ฝากคิด ฝากคำ

วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๖ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตรู้ตรงข้ามจิตคิด “จิตรู้” กับ “จิตคิด” จึงตรงข้ามกันเลย จิตขณะที่รู้.. ไม่ได้คิด! จิตขณะที่คิด.. ไม่รู้! ทีนี้ไอ้ที่ไม่รู้นี่คือ.. ไม่มีความรู้ ในแง่ว่า.. มีสติรู้ทันจิต หรือรู้กาย มันจะกลายเป็นว่า.. รู้เรื่องราว ที่คนเขาบอกว่า "รู้นะๆ ฉันรู้นะ!" แต่มันรู้เรื่องราว! แต่ “รู้” ที่เราพูดถึงเนี่ย คือ "รู้กาย" หรือ "รู้ใจ" ในที่นี้จะบอกว่า "รู้ใจ" จิตที่มันรู้เรื่องราว คือ "เผลอคิด" แต่พอรู้ว่าเมื่อกี้เผลอคิด "จิตที่รู้" ก็กลายเป็น "จิตผู้รู้" ขึ้นมา ถ้ารู้ด้วยใจเป็นกลางนะ มันจะกลายเป็นว่า.. การรู้ครั้งนี้ มันมี"รู้" ประกอบด้วยสติ และสมาธิ ก็ตรงนี้จะเรียกอีกคำว่า "มีจิตตั้งมั่น" "มีจิตถึงฐาน" หรือ "จิตที่มีสัมมาสมาธิ" พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน "จิตผู้รู้" T.314 วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๖ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=322jjVjfFzc&t=868s (นาทีที่ 13.26 – 14:28) คลิกใจให้ธรรม_จิตผู้รู้ (พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล) T.314 15/01/66www.youtube.comรายการ คลิกใจให้ธรรม Dhamma on Hand ทางช่อง MVTV หมายเลข 75 ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 06.00-07.00 น. ติดตามความเคลื่อนไหวทางราย.....
วันเสาร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๖ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ธรรมชาติของความโกรธ ทุกครั้งที่จิต มีความโกรธ จิตขณะนั้นเป็นทุกข์ทันที! เศร้าหมองทันที! ทุกขณะจิตเลย ไม่มียกเว้นเลย นี่เป็นธรรมชาติของความโกรธ เกิดกับจิตดวงไหน จิตขณะนั้นเป็นทุกข์ทันที ฉะนั้น ถ้าทุกข์จากความโกรธ ให้รู้ทันว่า "ตอนนี้เรากำลังเป็นเจ้ากรรมนายเวรแล้ว" บอกตัวเองเลย "ให้อภัยเขา" "ให้อภัยเขา" หมายความว่าอย่างไร? เราเชื่อเรื่อง “กฎแห่งกรรม” "ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว" ไอ้คำว่า "ทำชั่วได้ชั่ว" ไม่ใช่ว่าเราไปเป็นกรรมการ คอยให้คะแนนคอยสั่งว่า "มึงจงได้รับกรรมชั่วเดี๋ยวนี้" ไม่ใช่! เข้าใจไหม? มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าต้องมีเราไปให้คะแนน เร่งให้เขาได้รับผลกรรมชั่ว มันไม่ใช่อย่างนั้นนะ! มันไม่เป็นอย่างนั้น ไอ้ครั้งที่เราคิดโกรธ เราชั่วเอง! ที่เราไม่พอใจน่ะ เราชั่วเองนะ!! คำว่า"ชั่ว" ดูรุนแรงไปหน่อย ก็คือ "เราโกรธแล้ว" เป็น “อกุศลแล้ว” ในตอนนี้ เป็นทุกข์แล้ว! ให้รู้ให้ทันในตอนนี้ด้วย ดังนั้น เวลาเราคิดถึงใครแล้วหงุดหงิด คิดถึงใครแล้วไม่สบายใจ ให้นึกเลยว่า "นี่กูเป็นเจ้ากรรมนายเวรแล้ว" ให้อภัยเขา เราต้องการให้เจ้ากรรมนายเวรของเราให้อภัยกับเราอย่างไร.. เราให้อภัยก่อนเลย! ทำให้เป็นตัวอย่าง ทำให้เป็นตัวอย่างว่า..เนี่ย! เราให้อภัยแล้ว แล้วเราเองได้รับผลเลย รับผลเลยทันที เป็นสุขใจทันที ปลอดโปร่งโล่งใจทันที พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม "เล่าเรื่องสอนแม่" ณ บ้านขนมนันทวัน วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=dRcTvYpZTOg&t=4313s (นาทีที่ 1:42:02 – 1:43:29)
วันศุกร์ที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๖ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ละมานะด้วยฉันทะ ตัวนี้สำคัญนะ! ไม่ใช่อยากอย่างเดียวว่า.. "ทำไงเราจะเป็นโสดาบันอย่างท่านบ้าง?" แล้วก็อยากเฉยๆ ..ไม่ทำ! อย่างนี้เรียกว่าเทียบแล้ว ก็มีแต่"ตัณหา" แต่ถ้าเทียบแล้วให้เป็นประโยชน์ เทียบแล้วเกิด"ฉันทะ" อย่างนี้ได้ .... คำสอนของพระพุทธเจ้าเนี่ย ถ้าทำปฏิบัติตาม จะได้ผล เราก็จะเป็นอย่างนั้นบ้าง! เป็นปัจจัยให้เกิด"ฉันทะ" ฉันทะเนี่ย! ก็จะมาฝึกตน ให้มีการประพฤติปฏิบัติ ให้มีการแสดงออกทางกาย ทางวาจา อยู่ในศีล เป็นวินัย เขาเรียกว่า"สีลสิกขา" เป็นเหตุให้เราเนี่ยมาขวนขวายหา.. "วิธีพัฒนาจิตใจ" พัฒนาจิตใจคืออะไร? คือ "จิตตสิกขา" จะทำอย่างไร?.. ให้จิตมันมีกุศล ให้มีความเพียร มีศรัทธา มีเมตตา กรุณา มุทิตา อะไรประมาณนี้นะ! .... เพราะมีมานะ เอามานะมาใช้ ให้เป็นประโยชน์โดยการว่า.. เกิดเทียบเขาเทียบเรา แต่เห็นแล้วว่าท่านดี(โสดาบัน) เกิดฉันทะที่จะพัฒนาตนเอง จะเป็นอย่างท่านเนี่ยแหละ! พอสุดท้าย..จะเริ่มต้นด้วยการละมานะที่ผิดก่อน เห็นผิด เห็นไม่ตรงความเป็นจริง อันนี้แหละจะละไปก่อน แต่พอเป็นพระโสดาบันจะละได้หมด ไอ้ที่เห็นไม่ตรงจริง เหลือแต่มีมานะเทียบที่ตัวตน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน เราสำคัญตัวแบบไหน T.312 วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๖ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=19rayHTbjf8&t=2002s (นาทีที่ 31:00–33.54)
วันศุกร์ที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ทุกข์คือเครื่องเตือนใจ คน..มันเป็นภาวะที่เหมาะ! ยังมีคำสอนของพระพุทธเจ้า เรายังฟังได้! ยังเข้าใจ! แล้วก็.. ทุกข์มีอยู่ก็จริง แต่มันก็ไม่มาก จนขนาดที่จะทำให้เรา ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่เหมือนสัตว์นรก.. สัตว์นรกทุกข์! แล้วก็ปฏิบัติธรรมไม่ได้ ทุกข์ของคนเนี่ย ทุกข์เหมือนกัน แต่ไม่มาก ถึงขนาดว่า จะเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ปฏิบัติได้ กลายเป็นว่า.. มันเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ไม่ประมาทได้ สุข.. ของความเป็นคน ก็ไม่ได้สุขมากมาย จนรู้สึกว่า.. มันยั่งยืนนิรันดร สุขของความเป็นคนเนี่ย พอดีๆ คือ สุขไม่นาน แต่ถ้าคนไม่เคยปฏิบัติธรรม ไม่เคยฟังธรรม ก็รู้สึกว่า.. ทำไมสุขแค่เนี่ย อยากสุขมากกว่านี้ ก็อยากเป็นเทวดาบนสวรรค์ รู้สึกเป็นเทวดา น่าจะสุขนาน แล้วก็น่าจะดีกว่า ความเป็นคน แต่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "เป็นคนน่ะดีกว่า เพราะสุขไม่นาน" แปลก!! สุขไม่นาน ทำให้เราไม่ประมาทอีกแล้ว มันเลยเห็นว่า สุขเนี่ย.. ก็อยากให้สุขนานๆ มันก็ไม่นานด้วย ทุกข์เนี่ย.. อยากให้หายไปเร็วๆ มันไม่เร็วด้วย แต่มันก็เพียงพอที่จะทำให้เราเห็นทุกข์ ของความเวียนวายตายเกิด ทุกข์ของชีวิตขึ้นมา เห็นทุกข์ของชีวิตขึ้นมาอย่างนี้ ก็เริ่มที่จะคิดที่จะพ้นไป และสามารถทำได้ในความเป็นมนุษย์นะ! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก ธรรมบรรยาย ณ บ้านจิตสบาย ตอน "เปิดกล่องของขวัญ" 651225 วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ ลิงค์คลิปวีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=N3w1PIoSKoo (นาทีที่ 26:25 – 28:11)
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #หวังรู้ ถ้าเราตั้งเป้า "ต้องสุข ต้องสงบ ต้องนิ่ง" พอมัน "ไม่ดี ไม่สุข ไม่สงบ ไม่นิ่ง" เราก็เห็นแล้ว .. เหมือนเห็นนะ! เหมือนจะมีสติ .. แต่ไม่เป็นกลางสักที! ทำไมไม่เป็นกลาง? ผิดหวังไง! แล้วจะหวังยังไง? ก็ต้องมีหวังบ้างสิ! หวังอะไร? .. หวังรู้! "หวังรู้" คืออะไร? ทำสมถะไปนะ! นับจากนี้จะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้.. จะรู้ ตั้งใจไว้ว่า.. จะรู้! จะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้.. จะรู้! ไม่ว่าจะดี หรือไม่ดี เห็นอะไรที่มันผิดไปจากนี้ คือตั้งใจว่า.. จะรู้! ผิดจากนี้เป็นความผิดจากไหนได้บ้าง? มีผิดแบบ"เผลอเพลิน"ไปเลย คือไม่อยากเผลอเพลิน ก็เพ่งเอาไว้ มีสองแบบ "เผลอเพ่ง" ก็ต้องรู้ด้วย ถ้าเพ่งแล้วไม่รู้! มันไม่ไปต่อ มันจะไม่เห็นไตรลักษณ์ เพ่งเอาไว้ เหมือนนิ่งๆ แต่ไม่เห็นไตรลักษณ์ ถ้ารู้.. คือคะแนน จะได้คะแนนอยู่เสมอ แต่ถ้าตั้งใจจะเอาสุข เอาสงบ เอานิ่ง พอมันไม่สุข ไม่สงบ ไม่นิ่ง รู้สึกไม่ได้คะแนน.. ต้องแก้! แก้ได้! .. รู้สึกได้คะแนน แก้ไม่ได้!! .. รู้สึกเสียคะแนน แก้ได้! .. รู้สึกเก่ง แก้ไม่ได้!! .. รู้สึกแย่จัง นึกออกไหม? แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าเริ่มต้นด้วยการที่อยากดี อยากสุข อยากสงบ อย่างนิ่ง วงจรก็จะเป็นอย่างนี้! เห็นไม่ดี! ..แก้ เห็นไม่สุข! ..แก้ เห็นไม่สงบ! ..แก้ เห็นไม่นิ่ง! ..แก้ เพราฉะนั้น ไม่มีประโยคที่หลวงพ่อว่าไว้นะ "มีสติ รู้กาย รู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง" ไม่เกิด.. ประโยคนี้ไม่เกิด! ปัญญาไม่มา วิปัสสนาไม่มี เพราะฉะนั้น.. ก่อนจะมีประโยคนี้ขึ้นมา ต้องตั้งใจให้ถูก! ไม่ได้ตั้งใจที่จะเอาดี สุข สงบ นิ่ง แต่ต้องมีมัน! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการแสดงธรรม คอร์สจิตเกษม ๒ - เริ่มภาวนา (๖๕๑๒๐๓) ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=uKhYbz7XbV4&t=2465s (นาทีที่ 36.57– 39.39)
วันศุกร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สันโดษเป็นไปเพื่อความเจริญ คนที่เขา"สันโดษ"กันได้เนี่ย! จริงๆ (สันโดษ) เป็นไปเพื่อความเจริญ เพราะว่าสันโดษเนี่ย.. ทำให้ไม่เบียดเบียนกัน ความสามารถเท่าเดิม หาได้มากเท่าเดิม แต่ใช้น้อย ใช้เท่าที่จำเป็น ที่เหลือแบ่งปัน นี่คือ.. "สันโดษ" ได้มาก..! แต่ใช้เท่าที่ตัวเองต้องการ.. จำเป็น! คือ เท่าที่สมควร ไม่ได้ใช้ จนกลายเป็น.. หามาๆ แล้วก็ใช้ไม่ทัน แล้วก็เก็บหวงไว้ อันนี้.. "ไม่สันโดษ" สันโดษ คือ ความสามารถในการหาเท่าเดิม เท่ากับตอนที่ไม่มีความสันโดษนั่นแหละ แต่ใช้เท่าที่จำเป็น ที่เหลือแบ่งปัน ให้ทาน อย่างนี้สังคมจะร่มเย็น เป็นสุข ไม่ได้ลดความสามารถในการหานะ แต่ถ้าไม่ยอมสันโดษ จะเอาแต่ตัณหา ตัณหาคือ อยากได้ๆ พออยากได้แล้ว ไม่ยอมแบ่งปัน เพราะรู้สึกว่า..ได้มาแล้วไม่พอ! เพราะตัณหามันถมไม่เต็ม "ตัณหา" พระพุทธเจ้าตรัสว่า.. แม้จะมีฤทธิ์เสกเขาทั้งลูกให้เป็นทองคำ ก็ไม่พอสำหรับตัณหาของคนคนเดียว พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการแสดงธรรม ณ บ้านจิตสบาย - ภาวนาแบบยอมรู้ (๖๕๑๑๒๗) วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=pO3IQoekqvg&t=1435s (นาทีที่ 22:40 – 24:05)
วันพฤหัสบดีที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #พิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล ถ้าฟุ้งซ่าน.. เป็นเวลาของสมถะ ถ้าจิตตั้งมั่นแล้ว.. เป็นเวลาของวิปัสสนา พูดภาษาง่ายๆ อย่างนี้นะ! ถ้าภิกษุนั้นทำอย่างนี้นะ เรียกว่า “พิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล” เรียกว่า.. มันเป็นศิลปะ ในการภาวนาเนี่ย มันเป็นศิลปะ คือต้องพิจารณา ต้องคอยประเมินตนเอง ไม่ใช่ดุ่ยๆๆ ทำแต่สมถะ หรือ..ดุ่ยๆๆ จะเจริญวิปัสสนา เรามีเหตุอะไร ที่จะไปเจริญสมถะ? มีเหตุอะไร ที่จะไปเจริญวิปัสสนา? เราทำถูกเวลาไหม? เราฟุ้งซ่านอยู่..ทำสมถะ! ทำสมถะจนจิตตั้งมั่นแล้ว พอจิตตั้งมั่นแล้ว..ทำวิปัสสนา อย่างนี้นะ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน "ถ้าไม่รู้จุดเริ่มต้น จะไปต่อได้อยางไร" (T.307) วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=gMAVsKkvlDo&t=1575s (นาทีที่ 25:24 – 26:17)
วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #เห็นแล้วเห็นอีก ขั้นตอนในการเห็นไตรลักษณ์เนี่ย มันต้องเห็นแล้ว.. เห็นอีก! เห็นแล้ว.. เห็นอีก!! เมื่อก่อนนี่นะ เข้าใจว่า.. ถ้าเห็นไตรลักษณ์สักครั้งหนึ่งแล้วนะ น่าจะบรรลุมรรคผลได้ แต่พอมาภาวนาจริงๆ มันไม่ใช่! มันต้องเห็นแล้ว.. เห็นอีก! เห็นแล้ว.. เห็นอีก!! เห็นจน.. ไม่ยินดี-ยินร้ายกับสิ่งที่ปรากฏ แรกๆ นี่นะ เวลาเห็นไตรลักษณ์ขึ้นมาที.. มันตื่นเต้น! เห็นไตรลักษณ์นะ! โอ้! อย่างนี้ก็มีหรือ? โอ้! มันเกิด-ดับ ประมาณนี้ ‘เฮ้ย! เห็นร่างกาย.. เฮ้ย! มันไม่ใช่เรานี่’ อะไรแบบนี้ เห็นไตรลักษณ์ของร่างกาย.. ไม่ใช่เรา! มันตื่นเต้น! บางทีทำใจไม่ได้นะ บางคนใจสั่นเลยนะ คล้ายๆ กับว่า.. ความเป็นเราเนี่ย ถูกสั่นสะเทือน ถูกสั่นคลอน มันก็จะสะเทือนใจ สะเทือนใจในแง่ว่า.. ‘ความเป็นเราจะต้องสูญสลายไปแล้วเหรอ? เรามีตั้งแต่เกิดมา ตอนนี้มันจะไม่มีเราแล้วเหรอ?’ อะไรประมาณนี้ มันจะสะเทือนใจ เพราะความจริงปรากฏ.. ถูกแฉ! ถูกแฉว่า.. ที่เคยเข้าใจว่า"มีเรา" มันไม่ใช่! ไม่ใช่!! คุณเข้าใจผิด!!! อะไรประมาณนี้ มันสะเทือนใจ! มันต้องเห็นแล้ว.. เห็นอีก! เห็นแล้ว.. เห็นอีก! จนใจเป็น"อุเบกขา" เป็นอุเบกขากับ "การเห็น" เห็นแล้ว.. ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก! ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก!! ตอนที่บรรลุมรรคผลจริงๆ เนี่ย มันจะเห็นซ้ำๆ กัน ต่อเนื่องกัน คนส่วนใหญ่.. ถ้าตอนนี้เห็นไตรลักษณ์ได้ จะเห็นแค่.. แว๊บหนึ่ง! ทีละแว๊บ! ทีละแว๊บ! ดังนั้นงานของเราคือ.. ทำให้เห็นถี่ๆ บ่อยๆ ก็คือ..ทำบ่อยๆ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากการบรรยายธรรม บ้านสติ วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=LqlqWOyXbXs&t=1833s (นาทีที่ 31:13 – 33:12)
วันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สอนอย่างที่พูด ทำอย่างที่สอน ผู้ที่จะสอนเราได้ ควรจะเป็น.. ผู้ที่ปฏิบัติเองได้ด้วย! คนนั้น! ผู้นั้น! อาจารย์ท่านนั้น! ควรจะปฏิบัติเองได้ ปฏิบัติอยู่ แล้วก็"ปฏิปทา"ก็ยังเป็นตัวอย่างให้เราด้วย การที่ท่านปฏิบัติเองได้ แสดงว่า.. ท่านก็ต้องมีธรรมะที่ท่านถือปฏิบัติอยู่ แล้วธรรมะที่ท่านถือปฏิบัติอยู่ ในแง่ที่ว่าจะให้"พ้นทุกข์" ก็ไม่ได้มาจากใคร ก็มาจากพระพุทธเจ้านี่แหละ! เพราะไม่มีใครสอนให้พ้นทุกข์ได้ ก็มีเพียงพระพุทธเจ้ามาสอน แล้วก็พระสาวกทั้งหลายมาบอกต่อ นอกนั้นไม่ใช่คำสอนที่พ้นทุกข์ จึงไม่ใช่เรียกว่า "พุทธศาสนา" ..... ท่านที่สอนอย่างที่ทำ และทำอย่างที่สอน มีบ้างไหม? นี่คือประเด็นว่า.. เราควรหาอาจารย์แบบไหน? คือ"ท่านสอนอย่างที่ทำ ทำอย่างที่สอน" คือ "สิ่งที่ทำ กับสิ่งที่สอน ไม่ขัดแย้งกัน" มีบ้างไหม!? พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "ทำได้อย่างที่พูด พูดได้อย่างที่ทำ" (T305) ออกอากาศวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=6EXLIw_ZyxM (ระหว่างนาทีที่ 5.5 – 8.40)
วันพุธที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สุขอะไรที่ไม่มีทุกข์เจือปน เวลาเราต้องการสุขเนี่ยนะ! เหมือนเราก็จะแสวงหาสุข แต่ลืมดูว่า.. สุขที่แท้!.. มันต้องไม่มีทุกข์เจือปน สุขอะไร.. ที่ไม่มีทุกข์เจือปน? คือ "สุขใน.. พระนิพพาน” ก็ต้องแสวงหาสุขแบบนั้น คือ เมตตาตัวเอง ก็จะมีเป้าหมาย เป้าหมายก็คือว่า.. ต้องไปถึง "สุขในระดับที่ไม่มีมลทิน" "ไม่มีความทุกข์เจือปน" มีอยู่อย่างเดียว คือ "พระนิพพาน" เพราะฉะนั้น.. ถ้าเราปรารถนาดีกับตนเอง ปรารถนาให้ตนเองมีความสุข ไม่ใช่! แสวงหาแต่"กามสุข" เพราะว่า.. "กามสุข" จะมีทุกข์เจือปนอยู่เสมอ ไม่ใช่หาสุขแบบ"สุขเวทนา" แบบเห็น-ฟัง-ดม อะไรเนี่ยนะ! ซึ่งเวทนามันเปลี่ยนไปเรื่อย มันจะให้มีสุขตลอดเวลา ลองดูเถอะ! ชีวิตนี้.. มันจะเป็นไปได้ไหม? ทุกครั้งที่ปรารถนาสุข และสุขเปลี่ยนไป เราจะทุกข์ทันที! หรือ.. ยังไม่ทันเปลี่ยน แต่ระแวงว่ามันจะเปลี่ยน ก็ทุกข์แล้ว ..... ดังนั้น สุขก็จริงเนี่ยนะ ถ้าสุขนั้น.. มันเปลี่ยนแปลงได้! มันคือ.. ทุกข์!! เพราะฉะนั้น เวลาปรารถนาดีกับตนเอง ปรารถนาให้มีสุข และปรารถนาว่า.. สุขแท้ๆ คืออย่ามีทุกข์ด้วย! นั่นคือ เป้าหมายของเรา "ให้ถึงพระนิพพาน" พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ "คลิกใจให้ธรรม" ออกอากาศ วันที่๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/_SfWMFCbNQ8 (นาที 19:25 – 21:00 )
วันอังคารที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง ปีขาล (วันลอยกระทง) #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ผ่านไปได้ด้วยใจเป็นกลาง ท่ามกลางความเหนื่อยยาก ก็ไปได้.. ! ที่ไปได้..เพราะจิตใจเข้มแข็ง มีต้นทุน มีความเพียร ความมีวิริยะ ความไม่ท้อถอย เหนื่อยยากแค่ไหน!.. วิกฤติยังไง!!.. ก็ยังภาวนา.. ผ่านไปได้ สบาย.. ก็อย่าเหลิง เหนื่อยหนัก.. ก็อย่าท้อแท้ "ความเป็นกลาง" คือยังไงก็ภาวนา สบาย.. ก็ภาวนา เหนื่อย.. ก็ภาวนา ชอบ.. ก็ภาวนา ไม่ชอบ.. ก็ภาวนา ภาวนา.. ให้มันจนเป็นนิสัย จนเป็น.. สิ่งที่ขาดไม่ได้กับชีวิตของเรา มันมีชีวิตแบบหนึ่งนะ! มีทุกข์.. จึงจะภาวนา พอมีสุขแล้วสบาย..เหลิง! ประมาณว่า.. เทวดาช่วยฉันแล้ว! ครูบาอาจารย์ช่วยฉันแล้ว สบายแล้ว.. หยุด! เสพสุข.. ตอนสุขก็หยุด! เสพสุขไปเรื่อย..อย่างนี้นะ! ถ้ามีทุกข์บ่อยๆ จะดี ถ้าหมดทุกข์ไปแล้วจะประมาท ถ้าเสวยบุญ ตายแล้วไปเป็นเทวดา ก็เป็นเทวดาที่ประมาท ไม่ทำบุญอะไรต่อบนสวรรค์ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก ธรรมบรรยาย ณ บ้านจิตสบาย วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/okRcX9TTEJs (ระหว่าง นาทีที่ 07:51-09:07)
วันอังคารที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ระลึกถึงความตายเป็นยา ความตายนั้นเป็นยา ที่ให้ผลชะงัดกับคนขี้เกียจ คนท้อแท้ คนขี้เกียจ คนจิตตก ให้ระลึกถึงความตาย แต่ให้ระลึกถึงความตายแบบเตือนตัวเองให้ไม่ประมาท! ไม่ใช่นึกถึงความตายแล้วกลัว อันนี้.. คือนึกไม่เป็น! คนนึกถึงความตายแล้วลนลาน คือ นึกถึงความตายแบบไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ใช่นักทำกรรมฐาน นึกถึงความตายแบบกรรมฐาน คือ ให้ระลึกแล้วเตือนตัวเองให้ไม่ประมาท ชีวิตนี้น้อยนัก! ชีวิตนี้มีเวลาน้อยเหลือเกิน!! .... ให้ระลึกถึงความตายบ่อยๆ อายุมีน้อย ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ ให้มา"รักษาศีล" ถ้าอยู่เป็นญาติโยม ก็ให้"ทาน"ด้วย ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ภาวนาก็ให้ครบทั้ง ๒ อย่าง คือ "สมถะ" และ "วิปัสสนา" อย่าปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยไป! แล้วพอเวลาใกล้ตาย อย่ามาเสียดายกับตัวเองว่า.. "โอ้! เราประมาทไปแล้ว" พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ "ธรรมะสว่างใจ" ออกอากาศ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/VO91ktpRJmg (นาที 01:22:07 – 1:31:41)
วันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จาคานุสสติ คิดในสิ่งที่เราได้เคยบริจาคออกไป แล้วก็มีความปลื้มใจปีติใจ คิดซ้ำ แล้วก็มีความปลื้มใจ เช่นว่า เราได้ไปถวายผ้ากฐิน ได้ถวายผ้าไตรจีวรครบท่ามกลางหมู่สงฆ์ ปลื้มใจ..ปลื้มใจ.. แม้ว่าเหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว วันนี้.. เดือนนี้.. ผ่านมาเป็นเดือน.. หลายเดือนแล้ว.. แต่พอมาหวนคิดอีกที ก็ยังปลื้มใจอยู่ คิดแล้วก็มีความปลื้มใจ ใจที่มีความปลื้มใจนั้นเป็นกุศล ถ้าคิดถึงความที่เราได้ทำบุญ ได้บริจาค คิดแล้วใจไม่วอกแวกไปไหน คิดแต่เรื่องราวเรื่องนี้ กลายเป็นทำกรรมฐานตัวหนึ่งด้วยซ้ำไป เรียกว่า “จาคานุสติ” พอเราได้บริจาคอะไรไปแล้ว พอมาหวนคิดแล้วมีความสุข อย่างนี้มันจะมีกำลังใจที่จะบริจาคอีก อาจจะไม่บริจาคแบบเดิมก็ได้ อาจจะรู้สึกว่า ‘เนี่ยเราให้ แล้วมีความสุข’ ก็เลยมีความรู้สึกว่า เมื่อก่อนนี้.. เราคิดว่า ‘ต้องได้มาเท่านั้น จึงจะมีความสุข’ แต่ตอนนี้.. ‘การให้ การบริจาค ดูภาพรวมแล้ว มันเหมือนกับการที่เราเสียวัตถุ เสียสิ่งของ เสียทรัพย์ แต่พอมาคิดภายหลัง แล้วมันมีความสุขอย่างนี้’ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=Zkxh5aCG39g (นาทีที่ 17:58 – 25:15)
วันอังคารที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ความโศกย่อมเกิดเพราะตัณหา พระพุทธเจ้าตรัสว่า.. ที่โศกเศร้า เพราะตัณหา "ความโศกย่อมเกิด เพราะตัณหา" พระองค์ชี้ให้เห็นสาเหตุนะ! เรามีความปรารถนา หรือมีตัณหา อยากให้มันเป็นอย่างหนึ่ง แต่มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง อันนี้เขาเรียกว่า "เป็นทุกข์' ทุกข์เพราะว่า.. ไม่สมปรารถนา มีตัณหาขึ้นมา แล้วก็ไม่เป็นไปที่ตัณหานั้นตั้งเอาไว้ ก็กลายเป็นทุกข์ขึ้นมา "ความโศก" ย่อมเกิดเพราะตัณหา "ภัย" ก็เกิดเพราะตัณหา (สองอย่างแล้วนะ!) "ตัณหายะ ชายะตี โสโก" ความโศก.. ย่อมเกิดเพราะตัณหา "ตัณหายะ ชายะตี ภะยัง" ภัย.. ก็ย่อมเกิดมาจากตัณหา ความโศก.. ย่อมไม่มีกับคนที่พ้นแล้วตัณหา ถ้าพ้นจากตัณหาแล้ว ภัยจะมีจากที่ไหน! ก็หมายถึงว่า.. คนที่ภาวนามา จนบรรลุมรรคผล จนถึงขั้นหมดตัณหาแล้ว ย่อมไม่โศก และไม่ได้รับผลเสียหายจากภัยอะไร หมายความว่า.. ความเสียหายอาจจะมี กุฏิ อาจจะพัง ข้าวของ อาจจะเสียหาย จีวร อาจจะถูกน้ำพัดจนเปอะเปื้อน หรือฉีกขาด อะไรอย่างนี้! แต่ไม่โศก!! ภัยนั้นไม่ถึงใจ เพราะว่า.. รู้อยู่ เข้าใจอยู่ ว่า.. โลกนี้มันเป็นอย่างนี้ โลกนี้มันไม่เที่ยง โลกนี้มันแปรปรวน และเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร เข้าใจ! พอมันแสดงความจริงมา.. ก็ “นี่ไง! มันแสดงความจริง ก็รู้อยู่ตั้งนานแล้ว” ประมาณแบบนี้ “นานแล้ว” หมายความว่า.. บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายมานานแล้ว จึงเข้าใจแล้ว! หรือ แม้แต่เพิ่งบรรลุอยู่ตอนนี้ แล้วเกิดเหตุเภทภัย ท่านก็ไม่เป็นทุกข์ ไม่เดือดร้อน เพราะเข้าใจ! เข้าใจธรรมชาติว่า.. มันต้องเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ ..ไม่เป็นทุกข์ "ความโศก" ก็ไม่มี เพราะหมดตัณหา "ภัย" ไม่ถึงใจ ภัยไม่สามารถทำอะไรกับจิตใจนี้ได้ เพราะ.. ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะ.. พ้นจากตัณหาแล้ว พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ ธรรมะสว่างใจ ออกอากาศ วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/O47DaI47lb8 (นาที 00.11.55-00:14.57)
วันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีขาล (วันปวารณา) พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ความปรารถนาในใจลึกๆ ถ้าเราคิดว่า.. 'เราก็ทำบุญมาเยอะนะ หรือว่า ภาวนามามาก แล้วทำไมไม่บรรลุมรรคผลสักที' ลองพิจารณาตัวเอง ลองดูว่า จริงๆ แล้วปรารถนาอะไร? "เราปรารถนาสุข" หรือ "ปรารถนาพ้นทุกข์" ถ้าปรารถนาสุข ก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็ขอให้วนเวียนด้วยความปลอดภัย ก็คือ.. สร้างบุญเยอะๆ แต่ถ้าปรารถนาพ้นทุกข์ คราวนี้เราจะมาดู.. เราจะมาดู.. - ความผันแปร, ความเปลี่ยนแปลง - ความไม่เที่ยง - ความอยู่นอกเหนือการบังคับ ในบรรดาสภาวะต่างๆ เพราะฉะนั้น.. เวลาเราทำสมถะขึ้นมาเนี่ย! ไม่ใช่ให้มันนิ่ง หรือให้มันว่าง หรือให้มันสุขสงบ แน่วแน่นานๆ แต่เราจะทำ เพียงแค่ว่า.. มันเป็นตัวเปรียบเทียบ ว่า.. เดี๋ยวมันก็ไม่เที่ยง! เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป! เดี๋ยวมันก็เผลอไป นั่นเอง! เผลอไป.. เห็นความเผลอ ความเผลอแสดงความจริงอีกด้วยซ้ำไปว่า พอถูกรู้.. ความเผลอจะดับไป เพราะขณะที่รู้ "มันไม่เผลอ" และที่ "รู้" มันคือ "มีสติ รู้จิต" จิตที่เผลอเมื่อกี้นี้ สดๆ ร้อนๆ เนี่ย พอ "รู้" แล้ว ปัจจุบันมันก็กลายเป็น "รู้!.. ไม่ใช่เผลอ" แล้วก็มาทำสมถะต่อ แล้วสมถะก็ไม่เที่ยง คือ "มันเผลอไป" รู้ทัน"ความเผลอ" "ความเผลอ" แสดงความไม่เที่ยงอีกที ทำอย่างนี้.. จึงจะเรียกว่า "ทำแบบปรารถนาพ้นทุกข์" ไม่ได้อยากให้สุขนานๆ ไม่ได้อยากให้ทำสมถะ เพื่อให้มันสุขนาน นิ่งนาน สงบนาน คนที่อยากให้สุขนาน สงบนาน นิ่งนาน ด้วยการทำสมถะเนี่ยนะ เวลามันเผลอไป! จะไม่ชอบความเผลอทันที เพราะอยากให้สุข อยากให้นิ่ง ไม่อยากเผลอ พอมันเผลอ.. จะไม่ชอบความเผลอ และทันทีที่ไม่ชอบ มันจะแก้เลยทันที! มันจะแก้โดยการ "ดึงกลับมา" จะแก้ไขให้มัน.. จากไม่ดี.. ให้มันดี จากเผลอ.. ให้มันไม่ผลอ จากมีกิเลส.. ให้มันไม่มีกิเลส นึกออกไหม? เพราะฉะนั้น.. มันอยู่ที่ตัวปรารถนานั่นเอง ความปรารถนาในใจลึกๆ ของเราเนี่ย "ปรารถนาสุข" หรือ "ปรารถนาพ้นทุกข์" พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยาย จากการสนทนาธรรม กับพระอาจารย์กฤช นิมฺมโล จัดโดยบ้านสติ (650814) ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=pdg_bm3ojuk&t=2270s (ระหว่าง นาทีที่ 29:48-32:32)
วันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #นี่ไม่ใช่บ้านที่แท้จริง ในส่วนที่ละเอียดที่สุดของการภาวนา ที่จะมีบ้านของนักภาวนา ก็คือ "จิตผู้รู้" อันนี้เป็นบ้านละเอียดที่สุด แต่.. ก็ไม่เที่ยง! ก็ยังมี.. "แต่" ซ้อน "แต่" ก็คือว่า.. ควรสร้างบ้านอันนี้ ให้เกิดขึ้นมาด้วย! "จิตผู้รู้" ไม่ได้มีในคนทั่วๆไป บ้านระดับพรีเมี่ยมเนี่ย อันนี้นะ ไม่ได้มีในคนทั่วๆ ไป ต้องสร้างขึ้นมา แต่อาศัยชั่วคราว ถ้ายังยึดตัวจิตผู้รู้อยู่ ก็ไปไม่รอด ไปไม่พ้น จิตผู้รู้เนี่ย สร้างมาแสนยาก คือ ฝึกมา กว่าจะได้จิตผู้รู้นั้นแสนยาก แต่ถ้ายึดจิตผู้รู้ต่อไป ก็ยังไปไหนไม่ได้ แม้จะได้บรรลุมรรคผลไปแล้วเป็นลำดับๆ แต่ถ้ายังยึดจิตผู้รู้อยู่ ยังไม่ถึงขั้นสุดท้าย คือเป็นพระอรหันต์ บ้านที่แท้จริง ครูบาอาจารย์เคยบอกไว้ว่า.. คือ พระนิพพาน "จิตผู้รู้" ยังเป็นบ้านแบบชั่วคราว! ถ้านับว่า.. ยังไม่ใช่บ้านที่แท้จริง แล้วมันเป็นบ้านของอะไร? จิตผู้รู้แม้จะดูดีเลิศ แล้วควรจะฝึก ควรจะทำให้มันเกิดขึ้น แต่อย่าไปยึด! ถ้าไปยึดปุ๊บ! มันจะเป็นบ้านของ"อวิชชา" .... แต่พวกเราต้องฝึกให้ได้ "จิตผู้รู้" ขึ้นมาก่อน! ไม่ใช่คิดว่า "จิตผู้รู้ เป็นบ้านของอวิชชา เพราะฉะนั้น ทิ้งบ้านไปก่อน ทิ้งผู้รู้ไปก่อน” นะ !! เรายังไม่มี(จิตผู้รู้)เลย! อย่าเพิ่งทิ้ง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "นี่ไม่ใช่บ้านที่แท้จริง" รับชมและฟังคลิปรายการที่ลิงค์ https://youtu.be/mmSJ7jxQBQ0 (นาทีที่ 25:01-27.27)
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ(๑๐) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #วิปัสสนาเป็นบุญใหญ่ "วิปัสสนา" ทำให้เห็นความจริงของชีวิตนี้ ว่า.. มันเป็นไปแบบนี้ และ ยอมรับ ชีวิตก็ยังมีอยู่.. แต่ใจไม่ทุกข์! ไม่มีตัณหาอะไรไปขัดแย้งกับกระแสแห่งความเป็นจริง "วิปัสสนา" จึงเป็น "บุญใหญ่" เพราะทำให้.. ทุกข์น้อยลง.. น้อยลง.. น้อยลง! ยิ่งเห็นความจริง.. มากเท่าไหร่? ยอมรับความจริง.. ได้มากเท่าไหร่? ทุกข์ก็ยิ่งน้อยลง.. น้อยลง.. น้อยลง "พระโสดาบัน" เห็นแล้วว่า.. กายนี้.. ไม่ใช่เรา! ใจนี้.. ไม่ใช่เรา! ทุกข์น้อยลงมากเลย ไม่ใช่ว่า.. ๑ ใน ๔ นะ ไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ พระพุทธเจ้าเปรียบเอาไว้ว่า.. เหมือนแผ่นดินทั้งแผ่นดิน แล้วพระองค์ก็ใช้เล็บสะกิดฝุ่นดินขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วพระองค์ก็เปรียบเทียบ ถามพระว่า.. "ดินทั้งแผ่นดิน" กับ "ดินในเล็บนี้" อันไหนมากกว่ากัน? พระภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า.. "ดินในเล็บนั้นเทียบไม่ได้เลยกับดินบนแผ่นดิน ดินบนแผ่นดินมีมากมายเหลือเกิน เทียบกันไม่ได้เลย" พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า.. "นั่นแหละ! ทุกข์ของพระโสดาบัน มีอยู่ก็จริง แต่เท่าขี้เล็บ..เท่าดินในเล็บนี้" ให้เล็บยาวแค่ไหน ก็เทียบกันไม่ได้เลย แค่นี้เท่านั้นเอง! "ส่วนทุกข์ของปุถุชน นั่นคือเท่าแผ่นดิน" เพราะว่า.. ปุถุชน ยังเกิด-ตาย อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเกิดทุกครั้งก็จะมี"ทุกข์" อยู่ทุกครั้ง แล้วไม่ใช่ทุกข์ครั้งเดียวนะ มีทุกข์อยู่เสมอ!! ทุกข์! จากการ..แสวงหาอาหาร ทุกข์! จากการ.. ที่ต้องมีปวดถ่ายหนัก ถ่ายเบา ต้องชำระล้างร่างกาย ทุกข์! ที่ต้องกิน ต้องถ่าย ทุกข์! ที่ต้องมีโรคเบียดเบียน ทุกข์! ที่ปรารถนาสิ่งใด..ไม่ได้สิ่งนั้น มีทุกข์รบกวนอยู่เสมอ! แทบตลอดชีวิตเลย ทุกข์เหล่านี้ยังเบียดเบียนอยู่ และยังไม่มีสิ้นสุดเลย แต่"พระโสดาบัน" แม้ยังมีทุกข์อยู่ แต่อีกไม่เกินเจ็ดชาติ ไม่มีชาติที่แปด! เพราะฉะนั้น ถ้าเทียบแล้ว.. "แม้จะมีทุกข์อยู่.. ก็เพียงแค่เศษดิน" เศษดินในเล็บนี้เท่านั้นเอง! ดังนั้น "การเจริญวิปัสสนา" จนกระทั่งบรรลุมรรคผล จึงเป็น “บุญใหญ่”! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ "ธรรมะสว่างใจ" ออกอากาศ วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์คลิปวีดีโอ https://youtu.be/4nFdbFbyZBY (นาที 01:28:33 – 01:31:07)
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบ(๑๐) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ศรัทธาพาแล่นไปหาปัญญา "เปรียบน้ำที่ขุ่น มีสิ่งที่เจือปนในน้ำ" เอาสารส้มไปแกว่ง ตะกอนที่เคยขุ่นมัวก็ตกลงไปนอนก้น ตัว"ศรัทธา" ก็คือ สารส้ม มาทำหน้าที่ให้ความขุ่นมัวนั้น.. ตกตะกอน จิตก็เลยใส! ลักษณะของจิตที่มีศรัทธาประกอบอยู่เนี่ย.. จะผ่องใส ถ้าไม่มีศรัทธานะ.. ก็จะขุ่นมัว อีกแง่หนึ่งของการบรรยายคำว่า "ศรัทธา" คือ..แล่นไป "แล่นไป" หมายความว่า.. "ศรัทธาเหมือนมีจุดหมาย" จุดหมายในนั้น คือ "เราศรัทธาอะไร สิ่งนั้น..นั่นเป็นจุดหมาย" ..แล่นไปหาจุดหมาย เมื่อศรัทธาในบุคคล บุคคลนั้นเหมือนเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระธรรม พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ผู้ตรัสรู้เอง พระธรรม ก็คือความบริสุทธิ์ พระสงฆ์ก็คือ ผู้ที่ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วบริสุทธิ์ คือปฏิบัติตาม.. แล้วบริสุทธิ์ ศรัทธาในข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อนี่ก็ได้ หรือทั้งสามข้อเลยก็ได้ แล้วก็มีเป้าหมายว่า.. "จะไป!" ก็คล้ายๆ กับมีจุดหมายที่จะ "แล่นไป!" แล้วมันมีความเชื่อมั่นในตนเองด้วย ไม่ได้เชื่อแค่พระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์ นะ มันยังเชื่อในศักยภาพของตัวเองว่า.. "เราก็ฝึกได้" อันนี้นี่สำคัญมากนะ ไม่ใช่เพียงศรัทธาแบบฝากใจของเราไปแอบอิงสิ่งอื่นบุคคลอื่น หรือว่า “ช่วยฉันที..” “ครูบาอาจารย์ช่วยผมที” “หลวงปู่ช่วยผมที” ..ไม่ใช่แค่นั้น ตอนนี้เรายังพึ่งตัวเองไม่ได้ ก็ไปฟังธรรมจากท่าน.. แล้วมาฝึก ฝึกจนเราเข้มแข็งพอ แล้วก็.. เดินทางไป แล้วก็.. ไปอย่างมีจุดหมาย ตัวศรัทธาก็พาแล่นไป ให้ตรงเป้าหมาย! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากธรรมบรรยาย จากรายการคลิกใจให้ธรรมเข้าใจเรื่องศรัทธาพาพ้นทุกข์ (T.295) ๔ กันยายน ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=fFm1CY888HQ&t=3349s (ระหว่าง นาทีที่ 7:52-10:25)
วันเสาร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ(๑๐) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #วิหารธรรม..เครื่องอยู่ของจิต ตอนภาวนานี้นะ! ถ้าไม่มีเครื่องอยู่เลย หรือว่า.. ไม่ได้ใส่ใจในเครื่องอยู่ "ใจมันจะลอย" เหมือนจะได้"สติ" เหมือนจะมี"ตัวรู้" แต่ว่า.. มันก็ไม่รู้จริง! แล้วก็..ไม่เกิดสติ ในลักษณะที่จะพัฒนาต่อไป ดังนั้น เมื่อรู้สภาวะอะไรขึ้นมาแล้วเนี่ย ให้ “กลับมาที่เครื่องอยู่” คำว่า"กลับมา" เนี่ย! ไม่ใช่ “ดึง” กลับมานะ!! "กลับมา" หมายถึงว่า.. มาเริ่มต้นใหม่ คือคำว่า"กลับมา" บางทีก็พูดง่ายๆ นะ แต่บางคนอาจจะไปเข้าใจผิดว่า.. "กลับมา" นี่คือ “ดึง”! "กลับมา" หมายถึงว่า "มาเริ่มใหม่" ใครใช้"กาย"เป็นเครื่องอยู่ เมื่อรู้ว่าเผลอแล้ว ก็ให้กลับมาอยู่กับ"กาย" ใครใช้"ลมหายใจ" เมื่อรู้ว่าเผลอแล้ว ก็กลับมาเริ่มที่"ลมหายใจ" ใครมี"คำบริกรรม" เมื่อรู้ว่าเผลอแล้ว ก็กลับมาที่"บริกรรม" แต่ให้เข้าใจคำว่า"กลับมา" ในที่นี้ หมายถึงว่า "เริ่มใหม่" ถ้าไม่กลับมา มันจะไม่มีการนับคะแนนใหม่ จะเหมือนกับ เวลาเราเล่นเกมน่ะ ถ้าไม่กลับฐาน หรือไม่กลับมาเครื่องอยู่ ก็จะไม่มีการเก็บคะแนนครั้งใหม่ ไม่กลับมา"ฐาน" ก็เลยไม่มีการเห็นเผลอใหม่ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากสนทนาธรรมออนไลน์ จัดโดยบ้านสติ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=B9LdRtcNQdQ (ระหว่าง นาทีที่ 1.07-2.43)
วันเสาร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสิบ(๑๐) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ฝึกรู้ ไม่ได้ฝึกปัด ที่จริง เราไม่ได้ "ฝึกปัด" แต่ "ฝึกรู้" ฝึกรู้ คือ มีอะไรเกิดขึ้น.. ก็รู้.. รู้! รู้ก่อน!.. มันต้องรู้ว่า.. มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา รู้ไปตรงๆ เลย เรียกว่า.. ยอมรับว่ามีอะไรเกิดขึ้น ถ้าแค่รู้นะ! มันดับแล้ว! แล้วตอนรู้เนี่ย จะเป็นตัววัดว่า เรา "รู้" จริงไหม? "แค่..รู้" หรือเปล่า? ถ้าตอนรู้.. มันไม่ใช่ "แค่.. รู้"เนี่ยนะ! มันจะเป็นการแก้ไข เช่น.. มีความโกรธขึ้นมา! ‘อืม..! โกรธนี่ ไม่ดีเลย.. อย่าไปโกรธเขาเลย.. เมตตาเขาดีกว่า’ อย่างนี้คือ.. การคิดแก้ไข แก้จิตที่มันไม่ดีเมื่อกี้นี้ ให้มันดีขึ้นมา อย่างนี้ เรียกว่า "ทำสมถะ" ถ้าทำสำเร็จ ก็รู้สึกว่า.. "อืม..! เราก็ใช้ได้เหมือนกัน" ประมาณนี้เนี่ยนะ แต่ถ้า "วิปัสสนา" ก็คือว่า รู้ว่ามีไอ้นี่เกิดขึ้น พอรู้ปุ๊ป! มันดับ แล้วทำสมถะต่อ ไม่มีธุระอะไรกับ "ไอ้สภาวะโกรธ" เมื่อกี้อีกแล้ว เพราะได้รู้แล้ว และมันดับแล้ว ไม่ได้จัดการอะไรกับมันแล้ว "แค่..รู้" แค่เนี่ย! คือ ต้องมีการรู้ เพื่อที่จะเห็นว่ามันแสดง “ไตรลักษณ์” นั่นเอง! พระอาจารย์กฤช นิมมโล เรียบเรียงจากสนทนาธรรมออนไลน์ จัดโดย บ้านสติ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/pdg_bm3ojuk (นาที 01:14:12 – 01:16:46)
วันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้า(๙) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #กัลยาณมิตร การได้กัลยาณมิตรที่ทำได้จริง จะมีประโยชน์ตรงที่ว่า.. ท่านมีประสบการณ์เองจริง ! เวลาสอนเนี่ย โอกาสผิดเพี้ยนน้อยมาก แต่ถ้าผู้สอนที่ยังไม่รู้จริง เวลามาบอกสอนเนี่ย มีโอกาสที่จะตีความเอาเอง ซึ่งจะทำให้ผิดเพี้ยน ก็เป็นไปได้อยู่! ดังนั้น ประเมินตัวเองว่า.. เรายังไม่ได้พระอริยะขั้นใดขั้นหนึ่ง สิ่งสำคัญคือ "ซื่อตรง"! ซื่อตรงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่ผู้พูดจะเป็นผู้วิกลจริต.. อย่าว่าแต่ปุถุชนธรรมดานะ เป็นผู้วิกลจริต! แต่เอา "คำภาษิต" ของพระพุทธเจ้ามาบอกต่อ.. ก็ยังเป็นประโยชน์กับเรา ขอให้เราได้มี “โยนิโสมนสิการ” คือ รู้จักจับเอาประเด็นขึ้นมา ตรงนี้ท่านเปรียบเหมือนว่า.. คนตาบอดจุดตะเกียง ยังเป็นประโยชน์กับคนตาดี ..ได้เห็นทาง! คนตาบอดนั้น..ก็ยังบอดอยู่นั่นเอง ไม่เห็นแสงสว่าง แต่แสงสว่างนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว จากที่เขาได้จุด ถึงแม้เขาจะไม่เห็น! ฉะนั้น เราเองต้องทำหน้าที่ของเราด้วย คือ.. รู้จักมอง รู้จักมอง คือ คุณธรรมที่เรียกว่า "โยนิโสมนสิการ" ซึ่งเป็นปัจจัยอีกอันหนึ่ง ที่จะทำให้เกิด "สัมมาทิฎฐิ" นอกจากจะมีศรัทธาแล้ว จะต้องมีโยนิโสมนสิการ และศรัทธาที่ดีคือ.. พาให้เราไปหากัลยาณมิตร แล้วเกิดศรัทธา แล้วไปนั่งใกล้ เข้าไปฟังธรรม แล้วต้องให้ถึง"โยนิโสมนสิการ" ถ้าเอาแต่ศรัทธา.. ไม่พอ! เพราะยังศรัทธาอยู่ ก็แสดงว่า.. ยังเชื่อ! ยังเชื่อ แสดงว่า.. ยังไม่ถึง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "วิธีดูใครเป็นกัลยาณมิตร" ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=eeHZCl5iBgw นาทีที่ 49.28-51.33
วันเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนเก้า(๙) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #กรรมเพื่อความพ้นทุกข์ #ขันธ์ห้านี้เป็นทุกข์ "กรรมไม่ดำ-ไม่ขาว" มีผลคือ พ้นจากวัฏฏสังสาร คือ พ้นทุกข์ กรรมไม่ดำ-ไม่ขาว ก็คือ ทำกรรมฐานก่อน ต้องทำกรรมฐานก่อน! "กรรม" คือ เจตนา มีเจตนาเมื่อไหร่ ก็เรียกว่า "มีการทำกรรม" แรกๆ จะต้องมีเจตนาในการทำกรรม ทั้งๆ ที่ว่า.. ต้องการจะพ้นจากวัฏฏะสงสาร เนี่ยนะ! ก็มีการทำกรรม คือ "ทำกรรมฐาน" คือ "สมถกรรมฐาน" และ “วิปัสสนากรรมฐาน” ทำ "สมถกรรมฐาน" ก็คือ ทำกรรม.. ที่ทำให้จิตสงบ ทำ "วิปัสสนากรรมฐาน" คือ ทำกรรม.. ให้จิตฉลาด มีปัญญา 'เห็น' 'รู้' เข้าใจความเป็นจริงของโลก และพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็มี "ปัญญา" สำคัญๆ อยู่ ๔ ระดับ ระดับแรก.. ก็คือ เห็นความจริงว่า "กายนี้-ใจนี้ ไม่ใช่เรา" เป็น "พระโสดาบัน" ครั้งแรก.. ที่มีปัญญาระดับโลกุตตระคือ พ้น! แต่ยัง.. พ้นไม่เด็ดขาด!! ต้องมีอีก ขั้นที่สอง.. ก็เป็น "พระสกิทาคามี" มีปัญญาใกล้เคียงกับพระโสดาบัน แต่มีสมาธิมากขึ้น ปัญญาขั้นที่สาม.. คือ เห็นแล้วว่า "กายนี้.. เป็นทุกข์" กามนี้เป็นเรื่องที่มีแต่โทษ! จึงไม่หวังเรื่อง "กาม" ก็จะกลายเป็นผู้ที่มีสมาธิสมบูรณ์ เพราะว่า.. "กาม" เป็นตัวทำให้สมาธิไม่ค่อยได้ ฟุ้งซ่าน! ไปในเรื่องของกาม ฟุ้งซ่าน! ไปในเรื่องต่างๆ ทำให้ไม่มีสมาธิ พอเว้นจากกามได้ เห็นโทษของกาม เป็นผู้สมบูรณ์ด้านสมาธิ ก็กลายเป็น "พระอนาคามี" ปัญญาขั้นที่สี่.. เห็นความจริง ทั้งรูป ทั้งนาม โดยเฉพาะ เรื่องของนาม เรื่องของจิต เห็นจิตเนี่ย เป็นทุกข์ล้วนๆ ! เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นอยู่ มีชีวิตอยู่เนี่ย "เป็นเรื่องของทุกข์ล้วนๆ" เข้าใจถึงว่า.. "ขันธ์ห้านี้เป็นทุกข์" เหตุแห่งทุกข์ ก็คือ มีตัณหา สภาวะที่พ้นทุกข์มีอยู่ และทางพ้นทุกข์ ก็คือ “มรรคมีองค์แปด” เข้าใจในเรื่องของ "ทุกข์" และ "เหตุแห่งทุกข์" แล้วก็ "ทางพ้นทุกข์" "สภาวะที่พ้นทุกข์ " เข้าใจแบบนี้ก็เป็น "พระอรหันต์" พอเป็นพระอรหันต์ได้ ก็เรียกว่า จะมีทุกข์แค่เพียง.. ร่างกาย แต่จิตใจไม่ทุกข์แล้ว ถ้าดับไปแล้ว..ก็ขันธ์ห้าดับ! เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "กรรมกำหนด" ออกอากาศวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๒ ลิงค์รายการ https://youtu.be/wJmLT2R-jRg (นาที 09:55 –12:10)
วันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเก้า(๙) ปีขาล #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #มัชฌิมาปฏิปทา "ปฏิปทา" เป็นมัชฌิมาหรือเปล่า? "มัชฌิมา" นี่คือ จำกัดเฉพาะว่า ..เป้าหมาย คือ "พ้นทุกข์" "ทางสายกลาง" ที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงคำนี้ (มัชฌิมา) ขึ้นมาเนี่ย! ครั้งแรกเลยก็เมื่อคราวที่พระองค์ มีปฐมเทศนา กับปัญจวัคคีย์ บอก..ทางผิดสองทาง แล้วก็บอก..ทางสายกลาง "มัชฌิมาปฏิปทา" ปรากฏขึ้นมาในคราวเทศน์ครั้งแรกนั่นเอง แล้วพระองค์ก็แสดงถึงว่า.. "มัชฌิมาปฏิปทา" มีอะไรบ้าง? ประกอบด้วยอะไรบ้าง? ก็ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ, สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตะ, สัมมาอาชีวะ, สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, แล้วก็.. สัมมาสมาธิ ทีนี้.. ที่ว่าต้องขึ้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็เพราะ..คนจะทำทางสายกลางได้ ก็ต้องมีเป้าหมาย! ต้องรู้เป้าหมาย ไอ้ที่ต้องรู้เป้าหมาย จึงต้องมีปัญญารู้ก่อน ว่า.. เราจะไปปฏิบัติเพื่ออะไร?" เป้าหมายของเราคืออะไร? อย่างน้อยๆ ต้องรู้ตรงนี้ขึ้นมาก่อน อาจจะไม่ถึงกับสัมมาทิฏฐิ ในแง่ที่ว่า "เห็นกายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เรา" ยังไม่ถึงขนาดนั้น! แต่รู้เป้าหมาย!! ว่า.. เราต้องการถึงความพ้นทุกข์ แล้วก็หมดกิเลส อะไร.. ที่มันสนองกิเลส ก็จะได้รู้ว่า.. อันนั้นผิด! หรืออันนี้มันทรมานตัวเอง ก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง สนองตัณหาประเภทหนึ่ง ก็จะรู้ว่า.. อันนั้นก็ผิด! มันก็มีตัวรู้เป้าหมายเป็นตัวแรก มันจึงขึ้นด้วยสัมมาทิฏฐิ มีปัญญาขึ้นมาก่อน เมื่อมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาแล้วเนี่ย มีปัญญารู้เป้าหมายขึ้นมาแล้ว เป็นเป้าหมายที่ถูกต้อง เวลาเราจะคิดอะไร.. ดำริอยู่ในใจ ยังไม่ได้เอ่ยปาก.. แค่จะคิดอะไรที่ถูก.. มันก็เป็นเพราะมีปัญญารู้เป้าหมายมาก่อน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการคลิกใจให้ธรรมเข้าใจ ตอน "ปฏิปทาที่พาให้พ้นทุกข์" วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=qokoULqDs-Y (ระหว่าง นาทีที่ 19:49-22:02)
วันศุกร์ที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ วันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือนเก้า(๙) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #รู้เหตุรู้ผลรู้ปัจจัย ถ้าจะฝึก หรือ ถ้าจะมาปฏิบัติธรรม ก็ควร "ปฏิบัติให้ตรง" ให้ตรง! .. ตามที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ให้มาเรียนรู้ว่า.. "ธรรมดาของสิ่งทั้งหลายเป็นยังไง?" เมื่อเห็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลายเป็นยังไงแล้ว จะได้ไม่ดำรงชีวิต ไปขัด ไปแย้งกับ.. ความเป็นไปธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ธรรมดาของสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ คือ ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย พอเรามีความต้องการ ขัดแย้งกับสิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ไม่เที่ยง.. เราต้องการให้มันเที่ยง แต่มันก็ยังแสดง.. ความจริง! "ความจริง" ก็ยังเป็นความจริงคือ "มันไม่เที่ยง" พอเราอยาก.. ให้มันเที่ยง มันไม่เที่ยง.. เราก็ทุกข์ใจ! เราอยาก.. ให้มันอยู่นานๆ มันไม่นาน.. เราก็ทุกข์ใจ! อยากให้ได้ผลอย่างนี้ แต่ไม่ทำเหตุเลย ก็มีแต่เรื่อง ผิดหวัง.. ทุกข์ใจ" ฉะนั้น ถ้าอยากได้ผลอย่างนี้ ต้อง "รู้เหตุ รู้ผล" รู้ว่า "สิ่งนี้มันมีเหตุอย่างไร ถึงจะไปถึงผลนี้" อยากได้ผลนี้ ต้องทำเหตุอย่างไรจึงจะได้ผลอย่างนั้น เขาเรียกว่า "รู้เหตุ รู้ผล" รู้เหตุ รู้ผล รู้ปัจจัย ในการที่จะไปถึง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงรายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "เข้าใจเรื่องจิตแล้ว เรื่องอื่นเข้าใจหมด" วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลิงค์วีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=mu1kRLw37qg (ระหว่าง นาทีที่ 33:00-34:15)
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ กรกฏาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ขณิกสมาธิ #ชั่วช้างกระดิกหู #ชั่วงูแลบลิ้น #ฝึกจิตให้เจริญปัญญา คนที่ได้สมาธิ.. "ชั่วไก่กระพือปีก ชั่วช้างกระดิกหู ชั่วงูแลบลิ้น" แต่..แค่แป๊บเดียวเนี่ย! ถ้าเป็นขณะจิตที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.. ถ้าเป็นจิตที่ "ตั้งมั่น" จะมีประโยชน์มาก .... จิตตั้งมั่นขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว อย่างที่เคยบอกไว้ว่า.. "จิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว.. จิตจะมีกำลัง" ไอ้กำลังนี่แหละ!.. ที่ท่านบอกว่า "มันมีคุณค่ามาก" "ชั่วช้างกระดิกหู" ก็คือ.. ชั่วขณะ "ชั่วงูแลบลิ้น" ก็คือ.. ชั่วขณะ ไอ้ชั่วขณะเนี่ย! ภาษาบาลี เรียกว่า "ขณิกะ" ถ้าเป็นสมาธิชั่วขณะ เขาเรียกว่า "ขณิกสมาธิ" สมาธิ.. แค่เพียงชั่วขณะเนี่ย! ก็จะสามารถทำให้ "จิตมีกำลัง" เวลามาดูกาย.. จะเห็นความจริงของกาย เวลาดูจิต.. ก็จะเห็นความจริงของ จิตได้ มันจะเริ่มที่จะเจริญปัญญา ในแง่ที่ว่า.. ถ้าเห็นความจริงของกาย ในลักษณะว่า.. "มันเป็นทุกข์, มันไม่ใช่เรา" ก็จะขึ้นวิปัสสนา เวลาดูจิต ก็จะเห็นความจริงของจิต ว่า.. "มันเกิด-ดับ, มันไม่ใช่เรา" ก็จะเจริญวิปัสสนา เพราะฉะนั้น.. อาศัยจิตที่มีคุณภาพ แค่ชั่วขณะเนี่ย! มาดู "กาย" มาดู "ใจ" มันจะเห็นความจริงของ "กาย" ของ "ใจ" จึงเรียกขณะนั้นว่า.. มันแค่.. "ชั่วช้างกระดิกหู ชั่วงูแลบลิ้น" มีประโยชน์มาก! มีอานิสงส์มาก!! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "ฝึกจิตให้เกิดปัญญา" วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ลิงค์รายการ https://youtu.be/l2QQ3Ki1tOY (นาทีที่ 42.52-44.28)
วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กรกฏาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #อย่าล่วงเกินผู้มีคุณธรรมสูง #อย่าด่วนตัดสิน “การที่ไปล่วงเกินบุคคลอื่น” บางทีเราก็ไม่รู้หรอกว่า.. ท่านนั้น.. ท่านนี้.. พระรูปนั้น.. รูปนี้ มีคุณธรรมระดับไหน? เป็นพระอริยะหรือเปล่า? เพื่อความปลอดภัย คือ "อย่าไปจาบจ้วงล่วงเกิน!!" ถ้ามีเหตุการณ์อะไรที่ชี้ หรือ ส่อว่า.. “ท่านอาจจะมีความผิด!” ควรหาข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนที่จะปลงใจ! .. ก่อนที่จะปลงใจว่าท่านผิด หาข้อมูลให้รอบด้าน หน้าที่ของชาวพุทธ ที่จะช่วยกัน ดำรงรักษา "พุทธศาสนา" หรือ ดำรงรักษา "ชาวพุทธ" ด้วยกัน.. "พุทธบริษัท" ด้วยกัน ใครทำผิด.. ก็ควรที่จะถูกกำจัด หรือควรจะมาชำระให้มันถูกต้อง แต่มันมีขั้นตอนของมัน เราอย่าข้ามขั้นตอน ! เราอย่าทำตัวเป็น "ศาล" เสียเอง !! ถ้าเราทำตัวเป็นศาลเสียเอง แล้วเราไม่รอบด้าน เราไม่มีข้อมูลรอบด้าน เราอาจจะเป็นฝ่ายผิดพลาด ..... เริ่มต้นเลย มีอะไรเกิดขึ้น อย่าเพิ่งรับตัดสิน! บอกกับตัวเองว่า "เราไม่ใช่ศาล" "เราไม่ใช่ศาลสถิตยุติธรรม" ถ้าเห็นใครทำไม่ดี ทำผิด ถ้ามีหลักฐานจริง.. ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง เราอย่าทำตัวเป็นศาลเสียเอง มันจะกลายเป็น .. ศาลเตี้ย !! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "อันตราย ! อย่าด่วนตัดสิน" ออกอากาศวันที่ ๑๗ กรกฏาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/7GbDydthTJc (นาที 48:29 –51.29)
วันพุธที่ ๑๓ กรกฏาคม ๒๕๖๕ #วันอาสฬหบูชา วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร "ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ ฯ" เป็นคำอุทานในใจของพระโกณฑัญญะ พอฟัง(ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)แล้ว.. ก็เข้าใจเลย! เข้าใจเลย.. คือว่า "ไม่ว่า.. สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดขึ้นมา สิ่งนั้นย่อมดับไป เป็นธรรมดา" คำว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง" คือไม่บัญญัติ เวลามีสภาวะอะไรขึ้นมานะ! ไม่ต้องไปเรียกชื่อว่าอะไร.. คืออะไรด้วย? แค่รู้ว่า.. มี “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นมา.. แล้วก็ดับไป “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นมา.. แล้วก็ดับไป เห็นอยู่นะ! แต่ไม่ต้องไปกังวลว่า..มันคืออะไร? ไม่ต้องไปเรียก! การบัญญัติ.. เรียกว่าอะไรนั้น เป็นการปรุงแต่งคำ เวลาเห็นเนี่ยนะ! เรารู้เนี่ยนะ! ขณะที่เห็น.. แล้วรู้ จิตรู้สภาวะนั้นนะ..จิตเนี่ย.. ทำงานแล้ว ถ้าจะเรียกว่า..มันคืออะไร? จะต้องใช้จิตอีกหลายขณะ เวลาพระโกณฑัญญะเห็นสภาวะเกิด-ดับ เกิด-ดับ เนี่ยนะ ท่านดูด้วยใจที่เป็นกลาง เพราะฉะนั้น.. จึงไม่ต้องไปกังวลว่า.. จะต้องไปเรียกชื่อ "สภาวะ" นั้นว่าคืออะไร? แต่เข้าใจว่า.. มี “สิ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นมา แล้วดับไป มี “สิ่งหนึ่ง” เกิดขึ้นมา แล้วดับไป ย้ำสักสอง-สามครั้ง ก็เข้าใจเลยว่า อ๋อ!.. ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นมา.. ก็ดับไป ไม่ว่า "รูป" เกิดขึ้นมา - "รูป" ก็ดับ ไม่ว่า "นาม" เกิดขึ้นมา - "นาม" ก็ดับ ไม่ว่า "กาย" เกิดขึ้นมา - "กาย" ก็ดับ ไม่ว่า "ใจ" เกิดขึ้นมา - "ใจ" ก็ดับ ก็เข้าใจเลย! "พระโสดาบัน" ท่านรู้แค่นี้เท่านั้นเอง พระกฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ลิงค์รายการ https://youtu.be/b-WsCuFrLM4 (นาที 43:45 – 45:09 )
วันพุธที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตพ้นภัย #จิตเกษม คาถาที่ ๑๐ คาถาสุดท้ายของมงคลสูตร เอาไว้ตรวจสอบตนเอง คือว่า.. เวลาที่กระทบกับโลกธรรมแล้ว.. “จิตหวั่นไหว”ไหม? จิตยังแห้งไหม? คือยังมี”โศก”ไหม? ยังมีกิเลสหลงเหลืออยู่ไหม? “ปราศจากธุลี”แล้วหรือยัง? “จิตพ้นภัย”แล้วหรือยัง? คือ "จิตเกษม" แล้วหรือยัง? ถ้ามีความไม่ประมาทอยู่เสมอมา ก็จะพ้นภัยได้จริง! เขาเรียกว่า.. เมื่อเห็นภัยจากแก่-เจ็บ-ตายทั้งหลายแล้วมีความไม่ประมาท แม้จะยังเป็นปุถุชนอยู่ก็น่าชมเชย ตรงที่ว่า.. ไม่ประมาท! ก็พึงเร่งทำกุศล เร่งทำมงคลให้เกิดกับตน ให้ครบทั้ง ๓๘ ข้อ ให้สำเร็จให้ได้..ทุกๆคน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน "มงคลสูตร จิตที่พ้นภัย" ออกอากาศวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/wogR_1XsEjU 57.39-58.45
วันอังคารที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ ไอ้ตัวที่ทำให้ติดหนึบ, แน่น, นาน อีกตัวหนึ่งที่น่ากลัว ก็คือ.. ทิฏฐิ! ทิฏฐิที่เป็น "มิจฉาทิฏฐิ" ดังนั้นทิฏฐิ.. จึงเป็นตัวกาวอันเหนียวแน่น ที่ทำให้ "จิตเรา" ไปไหนไม่รอด!! เพราะว่าถ้าทิฏฐิ มันเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" มันจะคิดว่า.. จิตนี้เที่ยง คิดว่า.. จิตนี้เป็นเรา ถ้าคิดอย่างนี้เนี่ยนะ.. มันไปไหนไม่รอด! ตัวสำคัญเลยที่ พระพุทธเจ้ามาสอน ให้ชาวพุทธ "พ้น" หรือว่า อยู่ในกระแสที่จะพ้น ก็คือ.. ทำให้เกิด "สัมมาทิฏฐิ" รู้ว่ากายนี้ ใจนี้.. ไม่ใช่เรา เห็นว่าขันธ์ห้า.. เป็นขันธ์ห้า ไม่ใช่เรา เห็นว่า.. กาย คือ กาย เห็นว่า.. เวทนา คือ เวทนา เห็นว่า.. จิต คือ จิต เห็นว่า.. ธรรม.. ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา อยู่ที่ไหนเลย มันต้องเห็นขนาดนี้! พอเห็นขนาดนี้แล้ว อย่างน้อยๆ เป็น "พระโสดาบัน" แปลว่า.. เข้ากระแส สู่พระนิพพาน คือ มีสัมมาทิฏฐิ ที่สำคัญ เห็นว่า.. กายนี้ ใจนี้ หรือขันธ์ห้า ทั้งหมดทั้งปวงนี้ "ไม่ใช่เรา" แค่นี้.. พระองค์ก็ตรัสเรียก บุคคลประเภทนี้ว่า.. เป็นผู้มีทิฏฐิสมบูรณ์ แต่ถ้ายังไม่เห็นอย่างนี้ ตัวทิฏฐิที่ยัง เห็นผิดๆ มันจะพาวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ พระองค์ จึงตรัสเปรียบเทียบ บุคคลผู้เป็น "พระโสดาบัน" ว่า เป็นผู้มีความประเสริฐ ยิ่งกว่าพระเจ้าจักรพรรดิ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน "มงคลสูตร คาถาที่ ๑๐ จิตที่พ้นภัย" ออกอากาศวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/wogR_1XsEjU (นาที 26:48 – 28:45)
วันพุธที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตปราศจากธุลี พระอรหันต์จะไม่มีการประคองรักษาจิตผู้รู้ ... "จิตผู้รู้' เปรียบเหมือนเรือ.. ใช่ไหม? เราจะไปฝั่งโน้นได้.. ก็ต้องมีเรือ ต้องพยายามต่อเรือ ถ้าไม่มี.. ก็ต้องต่อเรือ ถ้าไม่มีเรือ.. ก็ต้องเป็นแพ เอาอะไรสักอย่างหนึ่ง! ที่จะเป็นพาหนะ ที่จะพาเราข้ามพ้นฝั่งไปได้ แต่พอถึงฝั่งแล้ว ไม่ใช่แบกเรือขึ้นฝั่งต่อไป มันก็ต้องทิ้งเรือ ทิ้งแพนี้ไว้ที่ริมฝั่ง หมายถึงว่า.. "เราถึงฝั่งแล้ว.. เราก็ต้องทิ้งมันไป" "จิตผู้รู้" นี่ก็เหมือนกัน ต้องสร้างมันขึ้นมา เราคือผู้ฟังทั้งหลาย เข้าใจว่า.. น่าจะอยู่ในระดับปุถุชน เนี่ยนะ! ควรจะสร้าง "จิตผู้รู้" นี้ขึ้นมา แล้วเราก็พัฒนา "จิตผู้รู้" เพื่อให้เห็นความจริง! ความจริง.. ของรูป ความจริง.. ของนาม ความจริง.. ของส่วนประกอบอยู่ในนาม มันมีกิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้น รู้มันไป! มันแสดงไตรลักษณ์ เกิดขึ้นมาว่า.. มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรา มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรา พัฒนา.. มันขึ้นมา! พัฒนา.. จิตผู้รู้ เพื่อให้เห็นความจริง แต่พอขั้นสุดท้ายแล้ว ถ้าจะให้เป็น "พระอรหันต์" จริงๆ "ต้องปราศจากธุลี" ไม่มีแม้แต่ความประคองรักษา "จิตผู้รู้" พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน "มงคลสูตร คาถาที่ ๑๐_จิตไม่หวั่นไหว" วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/NwSh8GftfRk (นาที 01:02:35 – 01:03:45)
วันอังคารที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สัปปายะ..ที่ที่ควรอยู่ "สัปปายะ" แปลว่า สบาย แต่สบายที่ว่านี้นะ มันไม่ใช่! "สบาย" แบบที่คนไทยเรียกกันในปัจจุบัน ปัจจุบันคนไทยเนี่ยนะ คำว่า "สบาย" คือ "นอน" ตรงนี้สบายนะ.. แล้วอยากนอนเลย คือ สบายแล้ว.. คือ "พัก" แต่ "สบาย" ในคำทางพุทธศาสานา หมายถึง.. สภาพที่เหมาะ ที่จะทำให้ตัวเองอยู่ตรงนั้น แล้วพัฒนาต่อได้ คือ พัฒนาสะดวก มันเป็นสะดวกสบาย ที่จะพัฒนาต่อ ไม่ใช่! สะดวกสบายแล้ว จะพักผ่อน ไม่ใช่อย่างนั้นนะ! ทัศนคติของคนไทยเนี่ย พอสบายแล้วก็จะนอนแล้ว จะพักผ่อนอย่างเดียว แต่ "สบาย" ในพุทธศาสนาเนี่ย คือ สบาย คือ "สะดวกที่จะพัฒนาต่อ" มี "อาหาร" พอสมควร ก็สะดวกที่จะพัฒนาต่อ "อากาศ สภาพภูมิอากาศ" เป็นอย่างไร? .. เหมาะไหม? สำหรับเราที่จะอยู่ตรงนี้ หรือว่า.. ตรงนั้นมีครูบาอาจารย์ไหม? มี "บุคคลสัปปายะ" ไหม? มี "ธรรมะสัปปายะ" ไหม? คือ ที่ ที่ว่า นี้ มันไม่ใช่สะดวก ในแง่ของวัตถุสิ่งของ โดยอย่างเดียว ก็ต้องดูว่า.. มีปัจจัยที่จะพัฒนาตนเองไหม? บางทีเนี่ยนะ เรื่องวัตถุสิ่งของความสะดวกสบาย แม้อาจจะบกพร่องไปบ้าง แต่ถ้ามี "บุคคลผู้มีธรรมะ" อยู่ตรงนั้น บางที.. แม้จะลำบากก็ควรอยู่ ตรงนั้น.. กลายเป็นว่า เป็น "ปฏิรูปประเทศ" สำหรับเราได้เหมือนกัน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน "ตั้งหลักชีวิต" วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://youtu.be/ipLInCEWjtE (นาที 10:12 – 11:48)
วันอังคารที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ประพฤติพรหมจรรย์ "ประพฤติพรหมจรรย์" เนี่ย! ไม่ได้บอกว่า.. จะต้องบวชเป็น "ภิกษุ" หรือ "ภิกษุณี" ถือศีล ในแง่ที่ว่า "อพรหมจริยา" ก็ถือว่าเป็น.. ประพฤติพรหมจรรย์ อย่างเช่น.. ในยุคนี้เราไม่มีภิกษุณี เนี่ยนะ ผู้หญิงที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ก็ "สมาทานศีลแปด" ยาวๆ เลย จะเป็นแม่ชี หรือ จะเป็นอุบาสิกา ไว้ผมก็ตาม แต่ว่า "สมาทานศีลแปด" ยาวๆ นี่! เป็นการถือบวชของท่านเหมือนกัน เรียกว่า "ประพฤติพรหมจรรย์" แล้วก็เป็นการเห็นโทษของกาม ไม่เข้าไปหากามอีก แต่ถ้าประพฤติแบบอย่างหย่อนๆ หน่อย ก็คือว่า.. มาลองใช้ชีวิตของ "ผู้ประพฤติพรหมจรรย์" ดูบ้าง เพื่อคล้ายๆ กับว่า ให้เห็นว่า "สภาวะที่พ้นจากกาม" ก็มีอยู่นะ ! สภาพชีวิตที่ไม่ต้องมีกามเนี่ย มัน.. มีอยู่นะ! แล้วก็ลองมาสัมผัสชีวิตแบบนี้ดูบ้าง เป็นการเรียนรู้ แต่ถ้าจะเอาให้ระดับสูงขึ้นมา ก็คือ.. อยู่แบบนี้ตลอดชีวิต แต่.. ข้อดีของพระพุทธศาสนาคือ "ไม่บังคับ" มาเรียนรู้ชั่วคราวก็ได้! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ คลิกใจให้ธรรม ตอน "สิ้นภพจบพรหมจรรย์" วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/xfTe-396lf4 (นาที 57:24 – 58:54)
วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ต้องงดของแสลง ถ้าเรา "เผากิเลส" อาจจะต้อง ‘งด..ในสิ่งที่ชอบ’! แล้วก็ ‘ทำ..ในสิ่งที่ไม่ชอบ’ บ้าง ก็คือ.. มันต้องเผากิเลส งด!! เหมือนคนเป็นโรค ต้อง ‘งดของแสลง’ !! ... อันนี้ก็เช่นเดียวกัน รู้อยู่ว่า "มีกิเลสอยู่" กิเลสเนี่ย.. มันหมักหมมมานาน แล้วก็.. หนาแน่น สำหรับบางท่าน อาจต้องมีข้อวัตรบางอย่าง เพื่อเผากิเลส วิธีการเผา ก็อาจจะต้องมีคุณธรรม เข้าไปกำกับว่า.. ไอ้ที่เรา ‘เผากิเลส’ น่ะ มันไม่ใช่ว่า..ไปเผาเพื่อ ‘ทรมานตนเอง’ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "สิ้นภพจบพรหมจรรย์" ลิงค์วีดีโอ https://youtu.be/xfTe-396lf4 (นาทีที่ 4.24-5.01)
วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #อดกลั้นต่อกิเลส "อดกลั้น" คือ อดทน.. ต่อความล่วงเกินของผู้อื่น ความล่วงเกินของผู้อื่น ก็จะมีคนที่ล่วงเกิน เมื่อเทียบกับเรา ก็จะมีบุคคลสามระดับ..ที่ล่วงเกินเรา อดทน ต่อคนที่ "ต่ำกว่าเรา.. ล่วงเกินเรา" อดทน ต่อคนที่ "เสมอกับเรา.. ล่วงเกินเรา" อดทน ต่อคนที่ "สูงกว่าเรา.. ล่วงเกินเรา" สามระดับ..ไม่เหมือนกัน!! ควรอดทนให้ได้ทั้งสามระดับเลย! ไม่ใช่แค่ระดับใดระดับหนึ่ง ทีนี้จะเอาระดับไหน..มาวัดว่าอดทนได้จริง? ถ้าเราอยู่กับ "ครูบาอาจารย์" แล้วอดทนได้เนี่ย ก็ถือว่าดีนะ! แต่ว่า.. ก็ยังใม่ใช่ตัววัด เพราะว่า.. บางทีทนได้เพราะ “กลัว” กับ "คนที่เสมอกัน" บางทีก็อดทนได้นะ! แต่..ยังไม่ใช่ตัววัด! เพราะบางทีที่อดทนอยู่ได้ เพราะอาจจะ ”แข่งดี” กัน ... ทน.. ที่เป็นตัววัดได้ดีเลย คือ ทนต่อ "ผู้ที่อยู่ต่ำกว่า" สถานะต่ำกว่า คนเลวกว่า ถ้าทนได้ ถือว่า.. เยี่ยม!! ในกรณีที่ว่าเป็นตัววัดนะ คือ คนที่อดทน.. ต่อแม้แต่ผู้ที่อยู่ในสถานะต่ำกว่า.. ด่าว่าเอา! หรือ มาว่ากล่าวตักเตือน!! ทั้งว่า.. แบบไหนก็แล้วแต่ คือ เราทนได้ต่อคำสอน หรือ.. คำว่ากล่าวติเตียน ของเขาได้ อันนี้เรียกว่า “อดกลั้น” คำภาษาบาลี เรียกว่า “อธิวาสนขันติ” คือ อดทน..อดกลั้นต่อความล่วงเกินของผู้อื่น น แล้วถ้าสูงไปกว่านั้นอีก คือ.. "อดทนต่อกิเลส" หมายถึงว่า ทนต่อกิเลสในเวลาที่จิตใจ ถูกกระทบด้วยอารมณ์ที่น่ารัก น่าชัง ใจก็ไม่ไหลโอนเอนไปกับกิเลสที่เกิดขึ้น เห็นอยู่..แล้วก็ทนได้! คือไม่ไปปรุงต่อ ไม่ไปตามกิเลส เห็นอยู่.. แล้วก็ทนได้!! อันนี้มันเป็นธรรมะชั้นสูงเลย เป็นมงคลชั้นสูงเลย พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "ใจที่พร้อมเจริญธรรม" วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/KWq7KvSKWCY (นาที 06:30 – 09.39)
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล วันวิสาขบูชา พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #คุณของพระพุทธเจ้า “พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุดในโลก” เลิศในระดับที่เรียกว่า.. คนปุถุชนทั้งโลกนี้ เอาความดีมารวมกัน ยังไม่เท่าพระพุทธเจ้า อย่าว่าแต่พระพุทธเจ้าเลยนะ เอาคุณความดีของ.. ปุถุชนทั่ว ๆ ไป ร้อยคน พันคน ก็ยังไม่เท่า พระโสดาบันหนึ่งท่าน พระโสดาบัน ร้อยท่าน พันท่าน ก็ยังไม่เท่า พระสกิทาคาเพียงหนึ่งท่าน พระสกิทาคามี ร้อยท่าน พันท่าน รวมกันแล้วคุณธรรมก็ยังไม่เท่า พระอนาคามีหนึ่งท่าน พระอนาคามี ร้อยท่าน พันท่าน ก็ยังไม่เท่า พระอรหันต์หนึ่งท่าน พระอรหันต์ หนึ่งร้อยท่าน พันท่าน รวมกันก็ยังไม่เท่า พระอัครสาวกท่านเดียว พระอัครสาวก ร้อยท่าน พันท่าน ก็ยังไม่เท่า พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์เดียว แล้วในตำราบอกว่า.. ให้พระปัจเจกพุทธเจ้า นั่งเอาจีวรชนกันเลย สังฆาฏิชนกันเลยประมาณนี้ ห่มจีวร ห่มสังฆาฏิ ให้ชิดกันแบบผ้าชนกัน นั่งไปจนถึงสุดขอบจักรวาล แสดงว่าไม่ใช่ร้อยท่าน ไม่ใช่พันท่านแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า นั่งเรียงกันจนถึงสุดขอบจักรวาล ก็ยังไม่เท่า พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว ..นี่คือคุณของพระพุทธเจ้า ตรงนี้โยมอาจจะสงสัย ‘ทำไมถึงไม่เท่า?’ เพราะพระพุทธเจ้าหนึ่งพระองค์ ไม่ได้ทำให้พระองค์พ้นทุกข์ไปเพียงพระองค์เดียว พระองค์ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว โดยคุณเฉพาะแค่นี้ เท่ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่พระองค์ไม่ได้หยุดแค่นี้ คุณของพระองค์ไม่ได้หยุดแค่นี้ พระองค์สอนคนนับไม่ถ้วนเลย ที่พ้นทุกข์ไปเนี่ย นับไม่ถ้วนเลย มนุษย์ ก็นับไม่ถ้วน เทวดาทั้งหลาย ก็นับไม่ถ้วนเลย ..ที่พ้นทุกข์ไปนะ ที่เป็นพระอรหันต์ นับไม่ถ้วน ที่เป็นพระอนาคามี สกิทาคามี เป็นพระโสดาบัน นับไม่ถ้วน แล้วยังมีอีก ยังไม่หยุดด้วย ยังมีอีก! ยังไม่หยุด! ท่านที่เป็นโสดาบัน ก็ยังไม่หยุดที่จะภาวนา ที่จะพัฒนาตัวท่านเอง ไปเป็นพระสกิทาคามี ปุถุชนทั้งหลาย อย่างผู้ฟังของเรานี้ สามารถฟังไป แล้วก็ไปพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรม ทั้งการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา จากปุถุชนพัฒนาไปถึงขั้นเป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีอยู่อีกเรื่อย ๆ ยังมีอยู่อีกเรื่อย ๆ ไม่หยุด! ไม่จบ! เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว จึงมีคุณอย่างมหาศาล ประมาณมิได้ เรียกว่าอย่างที่เราเคยสวดในพระปริตรนะ “อัปปะมาโณ พุทโธ อัปปะมาโณ ธัมโม อัปปะมาโณ สังโฆ ปะมาณะวันตานิ …ฯลฯ…” คือ พระพุทธเจ้ามีคุณอันประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณอันประมาณมิได้ พระสงฆ์มีคุณอันประมาณมิได้ สัตว์อื่นนอกจากนี้มีคุณพอประมาณได้ ฯ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://youtu.be/KmtSmTm_DkQ (34.29 - 37:54)
วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ผู้มีอินทรีย์ภาวนา "สังขตธรรม" ยังเป็นความปรุงแต่งอยู่นะ! ยังเป็นของหยาบ ยังมีที่ละเอียดกว่านี้! ที่เราจะพัฒนาให้เกิด "การรับรู้" ขึ้นมาได้ ก็คือ.. ใจที่เป็น "อุเบกขา" ความรับรู้ ความพอใจ ไม่พอใจชอบใจ ไม่ชอบใจ.. นี่นะ! อย่าไปปฏิเสธมัน.. ให้รู้ทันมันก่อน! ตอนนี้ยังไม่อุเบกขา ก็ไม่เป็นไร แต่รู้ว่า.. ยังมีสภาวะที่ละเอียดกว่านี้ คือ "อุเบกขา" ถ้าเราฝึกรู้ทันความชอบใจ และไม่ชอบใจ ตอน "รู้" นั่นแหละ.. จะ "อุเบกขา" ชอบใจ.. ถ้าเรารู้ทันเร็ว ความชอบใจ.. ก็สั้นๆ แล้วจากนั้น.. ก็จะเป็น "อุเบกขา" ไม่ชอบใจ.. ถ้าเรารู้ทันเร็วๆ ไม่ชอบใจ.. ก็จะสั้นๆ แล้วจากนั้น.. ก็จะเป็น "อุเบกขา" ฝึกอย่างนี้! ฝึกรู้ทัน.. ความชอบใจก็ตาม ไม่ชอบใจ.. ก็ตามที่เกิดขึ้น จากการที่อินทรีย์ ไปกระทบ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สัมผัส, ธรรมารมณ์ ต่างๆ แล้วพัฒนาขึ้นมา จากที่...มันมีแต่ ชอบใจ-ไม่ชอบใจ ก็กลายเป็นรู้ทัน.. ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ กลายเป็น "อุเบกขา" ขึ้นมา พระองค์เปรียบเหมือนว่า.. เหมือนคนตาดีเนี่ย กระพริบตา ให้ไวขนาดนี้เลยนะ! ชอบใจ.. และรู้ทัน! เหมือนกระพริบตา หนึ่งกระพริบตา ถ้าฝึกได้ขนาดนี้.. ดี!! เรียกว่า เป็นการฝึกแล้วเกิดการเจริญอินทรีย์ เป็น "ผู้มีอินทรีย์ภาวนา" พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "พร้อมไหมที่จะให้อภัย" รับชมและฟังได้ที่ลิงค์ https://youtu.be/3v859_mgjO4 (นาทีที่ 33.59-35.42)
วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #ฟังธรรมตามกาล น้อมธรรมะมาสู่ชีวิต มาปฏิบัติให้ได้ เรียกว่า.. "ได้ประโยชน์จากการฟังธรรม" คุณสมบัติของ "ผู้ฟังที่ดี" ก็คือ ฟังแบบ.. ไม่ลบหลู่ ไม่ดูแคลน.. ผู้แสดง ไม่คิดจะข่ม.. ผู้แสดง ไม่ฟัง.. ด้วยจิตกระด้าง ไม่ฟัง.. แบบจะจับผิด ไม่ฟัง.. แบบถือว่า ตัวเองเข้าใจแล้ว ประมาณนี้.. เนี่ยนะ! แล้วก็ฟังอย่างไตร่ตรองตามธรรมไปด้วย ฟังอย่าง "ผู้ที่เป็นนักศึกษา" ผู้ที่พร้อม ที่จะรับรู้ว่า.. มีผู้ที่รู้ก่อนเรา คือ "พระพุทธเจ้า" พระองค์ มีความรู้อะไร ที่เราควรจะรู้ตามบ้าง แล้วมันอาจจะไม่ใช่ว่า.. ฟังปุ๊ป!.. บรรลุปั๊ป! ฟังแล้ว..ก็นำไปศึกษา และปฏิบัติ ฟังแล้ว.. ฟังอีก! ท่านจะเรียกว่า “ฟังธรรมตามกาล” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "ฝึกใจให้เป็นผู้พร้อม" ออกอากาศวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/ich14PivtSo (นาที 01.01.49 – 01:02:49)
วันอาทิตย์ที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #หัวใจเศรษฐี #ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ "หัวใจเศรษฐี" เคยท่องไหม? "อุ อา กะ สะ" เคยท่องไหม? ... "อุ" นี่คือ อุฏฐานสัมปทา คือ.. ขยันหา “อา” คือ อารักขสัมปทา หามาได้แล้ว.. ต้องอย่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ต้องเก็บรักษาไว้ด้วย ต้องรู้จักเก็บรักษา เก็บรักษาเนี่ยนะ! ก็ต้องเก็บรักษาในที่ๆ ปลอดภัย สมัยนี้จะมีธนาคาร ฝากไว้กับธนาคาร หรือว่า.. เอาไปลงทุน ประมาณเนี่ยนะ! ให้มันงอกเงย.. แต่ว่าก็ต้องรู้จักลงทุนด้วย ไม่ใช่ว่า.. ลงแล้วหายๆ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ว่า.. เก็บรักษาแล้ว อย่างนี้เรียกว่า.. ใช้จ่ายโดยที่ไม่มีปัญญารู้ทันตลาด อะไรต่างๆ "กะ" คือ กัลยาณมิตตตา คือ คบเพื่อนดี คบเพื่อนไม่ดี.. ก็จะพาเราล่มจม พาเราวุ่นวาย ฉิบหาย พินาศ ดังนั้นเราก็ต้องหาเพื่อนที่ดี แล้วก็ต้องมีปัญญาพอที่จะมองเห็นด้วยว่า.. ใครเป็นเพื่อนดี, ใครเป็นเพื่อนร้าย แล้วเราควรจะเป็นเพื่อนดีของเขาด้วย เพราะว่า.. ถ้าเขาดีจริง เขาต้องมองออกว่า.. ใครดี-ใครร้าย เรามัวแต่พยายามจะหาเพื่อนดี แต่เราไม่ทำตัวให้ดี เพื่อนดีคนนั้น.. เขาก็ไม่คบเรา เพราะเขาก็ถือคติ "คบเพื่อนดี" เหมือนกัน เข้าใจไหม? เพราะฉะนั้นเราจะหาเพื่อนดี แต่เราไม่ยอมเป็นคนดี เขาก็ไม่คบเรา คติ "กัลยาณมิตร" ก็คือ.. เราเองต้องเป็นกัลยาณมิตรของเขาด้วย สุดท้าย.. "สมชีวิตา" เลี้ยงชีวิตให้สมกับสภาวะของเราเอง เรามีรายได้เท่านี้..ใช้จ่ายเท่านี้ พอสมควร ให้รายได้มากกว่ารายจ่าย..ใช้ได้! ไม่ใช่ว่า! มีรายได้เท่านี้...แต่เพื่อนเราเขามีรายได้มากกว่า แล้วเขาใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง เราจะไปใช้ชีวิตแบบเขา.. เราก็ล่มจม! ไม่ได้! ต้อง "สมชีวิตา" ใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับตนเอง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจาก บรรยายธรรม โครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” หัวข้อ "ขอให้รวย" วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://www.facebook.com/watch/?v=939771763373701 (นาที 41.15-43:47)
วันเสาร์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #อภัยทาน “อภัยทาน” ไม่ใช่ว่า.. เขาทำผิดก็ไม่เป็นไร ฉันไม่รู้.. ไม่ชี้! เหมือนไปช่วยปกปิดความผิดของเขาด้วย อย่างนี้ก็ยิ่งแย่! ถ้าที่ทำงานเป็นบริษัทอยู่..บริษัทก็จะไม่เจริญ นึกออกไหม? แบบคนนี้ก็ผิด คนนั้นก็ผิด แล้วก็ถือว่า..‘ให้อภัย’ ให้อภัย..ไม่ใช่อย่างนี้! "ให้อภัย" หมายความว่า เขาด่าเรา.. เราไม่โกรธตอบ ไม่ด่าตอบ ไม่จองเวร .. ไม่ผูกพยาบาทว่า.. 'เออ! แก.. คราวหน้าอย่าพลาดก็แล้วกัน’ หรือไม่คิดว่า.. ‘คอยดู..ถึงทีฉันบ้าง' ไม่ใช่อย่างนั้น! นี่คือ.. ให้อภัย แต่ไม่ใช่ว่า.. “ไม่เอาเรื่องเอาราว” หรือไปช่วยปกปิด!! นึกออกไหม? วิธีการที่จะปฏิบัติต่อคนที่มีพฤติกรรมแตกต่างกัน “วิธีการ”-จะแตกต่างกัน แต่ “ใจ”-เหมือนกัน ใจ..มีเมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา เช่นเดียวกัน แต่วิธีการที่จะแสดงต่อบุคคลประเภทต่างๆ.. วิธีการ-ไม่เหมือนกัน พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "พร้อมไหม…ที่จะให้อภัย" ออกอากาศวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/3v859_mgjO4 (นาที 12:51– 14.06)
วันเสาร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #รู้ทันตัวหงอย หดหู่ ท้อถอย ซึมเซา ง่วงเหงา หาวนอน ให้รู้ไปเลยว่ามันคือ "ถีนมิทธะ" หรือจะบอกว่า.. มันคือ "ไอ้ตัวหงอย" นี่ก็ได้ เอาคำเดียวก็ได้ "ไอ้เจ้าหงอย.. ฉันเห็นแก่แล้ว!" มันหงอยอีก.. รู้อีก ยิ่งรู้บ่อยๆ มันจะจำได้ ตอนเห็นครั้งแรกนะ มันเป็นแค่รู้จักกัน ว่านี่คือ “อาการหงอย” เราก็ทำงานของเราต่อนะ! อย่าไปหงอย..แล้วก็จม… เราก็ขยับตัวทำงานของเราต่อไป ถ้าอยู่ในการทำรูปแบบ เราก็ทำสมถะของเราไป ถ้าในชีวิตประจำวัน เราก็ทำงานของเราไป มันเกิด “หงอย” อีก..ก็รู้ทันอีก! “ฉันเห็นแก่แล้ว!!” ... แรกๆ ต้องฝึกก่อนนะ !! แรกๆ ในการฝึกที่จะรู้จักมันเนี่ย ต้องมีเจตนาในการดูสักหน่อย มีความหงอยแล้ว.. “ฉันรู้จักแก่แล้ว” หงอยอีก.. “ฉันรู้จักแก่แล้ว” รู้ไปเรื่อยๆ คือ มีเจตนาในการดู อันนี้อยู่ในขั้นฝึก ฝึกไปเรื่อยๆ เนี่ยนะ พอจำได้แม่นเนี่ย “สติ” มันจะเอามาใช้ตอนที่ว่า ... มันมีข้อมูลเป็น “ความจำ” เต็มที่แล้ว มั่นคงดีแล้ว เสถียรแล้ว พอมี “ความหงอย” เกิดขึ้นมา... มันเทียบได้กับ “ของเก่า” “ของเก่า” ที่เก็บไว้เป็น “สัญญา” เนี่ย สัญญาเอามาใช้ในกรณีนี้ คือ “สติ” แปลว่า “ระลึกได้” ในภาษาไทยทั่วๆ ไปก็จะใช้คำนี้กัน มันก็คือ เอามาใช้ในขั้นตอนที่เรียกว่า มี "ถิรสัญญา” คือ มีสภาวะความหงอยเกิดขึ้น มันเอาไปเทียบกับของเก่า ระลึกได้ว่า.. นี่คือ “ความหงอย” และ การทำงานอย่างนี้ มันทำงานเอง ตอนนี้ เรียกว่า “ระลึกได้” แท้ๆ พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "ฝึกใจไม่ให้หดหู่ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/MddicOf8zGE (นาที 30.55-33:35)
วันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #คุ้มครองจิต สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ ฯ ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต ที่เห็นได้แสนยาก ละเอียดยิ่งนัก มักตกไปในอารมณ์ตามความใคร่ (ตกไปในกาม) เพราะว่าจิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้ ที่ว่า “ตกไปในกาม” เนี่ย! อย่าคิดว่า..ตกไปแบบฝันหวาน หรือตกเฉพาะทางเพศอะไร.. ไม่ใช่อย่างนั้นนะ!' คิดเรื่องไม่ดี.. ก็คือเรื่อง "กาม" เหมือนกันนะ! แต่มันผิดหวัง “ผิดหวังในกาม” นึกออกไหม? "คนตกนรก" นี่คือ.. ตกอยู่ในกามาวจรภูมิ !! ไม่ใช่ว่า “กามาวจร” จะต้องสุขสบายเสมอไป คืออย่าคิดว่า เป็นภูมิที่สุขสบาย มีกามอันดีเสมอไป ไม่ใช่อย่างนั้นนะ! “กามาวจร” ที่แย่.. ตกนรก ก็มีนะ! อยู่ในอบายเลยก็มี จิตของเราเนี่ย! กำลังอยู่ในกามาวจรที่เป็นอบาย กำลังเป็นทุกข์อยู่ แต่มันตกมาแล้ว..ก็รู้ทัน! และมันจะตกบ่อยๆ ก็รู้บ่อย ๆ และก็.. เข้าใจ ให้อภัยตัวเองหน่อยว่า.. วันไหน หรือ ขณะไหน.. ไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร! เพราะว่า.. มันเห็นได้ยาก! มันละเอียด มันเห็นได้ยาก ให้อภัยตัวเอง.. ไม่เป็นไร.. ดูต่อ!! รักษาไปเรื่อยๆ มันเห็น ไม่เห็น.. ก็ทำสมถะต่อไป มันทุกข์อีก.. ก็ ‘เอ้อ! ทุกข์อีกแล้ว’ ทุกข์อีกแล้ว ก็แสดงว่า.. “ตกลงไปในกาม” อีกแล้ว อย่างนี้นะ! “รักษาจิต” ก็คือ รู้ทัน.. เอามาทำสมถะต่อ “มันเห็นได้ยาก” แต่มันเห็นได้ทีเนี่ยนะ ควรให้รางวัลตัวเอง ควรจะดีใจ.. เพราะมันเห็นได้ยาก! มันละเอียด.. มันเห็นได้ยาก พอเห็นได้ที ควรจะดีใจ ให้รางวัลตัวเองหน่อย ‘โห! ฉันเห็นแล้ว ของเห็นได้ยาก.. ฉันเห็นแล้ว..’ ให้ดีใจ “จิตตัง คุตตัง สุขาวะหัง” “คุตตะ” แปลว่า “คุ้มครอง” การทำอย่างนี้ เรียกว่า.. เป็นการ “คุ้มครองจิต” โดยจิตเองที่ฝึกมาดี จิตที่คุ้มครองดีแล้ว.. นำสุขมาให้ สุขในที่นี้.. ไม่ใช่สุขแค่ในเรื่องของกามแล้ว แต่เป็นสุขในระดับสูงขึ้นไป..สูงขึ้นไป.. จนกระทั่งถึง.. “พระนิพพาน” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "ฝึกใจไม่ให้หดหู่ " วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/MddicOf8zGE (นาที 16:10 – 17:58)
วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #สันทิฏฐิโก..การเห็นเอง ในความหมายที่พระพุทธเจ้าแสดง กับ พราหมณ์ เพื่อบอกว่า...ไอ้การฝึกอย่างเนี่ย ! มันก็ต้อง "เห็นด้วยตนเอง” เหมือนกัน ราคะ.. ดับไป! ราคะ.. แสดงไตรลักษณ์ โทสะ.. ดับไป! โทสะ.. แสดงไตรลักษณ์ เนี่ย ! มันก็อยู่ในเรื่องของ “สันทิฏฐิโก” ทั้งหมด ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทั้ง “ตน” และ”ผู้อื่น” เมื่อเห็นกิเลสแล้ว เนี่ยนะ! มันไม่มีกิเลสขึ้นมาบงการ ให้ไปมีความประพฤติ.. ไปเบียดเบียนใคร พระองค์ตรัส ถึงขนาดว่า.. ไม่เบียดเบียน ”ตน” ไม่เบียดเบียนทั้ง “ผู้อื่น” และไม่เบียดเบียน “ทั้งคู่” ไปพร้อมๆ กัน นี่คือ.. สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้ด้วยตนเอง คือ.. นอกจาก “ตนเอง” จะปลอดภัยแล้ว “ผู้อื่น” ก็ปลอดภัยด้วย “สังคมต่างๆ” ก็ปลอดภัยด้วย จากการที่เราฝึกฝนตนเอง.. เห็นเอง เห็น ”กิเลส” ที่เกิดขึ้นในใจตนเอง การที่เราฝึก “สันทิฏฐิโก” มันไม่ได้ฝึกเพียงแค่ประโยชน์ตน แต่.. มันได้ประโยชน์ผู้อื่นด้วย ได้ประโยชน์กับคนรอบข้าง.. สังคมทั้งหลาย ฝึก “คนเดียว” ได้ขนาดนี้ ฝึก ”หลายๆ คน” ก็ย่อมทำให้.. สังคมเนี่ย! ปลอดจากภัยต่างๆ อีกเยอะเลย.. พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "สันทิฏฐิโก " วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/X-cAAGxLLZs (นาทีที่ 22:45 – 24:09 )
วันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #แก้กรรม..แก้พฤติกรรม ถ้าจะแก้กรรม คือ ทำสิ่งใหม่ให้ดี ถ้าสมมุติว่า.. เราทำกรรมอะไรอย่างหนึ่ง..ให้คนนี้โกรธ เราไม่ได้ไปแก้ว่า "ไม่ได้ทำสิ่งนั้น!" ไม่ใช่แก้อย่างนั้น! ไอ้ที่เราที่แก้ว่า.. “ให้มันลบๆ กันไป หายๆ กันไป ลืมๆ กันไปซะ” ไม่ใช่ทำอย่างนั้นนะ! ทำอย่างนั้นนะ.. เขาไม่ลืมหรอก! แต่ที่เขาจะเปลี่ยนใจ ให้มาเป็นมิตรกับเราได้ คือ เราต้องทำดีกับเขา “การแก้กรรม” ก็คือ แก้พฤติกรรมของเรา ที่เคย.. ทำหน้ายักษ์ใส่เขา “พูดห้วนๆ” ใส่เขา .. ก็เป็น “ยิ้มให้เขา” พูดด้วย “วจีกรรมที่อ่อนหวาน” เรียกว่า.. “ปิยวาจา” พูดออกมาจากใจด้วยนะ! ไม่ใช่แบบว่า.. หลอกลวง หลอกลวงไป..เขาจับได้.. เขายิ่งโกรธใหญ่เลย! ออกมาจากใจ ยิ้ม ด้วยปรารถนาดี พูดคำพูด...ก็ด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน และปรารถนาดีมีเมตตาต่อกัน ทำอย่างนี้ซ้ำๆ บ่อยๆ เขาย่อมมีปฏิกิริยาโต้ตอบกลับมา..ในทางที่ดี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "อโหสิกรรม " วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ ลิงค์รายการ https://youtu.be/0WqhazkqOyM (นาทีที่07:11 – 8:10)
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า... เพราะไม่รู้ "อริยสัจ ๔" สัตว์ทั้งหลาย จึงวนเวียนอยู่ใน “สังสารวัฏ” เวียนเกิด.. เวียนตาย ทุกข์.. ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก เกิดทีไร.. ก็ทุกข์เมื่อนั้น เพราะไม่รู้อริยสัจ นี่เอง! ทำให้เราต้องเกิด.. ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก ทุกข์.. ซ้ำแล้ว.. ซ้ำอีก จึงเป็นเรื่องจำเป็น! สำหรับสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ต้องการพ้นทุกข์ จะต้องมาเรียน “อริยสัจ ๔” นี้ ... ให้เข้าใจ! ผู้ที่เข้าใจ “อริยสัจ ๔” อย่างแจ่มแจ้ง ! จะพ้นจาก “ทุกข์” โดยสิ้นเชิง พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ " วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ลิงค์รายการ https://youtu.be/CdsLQ2WpVDs (นาทีที่ 15:03-15:38)
วันพุธที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #จิตเคยชิน.. ทำลายชีวิต คนจะฆ่าตัวตายเนี่ย ต้องท้อจนถึงได้ที่เลยนะ.. จนถึงระดับเลยนะ จิตหมดกำลังที่จะมีชีวิตต่อ มันไม่ใช่ง่ายๆ เลยนะ ที่คนจะมาถึงจุดนี้ได้ คือ ต้องอ่อนแอสุดๆ จิตที่อ่อนแอ อย่างนี้เนี่ยนะ.. มันติดไปด้วย! เพราะมันตายด้วยจิตที่อ่อนแอ ถ้ามีโอกาสกลับมาเกิดอีก.. และถ้าเจอปัญหาชีวิตอีก.. ก็จะอ่อนแอ ไม่สู้กับปัญหานั้น ! มันอ่อนแอ.. มันไม่สู้.. มันยอมแพ้.. แพ้! .. แล้วก็ทำร้ายตัวเอง ท้อแท้! .. ที่จะมีชีวิตต่อ .. "ชีวิต" จริงๆ แล้วมีค่ามากนะ "มนุษย์" จริงๆ แล้วเนี่ย จะรักชีวิตมาก แต่ความท้อแท้.. ที่ว่าเนี่ย! มันสามารถทำให้ทำลายสิ่งที่ควรถนอม..ควรหวงแหนเอาไว้ คือ “ชีวิต” นี้ ..ทำลายไป… มันต้องอ่อนแออย่างมาก “จิต” ไม่มีกำลังที่จะอยู่ต่อ เพราะฉะนั้น.. เวลามีปัญหา มันก็จะเลือกที่จะทำลายชีวิตต่อไป เพราะฉะนั้น.. ที่ครูบาอาจารย์บอกว่า "ถ้าฆ่าตัวตาย!! ชาติหน้าก็มีโอกาสที่จะฆ่าตัวตาย” อีก มันไม่ได้หมายความว่า ฆ่าตัวตายชาตินี้แล้ว... อีก ๕๐๐ ชาติ จะฆ่าตัวตายไปเรื่อยๆ อันนั้นมันเป็นสำนวนเฉยๆ นะ จริงๆ มันคือว่า.. “จิตมันมีนิสัยอย่างนี้” หรือ “มันมีพื้นฐาน” มันมีทางของมันแบบนี้ มันก็จะเลือกทางนี้ มัน “เคยชิน” ที่จะเป็นอย่างนี้ จิตมัน “เคยชิน” ที่จะตัดสินใจ กับปัญหาอย่างนี้.. ด้วยวิธีนี้ เมื่อเคยตัดสินใจอย่างนี้แล้ว จะถูกตัดสินว่า.. ‘จะต้องทำอย่างนี้ ไปอีก ๕๐๐ ชาติ’ ..ไม่ใช่นะ! มันเป็นอย่างนี้เพราะ “ความเคยชินของจิต” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน "การฆ่าตัวตาย" วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://youtu.be/uFloDzBb9Js (นาทีที่ 05:07 – 06:57)
วันอังคารที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #เหตุต้องละ “อุปาทานขันธ์ทั้งห้า” เนี่ย จะทำให้หมดไป.. ก็ต้องละเหตุของมัน! เพราะ “อุปาทานขันธ์” นั้นเป็น “ตัวทุกข์” จะละมันได้..ไม่ใช่ละเฉยๆ ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปละไอ้ตัวนี้! อุปาทานขันธ์..ควรรู้! ส่วนมันจะหมดไป ก็คือ มันต้องเสื่อมอยู่แล้ว มันต้องดับ! จิตนี้.. เกิด-ดับ อยู่แล้ว กายนี้.. ก็ต้องเกิด-ดับ มีความเสื่อมของมันอยู่แล้ว แต่ว่า.. ตอนที่มีชีวิตอยู่ ก็มีชีวิตของมัน พระอรหันต์ทั้งหลายเนี่ย เวลารู้ความจริงตรงนี้แล้วเนี่ยนะ! ก็รอให้มันตายเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่ว่าหมดกำลังใจ ซังกะตาย.. รอเวลาตาย.. ไม่ใช่อย่างนั้น! รู้อยู่ว่า.. จะต้องตาย ก็ใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์กับโลกที่สุดเลย ทำประโยชน์ของตนสำเร็จแล้ว ก็ใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์กับโลก เป็นเนื้อนาบุญของโลก ชีวิตที่อยู่ของท่าน จะเป็นประโยชน์กับชาวโลก ทั้งมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย สั่งสอนคนถ้าสั่งสอนได้ ถ้าสั่งสอนไม่ได้.. ก็เป็นอยู่ให้เป็นแบบอย่าง เวลาจะตายท่านอธิบายว่า.. เหมือนคนทำงานเสร็จแล้ว “รอรับค่าจ้าง” ตอนรับค่าจ้าง ก็คือ ตอนพระอรหันต์ตายนั่นเอง! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการ "คลิกใจให้ธรรม" ตอน รู้จักอุปาทานขันธ์ ๕ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/468nqMASyUM (นาทีที่ 26:27 – 27:5729.21)
วันพุธที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #อย่าโต้เถียง..โต้แย้ง การโต้เถียงเนี่ย! เป็นการสร้างเรื่องราวที่ไม่จำเป็น พระพุทธเจ้าตรัสสอน เอาไว้ว่า.. “อย่าไปพูด! ที่เป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน” เพราะการโต้เถียงกันนั้น จะทำให้จิตใจของเราไม่สงบ มีการฟุ้งซ่าน ไปในการหาเหตุผลมาหักล้าง ขณะที่โต้เถียงกันเนี่ย.. จิตใจไม่สงบ เมื่อจิตใจไม่สงบ.. ห่างจากสมาธิ ห่างจากสมาธิ...ไม่เกิดปัญญา "ปัญญา" .. ที่ว่านี้! พระองค์หมายถึง เอาปัญญาในแง่ของวิปัสสนา ไปเลยนะ แต่ถ้าพวกเราอยู่ในโลกปกติธรรมดาเนี่ย ปัญญาแค่ในการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน.. ก็ขาดหายไป! เพราะมีการโต้เถียงกัน เพราะฉะนั้น อย่าสร้างประเด็นที่จะเป็นการโต้เถียง โต้แย้ง ที่จะไม่ให้มีการโต้เถียง โต้แย้ง ก็คือ.. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เขาอาจจะเห็นต่าง จากเราก็ได้ ไม่ต้องเห็นเหมือนกับเรา แต่เวลาจะแสดงความเห็น ให้แสดงความเห็นด้วยคำพูด.. ที่ไม่ไปทำร้ายจิตใจเขา ที่เราไม่ทำร้ายจิตใจเขา เพราะว่า.. เรามีความเคารพความเห็นของคนอื่นเป็นพื้นฐานอยู่ในใจด้วย มันก็ทำให้ การแสดงออกของเราแสดงออกด้วยความเคารพ คนเขาเห็นเราเคารพเขา เขาก็เคารพตอบ แต่ถ้าเราคิดจะทำร้ายเขา เขาก็จะป้องกัน และอาจจะทำร้ายตอบ มันก็ต้องเริ่มจากเรา ที่เราจะเห็นความสำคัญของเขา ในแง่ที่ว่า.. สามารถมีความคิดเห็นต่างกันได้ แต่เคารพซึ่งกันและกัน เห็นต่างกัน.. แล้วอยู่ด้วยกันก็ได้ แต่ว่ามีเป้าหมายร่วมกัน คือ “เราจะทำยังไง ให้สังคมนี้เจริญขึ้น” “ข้อเสีย” ให้มันลดลง! ให้มี “ข้อดี” เจริญขึ้น! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "ผู้ติดในโลกโซเชียล" ลิงค์รายการ https://youtu.be/az4tD1kH9Hs (นาทีที่ 19.58-21.51 )
วันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ วันมาฆบูชา วันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #โอวาทปาติโมกข์ #มาฆบูชา ในระหว่างยังที่เป็นฆราวาสญาติโยม ที่สภาวะอย่างนี้นะ ควรเรียนเรื่องกรรมดีกรรมชั่ว ให้ถ่องแท้ก่อนว่า อะไรดี? อะไรชั่ว? แล้ว.. - เลือกทำแต่สิ่งดี - สิ่งชั่วไม่ทำ อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ในบทวันมาฆบูชา “โอวาทปาฏิโมกข์” ก็คือ (๑) “สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง” บาปทั้งปวงอย่าไปทำ ทุกอย่างที่เรียกว่าบาป อะไรเรียกว่าบาป ..ไม่ทำ! (๒) “กุสะลัสสูปะสัมปะทา” ทำกุศลให้ถึงพร้อม แล้วก็ต้องทำอีกตัวหนึ่งด้วย คือ (๓) “สะจิตตะปะริโยทะปะนัง” ชำระจิตให้ขาวรอบ คือ พ้นออกไปจากกิเลส ถ้าต้องการที่จะพัฒนาตนเองแท้ ๆ ก็ทำให้ครบทั้ง ๓ อย่าง ในเบื้องต้นก็คือ ทำ ๒ ข้อแรกให้ได้ (๑) บาปทั้งปวงไม่ทำ (๒) ทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อม ก็จะเป็นคำตอบสำหรับว่า เราจะตัดสินใจที่จะทำกรรมดีกรรมชั่ว อย่างรู้เนื้อรู้ตัว หรือว่าอย่างเป็นผู้รู้ ไม่หลงไปทำกรรมชั่ว โดยที่ยังคิดว่าเป็นกรรมดี พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการธรรมะสว่างใจ ออกอากาศวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ลิงค์รายการ https://www.youtube.com/watch?v=IPviWygnkFA (1:03:14-1:04:28)
วันอังคารที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีฉลู พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #เหตุแห่งปัญหา..เหตุแห่งทุกข์ "ปัญหา" กับ "เหตุแห่งปัญหา" มันไม่เหมือนกัน! "ทุกข์" กับ "สมุทัย" ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเปรียบอย่างนี้! ตัวปัญหาเหมือนประมาณว่า... เป็นสภาวะที่มันปรากฏกับ “คน” เป็นสภาวะที่ปรากฏกับ “คน” กับ “มนุษย์” มันก็ ... ตัวปัญหาจริงๆ ก็คือ “กาย” กับ “ใจ” เนี่ยนะ ที่มันเป็นปัญหาจริงๆ เพราะว่า... มันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง และ มันไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจของความอยากของเรา คือ ถ้าโดยสภาพ รูป-นาม ถ้าบังคับได้ ก็ไม่มีปัญหา ถ้ามันเที่ยง ก็ไม่มีปัญหา ประมาณนี้... แต่มันไม่เที่ยง! และสภาพที่ไม่เที่ยงเนี่ย มันไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามความอยาก มันเลยเป็นปัญหา เพราะมนุษย์คุ้นเคยกับการใส่ตัณหาเข้าไป กลายเป็นว่า... ไอ้ตัว “ตัณหา” นั่นเอง เป็นตัวเหตุแห่งทุกข์ พอเข้าใจไหม? นึกออกไหม? จริงๆ แล้วถ้าเทียบกับ ทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ก็เหมือนกับว่า...กำหนดตัวปัญหาให้ได้ก่อน ถ้าเรากำหนดตัวปัญหาไม่ได้เนี่ย วิธีการอะไรมันจะเพี้ยนไปหมดเลย ในทางพุทธศาสนา...พระพุทธเจ้ามารู้ความจริงตัวนี้ จริงๆ รู้ความจริงตอนแรกเนี่ย...พระองค์เห็นกระบวนการ ที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปปบาท” กระบวนการที่ให้เกิดทุกข์ ทุกข์ คือ สุดท้ายที่ปรากฏอยู่เนี่ย มันมาเป็นกระบวนการมายังไง? ตั้งแต่ “อวิชชา” เป็นปัจจัยให้เกิด “สังขาร” มาเรื่อยๆ ... และก็..พอท่านตรัสรู้ เพราะว่าไปรู้ซะแล้วก็เลย... ดับอวิชชา กระบวนการต่างๆ ที่จะเกิดทุกข์...ก็ยุติลง แต่เรื่องนี้ถ้าจะไปอธิบายกับคนทั่วไปมันยาก พระองค์ก็ปรับคำสอนให้มันอยู่ในเรื่องของ “อริยสัจสี่” พอสอนอริยสัจสี่เนี่ย... สอนขั้นแรกเลย ก็สอนกับปัญจวัคคีย์ พระพุทธเจ้า ก็สอนว่า... "ทุกข์" คือ อะไร? "เหตุแห่งทุกข์" คือ อะไร? "สภาวะพ้นทุกข์" คืออะไร? "มรรค" คือ อะไร? ทุกข์เนี่ย โดยสภาพคนทั่วๆ ไปก็จะเข้าใจง่าย ๆ คือ ... “ความเกิด” เป็น “ทุกข์” “ความแก่” เป็น “ทุกข์” “ความเจ็บ” เป็น “ทุกข์” “ความตาย” เป็น “ทุกข์” ประมาณนี้นะ! อยากอยู่กับใคร... แล้วไม่ได้อยู่กับคนนั้นก็เป็นทุกข์ ไม่อยากอยู่กับคนนี้... แต่ต้องอยู่ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใด...ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ อันนี้เป็นทุกข์ที่ปรากฏง่ายๆ กับคนทั่วๆไป เห็นอยู่.. แต่ว่าเวลาคนทั่วไปเนี่ย..ไม่มามองมุมนี้ ไม่ค่อยมองมุมนี้ เมื่อไม่ได้มองมุมนี้เนี่ย พอจะไปบอกถึงสาเหตุของปัญหาเนี่ย ก็จะไปมองแบบอื่นอีก นี่สภาพที่เป็นมา ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะสอน “อริยสัจสี่” เวลาพูดถึง “เหตุแห่งทุกข์” เนื่องจากไม่ได้มองตัวปัญหาที่ตรง เวลามอง...เหตุแห่งทุกข์ ก็มองออกไปข้างนอก คือ... ถ้ามองปัญหาตรงนะ! มันก็จะเข้าใจว่า... ตัวตัณหานั้นแหละเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้! พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากตอบปัญหาธรรม รายการคลิกใจให้ธรรม ตอน "รู้จักอุปาทานขันธ์ ๕ " วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/468nqMASyUM _ (นาทีที่ 6:25 - 10.25)
วันจันทร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีฉลู #พระกฤช #ฝากคิด #ฝากคำ #นิวรณ์...ตัวขัดขวาง “สมาธิ” นิวรณ์ ก็คือ ตัวขัดขวาง ที่ทำให้จิตไม่เจริญขึ้นไป โดยนัยยะก็คือ... มันไม่เข้าสมาธินั่นเอง มีอะไรบ้าง ? “กามราคะ” “พยาบาท” “ถีนมิทธะ” “อุทธัจจกุกกุจจะ” และ “วิจิกิจฉา” ๕ อย่าง ด้วยกัน "นิวรณ์" เป็นตัวขัดขวาง และท่านก็ยังเปรียบด้วยนะ ไหนๆ เปรียบเป็นน้ำ แล้วนะ... ๑) กามราคะ เปรียบเหมือนเป็นน้ำที่ผสมสี ดูสีสวยหวานนะ..แต่มันผิดความจริง ! เวลาเรามองไปก้นสระ มันเป็นภาพผิดความจริง สีมันผิดความจริง หรือถ้าเราใส่ในตู้ปลา มองไป.. สีของปลาก็จะผิดไปจากความจริง อาจจะหวาน..แต่หวานเกินจริง ! สีสวย..แต่สวยเกินจริง ! สีเพี้ยนน่ะ..สีเพี้ยน ลักษณะของ “กามราคะ” คือ ทำให้ไม่ได้เห็นความจริง ตัวนี้ทำให้ไม่ได้เห็นความจริง อาจจะคอยเคลิ้ม ทำให้ใจมันเคลิ้มเพลิน ... แต่เพลินไปก็ทำให้ไม่ได้เห็นความจริงอยู่ดี ๒) พยาบาท พยาบาทเนี่ย ถ้าเปรียบเป็นน้ำ ก็คือ น้ำเดือดพล่าน เคยเห็นน้ำเดือดพล่านไหม? เดือดปุดๆ เคยต้มน้ำแล้วเดือดปุดๆ ก็จะไม่เห็นเลยว่าอะไรในหม้อ หรือก้นหม้อ มันเป็นยังไง ? น้ำใสก็จริง.. แต่มันเดือดปุดๆ ! ถ้ายิ่งน้ำขุ่น ยิ่งไม่รู้เรื่องเลย การเดือด คือ มันไม่นิ่ง ไม่มั่นคง มันไหว.. มันไหวในลักษณะที่เดือดและร้อนด้วย ๓) ถีนมิทธะ แปลว่า ความง่วงซึม ความง่วงซึม เนี่ย ... ท่านเปรียบเหมือน น้ำในสระน้ำ... ที่มีจอก มีแหน มีพืชผิวน้ำ ปิดบังเอาไว้ มองอะไร ก็เห็นแต่จอก แหน ไม่เห็นว่าน้ำมีอะไรบ้าง ๓) อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ท่านเปรียบเหมือน น้ำที่มีลมพัด มีคลื่น ยิ่งฟุ้งมาก คลื่นก็ยิ่งมาก คลื่นจัด คลื่นจัดบางทีมีฟองด้วย สังเกต..ถ้าคนฟุ้งซ่านมาก ยิ่งออกมาทางคำพูด.. จะน้ำลายแตกฟอง ! คลื่นเนี่ยนะ ที่ซัดมาฟองฟอดเลย ! (อันนี้เป็นแค่หลักช่วยจำ) ฟุ้งซ่านเนี่ย เปรียบเหมือนน้ำที่ถูกลมพัด หรือเป็นน้ำที่เป็นคลื่น ก็ไม่เห็น(ความจริงใต้น้ำ) ไม่ราบเรียบ ถูกรบกวนด้วยลม ๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ท่านเปรียบเหมือน น้ำที่ขุ่น...ที่มัว ลองไปดู ตามท่อระบายน้ำ หรือตามคลองที่เน่าเหม็น มองไป..ไม่เห็นก้นคลอง มองไม่เห็นว่าพื้นใต้น้ำนั้นเป็นอะไร มองปุ๊ป! ก็เห็นแสงสะท้อนออกมาเลย ไม่เห็นแสงด้านล่างเลย คือ มันมืดดำ ด้วยความขุ่นมัวของน้ำ ถ้ายิ่งสงสัยมากก็ยิ่งขุ่นมาก ยิ่งมืดมาก...มัวมาก สงสัยนิดหน่อย..ก็ขุ่นนิดหน่อย แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้มองไม่เห็นความจริง อันนี้คือ สิ่งที่เปรียบกับน้ำ “สมาธิ” จะเป็นสภาวะที่ปลอดจากนิวรณ์ทั้ง ๕ และพอปลอดจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็จะกลับไปเป็น สภาวะที่ว่า สงบ ราบเรียบ และ มีพลัง ในความสงบราบเรียบนั้น ก็ใส กระจ่าง และความสงบ ราบเรียบ ใส กระจ่าง มีพลัง ... ที่ว่าเนี่ยนะ ถ้าเป็นสมาธิ ที่ถูกต้อง.. มันจะเป็นกำลังในการแยกขันธ์ ! “การแยกขันธ์” ก็คือ เห็น.. - “สิ่งหนึ่ง” ถูกรู้ - “สิ่งหนึ่ง” เป็นผู้รู้ อันนี้คือ เหมาะควรแก่การงานที่จะเจริญ “ปัญญา” เจริญวิปัสสนาต่อไป เห็นว่า.. “สิ่งที่รู้นี้ไม่ใช่เรา และสิ่งนี้ที่ถูกรู้ก็ไม่ใช่เรา” พระอาจารย์กฤช นิมฺมโล เรียบเรียงจากรายการคลิกใจให้ธรรม ออกอากาศวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๕ ลิงค์รายการ https://youtu.be/tDN_srPms4A?list=RDCMUCE7svrdSu8jeu16d9vx54Lg (นาทีที่ 10:50 – 16:18)