All posts by admin

วันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเก้า(๙) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #มัชฌิมาปฏิปทา “ปฏิปทา” เป็นมัชฌิมาหรือเปล่า? “มัชฌิมา” นี่คือ จำกัดเฉพาะว่า ..เป้าหมาย คือ “พ้นทุกข์” “ทางสายกลาง” ที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงคำนี้ (มัชฌิมา) ขึ้นมาเนี่ย! ครั้งแรกเลยก็เมื่อคราวที่พระองค์ มีปฐมเทศนา กับปัญจวัคคีย์ บอก..ทางผิดสองทาง แล้วก็บอก..ทางสายกลาง “มัชฌิมาปฏิปทา” ปรากฏขึ้นมาในคราวเทศน์ครั้งแรกนั่นเอง แล้วพระองค์ก็แสดงถึงว่า.. “มัชฌิมาปฏิปทา” มีอะไรบ้าง? ประกอบด้วยอะไรบ้าง? ก็ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, แล้วก็.. สัมมาสมาธิ ทีนี้.. ที่ว่าต้องขึ้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็เพราะ..คนจะทำทางสายกลางได้ ก็ต้องมีเป้าหมาย! ต้องรู้เป้าหมาย ไอ้ที่ต้องรู้เป้าหมาย จึงต้องมีปัญญารู้ก่อน ว่า.. เราจะไปปฏิบัติเพื่ออะไร?” เป้าหมายของเราคืออะไร? อย่างน้อยๆ ต้องรู้ตรงนี้ขึ้นมาก่อน อาจจะไม่ถึงกับสัมมาทิฏฐิ ในแง่ที่ว่า “เห็นกายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา” ยังไม่ถึงขนาดนั้น! แต่รู้เป้าหมาย!! ว่า.. เราต้องการถึงความพ้นทุกข์ แล้วก็หมดกิเลส อะไร.. ที่มันสนองกิเลส ก็จะได้รู้ว่า.. อันนั้นผิด! หรืออันนี้มันทรมานตัวเอง ก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง สนองตัณหาประเภทหนึ่ง ก็จะรู้ว่า.. อันนั้นก็ผิด! มันก็มีตัวรู้เป้าหมายเป็นตัวแรก มันจึงขึ้นด้วยสัมมาทิฏฐิ มีปัญญาขึ้นมาก่อน เมื่อมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาแล้วเนี่ย มีปัญญารู้เป้าหมายขึ้นมาแล้ว เป็นเป้าหมายที่ถูกต้อง เวลาเราจะคิดอะไร.. ดำริอยู่ในใจ ยังไม่ได้เอ่ยปาก.. แค่จะคิดอะไรที่ถูก.. มันก็เป็นเพราะมีปัญญารู้เป้าหมายมาก่อน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการคลิกใจให้ธรรมเข้าใจ ตอน “ปฏิปทาที่พาให้พ้นทุกข์” วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=qokoULqDs-Y (ระหว่าง นาทีที่ 19:49-22:02)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ขึ้นวิปัสสนา #วิปัสสนูปกิเลส #ถาม : ผมปฎิบัติภาวนามาหลายปี เห็น “เกิด-ดับ” ของสภาวะธรรม แต่ไม่เคยเห็น “วิปัสสนูปกิเลส” เลย! คำถามคิอว่า.. ผมขึ้นวิปัสสนาแล้ว หรือยังครับ? #ตอบ : เห็นเกิดดับเหรอ? เวลาคนภาวนาในแง่การดูจิตเนี่ยนะ “วิปัสสนูปกิเลส” ที่คนดูจิตจะเกิด.. บางทีจะเป็น “โอภาส” คือเวลามีสติเห็นกิเลสแล้วเนี่ย พอกิเลสดับแล้วจะสว่าง! กิเลสเกิดขึ้นมา มีสติรู้ทันนะ!.. กิเลสดับ! ไอ้ตอนมีสติรู้เนี่ย มันจะสว่าง พอสว่างแล้วเนี่ย บางทีสว่างอยู่ข้างหน้าอย่างนี้ แล้วประคองความสว่างเอาไว้ แล้วคิดว่า..’ดี’ คิดว่า..’สว่างนี้..ดี’ อาจจะไม่คิดถึงขนาดว่า “เกิดมรรคผล” แต่เห็นว่าดี แล้วประคองไว้เนี่ยนะ อันนี้อยู่ในแนวที่จะเป็น”วิปัสสนูปกิเลส” วิปัสสนูปกิเลสเนี่ย จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราเจริญวิปัสสนาแล้ว! การที่เห็น.. เมื่อกี้มีกิเลส กิเลสดับไป แล้วสว่างเนี่ยนะ ก็คือ เจริญวิปัสสนาแล้วนะ เห็นว่า เมื่อกี้มี..แล้วดับไป..แล้วสว่าง ถ้ามันเป็นอย่างนี้นะ! แล้วส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้นะ คือ “สว่าง” แล้วชอบใจ พอใจ ประคองเอาไว้ แล้วคิดว่า.. ‘ใจฉัน ตอนนี้สว่างไสวดี ดีเหลือเกิน เหมือนไม่มีกิเลสเลย’ พอเหมือนไม่มีกิเลสเลยเนี่ยนะ มันคล้ายๆ กับว่า.. ถ้าโน้มน้อมในแง่ที่ว่า “เราคงจะได้มรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่ง” อันนี้นะเต็มตัว!.. เป็นวิปัสสนูปกิเลสเต็มตัว แต่ถ้าประมาณว่า.. มัน “ดี” ก็อยู่ในแนวที่จะเป็นวิปัสสนูปกิเลสได้ คือ ตีความไปได้ว่า มันก็คือ.. เห็นว่า “ดี” ไม่เห็นว่า.. มันยังมีการประคองอยู่ ไม่เห็นว่า.. มีการแทรกแซงอยู่ คือ ไม่เห็นสภาวะต่อ ในแง่ที่ว่าจะไปเจริญปัญญาอะไร หรือว่า.. ไม่ก้าวหน้าไปในทางเกิดปัญญา กลายเป็นพอใจในความสว่างนั้น แล้วก็ประคองเอาไว้ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? แล้วลองไปสังเกตดู! ถ้าเกิดแล้วบางทีไม่รู้ตัวนะ บางทีไม่รู้หรอก แต่ประคองอยู่ สังเกตดูแล้วกัน!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/IaZuA5EEnhc?t=3735 (นาทีที่ 1:02:15 – 1:04:55)

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือนเก้า(๙) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #รู้เหตุรู้ผลรู้ปัจจัย ถ้าจะฝึก หรือ ถ้าจะมาปฏิบัติธรรม ก็ควร “ปฏิบัติให้ตรง” ให้ตรง! .. ตามที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ให้มาเรียนรู้ว่า.. “ธรรมดาของสิ่งทั้งหลายเป็นยังไง?” เมื่อเห็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายเป็นยังไงแล้ว จะได้ไม่ดำรงชีวิต ไปขัด ไปแย้งกับ.. ความเป็นไปธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ธรรมดาของสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ คือ ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย พอเรามีความต้องการ ขัดแย้งกับสิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ไม่เที่ยง.. เราต้องการให้มันเที่ยง แต่มันก็ยังแสดง.. ความจริง! “ความจริง” ก็ยังเป็นความจริงคือ “มันไม่เที่ยง” พอเราอยาก.. ให้มันเที่ยง มันไม่เที่ยง.. เราก็ทุกข์ใจ! เราอยาก.. ให้มันอยู่นานๆ มันไม่นาน.. เราก็ทุกข์ใจ! อยากให้ได้ผลอย่างนี้ แต่ไม่ทำเหตุเลย ก็มีแต่เรื่อง ผิดหวัง.. ทุกข์ใจ” ฉะนั้น ถ้าอยากได้ผลอย่างนี้ ต้อง “รู้เหตุ รู้ผล” รู้ว่า “สิ่งนี้มันมีเหตุอย่างไร ถึงจะไปถึงผลนี้” อยากได้ผลนี้ ต้องทำเหตุอย่างไรจึงจะได้ผลอย่างนั้น เขาเรียกว่า “รู้เหตุ รู้ผล” รู้เหตุ รู้ผล รู้ปัจจัย ในการที่จะไปถึง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงรายการ “คลิกใจให้ธรรม” ตอน “เข้าใจเรื่องจิตแล้ว เรื่องอื่นเข้าใจหมด” วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=mu1kRLw37qg (ระหว่าง นาทีที่ 33:00-34:15)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #รู้ตื่นเบิกบาน #จิตที่ควรแก่การเจริญปัญญา #ถาม : “รู้ ตื่น เบิกบาน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ปราดเปรียว จิตสว่างไสว” ที่ครูบาอาจารย์มักกล่าวถึงเป็นอย่างไร? คนอื่นมองเห็น หรือ เรารู้สึกได้เอง แล้วจะรู้สึกอย่างไร หรือเจ้าคะ? #ตอบ : เป็นอย่างไร..!? ก็เป็น.. รู้ ตื่น เบิกบาน นุ่มนวล อย่างนั้นน่ะ จะเอามาให้ดูได้อย่างไรล่ะ? เป็นอย่างไร.. ก็ “จิตรู้-ก็รู้, จิตตื่น-ก็ตื่น เบิกบาน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว” เป็นกุศลที่เหมาะควร คือ ท่านจะอธิบาย จิตที่เหมาะควรที่จะเจริญปัญญา ก็จะประมาณอย่างนี้ ก็เป็นยังไง ก็เป็นอย่างนี้ อย่างที่บอกนั่นแหละ “รู้ ตื่น เบิกบาน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว ปราดเปรียว” (ถามว่า) คนอื่นมองเห็น หรือ เรารู้สึกได้เอง? (ตอบว่า) ทั้งผู้อื่นมองเห็นได้ และเราก็รู้สึกได้เอง แต่ทีนี้ คนอื่นที่เขาไม่มีญาณรู้ ไม่มีตาทิพย์ ก็มองไม่เห็น คนอื่นที่ว่ามองเห็นได้ ก็คือ คนอื่นที่เขามีญาณ หรือมีตาทิพย์ดู เรารู้สึกได้เอง ก็คือ เราก็ต้องมีสติรู้ทัน คือตอนที่รู้สึกเบิกบาน นุ่มนวล อย่างนี้นะ เราอาจจะไม่ทันได้สังเกต คือเจ้าตัวเป็นอยู่ เบิกบาน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว เนี่ย แต่ไม่ทันสังเกต ครูบาอาจารย์ก็จะชี้ให้ดู..ตอนนี้เป็นอย่างนี้ เราก็ “อ๋อ!.. สภาวะแบบนี้ ที่ว่า รู้ ตื่น เบิกบาน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว มันแค่นี้เอง!” ไม่ได้ตั้งใจทำ ไม่ได้บังคับ ไม่ได้ประคองด้วย มันแค่รู้ “มันง่ายแค่นี้เองเหรอ?” ประมาณนี้นะ มันต้องรู้เอง! ที่ถามว่า.. ‘เรารู้สึกเองได้ไหม’ เนี่ย? มันต้องรู้เองนะ มันอาจจะมีสภาวะนี้ขึ้นมาแล้วไม่ทันสังเกต ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะชี้ให้ดู หมายถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านเห็นนะ ท่านก็จะชี้ให้ดู เพื่อให้เราสังเกตได้ว่า “นี่..เป็นสภาวะอย่างนี้นะ” ถามว่า.. เราอาจจะรู้สึกได้เองก็ได้ แต่รู้แค่ว่ามันสบายๆ ก็ได้ ท่านก็อาจจะมาบรรยายขยายความให้ดูว่า นี่แหละ คือ จิตที่รู้ ตื่น เบิกบาน นุ่มนวล คล่องแคล่ว ว่องไว .. ประมาณอย่างนี้ ก็คือมาช่วยชี้ให้ชัดขึ้น เพราะฉะนั้น.. “คนอื่นมองได้ เรารู้สึกได้ และควรจะรู้” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://m.youtube.com/watch?v=I9ZFh08tKiE&feature=youtu.be (นาทีที่ 1:16:01- 1:19:24)

อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฏาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ขณิกสมาธิ #ชั่วช้างกระดิกหู #ชั่วงูแลบลิ้น #ฝึกจิตให้เจริญปัญญา คนที่ได้สมาธิ.. “ชั่วไก่กระพือปีก ชั่วช้างกระดิกหู ชั่วงูแลบลิ้น” แต่..แค่แป๊บเดียวเนี่ย! ถ้าเป็นขณะจิตที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.. ถ้าเป็นจิตที่ “ตั้งมั่น” จะมีประโยชน์มาก …. จิตตั้งมั่นขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว อย่างที่เคยบอกไว้ว่า.. “จิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว.. จิตจะมีกำลัง” ไอ้กำลังนี่แหละ!.. ที่ท่านบอกว่า “มันมีคุณค่ามาก” “ชั่วช้างกระดิกหู” ก็คือ.. ชั่วขณะ “ชั่วงูแลบลิ้น” ก็คือ.. ชั่วขณะ ไอ้ชั่วขณะเนี่ย! ภาษาบาลี เรียกว่า “ขณิกะ” ถ้าเป็นสมาธิชั่วขณะ เขาเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” สมาธิ.. แค่เพียงชั่วขณะเนี่ย! ก็จะสามารถทำให้ “จิตมีกำลัง” เวลามาดูกาย.. จะเห็นความจริงของกาย เวลาดูจิต.. ก็จะเห็นความจริงของ จิตได้ มันจะเริ่มที่จะเจริญปัญญา ในแง่ที่ว่า.. ถ้าเห็นความจริงของกาย ในลักษณะว่า.. “มันเป็นทุกข์, มันไม่ใช่เรา” ก็จะขึ้นวิปัสสนา เวลาดูจิต ก็จะเห็นความจริงของจิต ว่า.. “มันเกิด-ดับ, มันไม่ใช่เรา” ก็จะเจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้น.. อาศัยจิตที่มีคุณภาพ แค่ชั่วขณะเนี่ย! มาดู “กาย” มาดู “ใจ” มันจะเห็นความจริงของ “กาย” ของ “ใจ” จึงเรียกขณะนั้นว่า.. มันแค่.. “ชั่วช้างกระดิกหู ชั่วงูแลบลิ้น” มีประโยชน์มาก! มีอานิสงส์มาก!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “ฝึกจิตให้เกิดปัญญา” วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์รายการ https://youtu.be/l2QQ3Ki1tOY (นาทีที่ 42.52-44.28)

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #กายป่วยใจไม่ป่วย #ติดโควิด #ทุกขเวทนา #ถาม: โยมติดโควิด! ช่วงที่อาการหนัก เกิดทุกขเวทนามาก ปวดหัว ปวดตัว ควรภาวนาอย่างไรเมื่อป่วยไข้? #ตอบ: กินยา.. มียาไหม? มียาแผนปัจจุบันก็กินยาได้นะ ถ้าโรงพยาบาลจ่ายยามา..ก็กินยาโรงพยาบาล ถ้าไม่ได้รับยาจากโรงพยาบาล ก็หายากินเอง .. เช่น ฟ้าทะลายโจร ทีนี้เมื่อกินยาแล้ว ทุกขเวทนาก็ยังไม่ดับทันที ใช่ไหม? เกิดทุกขเวทนา ก็ดูเวทนา เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้ หรือถ้าทุกขเวทนามาก ดูไม่ไหว.. ก็ดูจิต “ถ้าดูทุกขเวทนาได้ ให้ดูทุกขเวทนา ถ้าดูไม่ไหวให้ดูจิต” ดูจิต..ก็ดูในแง่ที่ว่า.. เวลามีทุกขเวทนา ใจไม่ชอบ.. ให้รู้ “ความไม่ชอบ” มีทุกขเวทนา แล้วเกิดโทสะ ให้รู้ทัน”โทสะ” มีเวทนาแล้วกังวลว่า.. ‘ปอดเราจะไปถึงไหนแล้วเนี่ย!!’ ก็ให้รู้ทัน “ความกังวล” มันสามารถภาวนาได้ แล้วในที่สุดก็หาย ‘ถ้าเราป่วย.. อย่าให้ใจป่วย’ บอกกับตัวเองอย่างนี้นะ! “กายจะป่วย ใจอย่าป่วย” แล้วเราก็เจริญสติ ดูความจริงของมันต่อไป แล้วโรคมันก็แสดงไตรลักษณ์ให้ดูอยู่ดี มันมีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็หาย หายก็คือไม่มี มีแล้วก็หาย เพียงแต่ว่า.. ในระหว่างที่มันมีทุกขเวทนา อย่าให้ทุกขเวทนานั้นกลายเป็นทุกข์สองต่อ คือ มันเป็นทุกขเวทนาทางกาย แล้วอย่าให้ใจเป็นทุกข์ด้วย บอกกับตัวเองไว้ก่อนอย่างนี้ก็ได้ คอยเตือนตัวเองว่า “กายทุกข์แล้ว อย่าให้ใจทุกข์ด้วย” ประมาณว่า.. “แยกขันธ์” นั่นเอง! แยกขันธ์.. เวลาเห็นกายเป็นทุกข์ ใจไม่เป็นทุกข์ นี่ก็แยกขันธ์เลย เห็นทุกข์.. เป็นทุกข์ ตรงนี้เห็นเวทนา ตอนเห็นร่างกาย.. มีความเคลื่อนไหวของร่างกายเนี่ยนะ เราดูที่ความเคลื่อนไหว ไม่ได้มาเน้นตัวเวทนา เวทนาไม่เด่น ก็ดูร่างกายได้อยู่ หรือว่าทุกขเวทนามันเด่นขึ้นมา มันชวนให้จิตไปดู แล้วไปจมกับทุกข์ ก็กลายเป็นว่า.. แทนที่จะไปจมกับทุกข์ ให้มาดูจิตที่มันไม่ชอบ ดู“ความไม่ชอบ” ตอนดูเวทนาเนี่ย..เวทนาไม่ดับ ! แต่ดูความไม่ชอบ..ความไม่ชอบดับ !!ความไม่ชอบเป็นกิเลส เห็นความไม่ชอบ..ความไม่ชอบดับ เวทนาก็เกิดอีก เห็นเวทนา เวทนาไม่ดับ มีความรำคาญใจ รู้ทันความรำคาญใจ ความรำคาญใจดับ! ดูกายต่อไป เวทนามาอีกแล้ว รู้เวทนา เวทนาก็ไม่ดับ กังวลใจ รู้ทันความกังวล ความกังวลดับ! อาศัยเวทนานี่แหละ แล้วใจก็ไปอินกับเวทนาบ้าง หรือว่าไปรู้จิตบ้าง แล้วมันแสดงความจริง ตอนแสดงความจริงเนี่ย ดูจิตจะแสดงความจริงได้ง่าย เพราะว่าทุกครั้งที่มีเวทนามักจะมีกิเลส เป็นกิเลสในกลุ่มโทสะ เช่น ไม่ชอบใจ กังวล มีความหงุดหงิด อะไรอย่างนี้นะ รู้ทันมันไป! แล้วเวทนาเนี่ยนะ กลายเป็น back ground (เบื้องหลัง) ไม่มีผลอะไรมาก กลายเป็นว่า.. ไอ้กิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเนี่ย แสดงไตรลักษณ์ทุกครั้งเลย ถ้าเราดูด้วยใจที่เป็นกลาง ฉะนั้น เมื่อป่วยไข้ อย่าไปดูที่ทุกขเวทนา แบบประสงค์จะให้มันดับ ดูทุกขเวทนาก็เป็นแค่เวทนา ถ้าดูได้ก็ดูไปก่อน ถ้ามันดูไม่ได้ จิตหงุดหงิดขึ้นมา ก็ให้ดูความหงุดหงิดที่เกิดขึ้น ดูกิเลสที่จิต ดูจิตนี่แหละ แล้วกิเลสในจิตมันแสดงไตรลักษณ์ให้ดู แบบนี้ง่ายกว่า! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://m.youtube.com/watch?v=I9ZFh08tKiE&feature=youtu.be นาที 1:39:01 – 1:43:48″ ลิงค์ https://youtu.be/I9ZFh08tKiE

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #พิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมะทาน #แจกธรรมะ #ถาม : กราบเรียนสอบถามพระอาจารย์ “พิมพ์หนังสือธรรมะแจกถือเป็นการให้ทานข้อไหนคะ?” #ตอบ : เป็น “ธรรมทาน” ใช่ไหม? หมายถึงว่า.. “จะทำธรรมทาน” ใช่ไหม? แล้วก็ “พิมพ์หนังสือธรรมะแจก” ใช่ไหม? คือคนส่วนใหญ่ เวลาจะทำธรรมทานก็จะนึกถึง.. วิธีนี่แหละ! ก็คือ ใช้การแจกหนังสือธรรมะ แต่การแจกหนังสือธรรมะเนี่ย ยังไม่แน่ว่าจะเป็นธรรมทานหรือเปล่า? มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอีกอย่างหนึ่ง คือ เราเห็นคุณค่าของหนังสือนั้นหรือยัง? หมายความว่า.. เราได้อ่านหนังสือนั้นหรือยัง? อ่านแล้ว.. ได้เห็นคุณค่านั้นด้วยหรือเปล่า? ..แล้วจึงแจก ไม่ใช่เห็นหนังสือแล้วก็แจก หรือไปสั่งโรงพิมพ์..พิมพ์แจก โดยที่ตัวเองยังไม่ได้อ่านเลย ไม่รู้ว่าเนื้อหาในหนังสือมีอะไรบ้าง อย่างนี้เท่ากับแจกกระดาษ อานิสงส์เท่ากับแจกวัตถุ ไม่ได้แจกธรรมะ “แจกธรรมะ” คือ เรารู้อยู่ว่าดี เห็นว่ามีประโยชน์ และควรที่จะให้คนอื่นรู้ด้วย คือตัวเองต้องรู้ก่อน จึงจะเรียกว่า “การให้ธรรมะเป็นทาน” เนื้อหาในหนังสือนั้น เราควรรู้ด้วย อาจจะไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง อาจจะไม่บรรลุมรรคผลจากการอ่านหนังสือธรรมะนั้น แต่เห็นประโยชน์ เห็นว่าหนังสือนั้นแสดงความจริง แสดงวิธีที่จะบรรลุความจริงนั้น หรือแก้ไขมิจฉาทิฏฐิ หรือความเข้าใจผิดของคนได้ ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ “เห็นประโยชน์” คือ เราไม่สามารถจะสอนได้อย่างนี้ มีครูบาอาจารย์สอนไว้แล้ว พิมพ์เป็นหนังสือไว้แล้ว แล้วเราเห็นประประโยชน์..ก็แจกหนังสือนั้น อย่างนี้จึงจะมีอานิสงส์จากการแจกนั้นเป็น “ธรรมทาน” “ให้ความรู้จริงๆ” คือ เราต้องรู้ด้วย !ไม่ใช่เพียงเห็นเป็นหนังสือธรรมะ..แล้วก็แจก คำว่า “หนังสือธรรมะ” ยังไม่รู้ว่าเนื้อหาในหนังสือธรรมะนั้นดีหรือเปล่า? อาจจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ สอนอะไรผิดๆ ก็ได้ อาจจะทำให้คนหลงทางก็ได้ ถ้าเราไม่ได้ตรวจสอบ หรือดูด้วตนเอง ก็เสี่ยง.. ต้องมั่นใจว่า เนื้อหาในหนังสือนั้นเป็นธรรมะ ไม่ใช่เป็น “อธรรม” !! เพราะฉะนั้น “พิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน” ต้องมั่นใจว่า.. เนื้อหาของหนังสือนั้นเป็นธรรมะจริง ถ้าไม่มั่นใจ ก็ปรึกษาครูบาอาจารย์ก่อนว่า หนังสือนี้สมควรไหม.. ที่จะพิมพ์แจก? ไม่ใช่ไปสั่งโรงพิมพ์มา ถึงวัดก็เอาหนังสือไปตั้งไว้เลย ก็เป็นปัญหากับวัดนั้นว่า.. หนังสือนี้เอาไปทำอะไรต่อดี! เปิดดูแล้วเนื้อหาก็ไม่ได้เรื่อง เอามาทำให้คนหลงผิด ก็ชั่งกิโลขายเท่านั้นเอง! เป็นเอากระดาษให้วัดไปช่างกิโลขาย คือ เจ้าตัวต้องอ่านแล้วเห็นประโยชน์กับหนังสือนั้นก่อน แล้วจึงเอาไปแจก ไม่ใช่เพียงแค่ “เขาว่า.. เป็นหนังสือธรรมะ” แล้วเราก็เอาหนังสือที่ “เขาว่าเป็นหนังสือธรรมะ” ไปแจก ตัวเองก็เป็นเพียงแค่ตัวส่งผ่าน จะไปต่างอะไรกับคนที่แจกโบรชัวส์ตามสะพานลอย กระดาษนั้น เขาก็เอาไปทิ้งนั่นเอง! ดูให้แน่นอนว่า.. เนื้อหาเป็นอย่างไร? ส่งเสริมให้เกิดสัมมาทิฏฐิไหม? บอกสอนความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไหม? บอกวิธีปฏิบัติ เพื่อให้ถึงความจริงที่พระพุทธเจ้าแสดงนั้นไหม? ส่งเสริมให้เกิดสัมมาทิฏฐิ หรือเปล่า? ขอฝากให้ตรวจสอบก่อน ถ้าไม่มีภูมิที่จะตรวจสอบเอง ก็ถามที่ครูบาอาจารย์ก่อน หรือมั่นใจในครูบาอาจารย์ท่านไหน เราก็เอาธรรมะของครูบาอาจารย์ท่านนั้นมาแจกได้เลย คือ เจ้าตัวต้องอ่านก่อน แล้วเห็นประโยชน์ของสิ่งที่จะแจกนั้นก่อน ไม่ใช่ว่า “สักแต่ว่าแจก” ขอฝากไว้ตรงนี้ด้วย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ 15 กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=qVf33M3gwGQ&t=1498s (นาทีที่ 24.52 – 29.55)

อ่านต่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฏาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #อย่าล่วงเกินผู้มีคุณธรรมสูง #อย่าด่วนตัดสิน “การที่ไปล่วงเกินบุคคลอื่น” บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่า.. ท่านนั้น.. ท่านนี้.. พระรูปนั้น.. รูปนี้ มีคุณธรรมระดับไหน? เป็นพระอริยะหรือเปล่า? เพื่อความปลอดภัย คือ “อย่าไปจาบจ้วงล่วงเกิน!!” ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ชี้ หรือ ส่อว่า.. “ท่านอาจจะมีความผิด!” ควรหาข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนที่จะปลงใจ! .. ก่อนที่จะปลงใจว่าท่านผิด หาข้อมูลให้รอบด้าน หน้าที่ของชาวพุทธ ที่จะช่วยกัน ดำรงรักษา “พุทธศาสนา” หรือ ดำรงรักษา “ชาวพุทธ” ด้วยกัน.. “พุทธบริษัท” ด้วยกัน ใครทำผิด.. ก็ควรที่จะถูกกำจัด หรือควรจะมาชำระให้มันถูกต้อง แต่มันมีขั้นตอนของมัน เราอย่าข้ามขั้นตอน ! เราอย่าทำตัวเป็น “ศาล” เสียเอง !! ถ้าเราทำตัวเป็นศาลเสียเอง แล้วเราไม่รอบด้าน เราไม่มีข้อมูลรอบด้าน เราอาจจะเป็นฝ่ายผิดพลาด ….. เริ่มต้นเลย มีอะไรเกิดขึ้น อย่าเพิ่งรับตัดสิน! บอกกับตัวเองว่า “เราไม่ใช่ศาล” “เราไม่ใช่ศาลสถิตยุติธรรม” ถ้าเห็นใครทำไม่ดี ทำผิด ถ้ามีหลักฐานจริง.. ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง เราอย่าทำตัวเป็นศาลเสียเอง มันจะกลายเป็น .. ศาลเตี้ย !! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “อันตราย ! อย่าด่วนตัดสิน” ออกอากาศวันที่ ๑๗ กรกฏาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/7GbDydthTJc (นาที 48:29 –51.29)

อ่านต่อ

วันพุธที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๕๖๕ #วันอาสฬหบูชา วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร “ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ฯ” เป็นคำอุทานในใจของพระโกณฑัญญะ พอฟัง(ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)แล้ว.. ก็เข้าใจเลย! เข้าใจเลย.. คือว่า “ไม่ว่า.. สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นมา สิ่งนั้นย่อมดับไป เป็นธรรมดา” คำว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” คือไม่บัญญัติ เวลามีสภาวะอะไรขึ้นมานะ! ไม่ต้องไปเรียกชื่อว่าอะไร.. คืออะไรด้วย? แค่รู้ว่า.. มี “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นมา.. แล้วก็ดับไป “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นมา.. แล้วก็ดับไป เห็นอยู่นะ! แต่ไม่ต้องไปกังวลว่า..มันคืออะไร? ไม่ต้องไปเรียก! การบัญญัติ.. เรียกว่าอะไรนั้น เป็นการปรุงแต่งคำ เวลาเห็นเนี่ยนะ! เรารู้เนี่ยนะ! ขณะที่เห็น.. แล้วรู้ จิตรู้สภาวะนั้นนะ..จิตเนี่ย.. ทำงานแล้ว ถ้าจะเรียกว่า..มันคืออะไร? จะต้องใช้จิตอีกหลายขณะ เวลาพระโกณฑัญญะเห็นสภาวะเกิด-ดับ เกิด-ดับ เนี่ยนะ ท่านดูด้วยใจที่เป็นกลาง เพราะฉะนั้น.. จึงไม่ต้องไปกังวลว่า.. จะต้องไปเรียกชื่อ “สภาวะ” นั้นว่าคืออะไร? แต่เข้าใจว่า.. มี “สิ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นมา แล้วดับไป มี “สิ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นมา แล้วดับไป ย้ำสักสอง-สามครั้ง ก็เข้าใจเลยว่า อ๋อ!.. ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นมา.. ก็ดับไป ไม่ว่า “รูป” เกิดขึ้นมา – “รูป” ก็ดับ ไม่ว่า “นาม” เกิดขึ้นมา – “นาม” ก็ดับ ไม่ว่า “กาย” เกิดขึ้นมา – “กาย” ก็ดับ ไม่ว่า “ใจ” เกิดขึ้นมา – “ใจ” ก็ดับ ก็เข้าใจเลย! “พระโสดาบัน” ท่านรู้แค่นี้เท่านั้นเอง พระกฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://youtu.be/b-WsCuFrLM4 (นาที 43:45 – 45:09 )

อ่านต่อ

วันพุธที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตพ้นภัย #จิตเกษม คาถาที่ ๑๐ คาถาสุดท้ายของมงคลสูตร เอาไว้ตรวจสอบตนเอง คือว่า.. เวลาที่กระทบกับโลกธรรมแล้ว.. “จิตหวั่นไหว”ไหม? จิตยังแห้งไหม? คือยังมี”โศก”ไหม? ยังมีกิเลสหลงเหลืออยู่ไหม? “ปราศจากธุลี”แล้วหรือยัง? “จิตพ้นภัย”แล้วหรือยัง? คือ “จิตเกษม” แล้วหรือยัง? ถ้ามีความไม่ประมาทอยู่เสมอมา ก็จะพ้นภัยได้จริง! เขาเรียกว่า.. เมื่อเห็นภัยจากแก่-เจ็บ-ตายทั้งหลายแล้วมีความไม่ประมาท แม้จะยังเป็นปุถุชนอยู่ก็น่าชมเชย ตรงที่ว่า.. ไม่ประมาท! ก็พึงเร่งทำกุศล เร่งทำมงคลให้เกิดกับตน ให้ครบทั้ง ๓๘ ข้อ ให้สำเร็จให้ได้..ทุกๆคน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน “มงคลสูตร จิตที่พ้นภัย” ออกอากาศวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/wogR_1XsEjU 57.39-58.45

อ่านต่อ

#นิมฺมโลตอบโจทย์ #ถาม : กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ จะทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับอย่างไรดีคะ? แบบเมื่อเขาอนุโมทนาแล้ว เขาจะได้อยู่สุขสบายในภพนั้น #ตอบ : จะมีหลักประกันอะไร?!? เอาอย่างนี้นะ.. สมมติว่าเขาอยู่ในภพที่ไม่ดี เช่น อบาย .. สมมติว่าเขาเป็นเปรตนะ .. เราทำบุญอุทิศให้เขา เราอย่าไปบอกว่า “ให้เขาอยู่สบายในภพเดิม” เปรตยังไงก็ไม่น่าอยู่นะ !! มันควรจะบอกว่า “ถ้าเขาอยู่อบายภูมิ ให้เขา ‘เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิไปสู่สุคติ’ สิ” ที่ว่าให้สุขสบายในภพนั้นน่ะ .. ก็คือเป็นเทวา ก็เป็นเทวดาต่อไป อย่างนี้..ได้ ใช่ไหม? หรือบอกว่า “ให้เขาได้สุข แล้วถ้าอยู่ในภพภูมิที่เป็นทุกข์ ก็ขอให้เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิไปสู่สุคติ” มันต้องว่าอย่างนี้ ไม่ใช่ว่า “อยู่ที่เดิมนะ แล้วให้มีสุข” ..มันไม่สุขหรอก! แล้วก็จะทำบุญอย่างไร? ให้เขาอนุโมทนา แล้วจะได้สุขนะ ก็คือ ทำบุญที่มันเป็นความจำเป็นในการดำรงชีพพื้นฐานเลย คือ ปัจจัย ๔ ทำบุญด้วยอาหาร ด้วยเครื่องนุ่งห่ม ด้วยยารักษาโรค ด้วยที่อยู่อาศัย คือ ถ้าเขาเป็นทุกข์เนี่ยนะ เขาจะเป็นทุกข์ในเรื่อง ๔ เรื่องนี้ เช่น เปรตบางตน ไม่ได้กินอาหาร ไม่ได้กินน้ำ ก็ทำบุญด้วยข้าว ด้วยอาหาร ด้วยน้ำ แล้วอุทิศให้ เปรตบางตนเนี่ย ได้ข้าวได้น้ำแล้ว ไม่มีเสื้อผ้าใส่ ก็ต้องทำบุญด้วยเครื่องนุ่งห่ม เปรตบางตนก็ดูขี้โรค ก็ทำบุญด้วยยารักษาโรค เปรตบางตนไม่มีที่อยู่ที่อาศัย ก็ทำบุญเกี่ยวกับที่อยู่ที่อาศัย ถ้าได้ปัจจัย ๔ อย่างนี้ เรียบร้อยแล้วเนี่ยนะ เช่น ได้วิมานแล้ว มีเสื้อผ้าที่เป็นทิพย์ที่สวยงามแล้ว มีอาหารทิพย์แล้ว อย่างนี้นะ ก็คือ เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ จากเปรตเป็นเทวดาทันที ไม่มีบุญอะไรที่จะให้ผล ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้ไวเท่ากับการที่ทำบุญด้วยปัจจัย ๔ นี้ เพราะเวลาเขาเหล่านั้นเป็นทุกข์ ก็คือ ไม่มีปัจจัยในการดำรงชีพ ไม่มีปัจจัยในการดำรงชีพ ปัจจัย ๔ อย่างเนี่ย เป็นของจำเป็นสำหรับสรรพสัตว์ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์ในเรื่องเหล่านี้แหละ ไม่ใช่ว่าเป็นทุกข์ว่า ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง เขาไม่ทุกข์หรอก ทุกข์ประจำสัตว์ทั้งหลายเลยคือ ไม่มีกิน ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม ไม่มีที่อยู่ที่อาศัย ประมาณอย่างนี้แหละ ที่จำเป็นมาก ๆ เลย คือ อาหาร กับเครื่องนุ่งห่ม ขอให้ทำบุญด้วยปัจจัย ๔ เท่านั้นเอง แล้วอุทิศให้ ถ้าเขามีสุขอยู่แล้ว ก็สุขในภพนั้นไม่เป็นไร แต่เขาอยู่ในภพที่ไม่ดี ให้เขาเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ ไม่ใช่ว่า อยู่ภพตรงนั้นแหละ แล้วให้เป็นสุข มันไม่สุขหรอก ต้องบอกว่า ให้เขาได้อนุโมทนา แล้วก็เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิไปสู่สุคติ ถ้าเขาอยู่ในที่ ๆ ไม่สบายให้เขาเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิไป แต่ถ้าเขาอยู่ดีอยู่แล้ว เช่น เป็นเทวดาอยู่แล้ว ก็ขอให้อยู่ตรงนั้นล่ะ เป็นเทวดาอย่างนั้นล่ะ แล้วเราก็ไม่ต้องเป็นห่วงเขาแล้ว ถ้าเขาเป็นเทวดานะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=bd0goHUPz4o&t=2114s (นาทีที่ 1:27:30 – 1:31:43)

อ่านต่อ

วันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ ไอ้ตัวที่ทำให้ติดหนึบ, แน่น, นาน อีกตัวหนึ่งที่น่ากลัว ก็คือ.. ทิฏฐิ! ทิฏฐิที่เป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ดังนั้นทิฏฐิ.. จึงเป็นตัวกาวอันเหนียวแน่น ที่ทำให้ “จิตเรา” ไปไหนไม่รอด!! เพราะว่าถ้าทิฏฐิ มันเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” มันจะคิดว่า.. จิตนี้เที่ยง คิดว่า.. จิตนี้เป็นเรา ถ้าคิดอย่างนี้เนี่ยนะ.. มันไปไหนไม่รอด! ตัวสำคัญเลยที่ พระพุทธเจ้ามาสอน ให้ชาวพุทธ “พ้น” หรือว่า อยู่ในกระแสที่จะพ้น ก็คือ.. ทำให้เกิด “สัมมาทิฏฐิ” รู้ว่ากายนี้ ใจนี้.. ไม่ใช่เรา เห็นว่าขันธ์ห้า.. เป็นขันธ์ห้า ไม่ใช่เรา เห็นว่า.. กาย คือ กาย เห็นว่า.. เวทนา คือ เวทนา เห็นว่า.. จิต คือ จิต เห็นว่า.. ธรรม.. ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา อยู่ที่ไหนเลย มันต้องเห็นขนาดนี้! พอเห็นขนาดนี้แล้ว อย่างน้อยๆ เป็น “พระโสดาบัน” แปลว่า.. เข้ากระแส สู่พระนิพพาน คือ มีสัมมาทิฏฐิ ที่สำคัญ เห็นว่า.. กายนี้ ใจนี้ หรือขันธ์ห้า ทั้งหมดทั้งปวงนี้ “ไม่ใช่เรา” แค่นี้.. พระองค์ก็ตรัสเรียก บุคคลประเภทนี้ว่า.. เป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ แต่ถ้ายังไม่เห็นอย่างนี้ ตัวทิฏฐิที่ยัง เห็นผิดๆ มันจะพาวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ พระองค์ จึงตรัสเปรียบเทียบ บุคคลผู้เป็น “พระโสดาบัน” ว่า เป็นผู้มีความประเสริฐ ยิ่งกว่าพระเจ้าจักรพรรดิ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน “มงคลสูตร คาถาที่ ๑๐ จิตที่พ้นภัย” ออกอากาศวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/wogR_1XsEjU (นาที 26:48 – 28:45)

อ่านต่อ

วันพุธที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตปราศจากธุลี พระอรหันต์จะไม่มีการประคองรักษาจิตผู้รู้ … “จิตผู้รู้’ เปรียบเหมือนเรือ.. ใช่ไหม? เราจะไปฝั่งโน้นได้.. ก็ต้องมีเรือ ต้องพยายามต่อเรือ ถ้าไม่มี.. ก็ต้องต่อเรือ ถ้าไม่มีเรือ.. ก็ต้องเป็นแพ เอาอะไรสักอย่างหนึ่ง! ที่จะเป็นพาหนะ ที่จะพาเราข้ามพ้นฝั่งไปได้ แต่พอถึงฝั่งแล้ว ไม่ใช่แบกเรือขึ้นฝั่งต่อไป มันก็ต้องทิ้งเรือ ทิ้งแพนี้ไว้ที่ริมฝั่ง หมายถึงว่า.. “เราถึงฝั่งแล้ว.. เราก็ต้องทิ้งมันไป” “จิตผู้รู้” นี่ก็เหมือนกัน ต้องสร้างมันขึ้นมา เราคือผู้ฟังทั้งหลาย เข้าใจว่า.. น่าจะอยู่ในระดับปุถุชน เนี่ยนะ! ควรจะสร้าง “จิตผู้รู้” นี้ขึ้นมา แล้วเราก็พัฒนา “จิตผู้รู้” เพื่อให้เห็นความจริง! ความจริง.. ของรูป ความจริง.. ของนาม ความจริง.. ของส่วนประกอบอยู่ในนาม มันมีกิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้น รู้มันไป! มันแสดงไตรลักษณ์ เกิดขึ้นมาว่า.. มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรา มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรา พัฒนา.. มันขึ้นมา! พัฒนา.. จิตผู้รู้ เพื่อให้เห็นความจริง แต่พอขั้นสุดท้ายแล้ว ถ้าจะให้เป็น “พระอรหันต์” จริงๆ “ต้องปราศจากธุลี” ไม่มีแม้แต่ความประคองรักษา “จิตผู้รู้” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน “มงคลสูตร คาถาที่ ๑๐_จิตไม่หวั่นไหว” วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/NwSh8GftfRk (นาที 01:02:35 – 01:03:45)

อ่านต่อ

วันอังคารที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สัปปายะ..ที่ที่ควรอยู่ “สัปปายะ” แปลว่า สบาย แต่สบายที่ว่านี้นะ มันไม่ใช่! “สบาย” แบบที่คนไทยเรียกกันในปัจจุบัน ปัจจุบันคนไทยเนี่ยนะ คำว่า “สบาย” คือ “นอน” ตรงนี้สบายนะ.. แล้วอยากนอนเลย คือ สบายแล้ว.. คือ “พัก” แต่ “สบาย” ในคำทางพุทธศาสานา หมายถึง.. สภาพที่เหมาะ ที่จะทำให้ตัวเองอยู่ตรงนั้น แล้วพัฒนาต่อได้ คือ พัฒนาสะดวก มันเป็นสะดวกสบาย ที่จะพัฒนาต่อ ไม่ใช่! สะดวกสบายแล้ว จะพักผ่อน ไม่ใช่อย่างนั้นนะ! ทัศนคติของคนไทยเนี่ย พอสบายแล้วก็จะนอนแล้ว จะพักผ่อนอย่างเดียว แต่ “สบาย” ในพุทธศาสนาเนี่ย คือ สบาย คือ “สะดวกที่จะพัฒนาต่อ” มี “อาหาร” พอสมควร ก็สะดวกที่จะพัฒนาต่อ “อากาศ สภาพภูมิอากาศ” เป็นอย่างไร? .. เหมาะไหม? สำหรับเราที่จะอยู่ตรงนี้ หรือว่า.. ตรงนั้นมีครูบาอาจารย์ไหม? มี “บุคคลสัปปายะ” ไหม? มี “ธรรมะสัปปายะ” ไหม? คือ ที่ ที่ว่า นี้ มันไม่ใช่สะดวก ในแง่ของวัตถุสิ่งของ โดยอย่างเดียว ก็ต้องดูว่า.. มีปัจจัยที่จะพัฒนาตนเองไหม? บางทีเนี่ยนะ เรื่องวัตถุสิ่งของความสะดวกสบาย แม้อาจจะบกพร่องไปบ้าง แต่ถ้ามี “บุคคลผู้มีธรรมะ” อยู่ตรงนั้น บางที.. แม้จะลำบากก็ควรอยู่ ตรงนั้น.. กลายเป็นว่า เป็น “ปฏิรูปประเทศ” สำหรับเราได้เหมือนกัน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน “ตั้งหลักชีวิต” วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://youtu.be/ipLInCEWjtE (นาที 10:12 – 11:48)

อ่านต่อ