา ก็จะมีบุคคลสามระดับ..ที่ล่วงเกินเรา อดทน ต่อคนที่ “ต่ำกว่าเรา.. ล่วงเกินเรา” อดทน ต่อคนที่ “เสมอกับเรา.. ล่วงเกินเรา” อดทน ต่อคนที่ “สูงกว่าเรา.. ล่วงเกินเรา” สามระดับ..ไม่เหมือนกัน!! ควรอดทนให้ได้ทั้งสามระดับเลย! ไม่ใช่แค่ระดับใดระดับหนึ่ง ทีนี้จะเอาระดับไหน..มาวัดว่าอดทนได้จริง? ถ้าเราอยู่กับ “ครูบาอาจารย์” แล้วอดทนได้เนี่ย ก็ถือว่าดีนะ! แต่ว่า.. ก็ยังใม่ใช่ตัววัด เพราะว่า.. บางทีทนได้เพราะ “กลัว” กับ “คนที่เสมอกัน” บางทีก็อดทนได้นะ! แต่..ยังไม่ใช่ตัววัด! เพราะบางทีที่อดทนอยู่ได้ เพราะอาจจะ ”แข่งดี” กัน … ทน.. ที่เป็นตัววัดได้ดีเลย คือ ทนต่อ “ผู้ที่อยู่ต่ำกว่า” สถานะต่ำกว่า คนเลวกว่า ถ้าทนได้ ถือว่า.. เยี่ยม!! ในกรณีที่ว่าเป็นตัววัดนะ คือ คนที่อดทน.. ต่อแม้แต่ผู้ที่อยู่ในสถานะต่ำกว่า.. ด่าว่าเอา! หรือ มาว่ากล่าวตักเตือน!! ทั้งว่า.. แบบไหนก็แล้วแต่ คือ เราทนได้ต่อคำสอน หรือ.. คำว่ากล่าวติเตียน ของเขาได้ อันนี้เรียกว่า “อดกลั้น” คำภาษาบาลี เรียกว่า “อธิวาสนขันติ” คือ อดทน..อดกลั้นต่อความล่วงเกินของผู้อื่น น แล้วถ้าสูงไปกว่านั้นอีก คือ.. “อดทนต่อกิเลส” หมายถึงว่า ทนต่อกิเลสในเวลาที่จิตใจ ถูกกระทบด้วยอารมณ์ที่น่ารัก น่าชัง ใจก็ไม่ไหลโอนเอนไปกับกิเลสที่เกิดขึ้น เห็นอยู่..แล้วก็ทนได้! คือไม่ไปปรุงต่อ ไม่ไปตามกิเลส เห็นอยู่.. แล้วก็ทนได้!! อันนี้มันเป็นธรรมะชั้นสูงเลย เป็นมงคลชั้นสูงเลย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “ใจที่พร้อมเจริญธรรม” วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/KWq7KvSKWCY (นาที 06:30 – 09.39)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #จาคานุสติ #ถาม : การที่เรานึกถึงบุญที่ทำบุญตลอดเวลา เช่น บริจาคที่ดิน บริจาคเงิน บริจาคทอง แบบนี้เรียกว่า “ยึดติด” หรือไม่? #ตอบ : ทำบุญแล้วคิดซ้ำ ไม่ผิดนะ สามารถคิดได้ เขาเรียกว่า “จาคานุสสติ” คิดในสิ่งที่เราได้เคยบริจาคออกไป แล้วก็มีความปลื้มใจปีติใจ คิดซ้ำ แล้วก็มีความปลื้มใจ เช่นว่า เราได้ไปถวายผ้ากฐิน ได้ถวายผ้าไตรจีวรครบท่ามกลางหมู่สงฆ์ ปลื้มใจ..ปลื้มใจ.. แม้ว่าเหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว วันนี้.. เดือนนี้.. ผ่านมาเป็นเดือน.. หลายเดือนแล้ว.. แต่พอมาหวนคิดอีกที ก็ยังปลื้มใจอยู่ คิดแล้วก็มีความปลื้มใจ ใจที่มีความปลื้มใจนั้นเป็นกุศล ถ้าคิดถึงความที่เราได้ทำบุญ ได้บริจาค คิดแล้วใจไม่วอกแวกไปไหน คิดแต่เรื่องราวเรื่องนี้ กลายเป็นทำกรรมฐานตัวหนึ่งด้วยซ้ำไป เรียกว่า “จาคานุสติ” พอเราได้บริจาคอะไรไปแล้ว พอมาหวนคิดแล้วมีความสุข อย่างนี้มันจะมีกำลังใจที่จะบริจาคอีก อาจจะไม่บริจาคแบบเดิมก็ได้ อาจจะรู้สึกว่า ‘เนี่ยเราให้ แล้วมีความสุข’ ก็เลยมีความรู้สึกว่า เมื่อก่อนนี้.. เราคิดว่า ‘ต้องได้มาเท่านั้น จึงจะมีความสุข’ แต่ตอนนี้.. ‘การให้ การบริจาค ดูภาพรวมแล้ว มันเหมือนกับการที่เราเสียวัตถุ เสียสิ่งของ เสียทรัพย์ แต่พอมาคิดภายหลัง แล้วมันมีความสุขอย่างนี้’ มีความสุขตรงที่ว่า ผู้รับได้ประโยชน์ ผู้รับได้รับวัตถุจากเราไปแล้ว นำมาใช้ประโยชน์ต่อ ความรู้สึกที่เราได้ให้ ให้กับผู้รับที่เป็นเนื้อนาบุญที่ดี แล้วเราก็มีความปลื้มใจ เราศรัทธากับผู้รับ ศรัทธาในวิธีการสร้างบุญอย่างนี้ เราก็คิดว่า ถ้ามีโอกาสเราจะทำอีก ทำกับเนื้อนาบุญท่านอื่นก็ได้ กับที่อื่นก็ได้ แต่รู้ว่าการที่จะมีความสุขในแง่ของวัตถุนี้ มันไม่ใช่ว่าต้องรับเข้ามาอย่างเดียว การสละออกไปกับผู้รับที่ดี ก็กลายเป็นว่ามีความสุขได้เช่นกัน เหมือนกับแม่ แม่ให้กับลูก แม่มีความสุข แม่ดูแลลูก ให้เสื้อผ้า ให้อาหาร ให้ที่อยู่อาศัย ให้โอกาสต่าง ๆ กับลูก แม่มีความสุข พ่อก็เช่นเดียวกัน ประมาณอย่างนี้ การให้แล้วมีความสุข มันเกิดขึ้นจริง มีอยู่จริง มันไม่ได้มีความรู้สึกว่าเสียของไป หรือสูญเปล่า มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเราทำการให้ทาน ทำการบริจาค แล้วมีความสุขใจ ปลื้มปีติใจ สามารถนึกทวนย้อนหลังได้ แต่คงไม่ใช่ตลอดเวลา คงไม่มีใครคิดอะไร ซ้ำเรื่องเดิมได้ตลอดเวลา เพราะเราต้องมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ที่ถามมาว่า “คิดอยู่ตลอดเวลา” คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่คิดซ้ำ ๆ ได้ ..นั่งแล้วคิดถึงเหตุการณ์ที่เราเคยทำบุญ ที่ผ่านมา ตอนที่คิดอยู่ใจมีความสุข อย่างนี้ได้ แต่ต้องเป็นตัวหนุนให้เรามีความเชื่อมั่นศรัทธาในการทำบุญ ในการบริจาคทานต่อไปด้วย แล้วก็เห็นว่า การทำบุญมีหลายรูปแบบ มีทั้งการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การขวนขวายช่วยเหลือคนอื่น ดูเหมือนเสียแรงงานนะ แต่พอช่วยเขาแล้วเนี่ย เรารู้สึกมีความสุขใจ เขากำลังทำดีแล้วเราช่วยเหลือเขา หรือเขากำลังมีทุกข์แล้วเราช่วยให้เขาพ้นจากทุกข์ด้วยแรงกาย อย่างนี้นะ มันเห็นว่า ‘การทำบุญมีได้หลากหลายวิธี’ การทำให้ใจนี้มีความสุข ทำได้หลายวิธี สรุปแล้วก็เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอน โดยสรุปรวบยอดก็คือ บุญที่ได้จากการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ทำแล้วก็สามารถมานึกย้อนหลัง แล้วก็กลายเป็นว่าได้ทำกรรมฐานด้วย บุญจากการให้ทาน เมื่อมานึกทีหลัง ก็กลายเป็น “จาคานุสติ” บุญจากการรักษาศีล ที่รักษาศีลได้ มีอะไรมายั่วยวนให้เราผิดศีล แต่เราสามารถที่จะระงับไม่ให้ไปทำตามสิ่งที่ยั่วยวนนั้น การที่ยับยั้งตัวเองได้ ไม่แสดงออกทางกายวาจา ไปละเมิดชีวิตใคร ทรัพย์สินใคร คนรักของใคร ไม่พูดร้าย มานึกถึงการที่เรารักษาศีลได้ นึกย้อนหลัง กลายเป็น “สีลานุสติ” จาคานุสติ สีลานุสติ คือ สิ่งที่เราทำแล้ว และประสบความสำเร็จในการทำ นึกย้อนหลังแล้วก็มีความปลื้มใจ ปีติใจ เช่นเดียวกันที่โยมถามมาก็คือ เป็นเรื่องของการให้ทาน มานึกย้อนหลังก็เกิดความปลื้มใจ ปีติใจได้ แล้วก็ไม่ใช่มัวแต่ปลื้มอย่างเดียวนะ มันก็ควรจะส่งผลถึง อย่างที่ (๑) คือ มีกำลังใจที่จะบริจาคต่อ (๒) เห็นว่าทางแห่งการทำดี หรือทางแห่งการสร้างกุศล มีมากมายหลายอย่าง เราควรจะศึกษาวิธีการสร้างกุศล หรือสร้างบุญให้เกิดขึ้น ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลากหลายวิธี เราทำเรื่องเดียวนึกย้อนหลังยังมีสุขขนาดนี้ เรื่องอื่น ๆ ที่เราควรจะทำ ควรจะศึกษา ควรจะเรียนรู้ ฝึกฝนให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรายังมีอีกเยอะเลย ต้องไปศึกษา ต้องไปศึกษาดู บุญกิริยาวัตถุ ๓ ก็ดี บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ก็ดี ศึกษาแล้วเอาไปปฏิบัติให้เกิดขึ้น แล้วนึกย้อนหลัง ก็ยังมีความสุข เช่นเดียวกับที่ บริจาคไปแล้ว นึกย้อนหลังแล้วมีความสุข แบบนั้นเช่นเดียวกัน ก็ขอเป็นกำลังใจให้โยม ว่าทำไปแล้วนึกย้อนหลังเนี่ย ทำได้ สามารถนึกได้ แล้วต้องให้เกิด ๒ เรื่องนี้ด้วย คือ ๑. ให้เกิดกำลังใจที่จะบริจาคต่อ ๒. เป็นแรงกระตุ้นให้เราหันไปสร้างบุญได้หลากหลายวิธีขึ้น อย่างน้อย ๆ ได้ ๒ อย่างนี้ จึงจะเป็นการดี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Zkxh5aCG39g (นาทีที่ 17:58 – 25:15)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #รดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ #ถาม : “การรดน้ำมนต์ – การสะเดาะเคราะห์” ถ้าจะทำให้ได้ผลควรทำอย่างไร? #ตอบ : ควรไปแก้ที่การกระทำของเรา การรดน้ำมนต์ หรือ การสะเดาะห์เคราะห์ มันเป็นพิธีกรรมที่ให้กำลังใจ สมมติว่า.. เรา “ต้องการชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง ไม่ตกต่ำ” ก็ต้องไปรักษาศีล “ต้องการร่ำรวย” ก็ต้องไปสร้างเหตุแห่งความรวย ก็คือ 1. ขยันหา 2. หามาได้แล้วก็รักษาให้ดี 3. มีกัลยาณมิตร แล้วก็ 4. เลี้ยงชีวิตสมควรแก่ฐานะของตนเอง หัวใจเศรษฐี..อุ-อา-กะ-สะ นึกออกไหม? ไม่ใช่ว่ารดน้ำมนต์แล้วจะรวย หรือรดน้ำมนต์แล้วจะหายเคราะห์ จะ “หายเคราะห์” ก็คือว่า.. มีกิเลส..แล้วรู้ทัน ! ไม่ไปสร้างกรรมอันใหม่ที่เป็นอกุศล เพราะที่รับทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ให้เชื่อไว้ว่า มันเป็นเหตุมาจากที่ทำบาปอกุศลเอาไว้ในอดีต อย่าไปชี้ว่า ‘คนนั้นคนนี้ทำเรา’ ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่า “หาแพะ” เรานั่นล่ะ ! จริง ๆ แล้วนะ..พูดอย่างภาษาชาวบ้าน คือ เรานั่นล่ะทำเอาไว้ในอดีต ทำไม่ดีเอาไว้ในอดีต จึงเป็นเหตุให้ต้องรับวิบาก อันเป็นทุกข์เป็นร้อน เดือดร้อนในปัจจุบัน ..ให้เชื่ออย่างนี้! “การรดน้ำมนต์ – การสะเดาะเคราะห์” คือพิธีกรรมที่คนทำกันมานี้ เป็นเพียงให้สบายใจ เอาแค่นี้พอนะ มันเป็นเพียงให้สบายใจ รดน้ำมนต์ไปแล้ว ทำพิธีสะเดาะห์เคราะห์ไปแล้ว ..ทำไม่ดี !! ถ้าทำไม่ดีเหมือนเดิมนะ..ชีวิตก็ไม่ดี “ศีล” เดิมยังไม่มี ก็ยังไม่มีเหมือนเดิม ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น ไม่มีอะไรเป็นเครื่องป้องกันอบายเลย “ทาน” ที่เคยให้ ยังงกเหมือนเดิมนะ ก็ไม่มีใครรัก ไม่มีพวก ไม่มีบริวาร ไม่มีมิตรที่จะมาคบหาด้วย เห็นแก่ตัวอย่างนี้ใครจะไปเอาด้วย อย่างนี้นะ “พฤติกรรมไม่เปลี่ยน! ..จะเอาชีวิตเปลี่ยนได้อย่างไร?” พฤติกรรมที่ไม่ดี ..ก็ไม่รู้เลย อย่างนี้นะ ก็แสดงว่ามองไม่เห็นความไม่ดีของตัวเอง ทำความไม่ดี ชีวิตก็ตกต่ำไป เพราะว่าสร้างเหตุแห่งความไม่ดีเอาไว้ ก็ต้องพิจารณาตัวเอง มองเห็นสิ่งที่ไม่ดีในตัวเอง หรือ ความดีที่ยังไม่ได้ทำ.. ความดีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ก็ขวนขวายหาทางทำ ทำแล้วก็ต้องทำให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำทีเดียว ทำทีเดียวแล้วมาอ้างบอกว่า “ทำแล้ว” อย่างนี้ไม่พอ ! ทำทีเดียวยังไม่พอ ทำอีกทำซ้ำ ทำจนเป็น “อาจิณณกรรม” ก็คือทำซ้ำ ๆ ทำจนเป็นนิสัย ทำจนเป็นปกติของเรา เป็นอย่างนี้ จนคนมองว่า.. ‘อ้อ! คนนี้เขาเปลี่ยนแปลง’ ให้เขาเชื่อ! ไม่ใช่ว่าเราเคยเป็นอย่างไร ..ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ชีวิตก็ยังเหมือนเดิม มันต้องมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นไปในทางที่เลวลง ต้องเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มีความเปลี่ยนแปลง!! แล้วจริง ๆ แล้วเนี่ย พอทำความเปลี่ยนแปลง ในด้านพฤติกรรมของเราให้เกิดขึ้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปสะเดาะห์เคราะห์ที่ไหนเลย!! ไม่จำเป็นต้องไปรดน้ำมนต์ที่ไหนเลย!! เราเองนี้ล่ะเป็นผู้สะเดาะห์เคราะห์ได้ด้วยตัวเอง เราเอาความมืดมัวออกไปจากชีวิต ด้วยการที่เราเจริญกุศลขึ้นมา มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำให้ครบวงจร โดยเฉพาะในเรื่องภาวนา “ภาวนา” ก็ให้ทำทั้งสมถะและวิปัสสนา ภาวนาในเรื่องสมถะก็คือ เจริญในเรื่องของกุศลให้เกิดขึ้นกับจิต จิตไม่เคยสงบให้ทำความสงบ จิตไม่เคยเจริญเมตตา..ให้เจริญเมตตา ไม่เคยกรุณา มุทิตา..ให้เจริญกรุณา มุทิตา ประมาณอย่างนี้ กุศลอะไรที่ไม่เคยทำ กุศลอะไรที่ไม่เคยมี ก็ให้มีขึ้นมา ศรัทธามีไหม? ศรัทธาในอะไร? ศรัทธาใน “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” โดยเฉพาะในเรื่องของ ”พระพุทธเจ้า” ก็คือศรัทธาว่า พระองค์ตรัสรู้จริง “ธรรมะ” ที่พระองค์ทรงแสดงมา เป็นธรรมะเพื่อให้คนฝึก ไปให้ถึงความพ้นทุกข์ได้จริง “พระสงฆ์” ก็คือผู้ที่ได้ฟังธรรม ไม่ได้ฟังอย่างเดียว ฟังแล้วเอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วจนได้ผลของการปฏิบัติ ..มีจริง!! แล้วก็ไม่ได้มีคนเดียว ไม่ได้มีท่านเดียว มีมามากมาย เขาเรียกว่า “เป็นหมู่สงฆ์” แล้วมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ ให้เชื่ออย่างนี้ด้วย คือต้องมีความเชื่อ โยงมาถึงตัวเองด้วย โยงมาถึงขนาดที่ว่า ‘เราเองก็สามารถพัฒนา ให้ถึงขั้นที่ได้รับผลจากธรรมะของพระพุทธเจ้าได้’ ..ต้องมีความเชื่ออย่างนี้ “มีศรัทธา”.. แล้วก็มีความเพียร (ในการที่จะทำกุศลให้เกิดขึ้น) กุศลอะไรที่ยังไม่ทำ..ก็ทำ กุศลอะไรที่ทำสำเร็จแล้ว ก็อย่าให้มันเสื่อมไป คือ ต้องทำอีก ต้องทำสม่ำเสมอ รักษากุศลที่เคยทำไว้นั้นอย่าให้เสื่อมลงไป อกุศลอะไรที่มีอยู่ สำรวจตัวเอง เรียนรู้แล้วก็ไม่ทำมันอีก อกุศลอะไรที่ละได้แล้ว ระวังว่าอย่าให้มันเกิดขึ้นใหม่ ทำความเพียร.. มี “วิริยะ” อย่างนี้ “เจริญสติ” อยู่เสมอ รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจทำงาน เห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจทำงานตามที่มันเป็น “ตามที่มันเป็น” ก็คือจะพบว่า ใจเราเนี่ยจะทำงานในแง่เป็นกิเลสอยู่เสมอ เห็นบ่อย ๆ ยิ่งเห็นบ่อยยิ่งดี คือจะเห็นว่าจิตนึ้มันมีการทำงานอย่างนี้ มันมีกิเลสเกิดขึ้น มีราคะ มีโทสะ มีโมหะเกิดขึ้น ทุกครั้งที่รู้ – กิเลสจะดับ เพราะตอนที่มีกิเลส มันจะไปคิดเรื่องอื่น แต่ตอนรู้นั้น มันรู้ว่า ‘จิตเมื่อกี้นี้มันมีกิเลสเกิดขึ้น’ ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลาง กิเลสก็จะหยุดลงทันทีตอนที่รู้นั่นเอง สติก็ต้องทำ! สมาธิก็ต้องทำ!! จิตตั้งมั่นก็ต้องทำให้ได้!!! เขาเรียกว่า “เป็นการเจริญกุศลให้เกิดขึ้น” ..ชีวิตจะดีขึ้นเอง อย่าไปหวังเพียงแค่ว่าไปรดน้ำมนต์ หรือว่าไปสะเดาะเคราะห์ ผ่านพิธีมาแล้ว ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทางกาย วาจา และทางใจด้วย ชีวิตมันก็ไม่ได้ดีขึ้น ให้รดน้ำให้เปียก ให้น้ำมนต์หมดโอ่งก็ชีวิตไม่ดีขึ้น เปียกเปล่า ๆ เท่านั้นเอง แล้วก็เปลืองแรงคนพรม พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Zkxh5aCG39g (นาทีที่ 10:08 – 17:38 )

อ่านต่อ

วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล วันวิสาขบูชา พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #คุณของพระพุทธเจ้า “พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุดในโลก” เลิศในระดับที่เรียกว่า.. คนปุถุชนทั้งโลกนี้ เอาความดีมารวมกัน ยังไม่เท่าพระพุทธเจ้า อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้าเลยนะ เอาคุณความดีของ.. ปุถุชนทั่ว ๆ ไป ร้อยคน พันคน ก็ยังไม่เท่า พระโสดาบันหนึ่งท่าน พระโสดาบัน ร้อยท่าน พันท่าน ก็ยังไม่เท่า พระสกิทาคาเพียงหนึ่งท่าน พระสกิทาคามี ร้อยท่าน พันท่าน รวมกันแล้วคุณธรรมก็ยังไม่เท่า พระอนาคามีหนึ่งท่าน พระอนาคามี ร้อยท่าน พันท่าน ก็ยังไม่เท่า พระอรหันต์หนึ่งท่าน พระอรหันต์ หนึ่งร้อยท่าน พันท่าน รวมกันก็ยังไม่เท่า พระอัครสาวกท่านเดียว พระอัครสาวก ร้อยท่าน พันท่าน ก็ยังไม่เท่า พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์เดียว แล้วในตำราบอกว่า.. ให้พระปัจเจกพุทธเจ้า นั่งเอาจีวรชนกันเลย สังฆาฏิชนกันเลยประมาณนี้ ห่มจีวร ห่มสังฆาฏิ ให้ชิดกันแบบผ้าชนกัน นั่งไปจนถึงสุดขอบจักรวาล แสดงว่าไม่ใช่ร้อยท่าน ไม่ใช่พันท่านแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า นั่งเรียงกันจนถึงสุดขอบจักรวาล ก็ยังไม่เท่า พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ..นี่คือคุณของพระพุทธเจ้า ตรงนี้โยมอาจจะสงสัย ‘ทำไมถึงไม่เท่า?’ เพราะพระพุทธเจ้าหนึ่งพระองค์ ไม่ได้ทำให้พระองค์พ้นทุกข์ไปเพียงพระองค์เดียว พระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว โดยคุณเฉพาะแค่นี้ เท่ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่พระองค์ไม่ได้หยุดแค่นี้ คุณของพระองค์ไม่ได้หยุดแค่นี้ พระองค์สอนคนนับไม่ถ้วนเลย ที่พ้นทุกข์ไปเนี่ย นับไม่ถ้วนเลย มนุษย์ ก็นับไม่ถ้วน เทวดาทั้งหลาย ก็นับไม่ถ้วนเลย ..ที่พ้นทุกข์ไปนะ ที่เป็นพระอรหันต์ นับไม่ถ้วน ที่เป็นพระอนาคามี สกิทาคามี เป็นพระโสดาบัน นับไม่ถ้วน แล้วยังมีอีก ยังไม่หยุดด้วย ยังมีอีก! ยังไม่หยุด! ท่านที่เป็นโสดาบัน ก็ยังไม่หยุดที่จะภาวนา ที่จะพัฒนาตัวท่านเอง ไปเป็นพระสกิทาคามี ปุถุชนทั้งหลาย อย่างผู้ฟังของเรานี้ สามารถฟังไป แล้วก็ไปพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรม ทั้งการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา จากปุถุชนพัฒนาไปถึงขั้นเป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีอยู่อีกเรื่อย ๆ ยังมีอยู่อีกเรื่อย ๆ ไม่หยุด! ไม่จบ! เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว จึงมีคุณอย่างมหาศาล ประมาณมิได้ เรียกว่าอย่างที่เราเคยสวดในพระปริตรนะ “อัปปะมาโณ พุทโธ อัปปะมาโณ ธัมโม อัปปะมาโณ สังโฆ ปะมาณะวันตานิ …ฯลฯ…” คือ พระพุทธเจ้ามีคุณอันประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณอันประมาณมิได้ พระสงฆ์มีคุณอันประมาณมิได้ สัตว์อื่นนอกจากนี้มีคุณพอประมาณได้ ฯ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://youtu.be/KmtSmTm_DkQ (34.29 – 37:54)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #กิเลสมีหลายระดับ #ถาม : “ดับกรรม สิ้นกรรม” ต้องปฏิบัตินานแค่ไหน? #ตอบ : บอกไม่ได้ ยิ่งอยากให้เร็ว จะยิ่งนาน เพราะว่าแค่ความอยากที่มีอยู่ก็ไม่เห็น มันขึ้นอยู่กับว่า.. เห็นกิเลสไหม? เห็นกิเลสได้เร็วไหม? เห็นกิเลสตัวละเอียดไหม? กิเลสมีหลายระดับนะ – กิเลสอย่างหยาบ – กิเลสอย่างกลาง – กิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างหยาบ ๆ “โลภ โกรธ หลง” ที่มันทำให้ผิดศีล ..เห็นไหม? ถ้าไม่เห็น ..ก็ทำ “อกุศลกรรม” ต่อไป กิเลสอย่างกลาง คือ “นิวรณ์ทั้ง ๕” เห็นบ้างไหม? ถ้าไม่เห็น ก็ทำสมาธิไม่สงบ สมถะก็ไม่ได้ ไม่เห็นไอ้ตัวนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้ววิปัสสนาก็เกิดยาก มันกลายเป็นว่าถูกกลุ้มรุม ด้วยความฟุ้งซ่านในรูปแบบต่าง ๆ ๕ แบบ กิเลสอย่างละเอียด คือ “กิเลสระดับอนุสัย” หรือว่า “สังโยชน์ต่าง ๆ” มันเห็นแล้ว ก็ละได้บ้างไหม? คือถ้ายังมีกิเลสอยู่ มันไม่ดับกรรม ไม่สิ้นกรรมหรอก มันก็ยังมีเจตนาในการกระทำต่าง ๆ ตรงนี้เขาเรียกว่า “สร้างภพ” มีเจตนาเมื่อไหร่ ก็..สร้างภพ (สร้างภพในที่นี้ คือ กรรมภพ) คือ ทำกรรมอยู่นั่นเอง มีตัณหา – มีอุปาทาน – มีภพ มีภพ ก็มีชาติ ..เกิด ..เกิดอยู่เรื่อย มีเกิด ก็มีตาย ก็เรียกว่า จะให้ดับกรรม สิ้นกรรม ต้องมาเรียนรู้ตัวต้นเหตุ ก็คือตัวกิเลสต่าง ๆ ตัวหลักในอริยสัจ ๔ พระองค์ตรัสไว้ง่าย ๆ ก็คือ เอาตัวเดียว ก็คือ “ตัณหา “ แต่ตัณหาพอแจกแจงมาก็คือมี – กามตัณหา – ภวตัณหา – วิภวตัณหา “กามตัณหา” คือ อยากได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่าง ๆ มาสนอง สนองความต้องการของตัวเอง ก็เป็นกามตัณหา “ภวตัณหา” คือ อยากเป็น อย่างแบบคนทั่วไป คือ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อยากเป็นตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ อยากเป็นนายก อยากเป็นส.ส. หรือ อยากเป็นสามีคนนี้ ประมาณอย่างนี้นะ … “อยากเป็น” “วิภวตัณหา” คือ อยากที่จะไม่เป็น พอเป็นแล้ว ก็อยากไม่เป็น กำลังเป็นอย่างนี้อยู่ ก็ไม่อยากเป็น เป็นฆราวาสอยู่ ไม่อยากเป็นฆราวาสแล้ว อยากเป็นพระ พอบวชพระเสร็จ ไม่อยากเป็นพระแล้ว อยากเป็นฆราวาส ก็มีวิภวตัณหา คือ ไม่พอใจในที่ตัวเองเป็นอยู่ อันนี้ว่าแบบง่าย ๆ คร่าว ๆ แต่ถ้าโดยละเอียดมันเป็นสภาวะอีกแบบหนึ่ง คือ “ภวตัณหา” จะเป็น อยากได้ภพ ที่เป็น “รูปภพ” ส่วน “วิภวตัณหา” คือ อยากจะพ้นจากรูปภพนั้นไป กลายเป็น “อรูปภพ” คือ ก็ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอยู่นั่นเอง สรุปแล้วก็คือ ถ้าอยากจะดับกรรม สิ้นกรรม ตามที่ถามมา ให้มาเรียนรู้ตัวเหตุที่มันไม่ดับไม่สิ้นนี่แหละ ก็คือตัวตัณหา หรือกิเลสต่าง ๆ จนกว่าจะหมดกิเลสนั่นล่ะ จึงจะดับกรรมได้ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=CRTCdycGtXM (นาทีที่ 59.42 – 1:03:40)

อ่านต่อ

วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ผู้มีอินทรีย์ภาวนา “สังขตธรรม” ยังเป็นความปรุงแต่งอยู่นะ! ยังเป็นของหยาบ ยังมีที่ละเอียดกว่านี้! ที่เราจะพัฒนาให้เกิด “การรับรู้” ขึ้นมาได้ ก็คือ.. ใจที่เป็น “อุเบกขา” ความรับรู้ ความพอใจ ไม่พอใจชอบใจ ไม่ชอบใจ.. นี่นะ! อย่าไปปฏิเสธมัน.. ให้รู้ทันมันก่อน! ตอนนี้ยังไม่อุเบกขา ก็ไม่เป็นไร แต่รู้ว่า.. ยังมีสภาวะที่ละเอียดกว่านี้ คือ “อุเบกขา” ถ้าเราฝึกรู้ทันความชอบใจ และไม่ชอบใจ ตอน “รู้” นั่นแหละ.. จะ “อุเบกขา” ชอบใจ.. ถ้าเรารู้ทันเร็ว ความชอบใจ.. ก็สั้นๆ แล้วจากนั้น.. ก็จะเป็น “อุเบกขา” ไม่ชอบใจ.. ถ้าเรารู้ทันเร็วๆ ไม่ชอบใจ.. ก็จะสั้นๆ แล้วจากนั้น.. ก็จะเป็น “อุเบกขา” ฝึกอย่างนี้! ฝึกรู้ทัน.. ความชอบใจก็ตาม ไม่ชอบใจ.. ก็ตามที่เกิดขึ้น จากการที่อินทรีย์ ไปกระทบ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สัมผัส, ธรรมารมณ์ ต่างๆ แล้วพัฒนาขึ้นมา จากที่…มันมีแต่ ชอบใจ-ไม่ชอบใจ ก็กลายเป็นรู้ทัน.. ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ กลายเป็น “อุเบกขา” ขึ้นมา พระองค์เปรียบเหมือนว่า.. เหมือนคนตาดีเนี่ย กระพริบตา ให้ไวขนาดนี้เลยนะ! ชอบใจ.. และรู้ทัน! เหมือนกระพริบตา หนึ่งกระพริบตา ถ้าฝึกได้ขนาดนี้.. ดี!! เรียกว่า เป็นการฝึกแล้วเกิดการเจริญอินทรีย์ เป็น “ผู้มีอินทรีย์ภาวนา” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “พร้อมไหมที่จะให้อภัย” รับชมและฟังได้ที่ลิงค์ https://youtu.be/3v859_mgjO4 (นาทีที่ 33.59-35.42)

อ่านต่อ

วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ฟังธรรมตามกาล น้อมธรรมะมาสู่ชีวิต มาปฏิบัติให้ได้ เรียกว่า.. “ได้ประโยชน์จากการฟังธรรม” คุณสมบัติของ “ผู้ฟังที่ดี” ก็คือ ฟังแบบ.. ไม่ลบหลู่ ไม่ดูแคลน.. ผู้แสดง ไม่คิดจะข่ม.. ผู้แสดง ไม่ฟัง.. ด้วยจิตกระด้าง ไม่ฟัง.. แบบจะจับผิด ไม่ฟัง.. แบบถือว่า ตัวเองเข้าใจแล้ว ประมาณนี้.. เนี่ยนะ! แล้วก็ฟังอย่างไตร่ตรองตามธรรมไปด้วย ฟังอย่าง “ผู้ที่เป็นนักศึกษา” ผู้ที่พร้อม ที่จะรับรู้ว่า.. มีผู้ที่รู้ก่อนเรา คือ “พระพุทธเจ้า” พระองค์ มีความรู้อะไร ที่เราควรจะรู้ตามบ้าง แล้วมันอาจจะไม่ใช่ว่า.. ฟังปุ๊ป!.. บรรลุปั๊ป! ฟังแล้ว..ก็นำไปศึกษา และปฏิบัติ ฟังแล้ว.. ฟังอีก! ท่านจะเรียกว่า “ฟังธรรมตามกาล” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “ฝึกใจให้เป็นผู้พร้อม” ออกอากาศวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/ich14PivtSo (นาที 01.01.49 – 01:02:49)

อ่านต่อ

วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #หัวใจเศรษฐี #ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ “หัวใจเศรษฐี” เคยท่องไหม? “อุ อา กะ สะ” เคยท่องไหม? … “อุ” นี่คือ อุฏฐานสัมปทา คือ.. ขยันหา “อา” คือ อารักขสัมปทา หามาได้แล้ว.. ต้องอย่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ต้องเก็บรักษาไว้ด้วย ต้องรู้จักเก็บรักษา เก็บรักษาเนี่ยนะ! ก็ต้องเก็บรักษาในที่ๆ ปลอดภัย สมัยนี้จะมีธนาคาร ฝากไว้กับธนาคาร หรือว่า.. เอาไปลงทุน ประมาณเนี่ยนะ! ให้มันงอกเงย.. แต่ว่าก็ต้องรู้จักลงทุนด้วย ไม่ใช่ว่า.. ลงแล้วหายๆ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ว่า.. เก็บรักษาแล้ว อย่างนี้เรียกว่า.. ใช้จ่ายโดยที่ไม่มีปัญญารู้ทันตลาด อะไรต่างๆ “กะ” คือ กัลยาณมิตตตา คือ คบเพื่อนดี คบเพื่อนไม่ดี.. ก็จะพาเราล่มจม พาเราวุ่นวาย ฉิบหาย พินาศ ดังนั้นเราก็ต้องหาเพื่อนที่ดี แล้วก็ต้องมีปัญญาพอที่จะมองเห็นด้วยว่า.. ใครเป็นเพื่อนดี, ใครเป็นเพื่อนร้าย แล้วเราควรจะเป็นเพื่อนดีของเขาด้วย เพราะว่า.. ถ้าเขาดีจริง เขาต้องมองออกว่า.. ใครดี-ใครร้าย เรามัวแต่พยายามจะหาเพื่อนดี แต่เราไม่ทำตัวให้ดี เพื่อนดีคนนั้น.. เขาก็ไม่คบเรา เพราะเขาก็ถือคติ “คบเพื่อนดี” เหมือนกัน เข้าใจไหม? เพราะฉะนั้นเราจะหาเพื่อนดี แต่เราไม่ยอมเป็นคนดี เขาก็ไม่คบเรา คติ “กัลยาณมิตร” ก็คือ.. เราเองต้องเป็นกัลยาณมิตรของเขาด้วย สุดท้าย.. “สมชีวิตา” เลี้ยงชีวิตให้สมกับสภาวะของเราเอง เรามีรายได้เท่านี้..ใช้จ่ายเท่านี้ พอสมควร ให้รายได้มากกว่ารายจ่าย..ใช้ได้! ไม่ใช่ว่า! มีรายได้เท่านี้…แต่เพื่อนเราเขามีรายได้มากกว่า แล้วเขาใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง เราจะไปใช้ชีวิตแบบเขา.. เราก็ล่มจม! ไม่ได้! ต้อง “สมชีวิตา” ใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับตนเอง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก บรรยายธรรม โครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” หัวข้อ “ขอให้รวย” วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/watch/?v=939771763373701 (นาที 41.15-43:47)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ใช้ตัณหาละตัณหา #ถาม : “การเอาตัณหา ไปละตัณหา” หมายความว่าอย่างไร? และกรณีไหน? #ตอบ : “ตัณหา ไปละตัณหา” เช่นว่า อยากได้มรรคผล เป็นตัณหาไหม? ..เป็นตัณหานะ ตอนนี้เราเป็นปุถุชน “อยาก” ได้มรรคผล ..เป็นตัณหา เอาตัณหาที่ว่า อยากจะไปเป็นพระอริยะ มาละตัณหา คือว่า ถ้าอยากจะไปเป็นพระอริยเจ้า (คือ บรรลุมรรคผล) ก็ต้องมารู้ทันตัณหาในแง่ของกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา รู้ตรงนี้ด้วย ! ก็ต้องอาศัยมีตัณหา(อยากเป็นพระอริยะ)ก่อน อย่างนี้ล่ะ อยากจะดี..ก็เลยมาทำดี อยากจะไม่เป็นคนชั่ว..ก็เลยระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น อย่างนี้ก็คือ “ใช้ตัณหา ละตัณหา” แต่พอถึงที่แล้วเนี่ย..มันหมดตัณหาแล้ว สมมติว่า อยากจะไปวัดสังฆทาน จะไป..ก็ต้องอาศัยความอยากพาไป พอถึงวัดแล้ว ตัณหา(อยากไปวัด)ก็หมด แต่ตัณหาอย่างอื่นอาจจะเกิดอีกนะ แต่ตัณหาที่ว่า “อยาก” จะมาถึงวัด ..หมดแล้ว แบบเดียวกัน “อยาก” จะไปถึงนิพพาน พอถึงนิพพานแล้ว ก็หมดตัณหาแล้ว ตัณหาหมด ประมาณอย่างนี้นะ อยากบรรลุมรรคผล.. ถึงเป้าหมายแล้ว ความอยากก็หมด ทีนี้มันต้องไม่ใช่เอาแต่อยาก! มันก็ต้องรู้ว่า “เหตุให้ถึงที่หมาย” ของเรา .. หรือ “เหตุให้ได้ผลตามที่เราต้องการ” คืออะไร? ก็ไปทำเหตุ!! อาศัย “ตัณหา – อยากจะไปที่หมายนั้น” จึง “หาเหตุ” ที่จะไปถึงที่หมาย แล้ว “ทำเหตุ” ไม่ใช่เอาแต่อยาก ไม่ใช่จะเอาแต่ตัณหา “อยากได้ ๆๆๆ”.. อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ถึงแน่ มีตัณหาแล้ว รู้ว่าอยากได้ให้ถึงเป้าหมายนั้น ไปศึกษาหาเหตุ ศึกษาด้วยตนเองไม่ไหว ก็ต้องมาดูว่า มีใครเคยถึงแล้วหรือยัง? ในแง่ของมรรคผล องค์แรกที่ถึงก็คือ พระพุทธเจ้า ก็ต้องไปศึกษาว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร? อยากจะให้พ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าพ้นองค์แรก ก็ต้องไปดูว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร? ก็ทำตามพระองค์ เท่านั้นเอง มันก็ต้องอาศัยอยากนั่นล่ะ อาศัยอยาก แต่ว่าอยากอย่างเดียวไม่พอ อยากแล้ว ต้องสืบค้นหาว่า เหตุอะไรที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้น? แล้วลงมือทำเหตุนั้น ต้องรักษาศีล (ถ้าเป็นญาติโยมก็มีทานด้วย) ต้องให้ทาน ต้องรักษาศีล ต้องเจริญภาวนา ถ้ามาเป็นพระแล้ว ในแง่ทาน ก็อาจจะไม่เด่นมากนัก ก็จะมี :- ศึกษาเรื่องศีล ศึกษาเรื่องจิต ศึกษาเรื่องปัญญา ก็ต้องทำเหตุ สรุปแล้วต้องลงมือทำ แต่อาศัยตัณหาก่อน ตัณหา.. อยากไปนิพพาน อยากดี อยากพ้นทุกข์ แล้วก็มาหาวิธีที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น แล้วลงมือทำ!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=3j6v3Ssm8dk&t=1943s (นาทีที่ 33:05 – 36.27)

อ่านต่อ

วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #อภัยทาน “อภัยทาน” ไม่ใช่ว่า.. เขาทำผิดก็ไม่เป็นไร ฉันไม่รู้.. ไม่ชี้! เหมือนไปช่วยปกปิดความผิดของเขาด้วย อย่างนี้ก็ยิ่งแย่! ถ้าที่ทำงานเป็นบริษัทอยู่..บริษัทก็จะไม่เจริญ นึกออกไหม? แบบคนนี้ก็ผิด คนนั้นก็ผิด แล้วก็ถือว่า..‘ให้อภัย’ ให้อภัย..ไม่ใช่อย่างนี้! “ให้อภัย” หมายความว่า เขาด่าเรา.. เราไม่โกรธตอบ ไม่ด่าตอบ ไม่จองเวร .. ไม่ผูกพยาบาทว่า.. ‘เออ! แก.. คราวหน้าอย่าพลาดก็แล้วกัน’ หรือไม่คิดว่า.. ‘คอยดู..ถึงทีฉันบ้าง’ ไม่ใช่อย่างนั้น! นี่คือ.. ให้อภัย แต่ไม่ใช่ว่า.. “ไม่เอาเรื่องเอาราว” หรือไปช่วยปกปิด!! นึกออกไหม? วิธีการที่จะปฏิบัติต่อคนที่มีพฤติกรรมแตกต่างกัน “วิธีการ”-จะแตกต่างกัน แต่ “ใจ”-เหมือนกัน ใจ..มีเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา เช่นเดียวกัน แต่วิธีการที่จะแสดงต่อบุคคลประเภทต่างๆ.. วิธีการ-ไม่เหมือนกัน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “พร้อมไหม…ที่จะให้อภัย” ออกอากาศวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/3v859_mgjO4 (นาที 12:51– 14.06)

อ่านต่อ